อดีตผู้เลี้ยงไก่พันธสัญญาสวมหัวใจอาสา ลุยช่วยชุมชนน้ำท่วม

 
พ่อทองเจือ  เขียวทอง  เป็นอดีตเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในระบบพันธสัญญา อยู่ที่ตำบลท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่เนื่องจากทนกับสภาพการเอารัดเอาเปรียบไม่ได้  จึงตัดสินใจออกจากห้วงแห่งความทุกข์นั้นมา  และเมื่อหมู่บ้านของตนเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ พ่อทองเจือ  ได้เป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่แข็งขันในการช่วยประสานและขนของบริจาคมาช่วยเหลือคนในชุมชน และขยายเป็นหน่วยแจกจ่ายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง  จำนวน 7 หมู่บ้าน ของตำบลท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี ถึงแม้ว่าบ้านจะจมน้ำ  ทั้งไผ่หวานที่เลี้ยงไว้ซึ่งเป็นความหวังของการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวต้องตายไปกับสายน้ำแน่ๆ  พ่อทองเจือก็ยังยืนหยัดสู้ต่อไป  และที่สำคัญยังเป็นห่วงเกษตรกรในระบบพันธสัญญาว่า  จะมีบริษัทหรือใครเข้ามาช่วยหรือไม่
 
น้ำท่วมครั้งนี้ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
คนในหมู่บ้านมีประมาณ 950 ครัวเรือน จำนวน 2000 กว่าคน ต้องเจอกับปัญหาเรื่องรายได้จากอาชีพที่ทำ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมโดนน้ำท่วม  และคนที่ทำอาชีพเกษตรกรยิ่งต้องหยุด!  ทำอะไรไม่ได้เนื่องจาก  ฟาร์มเป็ด  ฟาร์มไก่   และฟาร์มหมู  น้ำท่วมมิดหลังคา  บางรายขนไก่ไม่ทัน  หมูในฟาร์มแถวนั้นก็ตายไปกับน้ำกว่า  7,000  ตัว  ซึ่งตอนนี้เดินทางไปถามใคร  ชาวบ้านจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า  “หมดทุกอย่าง”  และหลายคนก็เครียดๆ  กัน 
 
การช่วยเหลือของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรในระบบพันธสัญญาได้ช่วยอะไรบ้าง
ตอนนี้ยังไม่เห็นความช่วยเหลืออะไร  แต่ก็ได้พยายามติดต่อบริษัทใหญ่รายหนึ่งซึ่งได้บริจาคอาหารหมูมาให้แค่  2  ถุง  (ขำ)  เราเองก็ยังเฝ้าดูความช่วยเหลืออยู่  แต่พ่อทองเจือไม่ได้พูดถึงบริษัทมากเพราะมัววุ่นกับการช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันและเสมือนกับไม่แน่ใจว่าบริษัทจะมาช่วย
 
อะไรที่ทำให้พ่ออาสามาช่วยชุมชนในครั้งนี้
มีความเป็นมนุษย์ด้วยกันก็ต้องช่วยกัน  ทั้งที่ตนเองมีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นโรคความดันสูง เบาหวาน วันที่พบกันพ่อทองเจือกล่าวว่า ยาหมดแล้ว ยังไม่ได้ไปโรงพยาบาลเพื่อรับยา เพราะต้องจัดการภาระการส่งต่อจัดหาของใช้ อาหาร ยา น้ำดื่ม ให้กับสมาชิกชุมชน และผู้ที่เดือดร้อน 
 
แผนสำหรับการฟื้นฟูชุมชนจะทำอย่างไรต่อไป
ฟื้นฟูกลุ่มอาชีพแม่บ้าน  หาเงินหมุนเวียน  โดยการสร้างผลิตภัณฑ์  เช่น  ปลาร้าน้ำปลา  หน่อไม้ดองเต้าเจี้ยว  ฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนในชุมชนให้มีความเข้มแข็งเกิดขึ้น  จัดตั้งกลุ่มกองทุนออมทรัพย์ กองทุนข้าว โดยการทำนาปีละครั้ง รวมทั้งการประกอบอาชีพเสริมในแต่ละฤดูกาลตามสภาพแวดล้อม ปลูกข้าวพันธุ์ไวแสง และปลูกพืชผัก ที่สำคัญคิดว่าน่าจะมีรถพ่วงไว้ใช้  สำหรับขนย้ายสัตว์ในฟาร์มและในหมู่บ้านให้เร็วขึ้น เวลาเกิดน้ำท่วมขึ้นอีก  นอกจากนั้นก็หางบประมาณจากองค์กรต่างๆ  มาใช้เป็นงบประมาณในการวางแผนรับมือกับน้ำท่วมในอนาคตร่วมกันในระยะยาว
 
ปรางทิพย์ เวฬุบรรพ์  อาสาสมัครนักสื่อสารเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา รายงาน