สร.รฟท.ร้องผู้ตรวจการแผนดิน เร่งรัฐปฏบัติตามกฎหมายและรักษาผลประโยชน์ประชาชน

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ (สร.รฟท.) ร้องผู้ตรวจการแผนดิน เร่งรัฐให้ปฏบัติตามกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน

วันที่ 27 มกราคม 2565 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง      ขอร้องเรียนให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

นายสราวุธ สราญวงศ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กล่าวว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ( สร.รฟท. ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง     ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มาตรา 40 (4) ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ได้มีการติดตามกรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และถือได้ว่าที่ดินในบริเวณที่กล่าวมาเป็นสาธารณะทรัพย์สมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย ที่ปรากฏในรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2554 มีมติว่า “โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 (ถือกรรมสิทธิ์โดย นายชัย ชิดชอบ ) และเลขที่ 8564 (ถือกรรมสิทธิ์โดย นางกรุณา ชิดชอบ ) เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่หวงห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นการออกโฉนดที่มิชอบด้วยกฎหมาย”

โดยสิ่งที่ส่งให้กับผู้ตรวจการแผนดินด้วยนั้นประกอบด้วย(สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.) และตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876 / 2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2.) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027 / 2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561  และ(สิ่งที่ส่งมาด้วย 3.) ตลอดเวลาที่ผ่านมาตามที่ศาลสูงได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น สร.รฟท. ได้ติดตามเรื่องการเพิกถอนสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดง จากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน(ฉบับที่ 9) พ.ศ.2543 มาตรา 61 ,62 (อ้างถึง 1.) แต่กลับพบว่าหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนในการดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น ยังมิได้เร่งดำเนินการตามที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ให้คำแนะนำไว้ จากการติดตามหน่วยงานที่การรถไฟฯ และกรมที่ดิน ตามที่ปรากฏในเอกสารแนบมาด้วย(สิ่งที่ส่งมาด้วย 4.) แล้วนั้น การรถไฟฯซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีภารกิจอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ ( 2)  คำว่า “ที่ดินรถไฟ” หมายความว่าที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย

มาตรา 25 บัญญัติความว่า จำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดินในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังได้ระบุกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ตกมาเป็นของกรมรถไฟแผ่นดินทันทีแต่กรมรถไฟแผ่นดินจะมีสิทธิเข้าปกครองยึดถือทรัพย์นั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทำขวัญแล้ว ตามความที่ท่านบัญญัติไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้

อนึ่งตั้งแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกานี้เป็นต้นไป ถ้าบุคคลใดผู้หนึ่งมีสิทธิในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น จำหน่ายหรือโอนสิทธิในทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นด้วยประการใดๆ บุคคลผู้รับโอนหรือรับช่วงนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทำขวัญเท่านั้น

พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494

มาตรา 6 ให้จัดตั้งการรถไฟขึ้น เรียกว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ( 1 ) รับโอนกิจการของกรมรถไฟจากกรมรถไฟ กระทรวงคมนาคม มาตรา 15 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับสิทธิและหน้าที่ต่างๆ บรรดาที่กฎหมายให้ไว้แก่กรมรถไฟ

นับแต่มีกรณีพิพาทดังกล่าวเป็นต้นมา สร.รฟท. ก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้ช่วยการรถไฟฯ ติดตามเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แต่เสมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวข้างต้น ยังมิได้เร่งรัดดำเนินการเท่าที่ควร

ดังนั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ไม่มีที่พึ่งทางใดในการปกป้องรักษาทรัพย์สินของการรถไฟฯ จึงขอยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อโปรดช่วยติดตามให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 53 ที่ได้บัญญัติไว้(อ้างถึง 2.) ประกอบพันธกิจที่ 5“ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ” ในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชนต่อไป