คนงานไทยเรยอน เดินสายชี้แจงสังคมถูกนายจ้างขอลดสวัสดิการ

IMG_2488

คนงานไทยเรยอนโอด ชุมนุมยาวหลังเกิดข้อพิพาทหยุดงาน หลังนายจ้างยื่นข้อเรียกร้องขอลดสวัสดิการทั้งค่าครองชีพ ปรับค่าจ้าง และโบนัส ลุกขึ้นเดินสายแจงขอการสนับสนุน พร้อมยื่นผู้ว่าให้เสนอรัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 พร้อมชุมนุม

วันที่ 26 ก.ย. 56  สหภาพแรงงานไทยเรยอน ซึ่งมีการชุมนุมอยู่หน้าบริษัทฯ นายเฉลย ชมบุหรั่น ประธานสหภาพแรงงานไทยเรยิน กล่าวว่า ตนและคณะกรรมการสหภาพ ได้เคลื่อนขบวนมายังบริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ชี้แจงกรณีชุมนุมนัดหยุดงานของสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และขอความร่วมมือในการสนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 โดยมีนายปัญญา งานเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นผู้รับมอบ

IMG_2597IMG_2480

ทั้งนี้ได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการนัดหยุดงานให้แก่ชุมชนโดยรอบโรงงานไทยเรยอน กรณีที่สหภาพแรงงานได้มีการนัดหยุดงานโดยเริ่มชุมนุมในวันที่ 18 กันยายน 2556 ต่อมาบริษัทก็ได้ประกาศปิดงานเฉพาะกรรมการสหภาพแรงงานในวันที่ 19 กันยายนด้วยเช่นกัน

ข้อพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัทไทยเรยอนนั้น เกิดจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยสหภาพแรงงานฯได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ เพื่อขอปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 และต่อมาบริษัทฯ ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อสหภาพฯ เพื่อขอปรับลดสวัสดิการ และได้มีการนัดเจรจากันครั้งแรกในวันที่ 1 มิถุนายน 2556 การเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่มีความคืบหน้า ด้วยการเจรจาของบริษัทฯ ไม่มีความจริงใจมีความพยายามที่จะเยื้อเวลาโดยการมอบหมายให้ผู้แทนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจมาเจรจาข้อเรียกร้อง ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ และตัวแทนบริษัทก็พยายามที่จะเสนอให้รับพิจารณาข้อเรียกร้องของบริษัทฯก่อน จึงจะเจรจาพิจารณาข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ซึ่งจะให้บางส่วนตามที่สหภาพฯ ยื่นข้อเรียกร้อง จนกระทั้งเกิดการพิพาทแรงงานและ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ยแต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้

นายเฉลยยังกล่าวอีกว่า บริษัทไทยเรยอน   เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ผลิตสินค้ามีราคาสูง   และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย   เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอแต่ก็มีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี หากย้อนกลับไปดูกำไรในหลายปีที่ผ่านมา ตลาดของเรามีภาวะที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง  มีรายได้จากการขายของบริษัทไทยเรยอนและบริษัทย่อย นับ 12,083  ล้านบาท  มีกำไรมาตลอด อยู่ที่มีกำไรมากหรือน้อย  มีการขยายการผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะขายฝ้ายแล้วก็ยังมีการขายเกลือ  ผลิตจนไม่พอขายให้กับลูกค้า   แค่ค่าขายเกลือก็สามารถที่จะเลี้ยงดูพนักงานได้ ค่าครองชีพ ในปัจจุบัน 5,000 บาท  ซึ่งก็มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเพิ่มขึ้นเพียงครั้งละ 100 – 200 บาท มาอย่างยาวนานถึง 35 ปี กว่าจะได้มาเท่าที่เห็น ตอนนี้บริษัทมาบอกว่าค่าครองชีพของไทยเรยอนมีตัวเลขที่สูง ขอลดค่าครองชีพเหลืออยู่ที่ 3,000 บาท

แต่หากมาดูเรื่องของเงินเดือนนั้นคนงานไทยเรยอนมีค่าแรงที่ตำกว่าบริษัทในเครือเดียวกันแม้บริษัทจะมีผลกำไรเท่ากัน คนงานไทยเรยอนมีอัตราเงินเดือนที่ต่ำกว่าหลายเท่าตัว  และนานแล้วที่บริษัทไม่ได้นำค่าครองชีพไปคิดโอที  คิดโบนัสเพิ่มให้คนงาน หากทำเป็นกราฟแสดงถึงต้นทุนด้านพนักงานสูงถึง  4,177 บาทต่อตัน ในขณะที่จีน อินโดนีเซีย ตุรกี มีต้นทุนต่ำกว่า  ซึ่งในประเทศเหล่านั้นมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าประเทศไทย อีกทั้งคนงานส่วนใหญ่ทำงานมากกว่า 20 ปี ต้นทุนด้านพนักงานสูงกว่าที่อื่นก็เป็นเรื่องปกติ  ก็ต้องมองย้อนกลับไปด้วยว่าโรงงานเราเติบโตมาถึง 37 ปี มีกำไรสะสมเกือบ 20,000 ล้านบาท  ก็ต้องมีต้นทุนด้านแรงงานสูงกว่าโรงงานที่ตั้งใหม่อยู่แล้ว

IMG_2307

การนัดหยุดงานในครั้งนี้มีสมาชิก 100 % เข้าร่วมนัดหยุดงาน แม้นักบัญชี  วิศวกร  นักเคมี รวมถึงพนักงานระดับบริหารที่ไม่ค่อยเข้าร่วมทำกิจกรรมกับสหภาพก็ยังเข้าร่วมนัดหยุดงานกับสหภาพฯ เพราะทนกับความไม่เป็นธรรมความเอารัดเอาเปรียบของผู้บริหารในการลดสวัสดิการอาทิเช่น มีการโบนัสจาก 136  วันเป็น 45 วัน  และค่าครองชีพเหลือ 3,000 บาท และขอลดเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินของคนงานลง การนัดหยุดงานของสมาชิกสหภาพแรงงานไทยเรยอนกว่า 800 คน ได้มีการรวมตัวกันอยู่หน้าโรงงานไทยเรยอนตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน  จนถึงขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในชุมชน รวมถึงผู้นำในท้องถิ่นและเพื่อนสหภาพแรงงานทั่วไปในการมอบทุนทรัพย์  ข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้งให้กับพี่น้องที่เข้ามาร่วมชุมนุนอย่างต่อเนื่อง   การนัดหยุดงานในครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของคนงานในการต่อสู้กับนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบอย่างแท้จริง เพียงแค่คิดจะสู้ก็ชนะแล้ว.

อนึ่ง บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ ณ. จังหวัด อ่างทอง ในเครือ กลุ่มอุตสหกรรม เบอร์ล่า ประเทศอินเดีย ซึ่งมีกิจการในประเทศไทย กว่า 10 บริษัท และ บริษัทต่างๆ ในทวีปเอเซีย ยุโรป อเมริกา และเป็นผู้ผลิตเส้นใยประดิษฐ์เรยอนชั้นนำของโลก

นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวอ่างทอง รายงาน