เสนอรัฐเร่งเดินหน้า..รับสมัครสมาชิกกองทุนออม

P1180034

หลากทัศนะ…ของภาคส่วนต่าง ๆ ต่อ พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554

สุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ  เห็นว่า “การมีกฎหมายกองทุนการออมฯ  นับเป็นความก้าวหน้าในการสร้างหลักประกันให้กับประชาชนที่ไม่มีหลักประกันใดๆ  …การไม่บังคับใช้กฎหมายโดยไม่เปิดรับสมัครสมาชิกการออมของกองทุน…ซึ่งควรจะเปิดตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2555 แล้วนั้น ทำให้ประชาชนที่มีความพร้อม เสียโอกาสในการออมเพื่อหลักประกันในชีวิต รวมถึงเงินสมทบที่จะได้จากรัฐ…หากคิดบนฐานจำนวนประชาชน 24.6 ล้านคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ คงเป็นจำนวนไม่น้อย  ทางศูนย์ประสานงานฯ  ร่วมกับภาคีภาคประชาชน และภาควิชาการ จึงได้มีการขับเคลื่อนเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เร็วที่สุด …ส่วนการที่กระทรวงการคลังจะขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายกองทุนฯ นั้น ทางแรงงานนอกระบบ เห็นว่า ควรเร่งเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนก่อน แล้วค่อยแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว   และกระบวนการแก้ไขจะต้องให้ความสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกองทุนและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก …”

P1180015P1180030

วัชรากร  นาคทองกุล   ผู้นำเยาวชน  เห็นว่า “เยาวชน เป็นวัยที่กำลังก้าวสู่วัยทำงาน …การเลือกอาชีพและความสามารถในการสร้างรายได้ต่อการสร้างหลักประกันของชีวิตในระยะยาว   …ผมทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ พบว่า วัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรที่ขาดหลักประกันใดๆ ในชีวิตนอกจากรายได้จากการทำงาน  ฉะนั้น การมีกฎหมายกองทุนการออมฯ  ถือเป็นการสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ และทุกกลุ่ม  …แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้เขาเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการออม เพื่อการสร้างหลักประกันชีวิตในอนาคต ผมขอเสนอ 3  ประเด็นหลัก คือ 1) ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณและมีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน ทำหน้าที่รณรงค์ให้เยาวชนได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการออมอย่างแท้จริง  2)  เนื่องจากมี พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐  ซึ่งได้จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในระดับต่าง ๆ  จึงเสนอให้มีการรณรงค์ผ่านสภาเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะระดับอำเภอ ให้ทำหน้าที่รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มเด็กและเยาวชนในระดับตำบล  และ 3) ให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายการส่งเสริมการออมของให้นักเรียนในโรงเรียนและสถานศึกษาทุกระดับ โดยให้เชื่อมโยงกับกองทุนการออมแห่งชาติ  เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันของชีวิตในอนาคตของตนเอง และผู้ปกครองP1180065P1180043

รองศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้แสดงความคิดเห็นใน “บทวิเคราะห์สาระสำคัญที่ไม่ควรชะลอการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554”   “หนทางไหนดี?: ประชาชนรอไปก่อน แก้ให้เสร็จแล้วค่อยสมัคร หรือ เปิดรับสมัครสมาชิกไปก่อน แล้วค่อยแก้”  ไว้อย่างน่าสนใจว่า การชะลอการเปิดรับสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติออกไปทำให้ประชาชนเสียประโยชน์โดยตรง กล่าวคือ เราต้องไม่ลืมว่าระบบบำนาญภายใต้แนวคิดของกองทุนการออมแห่งชาติตั้งอยู่บนพื้นฐานของการออม (การสะสมเงิน) และการสมทบร่วมของรัฐบาล สมาชิกแต่ละคนมีบัญชีบำนาญเป็นของตนเอง การได้รับบำนาญยามชราภาพมากหรือน้อยขึ้นกับระยะเวลาของการจ่ายเงินสะสมและการได้รับเงินสมทบร่วมจากรัฐบาล การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมัครสมาชิกออกไปอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลเสียหายโดยตรงกับผู้ที่มีความตั้งใจจะสร้างหลักประกันยามชราภาพเหล่านี้ การแก้ไขพระราชบัญญัติอาจใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร จนทำให้ประชาชนที่มีความตั้งใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกเสียโอกาสในการเร่งสะสมเงินแต่เนิ่น ๆ และได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล  นอกจากนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่า ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผลเพียงไร จนกระทั่งต้องยอมให้เกิดการเลื่อนเวลาการรับสมัครออกไป แม้ว่าจะต้องแลกด้วยโอกาสการสะสมเงินที่สูญเสียไปของประชาชนแต่ละคนในช่วงการชะลอการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว  ประเด็นที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมได้แก่  1. การเพิ่มอายุของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจาก 15-60 ปี เป็น 15 – 70 ปี   2. เงินสะสมเข้ากองทุนกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่จะไม่จำกัดเพดานเงินสะสม   3. การเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้เป็นอัตราเดียว: ร้อยละ 100    4. สมาชิกที่ตกอยู่ภาวะทุพพลภาพได้รับคืนทั้งเงินสะสม เงินสมทบ และเงินผลประโยชน์    5. การรับเงินสะสมคืนโดยเปิดทางเลือกบำนาญหรือบำเหน็จ และ 6. ประเด็นการบริหารจัดการกองทุน (นโยบายการลงทุน การประกันผลตอบแทนและผู้บริหารกองทุน)   ซึ่งหากพิจารณาตามหลักการข้างต้นแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่น่าจะมีความสมเหตุสมผลที่จะชะลอการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ทั้งในการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุของสมาชิก เงินสะสมเข้ากองทุน เงินสมทบจากภาครัฐ เงินบำเหน็จกรณีทุพพลภาพ หรือแม้กระทั่งแนวคิดที่เปิดโอกาสให้สมาชิกรับบำเหน็จได้ ในทางกลับกัน ยิ่งรัฐบาลเริ่มรับสมาชิกเร็ว สมาชิกยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น   ไม่มีเหตุผลใดที่จะประวิงเวลาไปมากกว่านี้ หรือว่า แรงจูงใจของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติจะอยู่ที่ข้อ 6 เป็นสำคัญ?

มุกดา อินต๊ะสาร ประธานภาคประชาชนกองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดพะเยา กล่าวว่า กฎหมายกองทุนออมแห่งชาติเป้นกฎหมายจัดสวัสดการให้ประชาชน เพื่อการสร้างพื้นที่การออมเพื่อดูแลสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ การออมในระดับชุมชนในปัจจุบันเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดสวัสดิการภายในชุมชน ซึ่งหากนำมาเข้าสู่ระบบกฎหมายกองทุนการออมฯจะเป็นการเชื่อมต่อระบบบำนาญชราภาพให้กับผู้สูงอายุ และชุมชนก็จะเป็นกลไกในการดูแลกันในชุมชน กรณีที่ผู้สูงอายุ หรือว่าคนในชุมชนไม่มีเงินส่งสมทบเข้ากองทุนก็สามารถที่จะช่วยเหลือกันได้โดยอาจนำกองทุนสวัสดิการชุมชนเข้าไปหนุนช่วยได้ และกฎหมายกองุทนการออมฯที่ให้เด็กอายุ 15 ปีเข้าสู่ระบบการออมในกองทุนเป็นการทำให้เด็กที่เข้าสุ่ระบบได้วางฐานความมั่นคงในชีวิตเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งปัจจุบันทางโรงเรียนได้มีการส่งเสริมสนับสนุนการออมเช่นกัน ซึ่งการนำกองทุนออมแห่งชาติไปเชื่อมเพื่อให้การออมของเด็กๆได้มองถึงอานาคต ฉะนั้นเสนอให้รัฐบาลหันมาบังคับใช้กฎหมายก่อนที่จะคิดแก้กฎหมาย

P1180035P1180027

สุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)นำเสนอว่า วันนี้ประชาชนได้เสนอให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเพราะต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการให้กับตนเอง ครั้งนี้ไม่ใช่การขอให้รัฐบาลสงเคราะห์ ประชาชนต้องการที่จะมีส่วนร่วมส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อจัดสวัสดิการ ด้วยมองว่าเบี้ยผู้สูงอายุเดิอนละ 500,600,700-1,000 บาทไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พร้อมทั้งมองว่าหากเขามีส่วนในการส่งเงินออมกองทุนออมแห่งชาติทำให้รู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีกล่าวที่จะรับการสงเคราะห์จากรัฐเพียงอย่างเดียว รวมถึงการที่เยาวชนลุกขึ้นมาทวงสิทธิในการที่จะเข้าสู่ระบบการออมตามกฎหมาย โดยบอกว่าไม่อยากเสียสิทธิการเข้าสุ่กองทุนการออมล่าช้าแม้แต่ปีเดียวเพราะหมายถึงอานาคตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะได้รับสิทธิเงินบำนาญน้อย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายถึงจะถูก อย่าตั้งแง่เพื่อแก้กฎหมาย

แม้ว่ากฎหมายกองทุนการออมไม่มีการกำหนดความผิดกรณีที่รัฐไม่ปฏิบัติหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ก็ตาม และมีเสียงของประชาชนที่บอกว่าการไม่ประกาศใช้ทำให้ต้องเสียสิทธิการเข้าสู่ระบบ ทั้งเด็กอายุ 15 ปี และผู้สูงอายุที่อายุ59 ปี และปีหน้าอายุ 60 ปี ทำให้ต้องหมดสิทธิเข้าสู่กองทุนด้วยคิดว่าจะฟ้องร้องหรือทำอย่างไรให้รัฐบาลบังคัยใช้กฎหมาย จริงแล้วน่าเห็นใจ ทางคปก.ก็จะติดตาม และถามรัฐบาลว่าติดตรงไหนจึงไม่ยอมบังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งไม่ฟังเสียงของเด็ก เยาวชน ประชาชนที่ต้องการจยะเข้าสู่ระบบกองทุนการออม ซึ่งยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับของแรงงานที่มีลักษณะไม่ถูกบังคับใช้หลังจากมีการประกาศเป็นกฎหมายแล้ว

ชนะชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการออมแห่งการลงทุน สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่เกิดกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีระบบบำเหน็จ บำนาญชราภาพมารองรับ เบี้ยยังชีพที่รัฐให้ไม่พอยังชีพ การที่รัฐบาลในสมัยที่แล้วประกาศกฎหมายองทุนการออมฯเมื่อปี 2554 เพราะต้องการที่จะให้เกิดการออมของกลุ่มคนกลุ่มนี้ที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ ซึ่งต้องมีการประกาศเปิดรับสมัครสมาชิกภายใน 365 วัน โดยให้กองทุนได้มีการเตรียมตัวมีระบบทะเบียนตรวจสอบสิทธิมีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ หาสถานที่จัดตั้งสำนักงานก่อน 8 พฤษภาคม 2555 และได้มีการจัดตั้งสำนักงาน และจัดจ้างเจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อมาถึงวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายในการเปิดรับสมัครสมาชิก โดยเห็นว่ากฎหมายยังมีข้อบกพร่องต้องมีการแก้ไขก่อนบังคับใช้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังได้ทวงถามทางรัฐมนตรีด้วยเช่นกันเพราะเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประชาชนและเข้าใจถึงความรู้สึกของการที่รอคอยมานานของประชาชน และก็เข้าใจต่อแนวคิดของรัฐมนตรีที่ต้องการแก้ไขกฎหมายให้ดีก่อนบังคับใช้

นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัย และพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า การที่บ้านเมืองยุ่งๆอยู่ทุกวันเพราะนักการเมืองมีอำนาจสูงสุด ไม่ได้เห็นประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน มองแต่ข้อขัดแย้งว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นของใครอยุ่สมัยการเมืองใคร หากเข้ามาสู่อำนาจก็จะแก้ รัฐมนตรีเข้ามาก็เฉยไม่บังคับใช้ ไม่สนใจว่าประชาชนจะเสียประโยชน์หรือไม่ และกฎหมายก็ไม่มีบทกำหนดโทษลงโทษรัฐที่ไม่บังคับใช้ การเมือง และข้าราชการที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนเสียสิทธิ

อรุณี ศรีโต รนำเสนอว่า ตอนนี้ตนอายุ 59 ปี หากรัฐไม่บังคับใช้เปิดรับสมัครสมาชิกกองุทนการออมปีหน้าก็จะหมดสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งถือว่ารัฐบาลชุดนี้ทำให้ต้องเสียสิทธิในการที่จะได้รับสวัสดิการ ตนและเพื่อนแรงงานนอกระบบได้เข้าไปขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาแล้วแต่อยากมากป่านนี้ยังไม่ได้เข้าพบ เราต้องการถามรัฐมนตรีถึงเหตุผลการที่ไม่บังคับใช้  วันนี้ใกล้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในฐานะคนกรุงเทพฯจะใช้สิทธิรณรงค์ทวงถามกฎหมายกองทุนการออมฯจากพรรคการเมืองของรัฐบาล หากไม่มีการบังคับใช้แรงงานนอกระบบก็จะไม่เลือกตัวแทนพรรครัฐบาลเป็นผู้ว่าเช่นกัน แต่หากมีการบังคับใช้เดี๋ยวนี้ แรงงานนอกระบบก็จะสนับสนุน คงต้องใช้วิธีแบบนี้มารณรงค์กัน

บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ   นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  ให้ความเห็นว่า “กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว เพียงแต่ยังไม่รับสมัครสมาชิกกองทุน … อันเนื่องมาจากการไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการออกประกาศกระทรวง เพื่อเดินหน้ารองรับการรับสมัครสมาชิกกองทุน และการจ่ายเงินสมทบของรัฐด้วย   ซึ่งมีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ทั้งที่ ในขณะได้มีสำนักงาน มีงบประมาณ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และมีการเตรียมการเพื่อการดำเนินงานแล้วก็ตาม … ผลจากความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ประชาชนที่มีความพร้อมเสียโอกาสในการออมเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ หรือบำนาญรายเดือน และรัฐเองก็สูญเสียโอกาสในการสนับสนุนสร้างหลักประกันให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน ….”

สำนักงานปฏิรูป (สปร.) และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลต้องเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุน ตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 โดยทันที เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันรายได้ใดๆ  และเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชนในวัยทำงาน

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) เนื่องจากสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 10.7 ของประชากรหรือประมาณ 7 ล้านคน  และคาดว่าใน พ.ศ. 2568  จะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด จากการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรของประเทศพบว่า จำนวนของประชากรวัยทำงานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ได้ลดลง คือ พ.ศ. 2551 ประชากรวัยทำงาน 6.07 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1  คน และ พ.ศ. 2573  ประชากรวัยทำงาน  2.52 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน

ในปัจจุบันมีระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ดูแล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ การจ่ายเงินบำนาญ 500 บาทเพื่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อเดือนนั้น ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี  ฉะนั้น การออก พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ในเดือนพฤษภาคม 2554  จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญยิ่งของการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ประชาชนยามชราภาพถ้วนหน้า อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชน เป็นแนวทางสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

แต่ปรากฎว่า จนกระทั่งถึงปัจจุบัน กระทรวงการคลังในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนเป็นสมาชิกการออม  และเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ. 2554 เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้เสร็จภายในปี 2556

ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ซึ่งติดตามความก้าวหน้าในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องได้จัดเวทีเสวนา “สิ้นสุด…การรอคอย เดินหน้า…บำนาญเพื่อประชาชน” ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2556 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจของประชาชนต่อหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายกองทุนการออมฯ รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อความก้าวหน้าและการบังคับใช้กฏหมายกองทุนฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพของประชาชน จากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา 200 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชน เช่น ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ เยาวชน เป็นต้น