หนุนนักสื่อสารแรงงานสร้างกระแสสื่อใหม่

2015-08-11 09.28.15

สื่อหนุนผู้นำแรงงานทำข่าวผ่านช่องทางสื่อใหม่ทุกช่องทาง ประวัติศาสตร์สอนแรงงานทำสื่อช่วยขับเคลื่อนประเด็นแรงงานมานาน 

เมื่อวันที่ 8-9 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารแรงงาน และประชากรกลุ่มเฉพาะเพื่อการขับเคลื่อนสังคม ได้จัดสรุปและถอดบทเรียนการทำงานสื่อสารของนักสื่อสารแรงงานและนักสื่อสารประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่โรงแรมศุภลัยป่าสัก รีสอร์ท แอนด์สปาร์ จังหวัดสระบุรี ท่ามกลางบทบาทการทำงานสื่อสารประเด็นแรงงานและความเป็นธรรมทางสังคม จนถึงการทำงานเครือข่ายประชากรกลุ่มเฉพาะของนักสื่อสาร ที่แม้ไม่ใช่นักข่าวที่ผ่านมหาวิทยาลัย แต่มีครูมืออาชีพที่เฝ้าสร้าง เฝ้าสอน เฝ้าเสริมเติมแต่งผ่านประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมา ซึ่งครั้งนี้ได้มีการจัดเสวนา ” เปิดโลกทัศน์การสื่อสาร” เพื่อเติมแนวทางการทำงานสื่อสารให้กับนักสื่อสารแรงงงานและประชากรกลุ่มเฉพาะ

2015-08-11 09.26.44

นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พูดถึงรากเหง้าการทำงานสื่อสารของแรงงานตั้งแต่อดีต ที่มีหนังสือพิมพ์กรรมกร ในยุคก่อน 2475 โดยนายถวัติ ฤทธิเดช ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวแรงงานในอดีตในการทำงานจัดตั้ง และในอดีตนั้นไม่ได้มีการแบ่งแยก การรวมตัวไม่มีคำว่าแรงงานนอกระบบ ในระบบ ข้ามชาติ นักหนังสือพิมพ์อย่างถวัติยังเป็นผู้นำกรรมกร ยุคต่อมาขบวนการแรงงานก็มีการทำงานสื่อสาร เช่นยุคของอารมณ์ พงศ์พงัน ซึ่งเป็นผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาและถือว่าเป็นนักคิดนักเขียนมีบทความหนังสือหลายเล่ม ซึ่งช่วงเผด็จการ 6 ตุลา 19 เขาต้องถูกจับกุมคุมขัง แม้ออกมาก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานสื่อต่อมีการทำจดหมายข่าวคนงานของสภาแรงงาน แต่อารมณ์อายุสั้นต้องเสียชีวิตหลังจากออกจากคุกโดยไม่มีความผิด ต่อมาก็มีการตั้งมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ซึ่งทำงานวิชาการแรงงานและมีจดหมายข่าวแรงงานปริทัศน์ ปัจจุบันก็เป็นเครือข่ายนักสื่อสารแรงงานที่ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวแรงงาน ฉะนั้นการมีนักสื่อสารแรงงาน มีvoicelabour เพราะมีรากเหง้าประวัติศาสตร์ที่มาที่ไป ที่ขบวนการแรงงานในอดีตเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสาร

2015-08-11 09.23.37

นายภาสกร จำลองราช สื่อมวลชนอิสระ อดีตนักข่าวมติชน ได้เล่าถึงการทำงานข่าวแรงงานนั้น อดีตนักข่าวจะจับจ้องทำข่าวอยู่ที่ผู้นำแรงงาน อย่างเวลาเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ นักข่าวจะเฝ้ารอว่าผู้นำแรงงานจะว่าอย่างไร จะเคลื่อนแบบไหน มีครั้งหนึ่งที่ผู้นำแรงงานเจรจา นักข่าวถามว่าแรงงานเสนอปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไร 2 บาทใช่หรือไม่ ผู้นำแรงงานยังงงอยู่ แต่พอดีดูเหมือนพยักหน้า เช้าขึ้นมาข่าวทุกฉบับทุกช่่องพาดหัวว่าผู้นำแรงงานเสนอปรับค่าจ้าง 2 บาท เห็นได้ว่าในอดีตสื่อมวลชนจะให้ความสนใจและทำงานเกาะติดผู้นำแรงงานทำข่าวแรงงงาน หากไม่ทำตกข่าว

