สสรท.และสรส. และเครือข่ายขับเคลื่อนILO 87 98 ยื่นนายกเศรษฐา 3 ข้อ แก้ปัญหาแรงงาน

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายขับเคลื่อนILO 87 98 ยื่นข้อเสนอนายกเศรษฐา 3 ข้อ1. รัฐบาลต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง 2. ให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 3. รัฐบาลต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน

วันที่  7  ตุลาคม  2566 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) และร่วมกับ 26 องค์กร เครือข่ายขับเคลื่อนILO 87 98 ได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ “วันงานที่มีคุณค่าสากล (World Day for Decent Work)”  และยื่นข้อเสนอ วันงานที่มีคุณค่าสากล (World Day for Decent Work) 3 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท.กล่าวว่า ปีนี้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพียง 3 ข้อหลักๆ คือ        

1. รัฐบาลต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานระยะสั้น เช่น เหมางาน เหมาค่าแรง การจ้างงานตามสัญญาจ้าง โดยวางนโยบาย ออกกฎหมาย ให้มีการจ้างงานที่มั่นคง จ้างงานระยะยาวจนถึงวันเกษียณ หรือวันที่ออกจากงาน มีหลักประกันเรื่องค่าจ้างและรายได้ รวมถึงหลักประกันทางสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีของคนงานและครอบครัว

2. ให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87  ค.ศ.1948 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98  ค.ศ.1949 ว่าด้วยการเจรจาต่อรองร่วม เหตุเพราะอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เป็นหลักการอันสำคัญให้แก่คนงานในการจัดตั้งองค์กรของตนเอง เพราะสร้างอำนาจการต่อรองอันจะนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม นำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างหลักประกันในการทำงาน และคุณภาพชีวิตของคนงาน

3. รัฐบาลต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ เช่น การจัดตั้งบริษัทลูก การให้สัมปทาน การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจในกิจการพลังงาน สาธารณูปโภคสาธารณูปการ โดยสนับสนุนส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และนำรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วกลับคืนมาเป็นของรัฐ มีรูปแบบการบริหารจัดการโดยรัฐ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

นายสาวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า จริงแล้วข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานมีหลายสิบข้อ เนื่องจากรัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการแรงงานเลย แต่ในวันนี้เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าปีนี้มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และขอเรียกร้องให้พี่น้องแรงงานออกมาร่วมกันผลักดันให้รัฐแก้ปัญหาแรงงานร่วมกัน เพราะว่า ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็คงละเลยในการที่จะทำตามข้อเสนอของพวกเรา วันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีเครือข่ายองค์กรแรงงานกว่า 20 องค์กรมาร่วมกันขับเคลื่อน แม้ว่าจะมีมุมการเมืองที่ต่างกัน แต่ว่าแประเด็นร่วมคือความมั่นคงในการทำงาน การมีสิทธิในการรวมตัวกัน และแรงงานต้องก้าวไกลมากกว่าประเด็นการเรียกร้องภายใต้รัฐบาลทุน โดยต้องมองถึงการต่อสู้ทางการเมืองด้วย

นายประสิทธิ ประสบสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาILO 87 98 ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรแรงงานต่างๆทุกภาคส่วน ในทุกระดับชั้น จำนวน 26 องค์กร การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานใช้เวลายาวนานมากในการขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ98 มากว่า 30 ปี ปัจจุบันสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมของคนงานไทย ยังไม่มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและในทางปฏิบัติ 

องค์กรแรงงาน 26 องค์กรจึงรวมตัวกันในนาม “เครือข่ายขับเคลื่อนอนุสัญญาILO 87 98” เพื่อการขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 87 และ98 ทั้ฃง 2 ฉบับ โดยจะร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ แสดงความสมานฉันท์ ความเป็นนำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อมุ่งมั่นอย่างเต็มกำลังความสามารถ ร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลไทย ลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองร่วม ให้เกิดความสำเร็จสัมฤทธิ์ผลให้จงได้ และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยภายใต้ การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอให้ดำเนินการให้รัฐบาลไทยลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานฉบับที่ 87และ98 และเร่งแก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ทำทันทีและโดยเร็วที่สุด

ด้านนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า การที่มาร่วมกันวันนี้ของผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มก็ เพื่อรณรงค์ให้เกิดการทำงานที่มีคุณค่าตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานที่สะสม หมักหมมมาหลายสิบปีและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น โดยข้อเสนอของสรส.คือต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการเกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมอย่างชัดเจน อย่างกรณีน้ำมันขึ้นราคา ไฟฟ้าที่มีราคาแพงจนส่งผลกระทบกกับประชาชนอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด หรือวิกฤติเศรษฐกิจประชาชนมีรายได้ต่ำ หรือขาดรายได้ รัฐวิสาหกิจถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาวิกฤตินั้นๆตลอด หากถูกแปรรูปขายเป็นของนายทุนทั้งหมดแน่นอนต้องกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ จึงเสนอให้รัฐทบทวน และยกเลิกการแปรรูปและขายรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายแรงงานได้มีการยื่นหนังสือต่อนายสมพงษ์ คล้อยแคล้ว ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน นายนพพร บุญแก้ว ผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน