วานนี้ (31 ต.ค.55) ที่ห้องประชุมจอมพล ป. กระทรวงแรงงาน มีการจัดงาน “วันนิคม จันทรวิทุร” ครั้งที่ 10 มีการปาฐกถานำในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน” โดย ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งรายละเอียดของปาฐกถามีดังนี้
คลิปวิดีโอการปาฐกถาโดยอนุสรณ์ ธรรมใจ (http://www.prachatai3.info/journal/2012/11/43431)
ถ้าวันนี้ ประเทศไทยไม่มีระบบทางด้านการคุ้มครองแรงงาน ระบบประกันสังคมที่เป็นมาตรฐานระดับโลกที่สากลยอมรับ ก็อาจจะเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า และอาจกระทบต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยได้
ถ้าเรามองในแง่ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจะเห็นได้ชัดว่า จะก่อให้เกิดโอกาสอย่างมหาศาล ก่อให้เกิดการขยายตัวของการค้า การลงทุน เศรษฐกิจในภาพรวมก็จะเพิ่มขึ้น แล้วถ้าเรามียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายของประเทศที่ชัดเจน ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยสามารถร่วมกันผลักดันให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายได้ ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายความว่าชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนน่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจน
ผมมองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นโอกาส ถ้าเรามียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เราก็จะกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจอาเซียน ที่บอกว่าเราเป็นศูนย์กลางเพราะถ้าดูที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ชัดว่าเรามีความได้เปรียบอย่างยิ่ง ถ้ามีการลงทุนด้านโลจิสติกส์
ถ้าดูข้อมูลพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าตลาดจะใหญ่ขึ้นมาก ตลาดซึ่งมีประชากร 60 กว่าล้านคน ขยายขึ้นเป็น 600 ล้าน จีดีพีและการค้าโดยรวมเพิ่มขึ้น การลงทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น นี่คือโอกาส และถ้าเราสามารถรักษาระดับความเติบโต ในระดับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า เราก็น่าจะมีศักยภาพอย่างยิ่ง
แต่ว่าแค่การเติบโดยังไม่เพียงพอ หากเรามีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
นโยบายด้านแรงงาน จะเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะช่วยดูแลให้ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจมีปัญหาน้อยลง อย่างนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่จะให้เกิดขึ้นต้นปีหน้าทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้า แม้จะมีเสียงคัดค้านจากธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยว่า จะทำให้เกิดปัญหาปิดกิจการหรือปัญหาเลิกจ้าง ขอให้ท่านนึกถึงตอนที่เราเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายประกันสังคม หรือประกันการว่างงาน ก็มีคนไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราคิดให้ดีแล้ว มันเป็นสิ่งที่จะต้องทำ
แน่นอนว่านโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ตาม มันย่อมมีผลกระทบทั้งด้านบวกด้านลบ และมีผลกระทบต่อผู้คนในแต่ละส่วนแตกต่างกัน
กรณีของค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เราอาจจะเห็นว่ามีผลกระทบต่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่อยู่ในจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่เดินหน้านโยบายนี้ ถ้าเราต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้และความมั่งคั่งมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐจะต้องมีมาตรการในการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม
หากเราไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในบางกิจการหรือบางอุตสาหกรรมก็อาจเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานได้ เพราะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างมาก ทั้งด้านการผลิต การบริโภค และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนี้ ก็เกิดประโยชน์ต่อการบริโภคและการผลิต การผลิตก็สามารถสร้างเครือข่ายที่ไร้พรมแดนมากขึ้น การบริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้น สินค้าถูกลง คุณภาพดีขึ้น เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
ประเด็นทางด้านการผลิต ที่เราสามารถสร้างเครือข่ายแบบไร้พรมแดนมากขึ้น ก็เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับด้านแรงงานหรือการจ้างงาน เพราะผู้ประกอบการ นักธุรกิจอุตสาหกรรมก็อาจจะย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อบริหารต้นทุน
ถามว่ามีผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศไหม ก็คงมีบ้าง แต่ถ้าเรามีมาตรการ มีการเตรียมการที่ดี ขอให้พิจารณาองค์รวม ก็คือเศรษฐกิจโดยรวมของประชาคมอาเซียน ซึ่งไทยเป็นส่วนหนึ่ง ก็จะดีขึ้น
อาจจะมีคนบางส่วนได้รับผลกระทบทางลบบ้างทางบวกบ้าง ใครจะบวกจะลบมากๆ ก็อยู่ที่ว่ามีความสามารถในการปรับตัวหรือความสามารถในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
แต่ในแง่ของนโยบายแรงงานที่จะมีผลต่อแรงงานไทยภายใต้เศรษฐกิจอาเซียน เราต้องดูทุกมิติ ทั้งเรื่องค่าจ้างค่าตอบแทน ทั้งเรื่องสวัสดิการ เรื่องยกระดับขีดความสามารถในการผลิต หรือเพิ่ม productivity
เฉพาะมิติค่าจ้างค่าตอบแทน ก็มีหลายส่วนที่จะต้องพิจารณา ต้องแยกย่อยไปอีกว่าค่าจ้างงานที่เป็นค่าจ้างแรงงานพื้นฐาน ค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือ ค่าแรงขั้นต่ำจะเอาอย่างไร การกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ไหนที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานหรือตกงาน กรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ หรือกำหนดค่าจ้างแบบไหน จึงจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนทำงานดีพอ จะกำหนดค่าจ้างค่าตอบแทนอย่างไรที่จะไม่ทำให้เราไม่สูญเสียการลงทุนไปต่างประเทศ กำหนดค่าจ้างแบบไหนที่เราสามารถจะแข่งขันได้และเกิดความเป็นธรรมด้วยในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญและมีผลต่ออนาคตของแรงงานไทยทั้งสิ้น
เนื่องจากปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ และปัญหานี้ถ้าจัดการไม่ดีก็อาจจะเป็นเงื่อนไขไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในอนาคตได้ เพราะถ้าคนมีสถานะต่างกันมากๆ ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่าย
ถ้าคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมทางการเมืองก็จะลดลง การที่จะทำอย่างนี้ได้ รัฐจะต้องมีระบบ มีมาตรการ มีกลไกในการช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่รัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพ
รัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพต้องเป็นรัฐที่มีผลิตภาพและมีความยั่งยืน ซึ่งผมขอเรียกว่าเป็น sustainable and productive welfare system เราจะเห็นปัญหาบางประการในยุโรปบางประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการ แล้วเกิดภาระทางการคลังจำนวนมาก เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยน เหตุปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไปมาก ความสามารถแข่งขันทางธุรกิจบางประเทศก็ลดลง ทำให้รัฐไม่สามารถจัดสวัสดิการได้เท่าเดิม เพราะมีภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะที่สูง
ฉะนั้น ประเทศไทยถ้าจะก้าวข้ามพ้นนโยบายประชานิยมแบบที่เป็นเรื่องระยะสั้น มาเป็นนโยบายที่ดูแลระยะยาวมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้น เป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น ก็ต้องพยายามออกแบบและแสวงหาระบบรัฐสวัสดิการที่ productive และยั่งยืน
สิ่งเหล่านี้ที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้น เพื่ออนาคตของแรงงานไทยและเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน เป็นระบบเศรษฐกิจที่โตบนพื้นฐานของการแบ่งปันที่เป็นธรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเรามีปัญหาเรื่องความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมือง
ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า คือความเสี่ยงของระบบการเมือง ความเสี่ยงของระบบการเมืองนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องของความมีเสถียรภาพหรือไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่ผมหมายถึงระบบการเมืองของประเทศ
ผมคิดว่าระบบการเมืองที่ดีที่สุด ที่จะทำให้อนาคตของไทย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอนาคตของแรงงานภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นไปได้ดีก็คือ ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เราจะเห็นได้ชัดว่า ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ซึ่งเคยมีการปกครองแบบอำนาจนิยม ก็เริ่มเปิดประเทศและเปิดเสรีภาพให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะเขารู้ว้ายังใช้ระบบแบบเดิมอยู่ เขาไม่อาจอยู่ได้ในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นระบบเดียวที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21
ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี การสื่อสาร สังคมและโลกเปิดกว้างมากจากเทคโนโลยีการสื่อสาร เราคงเห็นกรณีอาหรับสปริง หลายประเทศซึ่งมีการปกครองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ ปิดกั้นข่าวสาร ก็ยังไม่อาจปิดกั้นข่าวสารได้
ประเทศที่ปกครองโดยสร้างความเชื่อและศรัทธาแบบงมงาย โดยไม่ใช้หลักของเหตุผลก็ไม่อาจอยู่ได้ ประเทศที่มีระบบการปกครองที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพ เศรษฐกิจแม้จะไม่มีปัญหามากก็ยังอยู่ไม่ได้ แต่ส่วนมากมักจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นด้วย อย่างกรณีตูนิเซีย จุดเริ่มต้นของปัญหาก็คือมีนักศึกษาตกงาน และพยายามไปประกอบอาชีพเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการขายของ แล้วก็ถูกตำรวจไถเงิน ก็ทนไม่ได้ก็เป็นจุดปะทุของการประท้วง ที่สุดผู้นำก็ต้องลงจากอำนาจ
ผมพยายามชี้ว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน แน่นอนพลังของฝ่ายแรงงานที่มีการจัดตั้งที่ดี จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยได้ เพราะขบวนการแรงงานคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน ของคนธรรมดาสามัญที่รวมกลุ่มกัน เพื่อให้ตัวเองมีปากมีเสียง มีอำนาจต่อรอง เพื่อให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
ถ้าเรามาประเมินระบบเศรษฐกิจในภาคต่างๆ ในด้านการจ้างงาน จะได้รับผลอย่างไรต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจับเพิ่มเติมอีกมาก เราจะต้องลงไปในรายละเอียดเลยว่า ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถ้าพิจารณาจาก AEC blueprint มันจะมีเรื่องอะไรบ้าง
มีเรื่องการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม เรื่องการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลายมิติ เอาเฉพาะการเปิดตลาดและการเป็นฐานการผลิตร่วม เกี่ยวช้องกับการเปิดเสรีการค้า การลงทุน การบริการ การเงิน การศึกษา และการเปิดเสรีภาคแรงงาน ซึ่งภายใต้ข้อตกลงจะเปิดเสรีก่อน 7 สาขาวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ นักบัญชี
การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ บรรดาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็มีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือทรัพยากรมนุษย์ หรือแรงงาน
