สร้างนำซ่อม การจัดการอาชีพเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
อาชีวอนามัย คืออะไร?
อาชีวอนามัย คือการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมที่ดีของคนทำงาน โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ปรับปรุงสภาพแวดที่เหมาะสม มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพ รวมถึงการใช้มาตรการกลุ่มในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย พิการ และตายได้ในที่สุด
ทำไมต้องจัดบริการอาชีวอนามัยให้แรงงานนอกระบบ?
การเจ็บป่วยอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงาน คือความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพที่ส่งผลทำให้ช่องว่างของความไม่เป็นธรรมมีระยะห่างมากขึ้น
แรงงานนอกระบบนั้น มีสถานภาพทั้งที่เป็นพลเมือง และเป็นแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานในระบบ จะเห็นว่ามีนโยบาย และระบบการดูแลเรื่องโรคและอันตรายที่เกิดจากการทำงานโดยเฉพาะ แต่แรงงานนอกระบบ กลับไม่ได้รับการดูแลโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นคนทำงานเหมือนกัน และมีสภาพแวดล้อมและวิธีการทำงานที่เสี่ยงมากกว่าแรงงานในระบบหลายเท่า ทั้งที่มีจำนวนถึงกว่า 24 ล้านคน และมีส่วนสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศถึงร้อยละ 48
แต่การดำเนินงานด้านสุขภาพในช่วงที่ผ่านมา จะมุ่งเน้น “การซ่อมนำสร้าง” มากกว่า “การสร้างนำซ่อม” แม้จะมีความพยายามผลักดันเรื่องการจัดบริการอาชีวอนามัยให้เป็นนโยบายหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพของแรงงานนอกระบบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญอย่างเต็มที่นัก ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ
ใคร ทำอะไร และ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. ร่วมกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพี่น้องแรงงานนอกระบบ ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการจัดบริการด้านอาชีวอนามัย มาตั้งแต่ ปี 2550 โดยเน้นการส่งเสริมป้องกันมากกว่าการรักษา
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในระดับพื้นที่พบว่ามีการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องแรงงาน มีการทำงานใน 4 รูปแบบ คือ
1) แรงงานนำกระบวนการจัดบริการอาชีวอนามัย โดยการประเมินความเสี่ยงและปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน พื้นที่ต้นแบบกลุ่มตัดเย็บ เขตลาดกระบัง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร กลุ่มกระเทียม จ.เชียงราย กลุ่มอาชีพตุ๊กตา จ. ราชบุรี
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นฝ่ายหนุนเสริมและกระตุ้นให้เกิดการจัดบริการอาชีวอนามัย พื้นที่ต้นแบบ อบต. โนนทัน จ. ขอนแก่น เทศบาลตำบลท่าสาย จ. เชียงราย
3) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดเก็บข้อมูลสถานการณ์ความเสี่ยง โรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินงานจัดบริการเชิงรุก พื้นที่ต้นแบบ รพ.สต.ไร่รถ รพ.สต. หนองสาหร่าย จ. สุพรรณบุรี รพ.สต. ประตูป่า จ. ลำพูน
และ 4) รูปแบบที่ 3 ฝ่ายร่วมกันจัดบริการอาชีวอนามัยอย่างกลมกลืน พื้นที่ต้นแบบ เทศบาลตำบลลำน้ำพอง จ. ขอนแก่น อบต. บ้านกลาง จ. ลำพูน ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องแรงงานได้เข้าถึงสิทธิและการบริการสุขภาพจากหน่วยบริการในพื้นที่ และสามารถป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยงเบื้องต้นร่วมกัน อีกทั้งมีการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครอาชีวอนามัยเพื่อเป็นกลไกการเฝ้าระวังสุขภาพพี่น้องแรงงานทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม
ในระดับนโยบาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพคนวัยทำงาน จึงได้พัฒนาแผนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับแรงงานทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกันตน กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มแรงงานนอกระบบ และ ได้รับนำร่องพัฒนาการจัดบริการอาชีวอนามัยสำหรับแรงงานนอกระบบ ใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดลำพูน โดยขยายการดำเนินงานจากพื้นที่นำร่อง ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดบริการอาชีวอนามัยทั้งระบบตามแนวปฏิบัติปกติที่ใช้กับระบบการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินความเสี่ยง เช่น JSA Body Mapping นบ. 01 WISE WISH WIND คู่มือการ ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หลักสูตรการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครอาชีวอนามัยชุมชน ระบบฐานข้อมูลอาชีวอนามัยที่เชื่อมต่อกับระบบงานปกติ เป็นเครื่องมือให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อปท. หน่วยบริการ และแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาอาสาสมัคร เฉพาะด้านอาชีวอนามัยชุมชน (อสอช.) ต้นแบบ เช่น นางสาวอรุณี ดวงพรม นางวันเพ็ญ จำปาจีน เพื่อเป็นกลไกการเฝ้าระวังสุขภาพของแรงงานนอกระบบในพื้นที่ และการพัฒนานวัตกรรมชุมชนเพื่อลดความเสี่ยง เช่น เครื่องตัดไฟ ที่ยอดเมล็ดข้าวโพด เครื่องดูดฝุ่นไม้ กี่ทอเสื่อ โดยหวังว่าทั้ง 3 ฝ่ายจะช่วยกันจัดบริการอาชีวอนามัย ได้สอดคล้องกับบริบทความเป็นแรงงานนอกระบบ และนำไปสู่การเข้าถึงบริการสุขภาพทั่วหน้าอย่างแท้จริง
เรามีเครื่องมือ ต้นแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยทั้งในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ ที่สามารถเป็นแนวทางในการทำงาน แต่จะทำอย่างไรจึงจะยกระดับการจัดบริการอาชีวอนามัย เพื่อการสร้างนำซ่อมให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
ความสำเร็จนี้เกิดจาก สสส. สปสช. กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากพี่น้องแรงงาน
นักสื่อสารแรงงานรายงาน