หวั่นประกันสังคมยุค คสช.ลิดรอนสิทธิผู้ประกันตน

ประกันสังคมคนทำงาน

จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…..ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้นำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อ 21 ตุลาคม 2557 ต่อมา สนช. มีมติวาระ1 รับหลักการร่างกฎหมายเมื่อ 31 ตุลาคม 2557 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจำนวน 18  คน มีการประชุมจนถึง 12 มกราคม รวมแล้ว 10 ครั้ง และจะพิจารณาสรุปภาพรวมร่างกฎหมายประกันสังคมทั้งฉบับในวันที่ 26 มกราคม 2558 ก่อนนำเสนอต่อ สนช. เพื่อนำสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไป

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมในชั้นกรรมาธิการนั้น มีตัวแทนฝ่ายแรงงานเข้าไปร่วมในตำแหน่งต่างๆ ด้วย

อรุณี ศรีโต กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ตัวแทนองค์การเอกชน

เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายใหม่ที่แก้ทั้งร่าง เป็นการเสนอแก้ไขเฉพาะบางมาตรา จึงทำให้ไปเปลี่ยนแปลงมาตราอื่นไม่ได้ จึงได้ไปแสดงความเห็นในฐานะเป็นผู้ประกันตนเพื่อให้ข้อมูลกับกรรมาธิการอื่นในเชิงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และสิ่งผิดปกติในการบริหารที่อาจไม่โปร่งใสในสำนักงานประกันสังคมที่ควรต้องแก้ไข ซึ่งกรรมาธิการอื่นเช่นที่เป็นทหารอาจจะไม่มีข้อมูลเรื่องผู้ประกันตนหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งก็ทำให้มองเรื่องผู้ประกันตนที่ด้อยโอกาสที่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ส่วนของสำนักงานประกันสังคมเที่ยวนี้ก็ดูจะเกื้อหนุนมากขึ้น แต่ก็ยังติดเรื่องการอนุรักษ์แบบข้าราชการในบางเรื่อง ต้องอธิบายนาน แต่บรรยากาศก็ดีเพราะเป็นการถกเถียงกันด้วยเหตุและผล

ส่วนอนาคตก็ต้องจับตาเรื่องการออกกฎระเบียบออกกฤษฎีกาต่างๆที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้มาก เพราะกฎหมายลูกสำคัญ ถ้าไปกีดกันจำกัดสิทธิหรือละเมิดสิทธิผูประกันตนก็จะเป็นปัญหา

มนัส โกศล กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ตัวแทนลูกจ้าง

ประเด็นแรกเรื่องขยายการคุ้มครอง กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากพอสมควร เช่น ขยายการคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเป็นแม่บ้าน กรณีทุพพลภาพ เดิมต้องทำงานไม่ได้เลยจึงจะได้ค่าทดแทนการขาดรายได้ 50% ตลอดชีวิต  แก้ไขใหม่เป็นทุพพลภาพบางส่วนของร่างกายจนทำงานไม่ได้ก็จะได้ค่าทดแทนค่าจ้าง 50 %ตลอดชีวิต

ประเด็นที่สองการตรวจสุขภาพเดิมไม่มี แก้ไขใหม่มีเรื่องการตรวจสุขภาพ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการเยียวยาค่าเสียหายทางการแพทย์เบื้องต้นเหมือนกับ สปสช. กรณีคลอดบุตรเดิมได้ 2 คนเพิ่มเป็น 3 คน ค่าคลอดเหมาจ่ายจากเดิมได้ 2 ครั้งเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง

หลักอิสระในการบริหารและการมีส่วนร่วม มีบางส่วนที่ คปค.เสนอเข้าไปได้รับการพิจารณา เช่น บอร์ดประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งโดยตรง การเลือกตั้งจากตัวแทนลูกจ้างเป็นตัวแทนผู้ประกันตนทั้งภาคบังคับและสมัครใจ กรรมการตรจสอบการลงทุนเป็นกรรมการชุดใหม่ที่กฎหมายเดิมไม่มี กรรมการประกันสังคมต้องมีการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช. เหมือน สส.-สว. ในส่วนคณะกรรมการที่ปรึกษาและ ผู้เชี่ยวชาญมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการจากเดิมที่รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง

กฎหมายฉบับนี้ยังมีเรื่องการยืดหยุ่นตามภาวะเศษฐกิจ เช่นกรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ประกันสังคมมีการลดหย่อนการจ่ายเงินสมทบทั้งประเทศ ส่วนที่แก้ไขใหม่ให้ลดหย่อนเฉพาะส่วนที่เกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ภัยแล้ง ไฟไหม้ เพื่อให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงมากขึ้น

ส่วนกรณีที่เป็นปัญหาคือประเด็นเรื่องการว่างงาน ที่กฎหมายใหม่จะตัดสิทธิ์ผู้ที่ลาออกไม่ให้ได้รับประโยชน์ทดแทน จะได้เฉพาะผู้ที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น คงต้องจัดเวทีเรียกร้องสิทธิกันต่อ ประเด็นที่สองที่ต้องขับเคลื่อนคือการผลักดัน พ.ร.บ.ให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เพื่อบริหารจัดการกองทุนให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น

ภาคภูมิ สุกใส อนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

เห็นว่าเหมือนตกกระไดพลอยโจนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของประกันสังคมซึ่งมีหลายประเด็นที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง เช่น ตัดสิทธิของลูกจ้างตกงาน ตัดสิทธิเรื่องสงเคราะห์บุตร บางเรื่องก็ขอแก้ไขไม่ได้เพราะข้ออ้างเรื่องอยู่นอกเหนือหลักการ  แต่ก็ยอมรับว่ามีส่วนที่ผู้ประกันตนได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น

เรื่องที่อยากให้พิจารณาคือเรื่องโรคเรื้อรังหรือร้ายแรงที่โรงพยาบาลผู้ประกันตนปล่อยปละละเลย บางทีเหมือนเลี้ยงไข้จนต้องตายไปก็มี เป็นการเอาเปรียบผู้ประกันตน ในกรณีแก้ไขตัดสิทธิเรื่องลาออกงานไม่ได้สิทธิประกันการว่างงาน จะเปิดกาสให้ลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบจ้างนายจ้างที่ให้ลูกจ้างลาออกเพราะต้องการสกัดการฟ้องร้องกรณีเลิกจ้าง ซึ่งก็จะทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิประกันสังคม จึงเห็นว่าน่าจะคงกฎหมายเดิมไว้

ชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

ในภาพรวมมีหลายข้อที่สอดคล้องกับข้อเสนอของ คสรท. เช่นเรื่องบอร์ดประกันสังคมมาจากการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ประกันตน 1 คน 1 เสียง เรื่องแรงงานข้ามชาตินำเสนอว่าให้จ่ายเป็นเงินบำเหน็จไปเลยเมื่อกลับประเทศเพราะมีโอกาสกลับมายาก แต่คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แม้ภาพรวมจะมีการแก้ไขหลายๆมาตรา แต่ถ้าดูข้อเสนอเพื่อให้กองทุนมีความมั่นคงเป็นแบบองค์กรอิสระ มีการบริหารงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ก็ยังไม่ได้เพราะขัดหลักการกับร่างปัจจุบันที่เป็นของรัฐบาล คงต้องไปผลักดันในอนาคต

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน