วิพากษ์มาตรการรัฐห่วย แรงงานสุดทนต้องช่วยเหลือกัน (เอง)

 แรงงานในระบบ นอกระบบ ภาคบริการ ถึงแรงงานข้ามชาติ ร่วมวงออนไลน์ เรื่อง Covid-19 กับความสมานฉันท์ของคนงาน : เมื่อมาตรการรัฐห่วย เราจะช่วยเหลือกัน (เอง) อย่างไร สะท้อนกระทบหนัก ไม่ขอรอรัฐกลัวอดตาย ต้องระดมช่วยเหลือกันเอง 

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) จัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง Covid19 กับความสมานฉันท์ของคนงาน : เมื่อมาตรการรัฐห่วย เราจะช่วยเหลือกัน (เอง) อย่างไร วันที่ 30 เมษายน 2563 เวลา 10.00-12.00 น. ดำเนินรายการโดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และสุธิลา ลืนคำ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าน่าจะมีแรงงานตกงานมากถึง 7.13 ล้านคน (18.5%) จากแรงงานในระบบประกันสังคมทั้งหมด 38 ล้านคน ยังไม่นับแรงงานนอกระบบ มาตรการต่างๆ ของรัฐที่ออกมา เช่น โครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือหลักจากฟากฝั่งรัฐบาลก็เปรียบเหมือนตะแกรงตาห่างที่กรองเอาผู้เดือดร้อนจำนวนมากหลุดออกไปจากซี่ตะแกรง บทบาทของสำนักงานประกันสังคมในการช่วยเหลือผู้ประกันตนก็ยังไม่ชัดเจน ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากผู้ประกอบการเอกชนก็ยังมีลักษณะตามแต่นายจ้างคนใดจะสมัครใจให้ ซ้ำยังพบกรณีนายจ้างหลายรายฉวยโอกาสจากโรคระบาดประกาศหยุดงานและเลิกจ้างพนักงานอีกหลายร้อยชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานภาคบริการที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ เหล่านี้เป็นกลุ่มแรงงานที่มีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เมื่อมีวิกฤตโควิด-19 แรงงานเหล่านี้ต้องเลือกระหว่างการสูญเสียรายได้แต่ตัวเองปลอดภัย หรือเสี่ยงที่จะออกไปทำงานเพราะไม่มีรายได้และเงินเก็บ เรายิ่งมองเห็นปัญหาที่สำคัญว่าแรงงานเหล่านี้ขาดความมั่นคงทางอาชีพและไม่มีตาข่ายทางสังคม (safety net) รองรับในยามวิกฤต ทั้งที่แรงงานเหล่านี้เป็นผู้ที่มีส่วนอย่างมากในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ในภาพรวม แรงงานเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ตัวเองร่วมสร้าง เพราะโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวแรงงานอย่างเต็มที่

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจึงได้ชักชวนเครือข่ายองค์กรด้านแรงงานและผู้ประกอบการท้องถิ่นมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกของปัญหาในเสวนาออนไลน์ เรื่อง Covid-19 กับความสมานฉันท์ของคนงาน: เมื่อมาตรการรัฐห่วย เราจะช่วยเหลือกัน (เอง) อย่างไร’ โดยในระยะสั้น หลายกลุ่มก็ได้สะท้อนข้อเรียกร้องพื้นฐานที่ต้องการให้รัฐและผู้ประกอบการร่วมเข้ามาแก้ไข เช่น การพักชำระหนี้ค่าน้ำ-ไฟ การเพิ่มมาตรการเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มและทันท่วงที ฯลฯ ส่วนในระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียกร้องให้รัฐพัฒนาระบบประกันสังคมที่รอบด้าน ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ ไปจนถึงส่งเสริมเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้คนงานสามารถใช้สิทธิที่พึงมีในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง

นอกจากนี้ การช่วยเหลือกันเองก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยผ่านกลไกที่สำคัญอย่าง ‘การรวมกลุ่ม’ ซึ่งไม่ได้เป็นกลไกที่เพิ่มอำนาจของคนงานในสถานประกอบการเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกที่ช่วยคุ้มครองทางสังคม ความเป็นอยู่ และเปิดโอกาสให้แรงงานมีโอกาสพัฒนาศักยภาพและเติบโตในด้านอาชีพต่อไปด้วย

สถานการณ์ปัญหาในแต่ละพื้นที่

เมื่อถูกหยุดงานก็ขาดรายได้ รัฐไม่เหลียวแลพนักงานบริการ

– ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ มูลนิธิ Empower

ทำงานเกี่ยวกับประเด็นพนักงานบริการหญิงที่ในสถานบันเทิง ซึ่งถูกปิดชั่วคราวตามคำสั่งรัฐ โดยรวมตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ลูกค้าก็เริ่มลดลง เศรษฐกิจเริ่มแย่ เมื่อมีคำสั่งรัฐให้ปิดสถานบริการก็ทำให้พนักงานส่วนมากขาดรายได้ จะมีรับงานอิสระบ้างในกรณีที่มีลูกค้าประจำหรือเพื่อนมาหาในพื้นที่เชียงใหม่

ปัญหาที่พบคือ พนักงานบริการไม่มีรายได้มานานกว่า 1 เดือนครึ่งแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าห้องพัก (แม้จะมีบางหอพักลดราคาให้บ้าง) ค่าน้ำ หรือค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลบอกว่าจะลดให้ แต่เอาเข้าจริงแล้วค่าน้ำ-ไฟในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านกลับเพิ่มขึ้นมาทวีคูณ

ปัญหาต่อมาคือ พนักงานหญิงในสถานบันเทิงเข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐบาล “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” มีพนักงานฯ ที่เข้าถึงระบบเพียง 60% จากการสำรวจพบว่าในบรรดาผู้มีสิทธิรับการเยียวยาตามโครงการรัฐดังกล่าวประมาณจำนวน 100 กว่าคน ได้รับสิทธิเพียง 5 คนเท่านั้น ปัจจุบันนี้พนักงานบริการอยู่ในภาวะเครียดและกดดันที่รัฐบาลไม่มีการประกาศวันสิ้นสุดคำสั่งปิดสถานบันเทิงให้ชัดเจน ที่สำคัญคือแม้รัฐจะแสดงท่าทียอมรับพนักงานบริการด้วยการกำหนดอาชีพ ‘พนักงานบริการในสถานบันเทิง’ ไว้เป็นตัวเลือกหนึ่งในอาชีพบนระบบลงทะเบียนรับการเยียวยา แต่รัฐยังแบ่งกลุ่มธุรกิจบริการออกเป็นประเภทตามสีต่างๆ ได้แก่ สีเขียว สีขาว สีแดง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับพนักงานบริการเลย รังแต่จะสร้างความตระหนกและตีตราพนักงานบริการ

นายจ้างฉวยช่องว่างทางกฎหมายซ้ำเติมแรงงานข้ามชาติ

– สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิ MAP Foundation

ทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบของโรคที่มีต่อคนงานข้ามชาติ พบว่าเมื่อรัฐมีคำสั่งปิดกิจการบางประเภทก็ทำให้คนงานข้ามชาติตกงานทันที โดยเฉพาะคนที่ทำงานร้านอาหารหรือคนทำงานในโรงแรมและกิจการต่อเนื่อง เช่น พนักงานซักรีดและทำความสะอาด นอกจากนี้คนงานยังใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากผลกระทบที่ขยายวงกว้างออกไป และยังไม่แน่ชัดว่าเมื่อรัฐยอมมีคำสั่งเปิดกิจการเหมือนเดิมแล้วคนงานเหล่านี้จะยังสามารถกลับมาทำงานในสถานประกอบการเดิมได้หรือไม่

ผลกระทบส่วนที่สอง คือ แรงงานข้ามชาติบางส่วนที่ยังมีงานทำก็มีรายได้ลดลง เนื่องจากนายจ้างใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานสั่งปิดงานบางส่วนชั่วคราว และจ่ายค่าจ้างเพียง 75% ของค่าจ้างเดิม ประกอบกับมีการประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลาออกจากเคหสถาน ก็ทำให้คนงานไม่สามารถทำงานล่วงเวลาซึ่งเป็นที่มาหลักของรายรับได้

ผลกระทบส่วนที่สาม คือ นายจ้างบางแห่งให้คนงานหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างด้วยหลักการ ‘no work, no pay’ (ไม่ทำงานก็ไม่ได้เงิน) หรือลดเวลาการทำงานเหลือสัปดาห์ละ 2-3 วัน นายจ้างบางแห่งอาจเปลี่ยนวิธีการทำงาน เช่น ให้คนงานเอาวัตถุดิบไปทำงานที่บ้านโดยคิดค่าจ้างเป็นรายชิ้น ทำให้ค่าจ้างลดลง ทั้งนี้ในสภาวะปกติ คนงานข้ามชาติในพื้นที่แม่สอดก็ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว เมื่อถูกปรับการทำงานเป็นรายชิ้นก็ยิ่งได้ค่าจ้างลดลง บางคนเหลือเพียงวันละไม่กี่สิบบาท จากเดิมที่ทำได้ 100-200 บาทต่อวัน

ผลกระทบประเด็นที่สี่ คือ ในบางกิจการอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาด แต่นายจ้างอ้างภาวะ Covid-19 เลิกจ้างคนงานทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่อ้างว่าเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว เพราะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดมีการจ้างงานแรงงานชายแดนตามมาตรา 64 พ.ร.ก.การบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อนุญาตให้แรงงานพม่าเข้ามาทำงานระยะสั้นๆ 3 เดือน โดยจะพบว่าที่ผ่านมานายจ้างอ้างการมีใบอนุญาตทำงานระยะสั้นเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยครั้ง

หลายอุตสาหกรรมอาจปลดคนงานออกในไม่ช้า

– ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

กลุ่มสหภาพฯ ทำงานร่วมกับสมาชิกจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหาร เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์ความปลอดภัย เซรามิคฯลฯ พบว่าสหภาพแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องแก่นายจ้าง แต่นายจ้างกลับแสดงอาการไม่พอใจอย่างรุนแรง ทั้งที่โรงงานยังสามารถผลิตอุปกรณ์จำหน่ายได้ตามปกติ ซ้ำยังมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโรค Covid-19

สิ่งที่กลุ่มสหภาพฯ กังวลที่สุดคือ มีแนวโน้มว่านายจ้างหลายแห่งเริ่มเจรจากับสหภาพฯ ขอจ่ายค่าจ้างเพียง 62% จากเหตุสุดวิสัย Covid-19 ทั้งที่ปกติเงินที่ลูกจ้างได้รับก็ไม่พอยังชีพอยู่แล้ว รายได้ส่วนหนึ่งที่เคยได้รับจากการทำงานล่วงเวลาก็ลดลง ส่วนภาระค่าใช้จ่ายยังคงเดิม เช่น ค่าอาหาร ค่าผ่อนชำระหนี้สิน ค่าเทอมบุตรหลาน

การระบาดของ Covid-19 ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำก่อนหน้านี้ทำให้แรงงานหลายคนถูกเลิกจ้าง เช่น แรงงานจ้างเหมา (subcontract) หรือแรงงานข้ามชาติ หลายสถานประกอบการก็เริ่มแสดงท่าทีว่าอาจมีการปลดคนงานบางส่วนออกในอนาคต โดยมาปรึกษากับสหภาพฯ ว่าควรปลดคนกลุ่มใดออกก่อน แต่สหภาพฯ ก็ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นเนื่องจากผิดหลักการ

นโยบายรัฐที่ประกาศออกมาอย่างคลุมเครือก็เป็นอีกปัญหา พบว่า บางโรงงานยังคงให้คนงานเข้างานกะดึก ทำให้คนงานที่เลิกงานแล้วไม่สามารถกลับบ้านได้จนกว่า 04:00 น. ตามประกาศเคอร์ฟิว

ไม่มีเงินซื้อข้าว ใครเขาจะมาซื้อผ้า   

– กชพร กลักทองคำ โรงงานสมานฉันท์

โรงงานสมานฉันท์ หรือ Dignity Returns เป็นกลุ่มอดีตคนงานจากบริษัทเบดแอนด์บาธที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยเมื่อปี 2554 จนได้ไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่กระทรวงแรงงานจนสำเร็จ จากนั้นได้รวมกลุ่มกันตั้งโรงงานเย็บผ้าขนาดเล็กเป็นของตัวเอง บริหารกันเองโดยไม่มีนายจ้าง

ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมตัดเย็บและสิ่งทอมีแนวโน้มไม่ดีนักอยู่แล้ว เมื่อมีการระบาดของ Covid-19 ก็ทำให้หลายโรงงานปิดตัวลง ส่วนโรงงานสมานฉันท์ไม่สามารถผลิตงานต่อได้เนื่องจากในตอนนี้สายพานวัตถุดิบหยุดชะงัก ซ้ำยังไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาใหม่ ทำให้ต้นเดือนเมษายนมีรายได้ลดลงถึง 80% ปัจจุบันไม่มีรายได้เลย แต่ยังต้องจ่ายค่าน้ำ-ไฟตามปกติ

แรงงานบนแพลตฟอร์มทำงานบนความเสี่ยง แต่ไม่ทำก็ไม่ได้เงิน     

– ชนฐิตา ไกรศรีกุล สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ในสภาวะปกติ แรงงานบนแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร หรือแม่บ้านที่รับงานผ่านแอปพลิเคชัน ก็ทำงานโดยไม่มีหลักประกันอาชีพอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ได้รับสถานะเป็นพนักงานประจำของบริษัทแพลตฟอร์มนั้นๆ ความอิสระในอาชีพจึงแลกมาด้วยการไม่มีสวัสดิการหรือการประกันรายได้รองรับ เพราะได้เงินเป็นรายชิ้นไป หากวันใดไม่ทำก็ไม่ได้เงิน

ในสภาวะ Covid-19 แรงงานบนแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถใช้สิทธิลาโดยได้รับค่าจ้างจึงเสมือนถูกบังคับให้เลือกระหว่างการเสี่ยงติดเชื้อออกไปทำงานเพื่อปากท้องกับการหยุดอยู่บ้านให้ตนเองปลอดภัยแต่ขาดรายได้ แรงงานบางกลุ่มมีงานเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร ในขณะที่อีกกลุ่ม เช่น แม่บ้านทำความสะอาด มีงานน้อยลงหรือไม่มีงานเลย มีทั้งที่บริษัทแพลตฟอร์มอาจเสนออุปกรณ์ป้องกันโรคให้เล็กน้อยในระหว่างทำงาน เช่น เจลแอลกอฮอล์หรือหน้ากากอนามัย หรือแรงงานต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง

ช่วงที่ 1 โรคระบาด-รัฐ-ทุน: หน้าที่ของรัฐและแนวปฏิบัติของนายจ้าง

หน่วยงานรัฐที่อาศัยเม็ดเงินจากสถานบันเทิงต้องรีบช่วยเหลือพนักงานบริการ

– ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ มูลนิธิ Empower

สมัยที่ยังไม่มีการระบาดของ Covid-19 หน่วยงานรัฐหลายแห่งพยายามเข้ามาควบคุมพนักงานบริการ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่อาศัยเม็ดเงินจากธุรกิจสถานบันเทิง เช่น  กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงเสนอให้หน่วยงานรัฐดังกล่าวเข้ามาดูแลพนักงานในยามเดือดร้อนบ้าง ต้องการให้รัฐทำงานเชิงรุก เช่น สำรวจรายชื่อพนักงานที่ตกหล่นหรือถูกระบบคัดกรองของโครงการเราไม่ทิ้งกันคัดทิ้งไป และให้พนักงานที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือลงชื่อเพื่อรับสิทธิอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้เสนอว่า ด้วยความที่พนักงานบริการในสถานบันเทิงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกสั่งปิดกิจการ และคาดว่าจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการตามเดิม จึงเสนอให้กลุ่มกระทรวงข้างต้นตั้งกองทุนช่วยเหลือพนักงานบริการระยะสั้น 3-6 เดือน เพื่อให้พนักงานนำไปตั้งธุรกิจเล็กๆ หรือฝึกอาชีพใหม่

อย่าปล่อยให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นผู้ตกสำรวจในรายชื่อผู้รอรับการเยียวยา

– สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิ MAP Foundation

ที่ผ่านมานโยบายรัฐและมาตรการเยียวยาต่างๆ มุ่งเน้นไปที่คนไทย ในขณะที่คนงานชาติพันธุ์หรือข้ามชาติเป็นผู้ตกสำรวจ ทั้งที่เป็นคนสร้างงาน-สร้างคุณค่าให้ประเทศไทยได้ไม่แพ้แรงงานไทย

แรงงานข้ามชาติบางส่วนที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 อาจมีสิทธิได้รับเงินเยียวยากรณีว่างงานจากประกันสังคม แต่ก็ติดอุปสรรคที่การขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิต้องทำเป็นภาษาไทย หรือเมื่อไปยื่นเอกสารก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดรับเรื่อง มูลนิธิ MAP จึงประสานกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่แม่สอดเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้างหรือถูกเลิกจ้าง ก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ดี แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องภาษาของแบบฟอร์มอยู่ จึงเสนอให้รัฐสื่อสารกับลูกจ้างด้วยภาษาของลูกจ้าง เช่น ภาษาพม่า ภาษาไทใหญ่

ข้อเรียกร้อง 5 ประการจากกลุ่มสหภาพฯ ถึงรัฐบาล

– ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มสหภาพฯ เข้าพบกับหัวหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เพื่อพูดคุยถึงมาตรการรับมือและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน พบว่ากระทรวงแรงงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีการวางมาตรการใดไว้เลย เน้นเพียงให้คนงานอย่าตระหนก ให้ดูแลตัวเองและช่วยเหลือกันเองเท่านั้น ส่วนมาตรการที่รัฐวางไว้ให้นายจ้างต้องดูแลแรงงานก็ไม่แน่ชัด เพียงแต่ให้แต่ละสถานประกอบการดูแลแรงงานในสังกัดเอาเอง

กลุ่มสหภาพฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ ร่วมกับ 11 องค์กรด้านแรงงาน เพื่อเสนอให้รัฐบาลปรับมาตรการเยียวยาแรงงานจากสถานการณ์วิกฤต Covid-19 จำนวน 5 ข้อ ดังนี้

          ข้อ 1 ขยายการช่วยเหลือเยียวยาจากเดิมให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานนอกระบบประกันสังคม แรงงานภาคเกษตรกร ซึ่งเป็นงานที่จ้างตัวเอง (จำนวน 20 ล้านคน x 15,000 บาท/คน รวมงบประมาณ 3 แสนล้านบาท) และแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีประกันสังคม
          ข้อ 2 หยุดพักการชำระหนี้ เช่น บ้าน รถ โดยงดจ่ายทั้งต้นทั้งดอกอัตโนมัติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน
          ข้อ 3 ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่ารถเมล์ 50% เป็นเวลา 6 เดือน
          ข้อ 4 สำหรับผู้ประกันตน ม.33 กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นเหตุอื่น ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างนั้น ให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ลูกจ้างอีก 25%
          ข้อ 5 ยกเลิกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 หากนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือถูกทางราชการสั่งปิดด้วยเหตุแห่งโรคระบาด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินแก่ลูกจ้างครบ 100%

รัฐต้องกระจายงานให้แรงงานนอกระบบด้วยค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
– กชพร กลักทองคำ โรงงานสมานฉันท์

มาตรการของรัฐที่บีบให้คนอยู่ในบ้าน แลกกับเงินเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกันเป็นการจัดการโรคที่ล้มเหลว ระบบคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้คนไม่มีกินหรือเดือดร้อนจนอยู่ในภาวะบีบคั้น ต้องออกมาเรียกร้องด้วยวิธีรุนแรง เช่น การฆ่าตัวตายประท้วง รัฐจึงจะเข้ามาดูแล ส่วนมาตรการที่ประกันสังคมออกมาลดการจ่ายเบี้ยประกันสังคมก็ไม่มีผล เพราะคนไม่มีรายได้แม้แต่จะกินข้าว ไม่รู้จะจ่ายเบี้ยประกันได้อย่างไร

โรงงานสมานฉันท์จึงสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เพื่อให้รัฐช่วยเหลือแรงงานในระบบให้ดีขึ้น เพื่อให้มีรายได้มาบริโภคสินค้าของโรงงานสมานฉันท์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่รับงานมาทำที่บ้านอีกทีหนึ่ง โดยเสนอ 4 ข้อ ดังนี้

  1. รัฐต้องมีการจ้างงานกลุ่มผู้รับงานมาทำที่บ้านในราคาที่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐมีงานอีกมากที่คนงานโดยทั่วไปเข้าไม่ถึง ไม่สามารถประมูลมาทำได้ และที่ผ่านมางานของรัฐกดราคามาก
  2. รัฐควรพักการเก็บเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 33 ,39 และ 40 โดยให้คงสิทธิต่างๆ ไว้ตามเดิม
  3. พักชำระหนี้ 6 เดือน
  4. รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย โดยให้งดจ่ายเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ 6 เดือน

โครงสร้างพื้นฐานที่ดีคือประตูสู่อาชีพใหม่

– ศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มสาธารณะ และผู้ประกอบการเดลิเวอรีอาหาร Locall

Locall เป็นเดลิเวอรีท้องถิ่นในกรุงเทพเพื่อแก้ปัญหาร้านอาหารขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบเดลิเวอรีเจ้าใหญ่ เช่น แกรบฟูด ฟูดแพนดา ที่จะช่วยส่งอาหารให้ในช่วงที่รัฐมีมาตรการปิดเมือง (lockdown) โดยเก็บค่าธรรมเนียมการส่งอาหารน้อยกว่าเดลิเวอรีเจ้าใหญ่ และใช้ระบบสื่อสารกันผ่าน Line แทน

Locall เห็นปัญหาว่าที่ผ่านมารัฐไม่ได้จัดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีไว้ให้ประชาชน เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต จึงเสนอให้รัฐต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการวางระบบออนไลน์ให้ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้การเข้าไม่ถึงระบบออนไลน์กลายเป็นการกีดกันร้านอาหาร และมองว่าหากรัฐสามารถสนับสนุนได้ก็จะมีอีกหลายชุมชนที่พร้อมทำระบบเดลิเวอรีกันเองเหมือนอย่าง Locall ก็จะเป็นการส่งเสริมธุรกิจ SME และกระจายอาชีพ-รายได้ไปในตัว

ช่วงที่ 2 เมื่อรัฐห่วย เราจะทำอย่างไร: จินตนาการระบบเศรษฐกิจสมานฉันท์ที่เป็นธรรม

ภาพรวมการหยิบยื่นน้ำใจในยุค Covid19

– ชนฐิตา ไกรศรีกุล สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ในขณะที่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลมาถึงอย่างไม่ทั่วถึง ส่วนนโยบายของเอกชน เช่น นโยบายพักชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์ หรือนโยบายช่วยเหลือลูกจ้างของสถานประกอบการต่างๆ ก็มีมาไม่สม่ำเสมอ หรือเป็นการช่วยเหลือที่แรงงานไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ก็มีความพยายามในการ ‘พยุงชีวิต’ เพื่อนร่วมสังคม-ชุมชนผุดขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการช่วยเหลือระยะสั้นผ่านการแจกจ่ายอาหารและเงินสดตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ การเปิดศูนย์รับร้องทุกข์กันเอง หรือการช่วยเหลือกันบนแนวคิดความมั่นคงทางอาหารอย่างโครงการ ‘ข้าวแลกปลา’ ที่ชาวปกาเกอะญอภาคเหนือนำข้าวและชาวเลราไวย์นำปลาแห้งที่ผลิตได้ในชุมชนมาแลกกันรับประทาน ทั้งหมดนี้เป็นความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนที่จะต่อชีวิตกันโดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐ

รัฐอาจทิ้งเรา แต่เราไม่ทิ้งกัน พนักงานบริการจะแบ่งปันข้าวของแก่กันฉันมิตร

– ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ มูลนิธิ Empower

แม้จะเกิดวิกฤตก็ยังเห็นน้ำใจของพนักงานบริการที่มีการช่วยเหลือกันเองแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เช่น เวลาได้รับเงินสนับสนุน ถุงยังชีพ หรือข้าวสารอาหารแห้ง ผ้าอนามัย ฯลฯ ก็จะนำมาแบ่งปันกันให้อยู่รอดไปได้ระยะหนึ่ง รัฐอาจทิ้งเรา แต่เราไม่ทิ้งกัน ต้องช่วยเหลือกันเพื่อเราสามารถทำงานต่อได้

ขณะนี้มูลนิธิฯ กำลังออกแบบกิจกรรมสร้างรายได้แก่พนักงานบริการ เช่น รวมกลุ่มกันรับจ้างหิ้วของ (ซื้อและส่งของให้ถึงบ้าน) หรือทำอาหารขายทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ เป็นเครือข่ายเพื่อช่วยกันเรียกร้องต่อรัฐ

ถึงเวลารับรองอนุสัญญาส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงานทุกเชื้อชาติ

– สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิ MAP Foundation

ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ช่วยเหลือประสานงานกับหน่วยงานรัฐให้เข้ามาคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง และช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับแรงงานข้ามชาติผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก วิทยุ เป็นภาษาแม่ที่แรงงานสามารถเข้าใจได้เอง

เพื่อจะให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเองได้ รัฐต้องเปิดกว้างและสนับสนุนให้แรงงานทุกกลุ่มมีสิทธิรวมตัวกัน ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องทบทวนเรื่องการรับรองอนุสัญญาต่างๆ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่ม เช่น อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87, 98 รวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติรวมกลุ่มกันต่อรองให้มีสภาพการทำงานที่ดี มีความปลอดภัย มีสวัสดิการที่ดี และสามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับ

ในระยะยาวต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรียกร้องรัฐสวัสดิการ

– ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง

กลุ่มสหภาพฯ มีการช่วยเหลือกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน แต่ในระยะยาวจำเป็นที่แรงงานทุกกลุ่มจะต้องออกมาเรียกร้องต่อรัฐ โดยทุกคนต้องออกมาเปล่งเสียงว่าอยากให้รัฐออกมาแก้ไขหรือผ่อนปรนอะไร เช่น ให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือออกนโยบายที่ชัดเจนมากกว่านี้ นอกจากนี้จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และขับไล่รัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนให้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามากำหนดอนาคตของประเทศแทน

แรงงานยังต้องรณรงค์เรื่องสิทธิการรวมกลุ่มเป็นสหภาพผ่านการกดดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87, 98 และเรียกร้องให้เกิดรัฐสวัสดิการ เพื่อให้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิมีเสียงในการต่อรองกับนายจ้าง

เศรษฐกิจที่เป็นธรรมเกิดจากระบอบประชาธิปไตย

– กชพร กลักทองคำ กลุ่มโรงงานสมานฉันท์

ที่ผ่านมา โรงงานฯ ทำงานร่วมกับเครือข่ายแรงงานและภาคประชาสังคมหลายแห่ง ช่วงเกิดวิกฤต Covid-19 ก็ยังดีที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน นอกจากนี้โรงงานฯ ก็มีการช่วยเหลือกันเองภายในกลุ่ม เช่น ให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาสัมพันธ์กันเองภายในกลุ่มคนงานรวมถึงพี่น้องแรงงานอื่นๆ ในชุมชน ปัจจุบันโรงงานได้จัดทำอาหารแปรรูป ส่งต่อไปช่วยเหลือพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่ จ.สมุทรสาคร และที่หน้าโรงงานก็มีการเลี้ยงอาหารผู้ขาดรายได้ทุกสัปดาห์

โรงงานฯ มองว่าในระยะยาวรัฐควรเข้ามาสนับสนุนองค์กรหรือกลุ่มทุนขนาดเล็ก ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการช่วยสร้างงานให้กับชุมชน นอกจากนี้การจะสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมต้องไม่จำกัดแค่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย รวมถึงผลักดันประเด็นรัฐสวัสดิการเพื่อส่งเสริมด้านสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนไปพร้อมกัน

ประชาชนในระบบเศรษฐกิจใหม่ต้องการระบบออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย

– ศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มสาธารณะ และผู้ประกอบการเดลิเวอรีอาหาร Locall

ต้องการให้รัฐเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงอาชีพด้วยการพัฒนาระบบออนไลน์ที่สามารถใช้งานได้ง่าย มีราคาไม่แพง เพื่อก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งประชาชนไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพเดิมๆ โดยรัฐต้องเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่ากลุ่มทุนใหญ่

ขอบคุณที่มารูปภาพ

เพจเฟซบุ๊ก MAP Foundation Thailand

เพจเฟซบุ๊ก Locall.bkk

เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

เพจเฟซบุ๊ก Dignity Returns : A Factory of Workers, by workers, for workers

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI)