องค์การแรงงานแถลงล่าชื่อเสนอแก้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เสนอสภาสิงหานี้

องค์การแรงงานแถลงล่าชื่อเสนอแก้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เสนอสภาสิงหานี้

22 JULY 2012 NO COMMENT (เผยแพร่ใหม่หลังจากเว็บไซต์ูถูกแฮ็กเมื่อวันที่ 1 ส.ค.55)

องค์การแรงงาน นัดผู้นำแถลงระดมล่าลายมือชื่อหนึ่งหมื่นชื่อหวังเสร็จพร้อมเสนอรัฐสภา 15 สิงหาคมนี้ ประกาศรวมพลร่วมยื่น

วันที่ 22 กรกฎาคม 2555 ณ ห้องราชพฤกษ์ (ชั้น 3) โรงแรมเบย์ ถ.ศรีนครินทร์ ต.สำโรงเหนือ องเมือง จ.สมุทรปราการ คณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..)พ.ศ. …. (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงาน ในนามองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. ได้มีการจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ และแถลงข่าวการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..)พ.ศ. …. (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย แถลงว่า การที่มีการร่วมกันในการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากภาวะสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่เวทีอาเซี่ยน (AEC) กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันได้ถูกบังคับใช้มาแล้ว 14 ปี ซึ่งการจ้างงานมีความเปลี่ยนแปลงเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดการชุมนุมของผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีการดูแลด้านสวัสดิการ ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เพื่อให้เกิดความครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ โดยการประชาพิจารณ์และประเด็นแก้ไขรวม 14 ประเด็น เช่น

1.  การขยายความคุ้มครองไปสู่ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรับวิสาหกิจ ให้ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับลูกจ้างเอกชนทั่วไป

2.  การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด และเมื่อลูกจ้างทำงานมากกว่าหนึ่งปีให้ได้รับอัตราค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากลูกจ้างได้มีทักษะฝีมือในการทำงานมากขึ้นก็ควรได้รับค่าจ้างที่สูงตามไปด้วย

3.  ได้เพิ่มเติมเรื่องสิทธิให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอด และหลังการคลอดบุตร แต่รวมแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน เพื่อดูแลบุตรระหว่างอยู่ในครรภ์ และหลังคลอด

4. เพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อการตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอด และหลังคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกินเก้าสิบวัน เพื่อขึ้นจากเดิมสี่สิบห้าวัน เพื่อให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงได้มีเวลาดูแลสุขภาพก่อนคลอด และหลังคลอดบุตรอย่างเต็มที่ ไม่กระทบกับรายได้ในระหว่างดังกล่าว

นี้คือประเด็นที่แก้ไขบางส่วนที่นำเสนอ ด้วยเห็นถึงความจำเป็นของการจ้างงาน ค่าจ้าง และความเป็นผู้หญิงที่มีความจำเป็นในการดูแลตัวเอง และบุตร การที่ต้องมีรายได้เพื่อยังชีพด้วย

ทั้งนี้องค์การแรงงานจะมีการล่าลายมือชื่อ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับของผู้ใช้แรงงาน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จ และจะเดินทางไปยื่นต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ลายชื่อที่ล่าได้มีการถทยอยส่งมาแล้วบางส่วนขณะนี้ประมาณ 3,000 กว่าชื่อ และในวันนี้มีผุ้นำแรงงานในสภาองค์การลูกจ้างหลายแห่งมาร่วมจึงอยากให้มีการร่วมลงสัตยาบันร่วมกันในการขับเคลื่อนผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับผู้ใช้แรงงาน

นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทยไทย กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายครั้งเป็นการแก้ไขโดยรัฐ ไม่ใช่การเสนอร่างกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน วันนี้เป็นความร่วมมือขององค์การแรงงานที่มีสภาองค์การลูกจ้างมาร่วมกันร่างและเสนอกฎหมาย เพื่อการคุ้มครองแรงงาน

นายอุดม บุพนิมิต ประธานสภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยนในปี 2558 ที่จะมาถึง ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายแรงงานให้เกิดความคุ้มครองและเป็นสากลมากขึ้น

นายอัมพร บรรดาศักดิ์ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานเสรีแห่งชาติ กล่าวว่า การที่องค์การแรงงานฯเป็นแกนนำในการล่าลายมือชื่อ 1 หมื่นชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย ภายใต้สถานที่ตั้งของสภาองค์การลูกจ้างส่วนใหญ่ที่เป็นเครือข่ายอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ และถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก การให้ได้มาซึ่งรายชื่อ 1 หมื่นชื่อ จึงคิดว่าไม่น่าจะยาก และทำไม่ได้ตามที่กำหนด หากไม่ได้ก็คงต้องโทษผู้นำแรงงานไม่ทำหน้าที่ ควรลาออกจากการเป็นผู้นำเสีย การที่จะเคลื่อนไหวนำลายมือชื่อไปยื่นต่อรัฐสภาหวังว่าคงไปกันให้มากๆ เพื่อแสดงถึงความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เพราะก็รู้อยู่แล้วว่า รัฐสภาไม่มีแรงงานเป็นตัวแทนอยู่ในนั้น การที่จะให้เขารับ และเสนอร่างกฎหมายของผู้ใช้แรงงานต้องใช้พลังจำนวนมากทีเดียว

นายธนกิจ สาโสภา รองประธานสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ เกิดปัญหามากมาย อาจมีคำถามว่าผู้นำแรงงานหายไปไหนทำไมไม่มาช่วยกันแก้ไขปัญหา

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความอ่อนแอของขบวนการแรงงาน ทุกคนต้องยอมรับ และพร้อมช่วยกันแก้ไขตรวจสอบ เพื่อกำหนดทิศทางปรับขบวนการให้เข้มแข็ง วันนี้เป็นการดีที่ผู้นำแรงงานได้ออกมาแก้ไขปัญหาด้วยการร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดความคุ้มครองที่เป็นธรรม จึงคิดการให้สัตยาบันการขับเคลื่อนผลักดัน การล่าลายมือชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายสภา ถือเป็นก้าวแรก และจะร่วมกันผลักดันให้เป็นผลสำเร็จร่วมกัน

อนึ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการ เพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้าง จึงสมควรให้แก้ไขเพิ่มเติมโดย หลักการและเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับผู้ใช้แรงงานสรุปจาก 14 ประเด็น ดังนี้

1. กำหนดให้ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างของหน่วยงานเอกชนที่หน่วยงานเอกชนส่งให้ไปทำงานในหน่วยงานของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

2. เพิ่มเติมคำนิยามความหมายของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้กับลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด และเมื่อลูกจ้างทำงานมากกว่าหนึ่งปีให้ได้รับอัตราค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากลูกจ้างได้มีทักษะฝีมือในการทำงานมากขึ้นก็ควรได้รับค่าจ้างที่สูงตามไปด้วย

3. ให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงโอนย้ายตัวนายจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิเพิ่มขึ้นในการเลือก และกำหนดในการที่จะไปเป็นลูกจ้างของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นายจ้างเดิม ซึ่งบทบัญญัติเดิมไม่ได้ให้สิทธิแก่ลูกจ้าง กำหนดให้เฉพาะนายจ้างปฏิบัติ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของลูกจ้าง

4. กำหนดสิทธิการลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นของลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้าง เป็นการกำหนดสิทธิของลูกจ้างในการใช้สิทธิลากิจธุระอันจำเป็นไม่น้อยกว่าหกวันทำงานต่อปี และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา เป็นการเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนในการกำหนดสิทธิการลา ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนดไว้

5. เพิ่มสิทธิลูกจ้างหญิงมีครรภ์ในการลาก่อนคลอด และหลังคลอด ได้เพิ่มเติมเรื่องสิทธิให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอด และหลังการคลอดบุตร แต่รวมแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน เพื่อดูแลบุตรระหว่างอยู่ในครรภ์ และหลังคลอด

6. เพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อการตรวจรักษาสุขภาพก่อนคลอด และหลังคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกินเก้าสิบวัน เพื่อขึ้นจากเดิมสี่สิบห้าวัน เพื่อให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงได้มีเวลาดูแลสุขภาพก่อนคลอด และหลังคลอดบุตรอย่างเต็มที่ ไม่กระทบกับรายได้ในระหว่างดังกล่าว

7. กำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว และการจ่ายเงินในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายค่าเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน และให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้าง และพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการ

8. กำหนดมาตรการในการปฏิบัติกับนายจ้างที่จ้างลูกจ้างต่างชาติ แก้ไขเพิ่มเติมในการกำหนดให้นายจ้างจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่ใช่ภาษาไทยเท่านั้นให้มีภาษาประเทศอื่นๆด้วย เมื่อลูกจ้างแต่ละประเทศที่มาทำงานในสถานประกอบกิจการมีจำนวนสิบคนก็ให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานภาษาของลูกจ้างนั้นด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซี่ยน และการโยกย้ายแรงงานข้ามชาติในอนาคต  

9. กำหนดการเพิ่มสิทธิของลูกจ้างให้ได้รับอัตราเงินค่าชดเชยในการถูกเลิกจ้าง เพื่อให้ความเหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบัน และอนาคตในการที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำงานต้องใช้เงินค่าชดเชยก้อนสุดท้ายในการดำรงชีพ และเลี้ยงครอบครัวจนกว่าจะหางานใหม่ทำได้ ซึ่งเป็นภาระลูกจ้างโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างได้ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เพื่อลดปัญหาการเลิกจ้างเนื่องจากเมื่อค่าชดเชยสูงขึ้น การเลิกจ้างก็จะลดน้อยลง เนื่องจากนายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นต้องพิจารณาให้รอบคอบในการเลิกจ้างแต่ละครั้ง

10. แก้ไขบทบัญญัติข้อยกเว้นที่ทำให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย เมื่อลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเสียหายเท่าไหร่ อย่างไร จึงได้เพิ่มเติมให้เกิด ความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงให้เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ และยกเลิก กรณีได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเนื่องจากบางไม่มีส่วนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จึงเป็นการตัดสิทธิลูกจ้าง ลูกจ้างควรได้รับค่าชดเชย

11. เพิ่มสิทธิให้แก่ลูกจ้างในกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ หรือย้ายลูกจ้างให้ไปทำงาน อันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอันปกติของลูกจ้าง และครอบครัว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบปัญหาในการที่นายจ้างย้ายลูกจ้างไปทำงานที่ไกลจากที่พักอาศัยจากที่ทำงานเดิม

12. ขยายความคุ้มครองความช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีเหตุภัยพิบัติ แก้ไขเพิ่มเติมให้กองทุนสงเคราะห์ได้ขยายความช่วยเหลือให้ควบคุมไปถึงกรณีที่ลูกจ้างออกจากงาน หรือตาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

13. กำหนดแนวปฏิบัติให้พนักงานตรวจแรงงานกรณีเข้าตรวจสถานประกอบกิจการ หรือสำนักงานของนายจ้างจะต้องแจ้งให้องค์กรของลูกจ้างมีส่วนร่วมในการตรวจและนำเสนอข้อเท็จจริง รวมทั้ง

14. เพิ่มบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกจ้าง และการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน