หมูอินทรีย์ทางรอดเกษตรกรเพื่อชีวิตคนกิน

โดย เกียรติศักดิ์ ฉัตร์ดี นักสื่อสารเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเชียงใหม่-ลำพูน

เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดเชียงใหม่เป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาทางด้านการเกษตรกรรมในอดีตผลผลิตทางการเกษตรจากที่เคยมีผลตอบแทนแก่พี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างดีมีรายได้เลี้ยงชีพ ส่งบุตรหลานจนจบปริญญาตรีหลายคนมีกินมีใช้ แต่ในสภาวะปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น คุณภาพของผลผลิตที่ด้อยลงรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายทำให้เกษตรกรบางรายเป็นหนี้ ถูกยึดที่ดิน ท้ายสุดต้องเป็นแรงงานรับจ้างในพื้นที่ของตนเอง

การผลิตพืชมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตทำให้ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่เพียงเท่านั้นสภาพแวดล้อมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

การเลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวนผู้เลี้ยงสุกรมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากที่เคยเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติบริโภคในครัวเรือน มาเป็นการผลิตที่เน้นการจำหน่ายแทน จึงเป็นผลทำให้กระบวนการผลิตสุกรแบบดั่งเดิมมาเป็นการใช้พันธุ์ อาหาร ยาและวัคซีน จากบริษัท เข้ามาเป็นองค์ประกอบในกระบวนการผลิต ซึ่งปกติการเลี้ยงสุกรใช้เวลา 6-7 เดือนได้น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมแต่เมื่อมีการบริโภคเพิ่มขึ้น การพัฒนากระบวนการผลิตมีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงสุกรให้มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมเพียงระยะเวลา 4-5 เดือนเท่านั้น

เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คุณโชคสกุล มหาค้ารุ่ง กล่าวไว้ว่า “หมูปัจจุบันนี้เหมือนกับตู้ยาเคลื่อนที่” หมายถึงกว่าที่สุกรจะมาถึงผู้บริโภคได้มีการให้ยาและวัคซีนอย่างต่อเนื่องและถ้าเกิดช่วงโรคระบาดการใช้ยาและวัคซีนจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว การพึ่งพาตนเองลดลงพันธุ์ อาหาร ยาและวัคซีนต้องใช้จากบริษัท โดยเฉพาะอาหารที่มาจากแหล่งที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตจากสภาพปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดในการที่จะผลิตหมูที่ปลิดภัยแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเชียงใหม่-ลำพูน จึงจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2554 จำนวนสมาชิกเริ่มต้น 30 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรรวมตัวตัวกันโดยมีเป้าหมายในการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน และมีการผลิตหมูอินทรีย์ โดยกระบวนการจะมีการพัฒนาการเลี้ยงจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เน้นการผลิตที่เป็นแบบธรรมชาติ อาหารใช้กระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ พันธุ์พัฒนาใช้พันธุ์ท้องถิ่นที่เหมาะสม ยาที่ใช้เป็นสมุนไพร เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกัน มากกว่าการรักษา

ปริมาณการผลิตจำนวนมากว่า 20 ตัวต่อวัน สามารถออกสู่ตลาดในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 โดยจะมีการจำหน่ายในตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ 18 จุดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนการพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์สมารถส่งจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไปได้ในปี พ.ศ.2556 ซึ่งเชื่อว่าทางเลือกการผลิตหมูอินทรีย์จะเป็นช่องทางให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคที่รักสุขภาพทุกท่าน