หยุดผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดใบอนุญาตฆ่าประชาชน

ต้านพรบ.เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแถลงการณ์ เรื่อง หยุดผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดใบอนุญาตฆ่าประชาชน พร้อม ประณามกระบวนการอัปยศดังกล่าว ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังคงให้ความสำคัญกับ “ตัวบุคคล” และ “ผลประโยชน์ตนเอง” มากกว่า “หลักการและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง”

4 พฤศจิกายน 2556 เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการที่ทำงานขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง หยุดผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดใบอนุญาตฆ่าประชาชน โดยหลักการและเจตนารมณ์ของการเกิดขึ้นมาของ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ….” สาระสำคัญมุ่งเพียงการนิรโทษกรรมเฉพาะ “ประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น” เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ “ไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ” แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ผ่านวาระ 3 ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 กลับเพิ่มเติมประเด็นนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม อันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุม เข้ารวมในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ไปด้วย ซึ่งการปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนรอดพ้นจากความรับผิด ยิ่งเป็นการสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติต่อประชาชนโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต กล่าวได้ว่า เป็นการมอบใบอนุญาตฆ่าประชาชนโดยชอบธรรม

เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการที่ทำงานขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ขอประณามกระบวนการอัปยศดังกล่าว ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังคงให้ความสำคัญกับ “ตัวบุคคล” และ “ผลประโยชน์ตนเอง” มากกว่า “หลักการและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง” โดยไร้ซึ่งมาตรฐานในกระบวนการตรวจสอบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อความสูญเสีย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตกลุ่มทหารที่ทำการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ก็จักต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและรับผิดตามผลที่ก่อ มากกว่าการ “ล้างผิดโดยจับใส่ตะกร้าล้างน้ำ” ในลักษณะเช่นนี้

การสร้างให้เกิดกระบวนการตรวจสอบและสร้างมาตรฐานการลงโทษ คือ การสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาในสังคมไทย ที่จะไม่สร้างให้เกิดความผิดแบบเดิมขึ้นอีกแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอนาคต มิฉะนั้นสังคมไทยและประชาชนในประเทศไทยก็จะเป็นเพียง “เบี้ยตัวหนึ่ง” ในเกมส์การเมืองของชนชั้นนำ ที่สู้รบกันโดยยืมประชาชนมาเป็นเบี้ยประกัน ถึงเวลาก็ “เกี้ยเซี้ย” จัดการปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เจรจาต่อรอง ประสานหรือจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวในหมู่ชนชั้นนำของสังคม เพื่อรักษาอภิสิทธิ์หรือสถานะดั้งเดิมของพวกตนไว้ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายจักต้องยึดหลักการเป็นที่ตั้ง กล่าวคือ เป็นการสร้างมาตรฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมในสังคมบนความแตกต่างหลากหลาย โดยมิยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้าง “ความดีเพื่อมาล้มหลักการจนมาตรฐานพังพินาศ” และอ้างว่า “เป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนเองในนามความดีหรืออ้างว่าทำเพื่อชาติ” ดั่งที่เป็นมาโดยตลอด เราต้องไม่ปล่อยให้บุคคลใดมา “ล้มหลักการ” เพื่อก้าวข้ามพ้นความผิดครั้งแล้วครั้งเล่า

ความยุติธรรมที่บุคคลใดพึงได้รับนั้น ไม่ควรจะได้รับบนความอยุติธรรมที่มีต่อคนอื่น การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการที่ยุติธรรม คือ การจรรโลงระบอบประชาธิปไตยให้ยังคงดำเนินต่อไปได้ดั่งเจตนารมณ์ของระบอบดังกล่าว

อาจารย์เทพรัตน์ จันทพันธ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ติดต่อ 083-6589789