สสส.จัดงาน “สานงานเสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” 12 ปี สสส.ระดมฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานพัฒนาสังคมจากทั่วประเทศเข้าร่วม หวังให้เป็นเวทีถักทอกันทางสังคม ที่ทุกคนมีความสุขและปลอดภัยในการมาร่วมกันเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำ ในการกำหนดอนาคตการทำงานเพื่อสังคมร่วมกัน ประชากรกลุ่มเฉพาะร่วมเสนอ ทำอย่างไรให้สังคมเป็นธรรม สิ่งที่คุณทำได้เพื่อความเท่าเทียมของทุกคน
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ได้มีการจัดเวที สานงานเสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จัดขึ้นในช่วงวาระ 12 ปี ของการก่อตั้งสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยวัตถุประสงค์การจัดงานก็เพื่อร่วมกันทบทวนและสังเคราะห์องค์ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานข้ามภาคส่วน ข้ามประเด็น และร่วมกันผลักดันสู่การปฏิบัติ ที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในด้านต่างๆ ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่ความมีประสิทธิผล และมีแนวทางการพัฒนาระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ในที่สุด
ภายหลังพิธีเปิดงานที่เริ่มด้วยกิจกรรมสันทนาการ ชุด พลังภาคีร่วมกันสร้างสังคมให้เป็นสุข สุขภาพดีด้านกาย ด้านจิตใจ ด้านปัญญา และด้านสังคม ที่เชื่อมร้อยกันเพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ เป็นการปาฐกถาพิเศษ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ในหัวข้อ นวัตกรรมทางสังคมกับการพัฒนาประเทศ โดยกล่าวถึงสังคมเข้มแข็งว่าคือการสร้างประเทศ เป็นปัจจัยชี้ขาดการพัฒนาประเทศ ถ้าอยากเห็นสังคมเข้มแข็งเราต้องมีการพัฒนาที่ช่วยลดช่องว่างทางสังคมที่มีอยู่มากมาย สังคมไทยเป็นสังคมทางดิ่ง ใช้อำนาจทางดิ่ง ขาดศีลธรรมในการบริหารประเทศ เป็นการรวมศูนย์อำนาจ จึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ ระบบราชการอ่อนแอ เกิดความขัดแย้งความรุนแรงต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น เกิดการคอรัปชั่น การแข่งขันทางการเมืองเป็นไปด้วยความรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งการรวมศูนย์อำนาจ และเพื่อประโยชน์ในการคอรัปชั่น และเกิดรัฐประหารได้ง่าย
แต่หากเป็นสังคมทางราบ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค ภราดรภาพ สังคมก็จะเข้มแข็ง ร่วมคิดร่วมทำ รวมตัวกันเพื่อสร้างความยุติธรรม การจัดการประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทำให้ชุมชนจัดการตนเองได้ ตอนนี้ชุมชนจัดการตนเองไปได้ไกลแล้ว มีประชาธิปไตยในชุมชน เป็นวัตกรรมที่ชุมชนร่วมสร้างกันขึ้นมา มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เกิดขึ้นมากมาย ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาไม่ใช่เพื่อเงินแต่เพื่อสังคมให้เข้มแข็ง องค์ 3 แห่งสังคมเข้มแข็งก็คือ การสร้างจิตสำนึกใหม่ การร่วมคิดร่วมทำ และการกระจายอำนาจ
นอกจากนี้ในงานยังมีกิจกรรมจากฝ่ายต่างๆมากมาย รวมถึงช่วงบ่าย(13.00-16.30น.) ยังมีการจัดเวทีเสวนา ทำอย่างไรให้สังคมเป็นธรรม สิ่งที่ “คุณ” ทำได้ เพื่อสังคมที่เท่าเทียมของทุกคน จัดโดยสำนัก 9 สสส.ซึ่งในเวทีได้มีการกล่าวถึงความไม่เป็นธรรม ที่สามารถตีความได้หลายมิติ อย่างเช่น ความไม่เป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ ก็ถือว่าเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในอีกมิติที่อาจถูกมองข้าม ซึ่งเกิดกับกลุ่มชายขอบ ผู้หญิง แรงงาน คนพิการ เกษตรกร ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาด้านสถานะบุคคล คนไร้บ้าน ฯลฯ และการจัดให้มีรัฐสวัสดิการ การบริการพื้นฐานต่างๆ เช่นการศึกษา การดูแลด้านสุขภาพ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ด้วยข้อจำกัด และกลไกการจัดการทำให้การจัดการบริการสังคมยังทำให้ประชากรกลุ่มเฉพาะเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานดังกล่าวได้ การจัดเวทีประชุมเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงประเด็นของกลุ่มคนชายขอบถึง “ความไม่เป็นธรรม” เพื่อรับฟังเสียงคนที่เราไม่ค่อยได้ยิน
นางสาวอรุณี อรุณี ศรีโต ตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุกล่าว ในฐานะผู้ได้รับกระทบจากการที่รัฐไม่บังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออกแห่งชาติ ว่าต้องช่วยการติดตามผลักดัน ให้รัฐใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อปี 2543 ต้องออกจากแรงงานในระบบ มาสู่การเป็นแรงงานนอกระบบ ช่วงไม่มีรายได้ ไม่มีเงินใช้จ่ายเพราะไม่มีเงินออมมาก่อนหน้านี้ รู้สึกถึงความลำบาก แต่เมื่อปี 2554 มีกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติที่พูดถึงการออมเงินเพื่ออนาคตในยามชราภาพ โดยกำหนดให้เราออมเงิน และรัฐบาลจ่ายสมทบการออม เช่น เราออมเงิน 100 บาทรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังสมทบเพิ่มให้ 100 บาท ซึ่งทุกคนก็คลาดหวังถึงอนาคตที่ดีในยามชรา แต่วันนี้ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ในการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนฯตอนนี้ก็อายุจะ 60 ปีแล้ว กฎหมายกำหนดให้ออม15-60 ปี จึงจะหมดสิทธิแล้ว กลายเป็นคนที่เสียโอกาสที่จะออมเงิน และได้เงินสมทบจากรัฐบาล กองทุนการออมฯถือเป็นกองทุนที่จะทำให้คนทั้งประเทศที่ยังไม่มีสวัสดิการที่นอกเหนือจากข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะมีสวัสดิการบำนาญชราภาพด้วยการออม รวมทั้งหากเกิดการออมเงินก็จะเกิดกองทุนขนาดใหญ่ เมื่อคนมีสวัสดิการประเทศก็จะเกิดความเข้มแข็ง สังคม ชุมชน ครอบครัวมีความมั่นคงไปด้วย
นายสุทิน เอี่ยมอิน (ลุงดำ) การทำงานของเครือข่ายคนไร้บ้านมีการจัดตั้งศุนย์คนไร้บ้าน 3 พื้นที่ในกทม. และกำลังพยายามขยายไปเชียงใหม่ และขอนแก่น ปัญหาจของกลุ่มคนไร้บ้านมีหลากหลายเช่น การแตกแยกของครอบครัว การออกจากบ้านของผู้สูงอายุ และเด็ก การออกมาหางานทำของกลุ่มคน รวมถึงคนไร้สถานะคือไม่มีบัตรประชาชน แม้ว่าเป็นคนไทย ซึ่งรัฐควรต้องมีการดูแล ในฐานะประชากร กลุ่มคนไร้บ้านมีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิที่ซ้ำซ้อน ถือว่าเป็นกลุ่มที่เปาะบาง เช่นคนที่ไม่มีบัตรอาจได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมาย ไม่มีสวัสดิการ กลุ่มผู้หญิงและเด็กอาจถูกละเมิดสิทธิ และถูกล่วงละเมิดทางเพศได้เป็นต้น
นางวันเพ็ญ จำปาทอง ตัวแทนแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า กรณีกฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 ที่ใช้บังคับกับผุ้ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบในปัจจุบัน เป็นการจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มแรงงานที่ยังไม่มีระบบคุ้มครองราว 24 ล้านคน แต่ยังคงมีปัญหาในส่วนของความไม่ลงตัวเรื่องการจัดเก็บเงินสมทบ ด้วยปัญหาแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดซึ่งมีความห่างไกลร้านสะดวกซื้อ หรือสำนักงานประกันสังคมในจังหวัด จึงอยากเสนอให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถส่งเงินสมทบผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ เพราะองค์กรเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน แรงงานนอกระบบในชนบท
นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ตัวแทนผู้หญิงมุสลิม จ.ยะลา กล่าว การทำงานของเครือข่ายผู้หญิงมุสลิม ในส่วนของ 3 จังหวัดในภาคใต้ แต่ก่อนเหตุการความรุนแรง การทำร้ายของกลุ่มต่างๆที่สร้างสถานการณ์จะเกิดกับส่วนของผู้ชาย เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่แข็งแรง แต่ปัจุบันการความรุนแรงมุ่งมาที่กลุ่มที่อ่อนแอ เช่นเด็ก ผู้หญิง คนชรามากขึ้น ทางเครือข่ายจึงได้มีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายผู้หญิงขณะนี้มีสมาชิกในเครือข่ายราว 835 คน เป็นการรวมกลุ่มเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจรวมทั้งทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของผู้หญิงใน 3 จังหวัดภาคใต้ซึ่งการทำงานนับ 10 ปีของเครือข่ายยังไม่สามารถที่จะเป็นผลชี้วัดในเรื่องของการยุติความรุนแรงได้ว่าประสบความสำเร็จ หรือลดลง แต่การรวมกลุ่มทำให้ผู้หญิงได้รู้สิทธิมากขึ้น เครือข่ายถือว่าการทำงาสนบรรลุผล ประสบผลสำเร็จแล้ว
นางสาวลาเคละ จะทอ นายกเทศมนตรี ตำบลเมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าว “ทุกคนมีความหวัง แม้ว่าจะมืดแปดด้าน แต่พวกเราไม่งอมืองอเท้า เพราะการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย ทำให้เราสามารถสร้างพลังในการขับเคลื่อน ที่ทำให้ชนเผาที่เคยมองในแง่ลบ เราไม่มีความรู้ เราคือกลุ่มคนไทยภูเขา ปัญหาต่างๆที่เกิดคิดว่าเป็นเพราะข้าราชการไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ไม่ยอมขึ้นไปหาประชาชนบนเขา ทำให้เขาไม่ได้สิทธิความเป็นคนไทย ส่วนคนในเมืองที่ไปหาคนภูเขาก็มองเราเป็นคนผลิตสินค้าสวย ผลิตงานฝีมือ เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นกลุ่มด้อยโอกาส ยากจน ไม่มีบัตรประชาชนไม่มีสถานะ และไม่ใช่คนไทย การที่ไม่มีบัตรทำให้เราไม่มีสิทธิ ไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆที่รัฐจัดให้ รวมกรณีการศึกษาก็ต้องจ่ายแพง เพราะการที่ต้องเดินทางไปศึกษาในเมือง และการถือครองที่ดิน ก็ไม่ได้เพราะการที่ไม่มีบัตร การรวมกลุ่มทำให้เรามีการต่อรอง ต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิความเป็นคนไทย โดยการมีบัตรประชาชน การขอสัญชาติคืนนั้นยากมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง และใช้เวลามาก การขียนคำร้องเพื่อขอสัญชาติของตนนั้นใช้เวลา การไม่มีสัญชาติคือการไม่ได้เรียน ตอนนี้เรียนจบปริญญาโทแล้ว ขณะนี้มีสัญชาติไทย อยากให้สังคมมองพวกเราเป็นคนคนหนึ่ง การที่เราไม่มีสัญชาติถูกทำให้แบ่งออกไป อยากให้สังคมมองเห็นคุณค่าของความเป็นคนของเรา การที่เราอยู่บนเขาอยู่มานานตั้งแต่ปู่ย่าตายาย กลายเป็นผู้บุกลุกป่าสงวน และถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียเพราะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อยากให้มองว่าเราคือเพื่อนร่วมโลกด้วย”
นางสำอางค์ ขันธนิธิ ตัวแทนคนขับแท็กซี่ กล่าวว่า “ปัญหาคนขับแท็กซี่คือสังคมมองว่า ไม่มีระเบียบไม่มีการศึกษา แต่เราเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้เรียกร้อง มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ออกรถให้เช่ากันในราคาถูกในกลุ่ม เรายังถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีตัวตน การกู้เงินเจ้าหน้าที่ธนาคารยังถาม กล้วว่าไม่สามารถชดใช้เงินคืนได้ เขาคิดว่ากลุ่มควรมีการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ เพราะสังคมส่วนใหญ่มองว่าเราเป็นกลุ่มคนไม่ได้มากกว่าทางที่ดี การทำงานไม่ว่าจะมีอาชีพอะไรอยากให้สังคมมองว่าเสมอภาคและไม่ด้อยกว่ากัน”
จากนั้นได้มีการเสวนา “เราทำอะไรเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้บ้าง”
ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ประธานกองทุนสตรีกรุงเทพ และมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า กล่าวว่าทุกคนนำชีวิตการต่อสู้ มีประสบการณ์การต่อสู้มายาวนานได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาด้วยหัวใจของทุกคนเป็นคนสู้สู้จากความทุกข์ยากของตัวเองและพยายามจะสู้เพื่อคนอื่น คนเหล่านั้นเริ่มแสดงความมีตัวตนเราจะปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความอัปยศอดสู เราต้องหาหนทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหา สสส. มาจากไหนมาได้อย่างไร ได้เงินมาจากภาษีเหล้าและบุหรี่ เราต้องถามตัวเองว่า ฉันมีสิทธิไหมค่ะ ฉันขอแบ่งส่วนนี้ได้ไหม ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนได้ก็อยู่ที่ภาคประชาชนต้องร่วมมือกัน การต่อสู้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราไปไม่ถึงจุดหมายแต่เราอย่าหมดหวังเพราะทุกคนที่ออกมาต่อสู้มีภาระอยู่ข้างหลังทำให้เราเหนื่อยและแผ่วบ้างในบางครั้งแต่อย่าถอย ขอให้เรารวมพลังกันไว้เพราะตอนนี้เทคโนโลยีมีมากมายให้เราสื่อออกมาให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาทุกอย่างมีประตูออกเสมอ ต้องทนต่อการดูถูกเหยียดหยามและต้องบอกให้คนที่ไม่เข้าใจเราให้เข้าใจปัญหาสังคมที่ไม่เป็นธรรม คือ ปัญหาความไม่เข้าใจจริงหรือไม่
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำอธิบายลงไปสู่รากฐาน รากเหง้าของปัญหาและต้องใช้เวลานานนั้น ถ้าเรายังแก้ไขปัญหาไปไม่ถึงรากเหง้าของปัญหาก็จะแก้ไขปัญหานั้นไม่ได้ เรียกว่าการสูญเสียตัวตน คือเขามองไม่เห็นเราเรียกว่ามนุษย์ล่องหน สิ่งที่เราจะทำคือ คำอธิบายที่จะแก้ปัญหารากเหง้าว่าตรงไหน
1.อคติของสังคม คนพิการ คนชายขอบ คนที่มีอายุ แรงงาน ถูกสังคมป้ายสีมองไม่เห็นตัวตน ทำให้ปัญหาที่เหมือนจะแก้ง่ายแต่มันก็แก้ยากเพราะสังคมมองไม่ดีแล้ว
2.เป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร การให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียว มองแต่เรื่องของตัวเองไม่ยอมมองคนอื่นทำให้คนที่มีปัญหาถูกลืม และปัญหาถูกทับซ้อน ทับถม ซับซ้อน
3.เป็นสังคมระบบโลกาภิวัตน์ ทุกคนคิดว่า AEC เป็นเรื่องบวก เรื่องเศรษฐกิจ เป็นทุนนิยมระดับโลกรากฐานของมันจะเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น คือไม่มีใครสนใจใคร คำว่าเอาใจเขามาใส่ใจเราจะไม่มีในสังคมนี้ ทำให้คนมีปัญหาถูกลืมมันเป็นปรากฎการณ์กระแสทำให้คนเสียความเป็นตัวตนสูง จึงมี 3 สูง 1.สูญเสียความเป็นตัวตนสูง มองเห็นแต่ตัวเองเป็นมนุษย์ล่องหน 2.ความเสี่ยงสูง ทำงานให้แต่เขามองไม่เห็นเราจึงมีความเสี่ยงสูง ต้องมองคนทำงานแบบผู้ร่วมลงทุน 3.ค่าเช่าที่อยู่อาศัยสูง หมายความระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เป็นธรรม เพราะค่าจ้างแรงงาน 300 บาท แต่ต้องซื้อของราคาเดียวกันกับคนที่มีเงินเดือนเป็นหมื่น ทำให้ระบบเศรษฐกิจสูง กลไกในระบบมีความพิกลพิการ เพราะมีความเชื่อว่ากลไกตลาดจะทำให้เศรษฐกิจอยู่ได้เพราะถูกครอบงำว่าตลาดจะเดินได้ด้วยตัวเอง
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเอาออกไปมากกว่ากลับคืนมาให้ระบบภาษีมันแพง โดยการเก็บภาษีทางอ้อมคนเงินเดือนเป็นหมื่น แต่จ่ายเท่ากันกับคนจนด้อยโอกาสมากกว่า และคนที่ด้อยโอกาสต้องรับภาระเท่ากัน แต่คนรวยหลบหลีกภาษี และภาษีที่ดินต้องเก็บมากกว่าแต่ในตอนนี้ยังไม่มีการจัดเก็บเลย ต้องเก็บภาษีรายได้ที่เป็นธรรมไม่ใช่คนจนคนรวยเก็บเท่ากัน เพื่อนำภาษีมาเป็นสวัสดิการ ถ้าแก้ 3 สูงไม่ได้ก็คงอีกนานกว่าจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมได้
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพ และความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เสี่ยงอันตราย และสังคมไม่มีเวลารับฟังเรื่องของคนอื่น ความเป็นธรรมต้องใช้เวลา ปัจุบันคนที่ตื่นตัวเพราะสังคมทำให้เห็นปัญหา ด้านความไม่เป็นธรรม รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม ระบบสถิติแรงงานแห่งชาติก็มีปัญหา ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของแรงงานได้อย่างครอบคลุม แถมยังอยู่ในระบบความเสี่ยงแบบซ้ำซาก เช่นกรณีแรงงานนอกระบบซึ่งถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม แต่ไม่รุ้ตัวตน วันนี้กลุ่มคนพิการที่เรามองว่าเป็นกลุ่มเฉพาะและด้อยโอกาส แต่กลุ่มเขายังรู้ว่าเขาเป็นใคร และต้องการอะไร ประเด็นคือทุกคนอยุ่ในโลกของการสมมุติ มองไม่เห็นคนอื่นๆจึงทำให้ปัญหาต่างๆของกลุ่มคนด้อยโอกาสถูกละเลย
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน