สองเดือนกับความเงียบ…จากรัฐ ถึงชาลี:แรงงานพม่ากับโซ่ตรวนที่ไม่มีคนปลด

อานดี้ ฮอลล์ เเละจุฑิมาศ สุกใส

แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน เป็นเหนื่อระบบคุ้มครองเเรงงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลไทย  ประสานกับเสียงเงียบยิ่งกว่าของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ  เเละกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่สามารถประกันการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานขั้นต่ำ เเละการเลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนเอาผิดกับนายจ้างตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้แรงงานข้ามชาติ เป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิ์ รีดไถ และความอยุติธรรม ซ้ำเเล้วซ้ำเล่า

นาย ชาลี ดีอยู่ อายุ 28 ปี เเรงงานข้ามชาติชาวมอญ จากเมืองเมาะลำไย เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อหลบหนีการความยากจนเเละโอกาสที่ริบหรี่ในประเทศเมียนมาร์ เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่อายุประมาณ 7 ปีจนปัจจุบัน โดยอาศัยกำลังกายทำงานก่อสร้างย่านปทุมธานีกับบริษัทรับเหมา เพือต่อเติมอาคาร บริษัท ซีพี ค้าปลีกและการตลาด จำกัด เมื่อวันที่ 9 มกราคม  2554 ระหว่างทำงานกำลังฉาบอยู่หล่นทับร่างนายชาลี  จนลำไส้เเตกทะลักออกมานอกช่องท้อง มีคนผู้คุมงานของบริษัทรับเหมาที่นายจ้างพานายชาลีไปทำงานด้วย นำตัวนายชาลีส่งโรงพยาบาลปทุมธานี เเพทย์ตรวจพบว่าลำไส้ใหญ่เเตกทะลักออกมานอกช่องท้อง ต้องทำการรักษาโดยด่วน  ซึ่งผู้คุมงานเหมาช่วง บอกว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เช่นเดียวกับที่มีคำสัญญาปากเปล่ากับแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนเเล้วอีกหลายคน เช่นนายชาลี

หลังการผ่าตัด เเพทย์โรงพยาบาลปทุมธานีได้ประเมินอาการว่าสามารถเดินทางกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ก่อนจะเข้ารบการผ่าตัดลำไส้ครั้งต่อไป (ขณะที่แพทย์โรงพยาบาลตำรวจสั่งห้ามนายชาลีเดินมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน) ทว่าตัวเเทนของนายจ้างทั้งนายจ้างของนายชาลี นายจ้างรับเหมา เเละเจ้าของอาคารที่กำลังก่อสร้าง  ต่างไม่เหลียวเเลนำค่ารักษาเเละเงินชดเชยมาให้นายชาลี เเละโรงพยาบาล ต่อมาเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปทุมธานีที่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากท้องที่ปทุมธานี มาควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 โดยอ้างว่าเป็นเเรงงานผิดกฎหมาย ทั้งที่นายชาลีจะได้แจ้งว่าตนได้ขึ้นทะเบียนเเรงงานข้ามชาติมีใบอนุญาตทำงาน ถูกต้องแล้วเเต่เมื่อประสบอุบัติเหตุเอกสารประจำตัวได้สูญหายทั้งหมด

นายชาลีได้ถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศพม่า ขณะที่อาการบาดเจ็บยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงร้องขอให้ สตม. ส่งนายชาลีไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเนื่องจากอาการยังน่าเป็นห่วง ขณะนั้น นายชาลีเป็นผู้ต้องกักในความควบคุม สตม. จึงนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ  เมื่อเข้ารับการรักษาเเล้วเเพทย์เจ้าของไข้ที่โรงพยาบาลตำรวจตรวจพบเพิ่มเติมว่ากระดูกต้นขาหัก ต้องทำการรักษาทันที ทั้งๆ ที่นายชาลียัง เดินเเละช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เเต่ก็ถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขังที่เเน่นหนาเยี่ยงอาชญากรร้ายแรง โดยการล่ามโซ่ขานายชาลีไว้กับเตียงคนไข้ เเละมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมอยู่ด้านนอกตลอดเวลา

ต่อมาองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องต่อ สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ (สตช.)  ให้ปลดโซ่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554   องค์กรสิทธิมนุษยชนยังเดินหน้าเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายชาลีทันที เนื่องจากใบอนุญาตทำงานไม่หมดอายุ เเต่ไม่เป็นผล หลังจากนั้นสภาทนายความจึงยื่นมือให้ความ่วยเหลือทางกฎหมาย ร้องต่อศาลอาญาให้ สตม. ปล่อยตัวนายชาลีเเละเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย    ทว่า สตม. อ้างว่า นายชาลีไม่มีนายจ้างมารับตัว จึงไม่สามารถปล่อยตัวไปได้  ทั้งๆ ที่นายชาลีถูกนายจ้างทอดทิ้ง

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายชาลี เเละจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท บับเป็นกรณีเเรกๆ ที่ศาลสั่งจ่ายค่าเสียหาย เนื่องจาก สตม. ดำเนินการควบคุมตัวโดยมิชอบ เเละมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารก่อนการควบคุมตัวการปฏิบัติงานของ สตม. ยังไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเเละศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  หากนายชาลีไม่ได้รับการช่วยเหลือ  อาจเสียชีวิตเนื่องจากความเจ็บป่วย หรือต้องไปเผชิญชะตากรรมโหดร้ายออกนอกประเทศ 

เวลาผ่านไปสอง เดือน นับจากนายชาลีพ้นโซ่ตรวน เเละกำลังจะออกจากโรงพยาบาล เเต่ทุกวันนี้ กระทรวงเเรงงานซึ่งดูแลสวัสดิการเเรงงานทุกคนในประเทศไทย ยังไม่ได้ทำหน้าที่เต็มที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเเละเยียวยาแรงงานข้ามชาติเหยื่ออุบัติเหตุ 

นายชาลีไม่ใช่ เหยื่ออุบัติเหตุรายแรก ที่กระทรวงแรงงาน  เเละ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) แทบจะไม่สนใจเเละปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา หากไม่มีการสร้างกระเเสสังคมจากสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะระบบสวัสดิการเเรงงานข้ามชาติ  ทั้งยามปกติเเละยามได้รับบาดเจ็บจากการทำงานไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง   แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทนการบาดเจ็บจากการทำงาน   แม้มีเสียงเรียกร้องจากองค์กรแรงงานทั้งไทยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ   เเละผู้รายงานพิเศษจากองค์การสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดกรณีเช่นนี้ซ้ำเเล้วซ้ำเล่า  ในขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย ที่ควรเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แรงงานข้ามชาติกลับเงียบสนิท

การเพิกเฉย เเละนโยบายคุ้มครองเเรงงานที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ได้สร้างความรับรู้ว่า แม้ไม่ปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติตามกฎหมาย หรือไร้มนุษยธรรม ก็ไม่มีการลงโทษ นายจ้างที่มีเเรงงานที่บาดเจ็บสาหัสจากการทำงานสามารถ  ทิ้งปฏิเสธการค่าชดเชยความบาดเจ็บ ความพิการ ปล่อยแรงงานให้เป็นภาระของโรงพยาบาลของรัฐ และมักมีการเเจ้งตำรวจจับเเรงงานข้ามชาติที่รับการรักษา

ชองโหว่ของกฎหมายเเละการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ทำให้นายจ้างหลายรายพยายามลดต้นทุนการผลิต โดยการเก็บเเรงงานข้ามชาติไว้ในระบบ “ใต้ดิน” ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่กล้าเรียกร้องสิทธิอันพึงได้ ต้องทำงานเยี่ยงทาส ไม่กล้าแจ้งการละเมิดสิทธิแรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ  เมื่อใดที่นายจ้างไม่ตัองการ ก็รอวันถูกทิ้งเหมือนเครื่องจักรชำรุด  โดยไม่คำนึงถึงความรับผิดอบต่อชีวิตมนุษย์ ทั้งๆ ที่ภาคเอกชนหลายเเห่งสามารถทุ่มเทเงินกับ "ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ"  (CSR) จำนวนมหาศาล

รัฐบาล กระทรวงแรงงานก็มิได้พยายามแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบ  ท้ายที่สุดก็ส่งผลกระทบกลับมายังแรงงานไทย   ที่นายจ้างหลายรายเริ่มปลดคนงานไทยออก เเละจ้างแรงงานข้ามชาติมาทำงานเเทน  เนื่องจากสวัสดิการเเละการคุ้มครองที่นายจ้างต้องให้เเก่แรงงานข้ามชาติ ต่ำกว่าแรงงานไทยมาก

ทั้งที่ภาคธุรกิจไทยหลายส่วนต่างตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติต่อความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วยการเเข่งขันผลิตสินค้าราคาถูก  ทำให้ภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐเปิดช่องทางและจำนวนโควต้าเพื่อจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น แทบไม่ต่างจากการร้องขอนำเข้าเครื่องจักร แต่ต้องไม่ลืมว่า แรงงานข้ามชาติคือกำลังผลิตเสียงที่มีชีวิต มีความหวัง มีความรู้สึก เจ็บปวด เหนื่อยล้า ท้อแท้ เช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย  เเละการเน้นการส่งออกสนค้าต้นทุนตำ่ ที่มาจากค่าแรงถูก ไม่ใช่เเนวทางที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีตลาดแรงงานอาเซียน หากไทยยังไม่สามารถรับประกันคุณภาพชีวิตแรงงานได้ พวกเขาอาจจะย้ายถิ่นอีกครั้งไปยังฐานการผลิตใหม่ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า การเเข่งขันหาแรงงานราคาถูกเพียงอย่างเดียวคงมิใช่ทางออก ในขณะเดียวกัน ประซึ่งไม่ใช่เเนวทางที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวประชาคมอาเซียนเองก็ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนมากขึ้น  เเละประเทศต้นทางที่ส่งออกแรงงานข้ามชาติ เช่นสหภาพเมียนมาร์  ต้องเพิ่มบทบาทการคุ้มครองเเละส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ในประเทศปลายทางเพิ่มขึ้นด้วย

อานดี้ ฮอลล์ เป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เเละ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา  จุฑิมาศ สุกใส เป็นนักวิจัยอิสระ