หนุนปฏิรูป “ 3 กองทุน” จ่ายแบบภาษีสุขภาพ

DSCN9424

นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ ขรก. แจงกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการไม่ได้เงินสูง ยันร่วมจ่ายมาตลอด

กรณีคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาแนวทางพัฒนาระบบประกันสุขภาพไทย โดยเสนอทางเลือก 2 แนวทาง คือให้ร่วมจ่าย 3 กองทุน คือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม หรือไม่ร่วมจ่ายทั้งหมด โดยให้รัฐบาลรับภาระดูแลการรักษาพยาบาลทั้งระบบ โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาทางเลือกดังกล่าว ขณะที่หลายฝ่ายยังออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่ายของบัตรทอง ขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนการร่วมจ่ายเฉพาะบัตรทอง ส่วนสิทธิข้าราชการและประกันสังคมไม่ควรปรับเปลี่ยน

เมื่อวันที่ 1 มกราคม น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวว่า ในการปฏิรูประบบสุขภาพควรจะดำเนินการทั้ง 3 กองทุน โดยทุกกองทุนต้องได้รับการปฏิรูปเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่เห็นด้วยที่จะปฏิรูปเพียงกองทุนใดกองทุนหนึ่งเท่านั้น และเห็นด้วยกับแนวทางการร่วมจ่ายกับทุกกองทุน โดยเฉพาะกองทุนที่ใช้จ่ายเงินสิ้นเปลืองมากที่สุด ควรเป็นผู้มีส่วนร่วมจ่ายมากที่สุดคือ กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่การร่วมจ่ายต้องพิจารณาให้รัดกุมเหมาะสมว่าจะเป็นรูปแบบใด

อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยหากจะใช้แนวทางร่วมจ่ายที่จุดบริการหรือโรงพยาบาล แต่ควรร่วมจ่ายในรูปแบบภาษี เช่น ภาษีสุขภาพ กล่าวคือคนมีรายได้มากก็จ่ายมาก คนมีรายได้น้อยให้จ่ายลดหลั่นลงมาจนถึงไม่ต้องจ่าย แต่จะทำอย่างไรนั้นต้องออกแบบรูปแบบการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสม โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาษีเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้วนำเงินภาษีมากระจายความช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่างเหมาะสม เพราะระบบภาษีในขณะนี้ไม่มีความเป็นธรรมในหลายเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ควรไปแก้ที่ปลายเหตุ

“การปฏิรูประบบสุขภาพจะให้กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าฝ่ายเดียวไม่ได้ เนื่องจากเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบเท่านั้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบทั้งหมด รวมทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประชาชน ซึ่งถือว่า มีส่วนสำคัญมากต้องช่วยกันปฏิรูปด้วย เพื่อให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืน และประชาชนได้รับความเท่าเทียม” น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

พล.ต.หญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวว่า ยังมีความเข้าใจผิดข้าราชการใช้จ่ายเงินในการรักษาพยาบาลสูงกว่ากองทุนอื่นๆ หากมองด้วยตรรกะและเหตุผลจะเห็นว่าทุกกองทุนไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำ ทุกกองทุนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม เพราะไม่มีกองทุนใดที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และเห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ซึ่งในส่วนของข้าราชการถือว่าร่วมจ่ายอยู่แล้ว เช่นหากต้องการความสะดวกรวดเร็วก็ต้องจ่ายเพิ่มจากสิทธิที่มี หรือวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดก็ไม่ได้อยู่ในสิทธิ จึงต้องจ่ายเพิ่ม อาทิ เข็มฉีดยา หากไปรักษาแล้วต้องฉีดยา ต้องจ่ายเพิ่มเพราะเป็นอุปกรณ์ที่เบิกไม่ได้ เป็นต้น อีกทั้งข้าราชการยังมีค่าใช้จ่ายทับซ้อนอีกมากที่ไม่ได้นำมาคิดในภาพรวม จึงถือว่าร่วมจ่ายมาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมีแนวคิดให้สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการรายใหม่แตกต่างจากข้าราชการรุ่นเก่า โดยให้รุ่นใหม่จ่ายสมทบเพิ่ม พล.ต.หญิงพูลศรี กล่าวว่า แนวคิดนี้ต้องคิดให้ดีว่าจะไม่เป็นธรรมกับข้าราชการใหม่หรือไม่เนื่องจากบุคลากรที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ ส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติงาน หากไม่ได้รับสวัสดิการที่ควรจะได้รับ อาจจะขาดขวัญกำลังใจในการทุ่มเทการทำงาน ไปจนถึงระบบข้าราชการอาจจะสูญเสียบุคลากรดีๆ จนเกิดปัญหาข้าราชการไหลออกนอกระบบหรือไม่ การจะทำอะไรจึงต้องพิจารณารอบด้านด้วย

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้ศึกษาเกี่ยวกับความยั่งยืนในระบบบัตรทองพบว่า จำเป็นต้องหาแหล่งเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมเนื่องจากทุกวันนี้งบประมาณไม่เพียงพอ ดังนั้นแต่ละกองทุนต้องมีการบริหารจัดการให้ดีที่สุดซึ่งการนำเงินจากแหล่งอื่นๆเพื่อมาส่งเสริมเงินงบประมาณ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องร่วมจ่าย ยังมีหลายวิธี โดยเฉพาะในรูปแบบภาษีก็มีหลายรูปแบบ ประเด็นสำคัญคือ บางส่วนมองว่า ควรมีการร่วมจ่ายในภาพรวมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพของประเทศหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงกองทุนประกันสังคมมีการร่วมจ่ายในรูปการจ่ายสมทบอยู่แล้ว ขณะที่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก้มีการร่วมจ่ายเช่นกัน

“สิทธิข้าราชการมีการร่วมจ่ายอยู่แล้วในระบบ เพียงแต่อาจไม่มีการรับทราบกันมากนัก เพราะจริงๆทั้งเรื่องยา วัสดุทางการแพทย์หากต้องการเพิ่มขึ้นก็ต้องร่วมจ่ายซึ่งข้าราชการก็จ่ายมาตลอด ดังนั้น ทั้งระบบประกันสังคม และข้าราชการไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมากน่าจะพัฒนาปรับปรุงบัตรทองดีกว่า พูดตรงนี้ก็หาว่าจะให้คนจน คนรายได้น้อยร่วมจ่ายต้องไม่กระทบประชาชนคนรายได้น้อย แต่คนที่พอมีฐานะควรมีส่วนในการร่วมสมทบตรงนี้ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ซึ่งต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด” นพ.เจตน์กล่าว (ที่มา นสพ.มติชน หน้า 3 วันเสาร์ที่ 2 มกราคม 2559)

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) บอกว่า แนวคิดทั้งหมดเกิดจากการศึกษาความเป็นไปได้ว่าหากต้องร่วมจ่ายจะใช้วิธีอย่างไรบ้าง โดยดูตัวอย่างจากหลายประเทศ ภายใต้หลักการสำคัญคือประชาชนต้องไม่เดือดร้อนและเป็นการช่วยให้ระบบเกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ ร่วมจ่าย หมายความว่า เงินต้องออกจากกระเป๋าผู้ใช้บริการแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะออกจากกระเป๋าอย่างไร โดยอาจเป็นได้ทั้งจากการยื่นภาษีเพิ่ม การจ่ายสมทบรูปแบบเดียวกับระบบประกันสังคม หรือร่วมจ่ายเพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อัตราการจ่ายต้องไม่สูงจนเกินไป รวมถึงต้องสอดคล้องกับตัวเลขผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีด้วย

ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ บอกว่า หากจะให้แบ่งรายได้ว่าใครควรจ่ายหรือไม่คงเป็นไปได้ยาก เพราะจะกลายเป็นการแบ่งระดับคน ขณะเดียวกันก็ต้องหาคนมาคอยตรวจสอบอีกขั้นว่ารายได้ที่แจ้งคือรายได้จริงหรือไม่ ซึ่งก็ยากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากจะ “ร่วมจ่าย” นั้น นิมิตร์เห็นด้วยกับวิธีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น เพิ่มแวตจาก 7% เป็น 10% อย่างน้อยก็จะได้เงินเพิ่มขึ้น 1.5-1.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีภาษีสำหรับใช้จ่ายเพื่อดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มเป็น 3 แสนล้านบาท สำหรับดูแลประชาชนได้ทุกกองทุน รวมถึงจะเบียดบังภาระงบประมาณของรัฐบาลน้อยลง เพราะประชาชนเป็นคนควักจ่ายเอง

“แต่หลักการสำคัญคือ ถ้าจะขึ้นแวตก็ต้องระบุชัดว่าเงินภาษีที่ได้เพิ่มขึ้นมานั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อดูแลสุขภาพ ไม่ใช่เอาไปทำอย่างอื่น จนไม่เหลือเงินดูแลประชาชน” นิมิตร์ ระบุ

นิมิตร์หวังว่าในปีนี้ คณะทำงานที่กำลังจะแต่งตั้งขึ้นจะเริ่มทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ รวมถึงจะได้สัญญาณชัดเจนเสียทีว่าจะต้องร่วมจ่ายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเสียเวลาถกเถียงไปมากแล้ว( โดย…ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/report/407739)

//////////////////