4 องค์กรใหญ่จับมือกันเปิดตัว “สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรม” คาดเป็นกระบอกเสียงในขบวนการแรงงานโลก เพื่อปกป้องสิทธิ และสภาพการจ้าง ที่ดี งานที่มั่นคง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2556 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศเบลเยี่ยม ( ABVV ) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าแรงงานอิเลคทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย ( TEAM ) สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ( TWFT ) สหพันธ์แรงงานกิจการเคมีภัณฑ์พลังงานเหมืองแร่และงานทั่วไปแห่งประเทศไทย ( ICEM-THAI ) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ( ALCT ) จัดการประชุมสมัชชาคนงานโลหะในประเทศไทย และ การเปิดตัว สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.ร.อ.ท. ) ณ ห้องประชุมบอลรูม โรงแรมบางกอกพาเลซ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมราว 200 คน
นายชาลี ลอยสูง ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าแรงงานอิเลคทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย ( TEAM) และประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวเปิดงานสมัชชาในครั้งนี้ “การร่วมกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีมากว่า 10 ปี แต่เพิ่งจะมีการทำงานอย่างเข้มข้นเมื่อประมาณ 2- 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการควบรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันจะสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น โดยการใช้สัญญาลักษณ์รูปหน้าคน ที่ไม่แยกชายหญิงและเชื้อชาติ หลังจากที่กลับมาจากการประชุมที่เจนีวาก็ได้มาประชุมหารือกับสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าแรงงานอิเลคทรอนิคส์ยานยนต์ฯ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ สหพันธ์แรงงานกิจการเคมีภัณฑ์พลังงาน ฯ และมีการหารือกับหลายองค์กรรวมถึงสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดวิธีการรวมตัวกัน จากนี้ไปเราจะมีองค์กรระดับประเทศและทำงานระดับสากลมากขึ้น ในนาม CLIT โดยจะทำงานให้สอดคล้องกับองค์กรแม่ที่ต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องการเหมาค่าแรง การเคลื่อนย้ายแรงงานหรือการย้ายฐานการผลิต เป้าหมายในอนาคตคือ จะดำเนินกาเรื่องการย้ายแรงงาน การผลักดันให้พี่น้องทั่วภูมิภาคต้องมีค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน สิ่งที่คาดหวังคือให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น”
นายอรุณา ซาลาม ผู้แทนสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศเบลเยี่ยม ( ABVV ) กล่าวว่า 15 ปี ตั้งแต่ได้รู้จัก TEAM การรวมตัวกันของ 3 องค์กร และยังมีกลุ่มยานยนต์เข้าร่วมด้วย การต่อสู้ของพี่น้องในวันนี้ก็ไม่ต่างจากการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานเมื่อ 100 ปี หรือ 150 ปี แววตาอันเร่าร้อนของทุกคน ที่ต้องร่วมกันต่อสู้และรวมกันเป็นหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อ 15 ปี ที่แล้วก็ได้สร้างผู้นำในส่วนของ TEAM จึงอยากให้กำลังผู้นำแรงงานให้ทำต่อไป พวกท่านเท่านั้นที่จะปกป้องคนงานในโรงงานได้ ท่านเท่านั้นจะรู้ปัญหาในการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน ทุกวันนี้มีคนรวยมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างคือ สหภาพแรงงาน โลกกำลังเปลี่ยนไป การจ้างงานที่เปลี่ยนไป มีการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงงานมากขึ้น ผลกระทบไม่ได้มีแต่คนงานเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะคนงานเหมาค่าแรงไม่สามารถซื้อบ้านได้ พวกเราต้องร่วมกันปกป้องไม่ให้ประเทศไทยไม่ให้เป็นทาสการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง พวกเราต้องช่วยกันจัดตั้งสหภาพและผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO 87 , 98 รู้เสียใจที่ประเทศไทยร่วมก่อตั้งอนุสัญญา ILO รวมถึงการร่างสนธิสัญญาต่างๆ ปัจจุบันอนุสัญญา ILO มีกว่า 183 ฉบับ แต่ประเทศไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO 87 , 98 ดังนั้นเราต้องช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลรับรอง ร่วมถึงภูมิภาคใกล้เคียงด้วย
รู้สึกดีใจที่วันนี้เรามีการร่วมตัวกัน เนื่องจากมีการหารือกันมานานมาก ซึ่งวันนี้รู้สึกว่าเราได้ทำเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทุกวันนี้นายทุนสามารถย้ายทุนได้เพียงแค่กดปุ่มเดียว ก็สามารถย้ายทุนได้ ฉะนั้นพี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงานรวมตัวกันในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันและรวมตัวกันในสหพันธ์เดียวกัน เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับนายทุนมากขึ้น วันนี้สหภาพแรงงานไทยเรยอนถูกนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องสวนและมีการนัดหยุดงาน แต่สหภาพแรงงานในเครือยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้ในการใช้อำนาจการรวมตัวเพื่อต่อรอง วันนี้เรายังไม่มีพรรคการเมืองเพื่อผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นเรื่องของค่าจ้าง การกำหนดเรื่องของสวัสดิการของคนงานจึงไม่สามารถทำได้ ดังนั้นในอนาคตเราต้องมีพรรคการเมืองเป็นของคนงานเพื่อช่วยปลดปล่อยคนงานจากนายทุน นายเซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย
อนึ่งสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.ร.อ.ท. ) ตั้งอยู่ที่ 1/466 หมู่ 2 ซอยบางแสน 2 ถนนสุขุมวิท ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10280 โทร. 02 – 709 – 1792 โทรสาร 02 – 707 – 8072 E- mail:ciltthai@gmail.com
นักสื่อสารแรงงานศูนย์พื้นที่สระบุรี รายงาน