ผู้จัดการหัวหมอ เสนอเปลี่ยนสภาพการทำงาน เจอคนงานล่าชื่อไล่

วันที่ 9 กรกฎาคม 55 เวลา 17.10 โดยประมาณ คนงานบริษัทแห่งหนึ่ง ในย่านนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่ง บริษัท ฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ของรถยนต์ชั้นนำของประเทศไทย ได้รวมตัวกันชุมนุมที่หน้าบริษัทฯเพื่อเรียกร้องให้ทางบริษัทยกเลิกการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จากการทำงาน 2 กะ(เดิมกะเช้าเข้าทำงานเวลา 08.00-17.00 น. (หากมีการคนงานจะมีการทำงานล่วงเวลา 17.30-20.00 น.) กะบ่ายเข้าทำงานเวลา 20.00-05.00 น. (หากมีการทำงานล่วงเวลา 05.30-08.00 น.)) เป็น  3 กะ (ทำงานกะเช้าเวลา06.00-14.00 น. กะบ่าย 14.00-22.00น.กะดึก 22.00-06.00 น.) โดยมีการล่ารายมือชื่อ ถอดถอน ผู้จัดการบริษัทฯ โดยรายละเอียดในการออกมาเรียกร้องของคนงานในครั้งนี้

คนงานที่เข้าร่วมชุมนุมเล่าว่า การที่มีการล่าลายมือชื่อไล่ผู้จัดการนั้น เนื่องจากผู้จัดการคนดังกล่าว เป็นผู้ที่ริเริ่มความคิดในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจากการทำงาน 2 กะเป็น 3 กะ และพยายามขัดขวางแทรกแซงการทำงานของสหภาพแรงงานมาโดยตลอด ไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของกรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ รวมไปถึงการที่ บริษัท รับพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวและนักศึกษามาฝึกงานจากมหาวิทยาลัย เช่น บัญชี ช่างเครื่อง เข้ามาทำงานในรายการผลิต ซึ่งคิดว่าไม่ตรงกับการฝึกงานเป็นต้น

นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์  ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้คนงานรู้สิทธิ์และหน้าที่ของตนเอง การเปลี่ยนสภาพการจ้างจากสองกะเป็นสามกะนั้น ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนงาน เป็นการทำลายระบบ 3 แปด คือแปดที่หนึ่งคือทำงาน แปดที่สองคือ พักผ่อน และแปด ที่สาม คือ การศึกษาหาความรู้ ซึ่งนายจ้างนั้นมุ่งเน้นในผลการผลิต และกำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อน คุณภาพชีวิตของคนงาน ทั้งในเรื่องความอบอุ่นของครอบครัว สามีภรรยาต้องเข้ากะไม่ตรงกัน นำมาซึ่งปัญหาครอบครัวหย่าร้าง แตกแยก รายได้ที่ลดลงเนื่องจากไม่มีงานล่วงเวลา (OT)  รายรับไม่พอกับรายจ่าย นำมาซึ่งปัญหาหนี้สิน และปัญหาอื่นๆที่จะตามมา

ในฐานะที่เป็นประธานสหพันธ์ฯ ก็จะพยายามเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ ทั้งนี้ คนงานเองก็ต้องช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกันคัดค้านไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในครั้งนี้ให้สำเร็จไปได้.

คนงานหนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุม ให้สัมภาษณ์กับนักสื่อสารแรงงานว่า ตนรู้สึกไม่เห็นด้วยที่ทางบริษัทจะปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงานเป็นแบบ 3 กะ เพราะขนาดพนักงานมีงานล่วงเวลาทำทุกวันนี้ รายได้ก็แทบไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องค่าสินค้าอุปโภค บริโภคที่เพิ่มขึ้น ค่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ เพิ่มขึ้นทุกอย่าง โดยทุกวันนี้ ตนกับแฟนทำงานสองคนมีเงินเก็บโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 29,000 บาท โดยประมาณ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนตกอยู่ที่ 24,000 บาท รวมค่าอยู่ค่ากิน เหลือเงินพอได้เก็บเป็นเงินฉุกเฉินไว้รักษาตัวในยามเจ็บป่วย และปัจจุบันต้องทำงานอยู่คนละกะกับแฟน เจอกันอาทิตย์ละครั้ง หากเปิดเป็น 3 กะตนไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร เราสองคนจะได้เจอหน้ากันคงต้องลำบากกว่านี้ คนงานคนอื่นๆก็คงไม่แตกต่างจากตนมากนัก ทำไมในเมื่อเราทำงานเพื่อนายจ้างมาโดยตลอดทำผลกำไรให้มากมาย แต่พอได้กำไรลดน้อยลง กลับต้องมาเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้บริษัทได้ผลกำไรเพิ่มมากขึ้น แต่คนงานมีรายได้ลดลง ทำไมไม่สงสารคนงานบ้าง อยากให้นายจ้างหันมามองในจุดนี้บ้าง.

ต่อมา เวลา 18.20 น. ทางนายจ้างได้เรียกตัวแทนคนงานเข้าไปเจรจาหารือร่วม ได้ข้อสรุปว่า บริษัทจะระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไว้ก่อน และจะหาทางออกร่วมกันกับสหภาพแรงงานอีกครั้ง ทั้งนี้ยังไม่มีแถลงการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางบริษัท 

นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก รายงาน