ในอดีต ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอัฟริกาเคยเป็นอาณานิคมของต่างชาติ สหภาพแรงงานของประเทศต่างๆ จึงมีประวัติการเป็นแนวร่วมอันใกล้ชิดกับพรรคการเมือง เนื่องจากเคยร่วมกันต่อสู้ในขบวนการต่อต้านอาณานิคมจนประเทศได้รับเอกราชรวมทั้งร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมืองอาจแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ
ยุคที่หนึ่งการร่วมกันต่อสู้เพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคม ได้สร้างความผูกพันระหว่างสหภาพแรงงานและขบวนการปลดปล่อยประเทศจากการเป็นอาณานิคม สหภาพแรงงานเป็นตัวละครที่มีความสำคัญ แต่ต้องเล่นบทลูกน้องที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของพรรคการเมือง ประเด็นหลักของการต่อสู้ในยุคนี้ คือ เพื่อเอกราชทางการเมือง ไม่มีประเด็นทางสังคมสำหรับผู้ใช้แรงงาน
ยุคที่สอง เมื่อประเทศได้รับเอกราชแล้ว มีโครงการพัฒนาต่างๆจำนวนมาก มีตำแหน่งงานในภาคบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นสิทธิแรงงานเป็นที่ยอมรับกันในเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ สหภาพแรงงานยังเปรียบเสมือนลูกน้องใต้บังคับบัญชาของพรรคการเมือง ไม่มีความเป็นอิสระที่จะเข้าแทรกแซงนโยบายในช่วงนี้ มีความคาดหวังสองด้านต่อบทบาทของสหภาพแรงงานคือ การช่วยพัฒนาประเทศทั่วไปและการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสมาชิกระดับล่างโดยฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าสหภาพเป็นตัวแทนของกำลังแรงงานแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงเห็นว่าควรเน้นที่บทบาทการพัฒนาประเทศมากกว่าการเป็นตัวแทน
ยุคที่สาม เป็นระยะของการควบคุมโดยกลไกตลาด เริ่มในทศวรรษ 1990อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐมีหนี้สินสะสมเป็นจำนวนมากในระหว่างทศวรรษ 1970-1980 รัฐบาลจึงได้รับแรงกดดันจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศให้ใช้นโยบายตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ คือการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้ตำแหน่งงานจำนวนมากหายไป สหภาพแรงงานเริ่มต่อต้านนโยบายการเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจจนในที่สุดขบวนการแรงงานกลายเป็นฝ่ายค้านของรัฐที่ใช้รูปแบบการปกครองแบบพรรคเดียว ซึ่งเป็นลักษณะของอัฟริกายุคหลังอาณานิคม
ข้อเรียกร้องที่สำคัญส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงาน ได้แก่ ความเป็นอิสระขององค์กร รวมทั้งอำนาจโน้มน้าวต่อการกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาล สหภาพแรงงานจึงกลายเป็นศูนย์รวมของการท้าทายต่อรัฐบาลเผด็จการทั่วทั้งทวีป กลายเป็นความย้อนแย้งว่าแม้สหภาพแรงงานจะอ่อนแอแต่รัฐบาลยุคหลังอาณานิคมก็เกรงกลัว
บทความนี้ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการแรงงานกับพรรคการเมืองโดยเปรียบเทียบ โดยใช้คำถามดังนี้
- สหภาพแรงงานสามารถสร้างความคืบหน้าเรื่องอำนาจโน้มน้าวต่อการเมืองอย่างไร โดยที่ยังคงความเป็นอิสระของตนเอง
- สหภาพแรงงานประสบความสำเร็จแค่ไหนในการสร้างความเป็นอิสระของตนเองและสร้างอำนาจโน้มน้าวในขณะที่เป็นแนวร่วมใกล้ชิดกับพรรคการเมืองระดับชาติ
- มีทางเลือกใหม่ๆหรือไม่ในการสร้างอำนาจโน้มน้าวต่อการเมือง
ผลจากการศึกษาใน 7 ประเทศ พบว่า ภายใต้การควบคุมโดยกลไกการตลาด มีแนวโน้มที่ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมืองจะเจือจางลง แม้สัดส่วนการจ้างงานในระบบจะมีจำนวนน้อยและลดลง แต่สหภาพแรงงานก็ยังเป็นพลังการเมืองที่สำคัญ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีฐานมาจากสมาชิกและตั้งอยู่ในส่วนที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในระบบเศรษฐกิจ เช่น การขนส่งและการบริการสาธารณะ ทำให้มีขีดความสามารถที่จะระดมพลและสร้างความวุ่นวายในวงกว้างทั่วประเทศ
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าสหภาพแรงงานสามารถทำหน้าที่แทนพรรคการเมือง หรือสามารถสร้างเขตเลือกตั้งของตนเอง ในทางตรงข้าม การเชื่อมโยงกันระหว่างอำนาจกดดันทางสากลกับการต่อสู้ภายในประเทศยุคหลังอาณานิคมกำลังนำไปสู่การสร้างกรอบแนวคิดใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง อันจะเปิดโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆสำหรับแนวร่วม ยุทธศาสตร์และการเป็นหุ้นส่วน
รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองในยุคนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ
- รูปแบบดั้งเดิม เช่น เซเนกัล และอียิปต์
ในเซเนกัล พรรคฝ่ายซ้ายแต่ละพรรคมีสหภาพแรงงานของตนเองความพ่ายแพ้ของพรรคสังคมนิยมในการเลือกตั้งปี 2000 ทำให้สหภาพแรงงานเป็นอิสระมากขึ้น เกิดการโต้แย้งที่เข้มข้นในขบวนการแรงงานว่าควรจะสร้างอำนาจโน้มน้าวต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างไร ระหว่างทางเลือก 2 ทาง คือ
o ควรจะต่อสู้จากฐานความเป็นเอกภาพและเป็นอิสระของสหภาพ หรือ
o ควรเป็นแนวร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อจะได้เข้าถึงผู้กำหนดนโยบายได้ใกล้ชิดมากขึ้น
ในอียิปต์ สหภาพแรงงานเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรครัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ไม่มีทั้งความเป็นอิสระและอำนาจโน้มน้าว
- การหย่าร้างจากการเป็นพันธมิตรกับพรรคระดับชาติและการก่อตัวเป็นพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้าน
บางคนเข้าใจว่าการจัดตั้ง “พรรคแรงงาน” ที่เชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานโดยตรงเป็นวิถีทาง “ธรรมชาติ” ที่สหภาพแรงงานจะสามารถมีอำนาจโน้มน้าวต่อการเมืองได้ แต่กรณีศึกษาจากประสบการณ์ของอัฟริกากลับพบผลที่แตกต่าง เนื่องจากเมื่อแรงงานพยายามสร้างพรรคการเมืองในประเทศไนจีเรีย ซิมบับเว และแซมเบีย มันไม่ได้นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่คงทน รวมทั้งรัฐก็ไม่ยินดีที่จะอดทนต่อความสัมพันธ์นี้
ในประเทศซิมบับเว สหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคฝ่ายค้านโดยไม่ได้เป็นสมาชิก แต่รัฐบาลก็พยายามทำลายสหภาพแรงงาน เช่น จับกุม คุมขัง คุกคาม อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ยังยึดถือปฏิบัติในเรื่องการเจรจาทางสังคม โดยการเข้าร่วมในเวทีเจรจาต่อรองร่วมไตรภาคีเพื่อพยายามสร้างเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ สหภาพแรงงานจึงต้องรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องตนเองจากการถูกคุกคามด้วยความรุนแรง ในขณะที่พยายามเจรจาทางสังคมร่วมกับนายจ้างและรัฐบาล
- การแต่งงานที่ไม่มีความสุข- สหภาพยังเป็นพันธมิตรกับพรรครัฐบาล
ประเทศอัฟริกาใต้ สภาแรงงานอัฟริกาใต้ หรือ COSATU เป็นแนวร่วมกับพรรครัฐบาล โดยยังรักษาความเป็นอิสระและอำนาจโน้มน้าวต่อการกำหนดนโยบายไว้ได้ แม้มีการทำนายว่าความสัมพันธ์นี้น่าจะแตกร้าว แต่จากการศึกษาวิจัยความคิดเห็นของสมาชิกองค์กร พบว่า พวกเขายังให้การสนับสนุนแนวร่วมทางการเมืองอย่างเหนียวแน่น
ประเทศอูกันดา ผู้นำสหภาพแรงงานยังเป็นแนวร่วมกับพรรครัฐบาล และมีการสำรองที่นั่งในรัฐสภาให้สหภาพแรงงาน แต่สหภาพขาดความเป็นอิสระ และสมาชิกรัฐสภาถูกบังคับให้ทำตามแนวทางของรัฐบาล กลายเป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างพรรครัฐบาลกับผู้นำสหภาพแรงงาน เมื่อเร็วๆ นี้อูกันดาได้ออกกฎหมายแรงงานใหม่ที่มีความก้าวหน้าว่าด้วยการจัดการการค้าตามสิทธิพิเศษแต่กฎหมายนี้ไม่ได้เป็นผลมาจากแรงกดดันของสหภาพแรงงานในประเทศ หากแต่เป็นผลจากการที่สหรัฐอเมริกากดดันให้ตระหนักถึงมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
- การแยกกันอยู่
สภาแรงงานกานา (GTUC)ได้ถอยห่างจากพรรคการเมือง โดยได้กำหนดไว้ในธรรมนูญขององค์กรเมื่อปี 1992 การตัดสินใจนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์กับพรรค CPP และอีกส่วนหนึ่งมาจากความพยายามที่ไม่สำเร็จในการก่อตั้งพรรคของตนเองสภาแรงงานกานาไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนนโยบายรัฐบาลออกจากทิศทางเสรีนิยมใหม่ แต่ก็ได้มีบทบาทนำในภาคประชาสังคมและประสบความสำเร็จในการยุติการแปรรูปการประปา การที่องค์กรไม่สนับสนุนพรรคการเมือง ทำให้สามารถเอาชนะในการรณรงค์ผ่านพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มสหภาพแรงงานที่พยายามสร้างพรรคฝ่ายค้าน และสหภาพแรงงานที่ยอมเป็นเบี้ยล่างของพรรครัฐบาล ในรูปแบบอุปถัมภ์
ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง | ประเทศ |
รูปแบบการอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมสหภาพแรงงานเป็นลูกน้องใต้บังคับบัญชาของพรรครัฐบาล | อียิปต์ เซเนกัล |
หย่าร้างสหภาพแรงงานเคลื่อนออกจากการเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองและตั้งพรรคของตนเองเป็นพรรคฝ่ายค้าน
|
ซิมบับเว แซมเบีย ไนจีเรีย |
การแต่งงานที่ไม่มีความสุขสหภาพแรงงานเป็นพันธมิตรที่ไม่ราบรื่นกับพรรครัฐบาล
|
อัฟริกาใต้ อูกันดา |
การแยกกันอยู่สหภาพแรงงานถอนตัวจากพรรคการเมือง เกิดประชาธิปไตยแบบหลายพรรค สหภาพแรงงานมีบทบาทนำในภาคประชาสังคม | กานา อัฟริกาใต้ |
วิเคราะห์ – ความหมายทางการเมือง
- ในยุคของการควบคุมโดยกลไกตลาด จำเป็นที่จะต้องทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมืองการที่สหภาพแรงงานยังพึ่งพาพรรครัฐบาลในการพยายามมีอำนาจโน้มน้าวต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ บางครั้งก็ทำให้สหภาพแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในพรรค เช่น เมื่อมีการแข่งขันแย่งชิงตำแหน่งประธานาบดีอัฟริกาใต้ ผู้นำของสภาแรงงานสนับสนุนคู่แข่งขันที่อยู่คนละฝ่ายกัน สร้างความแตกแยกในองค์กรแรงงาน รวมถึงองค์กรสมาชิก ที่แตกเป็นสองค่ายและไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ในเรื่องที่เป็นเนื้องานที่แท้จริงของสหภาพแรงงาน เนื่องจากผู้นำแรงงานสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
มีหลักฐานจากการศึกษาที่บ่งชี้ว่า สหภาพแรงงานในทวีปอัฟริกาได้ทบทวนความสัมพันธ์กับการเมืองแล้วและตัดสินใจลดการพึ่งพาพรรครัฐบาลลง โดยหันไปสร้างแนวร่วมกับองค์กรในภาคประชาสังคม เช่น องค์กรผู้หญิง องค์กรของแรงงานนอกระบบ
จากประสบการณ์ขององค์กรแรงงานในซิมบับเวและแซมเบีย พบว่า ทางเลือกในการก่อตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องยาก ในกรณีแซมเบีย สหภาพแรงงานผิดหวังกับบทบาทของพรรคที่ตนช่วยเหลือ ดังนั้นจึงถอนตัวจากพรรคที่ตนช่วยก่อตั้ง
- แรงงานมีขีดความสามารถที่จะขัดขวางนโยบายเสรีนิยมใหม่ แต่ไม่สามารถนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นทางเลือก ดังตัวอย่างสหภาพแรงงานในประเทศกานาที่สามารถขัดขวางนโยบายการแปรรูปการประปา หรือสหภาพแรงงานอัฟริกาใต้ที่สามารถป้องกันการแปรรูปการรถไฟ แต่ยังไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนทัศน์เสรีนิยมใหม่
- แรงงานมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของอัฟริกา ประเทศยุคหลังอาณานิคมแตกต่างจากประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคงแล้ว เนื่องจากมีภาระทั้งการสร้างชาติและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เกิดวัฒนธรรมของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เป็น “พวกเขา” และ “พวกเรา” ประชาชนได้รับการยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งใน “พวกเรา” ผู้ร่วมปลดปล่อยชาติ แต่ผู้ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลกลายเป็น “ศัตรู” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่ตกผลึก มักมีความอดทนต่อกันในระดับต่ำ และนำไปสู่ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเป็นแกนหลักต่อการสร้างกติกาประชาธิปไตย
- แรงงานจำเป็นต้องพัฒนาการทำงานเป็นหุ้นส่วนกับสถาบันวิชาการเพื่อร่วมกันพัฒนาความคิดต่างๆที่จะแข่งขันกับเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นกรอบเค้าโครงความคิดที่ครอบงำสถาบันการเงินระหว่างประเทศ พลังอำนาจของแรงงานไม่ได้อยู่ที่ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของกิจการและความสามารถในการปลุกระดมและจัดตั้งคนเท่านั้น แต่ยังมีพลังอำนาจด้านความคิดและความสามารถในการนำเสนอความคิด เพื่อท้าทายแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ใช้กลไกตลาดเป็นตัวนำ รวมทั้งสร้างทางเลือกที่นำไปสู่กติกาสากลที่เป็นมิตรกับแรงงาน
—————————————-
ปรีดา ศิริสวัสดิ์ สรุปและเรียบเรียง จากบทความ เรื่อง สหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองในทวีปอัฟริกา: แนวร่วมใหม่ ยุทธศาสตร์และการเป็นหุ้นส่วน(Trade Unions and Political Parties in Africa: New Alliances, Strategies and Partnership)เขียนโดย เอ็ดเวิร์ด เวบสเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งวิธวอเตอร์สแรนด์ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก จัดพิมพ์โดย แผนกความร่วมมือด้านสหภาพแรงงานสากล มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เยอรมนี ปี 2550