อดีตคนงาน แฉ โรงงานนิคมมาบตาพุดระเบิด!!

คงไม่ต้องบอกว่าข่าวการระเบิดของโรงงานบางกอก ซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นข่าวที่คนงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเฝ้าติดตามและหาทางแก้ไขและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับชุมชน คนงานที่เสียชีวิตถึง 12 คน และได้รับบาดเจ็บนับร้อยคน และชาวบ้านชุมชนรอบรั่วโรงงานที่ต้องเดือดร้อนหวั่นวิตกต่อเหตุการณ์สารเคมีที่รั้วไหล ซึ่งไม่ทราบเลยว่าอนาคตจะมีผลอย่างไรกับชีวิต โรคจากพิษภัยอุตสาหกรรมคือความกังวลที่แอบสร้างทุกข์ขึ้นในใจ แม้ท่านนายก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องพร้อมองค์กรเอกชนเข้าไปนั่งประชุมร่วม ก็ไม่สามารถคลี่คลายได้ เพราะระบบที่คิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ต้องมีส่วนร่วมของรัฐ นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้ได้รับผลกระทบ คนงาน และชุมชน การตรวจสอบ และบทลงโทษที่เด็ดขาดไม่ใช่ปรับครั้งละไม่กี่บาท บางครั้งนายทุนมองว่า เสียค่าปรับเล็กน้อย แค่ได้กำไรน้อยลงไม่ถึงขึั้นต้องล้มละลาย หรือบ้าน ชุมชน คนที่ตายไม่ใช่ญาติเรา เป็นต้น 

“ผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ติดตามและอยากรู้เรื่องราวว่ามันเกิดอะไรขึ้นและมันเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้(6 พค.54) ผมเข้าทำงานกะดึกในโรงงานย่านนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อนๆคนงานต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เผอิญหนึ่งในนั้นอดีตเคยเป็นคนงานของบริษัทดังกล่าว ได้เล่าเรื่องราวในรั้วโรงงานให้ฟัง”

หนึ่งในอดีตคนงานกล่าวว่า  หลังจากที่เรียนจบด้านเคมีเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว ผมและเพื่อนร่วมรุ่นประมาณ 5 คนได้สมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานของบริษัท BTS  สมัยนั้นบริษัทมีทั้งหมด 3 plan  แต่ละ plan มีพนักงานประมาณ 100  คน การทำงานมีแค่ 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง ทำ 2 วัน หยุด 2 วัน ทำ 3 วันหยุด 3 วัน  รับเงินเดือน เดือนละประมาณ 8,000 บาท โดยตัวเขานั้นทำในตำแหน่ง Fild Operator คือพนักงานระดับปฏิบัติการทำหน้าที่คอยเก็บตัวอย่างของสารเคมีที่ผสม ไปส่งให้ห้อง Lap ตรวจเพื่อดูว่ากระบวนการผสมหรือการทำปฏิกิริยาได้ผลกี่เปอร์เซ็นแล้ว รวมทั้งทำหน้าที่ปิด-เปิด วาล์วของสารเคมีซึ่งมีเป็นพันๆท่อพันๆวาล์ว และเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการที่จะต้องทำให้ได้ตามขั้นตอนและคู่มือการทำงานจะพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด หากการเปิดปิดวาล์วผิดพลาดเมื่อไหร่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นแน่นอน เหตุเพราะว่ากระบวนการผลิตหากถังที่บรรจุสารเคมีเต็มแล้ว เราเปิดวาล์วเพิ่มสารเคมีเข้าไปอีก แรงดันจะดันจนถังบรรจุรับไม่ไหวจะเกิดการระเบิดทันที ซึ่งสารเคมีบางตัวต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ไม่เกินลบ 14 องศา หากเกินกว่านั้นอาจติดไฟ และระเบิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงอันตรายมากทีเดียว

“สมัยนี้ไม่แน่ใจว่าโรงงานมีการนำระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมาพัฒนาใช้หรือไม่ ส่วนสาเหตุที่ผมลาออกจากโรงงานเพราะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี เพราะผมเองมีอาการแพ้สารเคมี  โดยเฉพาะจุดที่ผมทำงานอยู่นั้นมีสารเคมีตัวหนึ่งที่เรียกว่า สไตรีนบิวทาไดอีน (สารสไตรีนบิวทาไดอีน  ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ใน voicelabour.org ) คือ สารที่นำมาเพื่อเป็นสารตัวหนึ่งในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ อันตรายของมันก็คือแค่ไอของมันมาสัมผัสถูกผิวหนังอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้เลยทีเดียว ซึ่งครั้งแรกที่ตนเข้าไปทำงานแค่ได้กลิ่นและสูดดมเข้าไปก็เกิดอาการแสบจมูก แสบคอ ตลอดเวลาที่ทำอยู่ 2 ปี รับรู้ได้ว่าร่างกายมีความอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้บริษัทจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ขณะปฏิบัติงานก็ตามแต่ก็มีบางจังหวะที่เผอเรอ”

ในวันที่โรงงานระเบิดผมได้ติดต่อเพื่อนที่เป็นพนักงานในบริษัทนั้น เพื่อนได้เล่าให้ฟังว่าขณะที่โรงงานระเบิดเป็นวันหยุดของเขา ตอนนั้นที่เขาเลี้ยงลูกอยู่บ้านซึ่งห่างจากสถานที่เกิดเหตุน่าจะประมาณ 5 กิโลเมตร สามารถรับรู้ได้ถึงแรงระเบิดตัวบ้านถึงกับสะเทือนเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุของการระเบิดได้รับข่าวจากเพื่อนๆที่อยู่ในโรงงานต่างเล่าต่อกันว่า plan ที่ทำอยู่มีการ shut down และมีผู้รับเหมาจากภายนอกเข้ามาทำการซ่อมบำรุง แต่ด้วยสาเหตุใดก็ไม่ทราบถึงเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ทั้งนี้ยืนยันได้เลยว่าผู้ที่อยู่ในรัศมีแรงระเบิดซึ่งก็เกือบทั้งโรงงาน plan นี้ได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บอย่างแน่นอน

ยังมีอีกเรื่องที่อดีตคนงานดังกล่าวเล่าให้ฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ทำงานอยู่กับสารเคมีนั่นก็คือ ตอนที่ตัวเขาเองทำงานอยู่ มีหัวหน้างานคนหนึ่งอายุประมาณ 40 ปี ทำงานกับบริษัทมา 8 ปี เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานมาก  เวลางานติดขัดหรือมีปัญหาหัวหน้างานคนนี้จะรีบไปแก้ไขทันทีจนบางครั้งไม่ได้ใส่ใจที่จะสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยจากสารเคมีต่างๆ เขาทำเป็นประจำ จนในที่สุด เขาเกิดอาการไม่สบายจนต้องไปพบแพทย์บ่อยๆ ซึ่งนายจ้างก็ชาวยเหลือดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด  สุดท้ายเขาทนต่ออาการที่เจ็บป่วยได้ประมาณ 2 ปี จึงตัดสินใจลาโลกด้วยการผูกคอตายในห้องพักเพื่อหนีโรคร้ายที่เกิดขึ้น

นี่คือคำบอกเล่าของอดีตผู้ที่เคยทำงานในโรงงาน BST ซึ่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวและเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ก็คงต้องฝากพี่น้องคนงานที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีตลอดเวลา ตรวจตราดูว่าระบบป้องกันหรืออุปกรณ์ป้องกันภัยเราจากสารพิษ สารเคมีต่างๆดีพอหรือยัง ถ้ายัง!! เราจะมีส่วนร่วมอย่างไรในการแก้ไขปัญหา? หรือจะปล่อยให้เกิดเหตุซ้ำอีก?

ขอตั้งจิตอธิฐานดลบันดาลให้วิญญาณของผู้ใช้แรงงานที่เสียชีวิตจากเหตุร้ายในครั้งนี้ได้รับการดูแลและตอบแทนอย่างดีจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและขอให้วิญญาณของท่านได้เข้ามามีส่วนดูแลและปกป้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

                                                                สมหมาย ประไว  นักสื่อสารแรงงาน voice labour  รายงาน