ทีนี้ เราก็ต้องตั้งคำถามว่า สำหรับอนาคตแรงงาน เราได้วางแผนอย่างมีบูรณาการและยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อเตรียมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ตอนนี้มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าระบบเศรษฐกิจโลกมีการเคลื่อนย้ายมาสู่เอเชียมากขึ้น ผมจึงมองในทางบวก ถ้าประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของระบบการเมืองได้ อีก 15 ปี ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
เราอาจจะไม่กล้าประกาศว่า เราเป็นประเทศพัฒนาแล้วเหมือนมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด บอกว่า ปี 2020 เขาจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่เรายังไม่กล้าประกาศ เพราะเราไม่เคยมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและความต่อเนื่อง และมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะนำพาประเทศ
แต่ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษที่เราจะมีความพร้อมและมีโอกาสมากที่สุด ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานบางอย่างได้
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของโลก เราจะเห็นได้ชัดว่า เอเชียก็จะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่อันหนึ่ง ยุโรปก็จะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่อันหนึ่ง อเมริกาก็จะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่อันหนึ่ง แต่เราก็เห็นได้ชัดว่ายุโรปมีปัญหาวิกฤตการณ์ยูโรโซน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหา เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ล่าสุดก็เจอภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซุปเปอร์สตอร์มแซนดี้
ถ้าเรามาดูในแง่ของการเปิดเสรีที่เกี่ยวข้องกับท่านทั้งหลายโดยตรงมากที่สุด และเกี่ยวข้องกับผู้คนในแวดวงแรงงานก็คือ การเปิดเสรีภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เพราะเวลาเขาพิจารณาการเปิดเสรีด้านแรงงาน เขามองว่ามันเป็นการบริการทางด้านแรงงาน
เมื่อพูดถึงการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็จะมีการเปิดเสรีภาคบริการสำคัญๆ หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสาขาบริการสุขภาพ สาขาท่องเที่ยว สาขาโลจิสติกส์ แล้วก็ทางด้านแรงงาน
การเปิดเสรีทางด้านแรงงาน เราสามารถจัดว่าเป็นกลุ่มในภาคบริการ แต่ว่าเวลาเราพิจารณา เราจะต้องแยกออกมาศึกษาต่างหาก เพราะมีลักษณะเฉพาะ และมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น มีการเปิดเสรีภาคบริการครอบคลุมทุกส่วน การให้แรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนประเทศสมาชิกอาเซียนได้ง่ายขึ้น เป็นการทำให้ภาคบริการแรงงานมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ในการตอบสนองต่ออุปสงค์ของการขยายตัวของการค้า ธุรกิจอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกัน พลวัตรของภาคแรงงาน ก็มีความเชื่อมโยงอย่างมากับภาคบริการการศึกษา และมิติทางการเมือง มิติเรื่องความเป็นชาติและมิติเรื่องชาตินิยมมากกว่าการเปิดเสรีในภาคส่วนอื่นๆ
ถ้าพิจารณาตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เราก็เห็นได้ชัดว่าการเปิดเสรีภาคตลาดแรงงาน จะลดทอนอำนาจการต่อรองของฝ่ายลูกจ้างลง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาเปิดเสรีการค้าการลงทุน ก็ต้องเปิดเสรีแรงงานด้วย เพราะถ้าขบวนการแรงงานแข็ง ต้องบอกว่าเปิดเสรีแรงงานให้ช้าที่สุด ในขณะที่เปิดเสรีภาคการค้าการลงทุนไปก่อน อำนาจต่อรองจะอยู่ที่ฝ่ายแรงงานทันที แต่ถามว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ แต่ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานชัดเจน แรงงานก็จะมีค่าจ้างสูงขึ้น แต่มันจะเกิดปัญหาอีกแบบหนึ่งก็คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบกับฝั่งนายจ้าง
ฉะนั้น ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบเสรี กระแสหลักก็บอกว่า เปิดเสรีภาคบริการ เปิดเสรีการลงทุนการค้า ก็ต้องเปิดเสรีแรงงานด้วย ทำให้ปัจจัยการผลิตมันเคลื่อนย้ายอย่างเสรีทั้งหมด แล้วมันก็จะเกิดประสิทธิภาพ (efficiency) เกิดการแบ่งงานกันทำ ทำให้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
แต่วิธีคิดหรือการมองแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแบบเสรีทั้งหลาย เขามองมิติทางด้านการแบ่งปัน การกระจาย ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจน้อย เขาจะมองในมุมความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพ
แน่นอนที่สุด ในมุมของแรงงาน การจะเปิดเสรีแรงงานต้องคิดอย่างเป็นระบบ และต้องมียุทธศาสตร์ในการเปิด และจะต้องบูรณาการเข้ากับส่วนอื่นๆ
การดำเนินยุทธศาสตร์ มาตรการ หรือการเคลื่อนไหวต่างๆ จะต้องมองอย่างครบถ้วนทุกมิติ คือไม่มองมุมใดมุมหนึ่งหรือสุดโต่ง เพราะจุดที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์รวมของระบบเศรษฐกิจ ก็คือสภาวะที่เกิดดุลยภาพ ผมคิดว่าหลักคิดอันนี้ ก็คือหลักคดเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา
ถ้าเราดูในแง่ของการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของรูปแบบการค้า-บริการภายกรอบของ WTO ด้วย ไม่เฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเท่านั้น
การเปิดเสรีด้านนี้ เราจะเห็นว่ามีการต่อสู้กันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าทุกเรื่องที่ผลประโยชน์ ต่างฝ่ายก็ต้องต่างต่อรอง เจรจาเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้าคนใดเอามากเกินไป อีกคนเสียมากเกินไป ก็อยู่กันไม่ได้ ก็ต้องเจรจาต่อรองจนกระทั่งอยู่ในระดับที่พอรับได้
แต่ในโลกความเป็นจริง ใครมีอำนาจมาก ใครจัดตั้งดีก็ต่อรองได้มาก เช่นเดียวกันกับการเปิดเสรีทางด้านแรงงาน ในเวทีระดับโลก เวทีระดับอาเซียนก็เหมือนกัน เอาเฉพาเรื่องการให้คำจำกัดความเรื่องแรงงาน ว่าการเปิดเสรีแรงงานจะจำกัดความระดับไหน ก็ปรากฏว่าชัยชนะเป็นของประเทศพัฒนาแล้ว ก็คือการเปิดเสรีแรงงานให้เฉพาะแรงงานระดับสูงหรือแรงงานระดับบน ก็คือเป็นแรงงานที่เป็นนักวิชาชีพชั้นสูง เป็นนักเทคนิคชั้นสูงทั้งหลาย คนที่ได้ประโยชน์คือแรงงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะมีโอกาสไปทำงานไร้พรมแดนมากขึ้น
แต่ถ้ามองในแง่บวกก็คือว่า ไม่เป็นไรเปิดเสรีในด้านนี้ ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า เขาก็ขาดแคลนแรงงานด้านนี้อยู่แล้ว ก็เปิดเสรีให้เข้ามาทำงาน ก็มองในแง่บวกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
แต่ว่าการเปิดเสรีแรงงานที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานทีมีฝีมือระดับต่ำ ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ยอมให้เปิดเต็มที่ เขาจะมองว่าถ้าเปิด ก็จะมีแรงงานจากประเทศด้อยพัฒนาทะลักเข้าไปแย่งงานคนของเขา
แต่อย่างไรก็ตาม แรงงานระดับล่างในหลายอาชีพ ประเทศที่พัฒนาแล้ว คนของเขาก็ไม่ทำงานบางอย่าง ก็จำเป็นต้องนำเข้า รับคนจากประเทศอื่นเข้าไปทำงาน เหมือนกับประเทศที่งานบางอย่างคนไทยก็ไม่ทำแล้ว เพราะด้วยระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มาถึงจุดหนึ่งคนไทยก็อาจไม่ทำบางอาชีพ เราก็ต้องไปอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
ในมุมของความเป็นเศรษฐกิจอาเซียน เราก็ต้องคิดว่าถ้ามันนำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน พม่าเกิดโอกาสทางเศรษฐกิจจำนวนมาก มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ลาว เขมร เวียดนามก็เติบโตทางเศรษฐกิจสูง เราก็อาจจะเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างประเทศมากขึ้น
งานบางอย่างซึ่งเราเคยใช้แรงงานต่างด้าวทำงาน ก็อาจจะไม่มีคนทำงาน เราอาจจะต้องทำงานด้วยตัวเองมากขึ้นเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ในยุโรปหรือสหรัฐส่วนใหญ่ก็ไม่มีคนรับใช้ในบ้าน ก็ต้องใช้เทคโนโลยีทั้งหลายช่วยในการทำงาน มันก็จะเกิดการพัฒนาไปในแนวทางนั้น
ตรงนี้ก็จะมีประเด็นอะไรที่เชื่อมโยงกับค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าเราไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานจำนวนหนึ่งก็อาจจะกลับประเทศ เพราะค่าจ้างแรงงานไม่มีส่วนต่างมากพอที่จะดึงดูดให้เขาทำงานในประเทศไทย
ถามว่าแล้วจะเกิดอีกด้านหนึ่งไหมซึ่งเป็นมุมกลับ ก็คือว่าเราขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ แล้วทำให้โรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งหลาย ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ก็อาจจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ในที่สุดในทางทฤษฎีค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านก็จะต้องปรับสูงขึ้นในที่สุด
แต่ระยะเวลาที่เกิดการปรับตัว ระหว่างการปรับตัว เราไม่อาจอาศัยกลไกตลาดในการปรับตัวอย่างเดียวได้ ถ้าอาศัยกลไกตลาดทำงานอย่างเดียวตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเสรีนิยมจ๋า คนที่มีอำนาจต่อรองน้อย คนเล็กคนน้อยจะเสียประโยชน์ จะเสียเปรียบ ธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบ ฉะนั้นรัฐจะต้องเข้าแทรกแซง เข้าดูแล มีนโยบาย มีกองทุนเพื่อให้เกิดการปรับตัวจากสภาพที่เกิดขึ้นเป็นผลจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สมมติโรงงานทอผ้า ใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อยู่จังหวัดที่เดิมค่าแรงขั้นต่ำต่ำกว่า 300 บาทเยอะ เขาบอกอยู่ไม่ได้ย้ายไปอยู่พม่า บางส่วนบอกย้ายไปอยู่เขมร ข้ามไปนิดเดียวค่าแรงอีกราคาหนึ่งเลย
ถ้าเราคิดว่าไม่เป็นไร เจ้าของกิจการ นายจ้าง จะย้ายฐานการผลิตไป มองในมุมความสามารถในการแข่งขัน เขาก็สร้างเครือข่ายการผลิตให้ดีขึ้น บริหารต้นทุนให้ความสามารถในการแข่งขันของกิจการไทยมันแข่งได้ แล้วเราไม่มีสิทธิไปห้าม เพราะประเทศเราเป็นประชาธิปไตย ก็ปล่อยให้ย้ายไป แต่ถ้าเราบอกว่าไม่อยากให้ย้ายไปเยอะ เราก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาอยู่ในประเทศไทย เช่น ประเทศไทยปลอดภัยกว่า โครงสร้างพื้นฐานดีกว่า ค่าน้ำค่าไฟถูกกว่า การขนส่งดีกว่า คอร์รัปชั่นน้อยกว่า อันนี้จริงหรือเปล่าไม่ทราบ ก็ให้เขาอยู่ในเมืองไทย ขึ้นอยู่ว่ายุทธศาสตร์ นโยบายจะเอายังไง
แต่ถ้าเราบอก ไม่เป็นไร ให้เป็นไปตามกลไกตามสภาพ แต่เรามานั่งดูผลกระทบ เช่น คนของเราเมื่อก่อนเป็นคนงานโรงงานทอผ้า เราบอกคนไทยไม่ต้องไปทำอะไรที่เป็นการผลิตพื้นๆ แล้ว ต้องเอาคนไทยมาทำอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้น มีมูลค่าเพิ่ม (value added) สูงขึ้น เขาก็ไม่ตกงาน ก็ย้ายการทำงานจากที่มีทักษะขั้นต่ำมาเป็นทักษะขั้นกลางขั้นสูงมากขึ้น เขาก็จะไม่ตกงานและมีค่าจ้างสูงขึ้น
แต่กระบวนการปรับตัวตรงนี้ใช้เวลา เพราะมันเกี่ยวข้องกับการศึกษา การฝึกอบรม และในระหว่างทางเราจะดูแลเขาอย่างไร
เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ยังไงต้องเดินหน้า เพราะปัญหาของระบบเศรษฐกิจไทยคือ ความไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาใหญ่ ผลกระทบที่ตามมาต้องก็เข้าไปแก้ทีละจุดๆ เข้าไปยกระดับผลิตภาพให้สูงขึ้น ไปดูแลกิจการขนาดเล็กให้เขาอยู่ให้ได้ ถ้าไม่ทำวันนี้ ทำวันอื่นก็ยาก
เวลาจะผลักดันเรื่องนี้ ต้องทำในช่วงที่เศรษฐกิจยังขยายตัวดีอยู่ และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะตอนนี้อัตราการว่างงานยังอยู่ที่ 0.6-0.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำ แล้วมีภาวะแรงงานตึงตัวในบางธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยซ้ำไป
แต่ตรงนี้อาจยังดูไม่ละเอียด ต้องดูต่อไปอีกพักหนึ่งว่าถ้าปรับแรงงานขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ อัตราการว่างงานจะเพิ่มไหม แต่ผมเชื่อว่าแม้เพิ่มก็ไม่มาก เพราะในการบิหารเศรษฐกิจก็ต้องมององค์รวม มองมหภาค ถ้าทำให้เศรษฐกิจโตได้ 4-6 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาการว่างงานไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยังไงคนก็จะหางานได้ในที่สุด หรือเมื่อเศรษฐกิจอาเซียนเพิ่มขึ้น เราก็ไปหางานในประเทศเพื่อนบ้านบ้างก็ได้
แต่ว่าจะเกิดปัญหาอีกด้านหนึ่งต่างหาก ที่คนไทยจะไม่ออกไปทำงานต่างประเทศมากเท่าไหร่ ยกเว้นคนที่เก่งมากๆ ภาษาอังกฤษดีๆ ก็อาจจะออกไปทำงานประเทศเพื่อนบ้าน
ทีนี้ คนจากประเทศอื่นจะเข้ามาแย่งงานเราทำไหม โดยเฉพาะใน 7 สาขาวิชาชีพ ก็ต้องบอกว่า ในขณะนี้ยังคงไม่มีปัญหานั้น เนื่องสมาคมวิชาชีพของไทยจัดตั้งดี แข็งแรงระดับหนึ่ง ก็ต่อรองว่า หมอต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ต้องเข้าใจภาษาไทย มีใบอนุญาตภาษาไทย ถ้าในมุมของต่างชาติก็จะมองว่า เรากีดกันเขาหรือไม่ ถ้ามองมุมเราก็คือ เราปกป้องคนในวิชาชีพในประเทศของเรา
แต่ถ้ามองอะไรที่ใหญ่กว่าความเป็นประเทศ และมองความเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจ จะต้องคิดอะไรที่ใหญ่กว่าความเป็นประเทศ ถึงจะสำเร็จในการเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจได้
ให้เราดูตัวอย่างกรณียูโรโซน ถ้าเขาคิดหนีไม่พ้นความเป็นประเทศ ชาวเยอรมันจะไม่ยอมออกเงินไปช่วยคนกรีซ ถ้าไม่ช่วยยูโรโซนก็ล่มสลาย คนที่เป็นสมาชิกของประชาคมต้องคิดกว้างกว่าความเป็นประเทศ
ถ้าคิดในฐานะผู้ใช้แรงงานก็คือ เพื่อนร่วมวิชาชีพ ไม่ว่าเขาจะเป็นชาติไหนก็ต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม อย่างมีสวัสดิภาพ มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ถ้าเขาทำงานได้เท่ากับคนไทย เขาก็ต้องได้รับค่าจ้างเท่ากัน นี่คือความเป็นธรรมที่เป็นมิติระหว่างประเทศ
โอกาสและความเสี่ยงในมุมมองของนายจ้างก็มีหลากหลายลักษณะเช่นเดียวกัน เริ่มจากโอกาสของนายจ้างที่จะเลือกแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะใน 7 สาขาวิชาชีพที่เปิดเสรีเต็มที่ อำนาจการต่อรองของแรงงานย่อมลดลง โดยเฉพาะสาขาวิชาชีพที่มีการเปิดเสรี ตลาดแรงงานเปิดกว้างมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น เป็นภาวะกดดันให้แรงงานต้องพัฒนาคุณภาพตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าไม่พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ไม่พยายามพูดภาษาอังกฤษให้ได้ก็อาจจะเสียโอกาส
สถานประกอบการก็อาจจะไปในที่มีแรงงานสอดคล้องกับการผลิตได้มากกว่าเดิม และเมื่อลงทุนในอาเซียนก็สามารถนำนักวิชาชีพไปทำงานได้โดยสะดวกขึ้น
แต่ความเสี่ยงที่สำคัญก็คือ นายจ้างที่ไม่ดูแลแรงงานตัวเองให้ดี ไม่จ่ายค่าตอบแทนค่าจ้างที่เหมาะสม อาจจะสูญเสียแรงงานทีมคุณภาพให้กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอาเซียน
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเอาใจใส่ก็คือ ต้องศึกษามาตรฐานฝีมือแรงงานในประเทศที่ไปลงทุนด้วย
ในระยะยาว และระยะปานกลาง เมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเต็มที่ อัตราค่าจ้างจะปรับใกล้เคียงกันมากขึ้น การย้ายฐานการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกจะค่อยๆ ลดลง แต่ในทางปฏิบัติการเปิดเสรีแรงงานจะไม่เกิดอย่างเต็มที่ เพราะองค์กรวิชาชีพ องค์กรแรงงานในหลายประเทศก็จะปกป้องแรงงานภายในของตนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติ เพราะการเปิดเสรีภาคแรงงานมันมีมิติด้านการเมือง และเกี่ยวกับคนเยอะ ฉะนั้นจะมีความต่างจากเปิดเสรีทางด้านอื่นๆ พอสมควร
ผมสรุปสั้นๆ ว่า อนาคตของเศรษฐกิจ และอนาคตของแรงงานไทยมีโอกาสจำนวนมาก ถ้าเรามียุทธศาสตร์ มีนโยบาย และสามารถบูรณาการภาคส่วนต่างๆ ให้เดินเข้าสู่เป้าหมายที่จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภาพรวมและแรงงานร่วมกันได้
ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่อาจร้องขอจากรัฐบาลฝ่ายเดียวได้ เราทั้งในแง่ของนายจ้างก็ดี องค์กรนายจ้างก็ดี องค์กรลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานก็ดี ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองและช่วยกันด้วย ที่จะทำให้เราใช้โอกาสของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
//////////////////////////////////////////////