ปัจจุบันข่าวสารมีมากมาย จุดความสนใจมีหลายเรื่องการทำงานของสื่อมวลชนก็เปลี่ยน ชอบอะไรที่สำเร็จรูปมากขึ้น ฉะนั้นการสื่อสารของนักสื่อสารจึงสำคัญ ต้องมีการทำข่าวเคลื่อนประเด็น ล่วงหน้าให้สื่อเห็นประเด็นและต่อประเด็นได้

นางสาวเพ็ญจันทร์ เจริญสุทธิพันธ์ นักข่าวบางกอกโพสต์กล่าวว่า การทำงานของนักสื่อสารถือเป็นประโยชน์ต่องานข่าวสารขบวนการแรงงาน เพราะนักข่าวได้หยิบข่าวที่สื่อโดยนักสื่อสารไปใช้ต่อยอดเสมอ อดีตผู้นำแรงงานอาจไม่สะดวกนักต่อการสื่อสาร แต่มีความพยายามในการสื่อสารด้วยตัวเอง ผิดกับปัจจุบันที่มีระบบสื่อสารได้หลายวิธี และสามารถเข้าสื่อมวลชนได้ง่าย แต่ปัญหาคือเนื้อหาการสื่อสาร เรื่องราวที่ต้องสื่อสารให้เกิดความน่าสนใจ voielabour จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สื่อมวลชนได้ใช้เป็นแหล่งข่าวที่ต้องตามต่อ

2015-08-11 09.25.49

ด้านนายโกวิท โพธิสาร สำนักสื่อภาคพลเมือง ไทยพีบีเอส นำเสนอว่า การสื่อสารต้องสร้างเสน่ห์ ซึ่งหากดูจากแรงงานหรือขบวนการภาคประชาชนยังคงใช้ท่วงท่าเดิมในการเคลื่อนไหวหรือขับเคลื่อนข่าวสาร คือการแถลงข่าว การยื่นหนังสือ ซึ่งเรื่องราวยังคงปัญหาเดิม จึงควรสร้างการสื่อสารใหม่ๆ ขณะนี้ช่องทางสื่อมีหลากหลายช่องทางที่สามารถทำได้เองไม่ต้องรอสื่อกระแสหลักอย่างเดียว ขอเพียงแนวคิดการสร้างสือหรือสื่อสารอย่างไรให้น่าสนใจ

แนวคิดของครูในฐานะผู้มีประสบการณ์ ได้แต่งเติมความใฝ่ฝันในการสื่อสารเพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสให้แก่ผู้เสียเปรียบทางสังคม คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม คนด้อยโอกาส การทำงานสื่อสารถือเป็ความเสียสละของนักสื่อสาร แม้ว่าจะมีภาระอันหนักอึ้งจากงานการประจำที่มีทั้งนายจ้าง หัวหน้างาน หรือครอบครัว แต่ยังคงใช้เวลามาทำงานหน้าที่สื่อสาร ทั้งงานในองค์กร และให้สังคมได้รับรู้ และบางประเด็นทำให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหา

2015-08-11 09.25.21

“นักสื่อสารไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในบริบทใดก็ยังคงทำหน้าที่สื่อสารได้ เพราะครูมิได้เอาความรู้คืน ความรู้ยังอยู่ในตัวของพวกคุณนักสื่อสาร ”

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า การสื่อสารของแรงงาน หรือคนทั่วไปยังเป็นเพียงการโพสต์ หรือแชร์เพื่อแลกไลค์เท่านั้นบางครั้งแชร์โดยไม่อ่านเลยด้วยซ้ำ

2015-08-11 09.24.41

“ทั้งที่ช่องทางสื่อสารมีจำนวนมาก ที่เราไม่ใช่แค่คนบริโภคเท่านั้น เราสามารถที่จะเป็นสื่อเองได้ แต่เรากลับยังใช่สื่อแบบคนทั่วไป คือเสพ และส่งเพื่อแลกกับการกดไลค์เท่านั้น จะทำอย่างไรให้ปัญหาของแรงงานเป็นข่าว คิดว่าเราต้องสร้างและทำข่าวของเราก่อนเพื่อสร้างกระแส ผ่านช่องทางสื่อใหม่ที่มี หากเราช่วยกันสื่อสารมากขึ้นก็จะเป็นกระแสต่อสังคมได้” นายบุญสมกล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน