สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือสนับสนุน รัฐมนตรีแรงงาน ทำตามสัญญาประกาศขึ้นค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง
วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีปัญหาต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นด้านหลักทั้งเรื่อง การค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศขาดรายได้ ไร้อาชีพ ขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิต ยากจน มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึง ร้อยละ 93 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขบวนการแรงงานก็พยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างให้ไปไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่เป็นธรรมตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ ค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ และให้เท่ากันทั้งประเทศ ในท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยาวนาน และสังคมส่วนใหญ่ทั้งประชาชนทั่วไป พี่น้องสื่อมวลชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคก็เห็นด้วยจึงนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการหาเสียง อีกทั้งงานวิจัยจำนวนมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็สนับสนุนเพราะการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการจัดทำข้อมูล จัดทำงานวิจัย จัดเวทีเสวนา ออกแถลงการณ์ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาล หลายครั้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา และล่าสุดในวันกรรมกรสากลที่ สสรท. และ สรส. จัดขึ้นหรือแม้กระทั่งเวทีที่สภาแรงงาน และกระทรวงแรงงานจัดขึ้นที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ประกาศหนักแน่นบนเวทีว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งได้รับการชื่นชมจากผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากรวมทั้งในเวทีต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัดที่มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ต่างก็มีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดแล้วว่าราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันล้วนราคาไม่ได้แตกต่างกันโดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อหลายบริษัท หลายหมื่นร้านทั่วประเทศ จะซื้อที่ไหนก็ราคาเดียวกัน อีกทั้งราคาค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต ก็ราคาเดียวกัน และบางรายการเช่น ก๊าซ น้ำมันในต่างจังหวัดยังมีราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ นอกเหนือจากการเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และเอกชน แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ คนทำงานบ้าน
การที่มีกลุ่มทุนผู้ประกอบการออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องปกติเพราะเขาต้องการปกป้องผลประโยชน์ความมั่งคั่งของพวกเขา หรือ การที่มาอ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น แม้ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานจะยังไม่ขึ้น แต่ราคาสินค้าก็ขึ้นไปแล้ว แล้วถ้าไม่ปรับค่าจ้างผู้ใช้แรงงานจะอยู่ได้อย่างไร หรืออ้างเหตุผลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประโยชน์จะตกแก่แรงงานข้ามชาติ ในความเป็นจริง แรงงานข้ามชาติมีสัดส่วนน้อยมากเพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น ที่มาทำงานในประเทศไทย แต่แรงงานไทยจำนวนกว่า 41 ล้านคน และจำนวนมากที่ยังคงรับค่าจ้างขั้นต่ำ บางอาชีพก็ไม่มีหลักประกันรายได้ กฎหมายแรงงานไม่คุ้มครอง เช่น แรงงานนอกระบบ คนงานไรเดอร์ แม้กระทั่งลูกจ้างภาครัฐที่จ้างโดยหน่วยงานราชการ เกือบทุกกระทรวงที่ยังคงรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหน กลุ่มทุน ผู้ประกอบการที่เขาเดือดร้อนเพียงเพราะกำไร ความมั่งคั่งเขาลดลง หรือ กับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เป็นคนบริโภค จ่ายภาษี ก้อนใหญ่ให้แก่รัฐ
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ “ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั้งประเทศและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน” และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน คนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และสังคมที่ดี เพราะเมื่อประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ก็จะเกิดการผลิตการจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ยั่งยืน ต้องเข้าใจว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันกว่า 41 ล้านคน คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ หากไม่สามารถแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้ก็อย่าไปคาดหวังว่า จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้ และที่สำคัญหากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ทั้งเรื่องการค้า การส่งออก การดึงนักลงทุนมาลงทุน ต้องการเม็ดเงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์โลกต่างก็ทราบกันดีว่าอยู่ในภาวะตึงเครียด สงคราม การเผชิญหน้าที่มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดความรุนแรง คงไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนได้ และการส่งออกสินค้าของไทยหากดูในภาพรวมก็ขาดดุลการค้าทุกปี ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ สร้างหลักประกันรายได้ หลักประกันทางอาชีพ เน้นการพึ่งพาในประเทศทั้งการผลิต การจำหน่าย สินค้าอุปโภค บริโภค คือ การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน แต่รัฐบาลต้องทำควบคู่กับการควบคุมราคาสินค้า ค่าพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง การขนส่ง เป็นต้น ให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐ คือ รัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน ที่จ้องเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชน และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหากทำได้จริงก็จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายแรงงาน “ขอสนับสนุนคำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ” และส่งกำลังใจให้ท่านกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน เพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