ตัวแทนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเข้าพบปลัดกระทรวงแรงงาน แจงเป็นแหล่งศึกษาท่องเที่ยวสำคัญด้านประวัติศาสตร์แรงงานแห่งเดียวในประเทศไทย หวังกระทรวงแรงงานช่วยสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาปรับปรุง ขณะปลัดเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม แนะทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตพร้อมให้หน่วยงานในกระทรวงหาช่องทางสนับสนุน
คณะกรรมการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นำโดยนายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิ เข้าพบหารือกับนายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา13.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกระทรวงแรงงานในการปรับปรุงและดำเนินงานพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยมีนางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวง และคณะผู้บริหารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมหารือด้วย
นายทวีปกล่าวว่า ในช่วงแรกก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเมื่อปี 2536 นั้น มีความร่วมมืออย่างดีกับกระทรวงแรงงาน เห็นได้จากการที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานเสริมศักดิ์ การุณ ไปเป็นประธานในพิธีเปิด ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งเป็นมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในปี 2539 ก็ได้รับการสนับสนุนจากปลัด ผัน จันทรปาน ในการจัดโบว์ริ่งการกุศลหารายได้มอบให้จำนวน 3 แสนบาท วันนี้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งการศึกษาด้านประวัติศาสตร์แรงงานที่สำคัญที่เปิดบริการให้เข้าชมโดยการรับบริจาค มีนักเรียนนักศึกษารวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเยี่ยมชมเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงขยับขยายพื้นที่จัดแสดงและหาทุนในการดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่อง จึงมาขอการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานในฐานะที่ดูแลด้านแรงงาน
ทั้งนี้ตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่ประกอบด้วยผู้นำแรงงานและอาจารย์นักวิชาการร่วมนำเสนอว่า พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาจารย์สถาบันการศึกษาหลายแห่งส่งนักศึกษามาเรียน ซึ่งต่างก็บอกว่าได้ความรู้ดีมีประโยชน์มากแม้สถานที่จะร้อนและคับแคบ และแปลกใจที่รัฐไม่สนับสนุน แตกต่างจากในต่างประเทศที่ภาครัฐมักให้การสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีจำนวนมากที่เป็นผู้บริหารโรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่ต้องการมาศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์แรงงานไทยเพราะต้องทำงานกับคนงานไทย จึงเห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีประโยชน์มากในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านแรงงานทั้งต่อเยาวชนนักศึกษาที่ต้องออกไปทำงาน รวมทั้งผู้บริหารโรงงานทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมด้านแรงงานสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี
ด้านปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวเห็นด้วยว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีประโยชน์ จากเอกสารเห็นว่ามีเรื่องราวตั้งแต่ครั้งมีแรงงานจีนมาจนถึงแรงงานในโรงงานในปัจจุบัน แต่เห็นว่าการทำพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องยากที่ต้องทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งตนเป็นผู้ที่ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์ และพบว่าหลายแห่งตายสนิทเพราะไม่น่าสนใจไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับคนทั่วไป และเห็นว่าหลายแห่งก็ใช้เรื่องธุรกิจเข้ามาช่วยในการหารายได้เช่นทำร้านกาแฟ จัดแสดงดนตรี ส่วนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก็จะให้ทางกรมสวัสดิ์ฯไปหาช่องทางว่าจะสนับสนุนงบประมาณได้อย่างไรเพราะไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ และคงต้องรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการด้วยในฐานะที่ดูแลกำกับนโยบาย
ทั้งนี้รองปลัดกระทรวงแรงงานได้กล่าวชื่นชมที่สามารถยืนหยัดอยู่มาได้ยาวนานถึง 21 ปี โดยมองว่าช่องทางที่กระทรวงจะสนับสนุนได้ก็อาจเป็นเรื่องงานวิชาการ หรือการทำกิจกรรมร่วมในเรื่องของการประชาสัมพันธ์และการศึกษา ทั้งการอบรมความรู้ให้ข้าราชการของกระทรวงเอง หรือการอบรมให้กับผู้ใช้แรงงาน และก็อาจมองถึงการหาการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆที่ร่วมงานกับกระทรวง เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมทั้งจากบริษัทสถานประกอบการต่างที่ทำเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR