สรุปอบรมแกนนำเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม

สรุปรายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 เรื่อง “ฝึกอบรมแกนนำเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” วันพฤหัสบดี 22 กุมภาพันธ์ 2561 จัดโดย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยสหภาพแรงงานในประเภทกิจการอะไหล่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กโลหะ ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ก่อสร้างอุปกรณ์  และการขนส่ง ดังนี้

  1. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
  2. สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
  3. สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
  4. เครือข่ายสหภาพแรงงานแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เครื่องเรือน และคนทำไม้แห่งประเทศไทย
  5. กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
  6. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

กล่าวรายงาน และเปิดโดย

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วม ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสนับสนุนการเกิดมี และอยู่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งการมาของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการมาของระบบเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาทดแทนกระบวนการผลิต และภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อโลกจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบ ทั้งภาวะน้ำท่วม ดินถล่ม จึงต้องมีการลดโลกร้อน บทบาทของพิพิธภัณฑ์แรงงานคือต้องการที่จะให้ความรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลก และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเมื่อรู้เท่าทันโลกแล้วก็ต้องนำความรู้นี้ไปให้ความรู้ต่อกับผู้ใช้แรงงานต่อไปเพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงของโลก ในกิจกรรมนี้หวังว่าจะได้ความรู้ และประสบตามเป้าหมายความเป็นผู้นำที่ต้องการนำความรู้ไปสู่พี่น้องแรงงาน และสังคมให้รับรู้ ถือว่าเป็นผู้ค้ำชูขบวนการแรงงานต่อไป

                การนำเสนอ “ประมวลสรุปความรู้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1”  โดย 

นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า การให้ความรู้กับพี่น้องแรงงานเพื่อให้ทราบถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นว้ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้ใช้แรงงาน และเรายังมีสถานะของประชากรโลก และผู้นำแรงงาน ซึ่งผลกระทบกับผู้ใช้แรงงานในอนาคตข้างหน้าที่จะได้รับผลกระทบต่อการงาน เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านในอนาคต การปรับตัวของผู้ใช้แรงงานที่จะได้รับผลกระทบ โดยได้รวบรวมเนื้อหาจากเอกสารวิทยากรเมื่อวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 และในส่วนของงานโครงการศึกษา “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม : การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย” มาสรุปเพื่อสร้างความเข้าใจแบบง่ายๆ เพื่อเป็นคู่มือให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทำความเข้าใจ เรื่องโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน หมายถึง การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบริเวณใกล้ผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 0.74 องศาเซลเซียส และคาดว่าในปี2544-2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส สาเหตุเกิดจากสถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมไปถึงสารเคมีต่างๆ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และซีเอฟซี ทำให้ชั้นโอโซนรั่ว อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ด้วยผิวที่หนาขึ้นจนระบายความร้อนไม่ได้จึงส่งผลทำให้ภาวะโลกร้อนมากขึ้น ภาวะเรือนกระจก คือก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อนได้ดี มีความจำเป็นในการที่จะรักษาอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อก๊าซเหล่านี้มีมากขึ้นอุณหภูมิโลกก็สูงขึ้น เมื่อโลกร้อน  ผลคือฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ฤดูฝนก็น้ำท่วม ฤดูแล้งก็ขาดน้ำจนเป็นภัยแล้ง เป็นต้น

ปัญหาโลกร้อนเกิดหลายปัจจัย ที่ส่งผลรุนแรงในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจากผลกระทบต่อความร้อนที่สูงขึ้นจึงส่งผลต่อแนวคิดในการที่จะควบคุมเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้มีการประชุมและเกิดเป็นข้อตกลงปารีส และต่อมาก็มีการลงพิธีสารเกียวโตที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม โดยประกาศว่าจะมีการลดภาวะโลกร้อนโดยประเทศไทยได้รับข้อตกลงมาว่าจะมีการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 2 องศาเซลเซียส ซึ่งประเทศไทยได้รับได้รับข้อตกลง ร้อยละ 7 เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ซึ่งแค่ร้อยละ 7 ยังทำไม่ได้ และยังมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือประเทศที่มีการทำอุตสาหกรรมเป็นหลัก และประเทศที่กำลังพัฒนา อันดับหนึ่งคือประเทศจีน มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี 6,103,493 เมตริกตัน (21.5%) อันดับที่ 2 คือสหรัฐอเมริกา 5,752,289 เมตริกตัน (20.2%) รองลงมาคือรัสเซีย 5.5% อินเดีย 5.3 % เยอรมันนี 2.8% แคนาดา 1.9 % เกาหลีใต้ 1.7% อิตาลี1.7% สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 25 มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี 272,521 เมตริกตัน เป็นเป็น 0.9% จากข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีการกำหนดว่าให้รักษาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้มีค่าคงที่ และอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนโดยมนุษย์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบภูมิอากาศโลก ซึ่งประเทศไทยได้เห็นพ้องและลงนามในพิธีสารเกียวโต ถือเป็นพันธกิจในการมุ่งหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมอย่างน้อยร้อยละ 5 ในช่วงปี 2551-2555 เป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปฏิบัติตามพันธกิจกรณีในพิธีสารเกียวโตกรณีการใช้คาร์บอนเครดิต โดยได้ดำเนินงานกลไกตามมาตรา 12 ภายใต้พิธิสารเกียวโต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศในกลุ่มบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และช่วยสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อตกลงปารีส เพื่อการกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน และความพยายามในการขจัดความยากจน โดยมั่งมันที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งนโยบายของรัฐบาลไทย ได้แสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ กับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2557 โดยเสนอเป้าหมายที่จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจในภาคพลังงาน และขนส่งร้อยละ 7 – 20ในปี 2563 มาตรการคือ การใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือก การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และการพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืน

กลไกการลดก๊าซเรือนกระจก หมายถึงแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบท กรอบนโยบายหลัก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ประกอบด้วย กลไกการตลาด ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยจะช่วยลดข้อจำกัดการบังคับใช้กฎหมายและนำหลักการซื้อขายทางเศรษฐศาสตร์มาช่วย เช่นการสนับสนุนด้านการเงิน หรือการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลไกด้านการเงินมีทั้งสนับสนุนเป็นเงินกู้ หรือว่าแบบให้เปล่า เป็นการลดภาษี หรือทุนการผลิต ด้านพลังงาน คาร์บอนเครดิต เป็นกลไกการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยอาศัยใบรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก เช่นประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก็จะไปสนับสนุนเงินให้กับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย เพื่อให้ประเทศนั้นๆใช้พลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยก็ไปรับเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย เพื่อรับเงินสนับสนุนจากประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูง ที่เรียกว่าการค้าคาร์บอน  หรือตลาดคาร์บอน เป็นแรงผลักดันสำคัญ สร้างมูลค้าของคาร์บอนที่นำมาชดเชยกันนี้ โดยกำหนดโควตาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กลไกที่ไม่ใช่ระบบตลาด การใช้กลไกภาษีสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคาร์บอนเป็นส่วนประกอบของเชื้อเพลิง เป็นกลไกเชิงมาตรการบังคับกำหนดเป็นกฎหมาย ข้อกำหนดเชื้อเพลิงชีวภาพ กำหนดเรื่องความร้อน การบังคับใช้พลังงานต่อพื้นที่ หรือหน่วยการผลิต ยังมีกลไกด้านสื่อการสอน การถ่ายทอดความรู้ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การจัดทำคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่เป็นตราสัญลักษณ์ ในการที่จะเป็นมาตรฐานทางการค้าว่า เป็นสินค้าที่ผลิตจากพลังสะอาด กำหนดเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตระดับองค์กร เทศบาล เมือง ซึ่งกระบวนการตรวจสอบ และยังอาจถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการค้าก็เป็นได้ การกำหนดนโยบายสีเขียว การจัดซื้อ จัดจ้างสีเขียว 3 R คือการจัดซื้อจัดจ้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการนำผลการศึกษาวิจัยจากโครงการศึกษา “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม : การศึกษาเบื้องต้นถึง ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย” โดยมูลนิธิมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และรศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ และ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอเมื่อตุลาคม 2560  ซึ่งได้สรุปว่า ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต ทั้งภาคการเกษตร ป่าไม้ พลังงาน ขนส่ง และก่อสร้าง ซึ่งภาคเศรษฐกิจนี้มีสัดส่วนการจ้างงานในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำลังแรงงานโดยการลดพลังงานฟอสซิล จะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอย่างรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วน เป็นต้น ปัญหาที่โรคจากความร้อนส่งผลต่อผู้คนด้านสุขภาพ และผลิตภาพของแรงงานมากขึ้น อากาศที่ร้อนจัดทำให้การระบาดของโรคมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โรคระบาดวิทยา เชื้อโรคต่างๆที่เคยหายไปก็กลับมาและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รักษายากขึ้น ปัญหาสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคร้อนที่ป่วยยาวนานมากขึ้น ปัญหาการทำงานกลางแจ้งความร้อนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง ร่างกายเหนื่อยล้าง่ายขึ้น มีภาวะความเครียด โรคจากความสภาวะอากาศที่ร้อนจนไม่สามารถทำงานในพื้นที่โล่งแจ้ง หรืออาคารที่ร้อนได้ โดยภายใน 30 ปี ประเทศไทยจะสูญเลียผลิตภาพของแรงงานไป

การเคลื่อนย้ายแรงงาน จากภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมสภาพอากาศที่แปรปรวนที่ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ส่งผลต่ออาชีพของเกษตรกร ด้วยเมื่อปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้

เรื่องของโอกาสและความท้าทายของแรงงานภายใต้นโยบาย การจ้างงาน ผลจากการจ้างงานมีทั้งบวกและลบ อุตสาหกรรมคาร์บอน จะขยายตัวในขณะเกิดการจ้างงานใหม่ จากอุตสาหกรรมใหม่ การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด เป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่เช่นกัน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนระบบการจ้างงาน  ส่งผลให้งานแบบเก่า ที่เกี่ยวกับพลังงานฟอสซิลหมดไป ซึ่งขบวนการแรงงานอาจต้องมีการแรกเปลี่ยนกันว่า ที่ไหนเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี หรือการจ้างงานแบบใหม่ๆหรือยัง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัวของแรงงานกันทั้งด้านทักษะการทำงานที่ต้องเปลี่ยนไป เพื่อสร้างความพร้อม แนวนโยบายในการที่จะเยียวยาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการที่รัฐหนุนในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ แต่มีผู้ใช้แรงงานที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเลิกจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายหรือการพัฒนาฝีมืออย่างที่รัฐทำอยู่ปัจจุบัน แบบให้ทำดอกไม้ขาย แต่ว่าต้องมีการอบรมพัฒนาทักษะฝีมือที่สูงขึ้น เพื่อการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นต้น

หลังจากมีการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานจากน้ำ และพลังงานจากของเสีย เกิดการจ้างงานบางประเภทแทนที่ เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการใช้สินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการใช้สินค้า หรือการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่ใช้ระบบราง แทนการใช้รถบรรทุก การผลิตที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่การผลิตระบบยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งงานที่จะหมดไปเป็นประเภทงานที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เป็นการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น เหมืองขนาดใหญ่ การเผาถ่านหิน งานที่จะถูกปรับเปลี่ยนสู่ระบบเศรษฐกิจ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้มีการเริ่มปรับตัวที่จะเข้าสู่รถไฟฟ้า การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือนที่ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อกันความร้อน ประหยัดพลังงานด้วย การส่งเสริมให้มีการปลูกพืชที่เหมาะสมกับภูมิอากาศ มีการปรับทักษะใหม่ๆให้กับผู้คนต้องมีการเรียนรู้ พัฒนาและเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

แนวนโยบาย และวิธีปฏิบัติด้านแรงงาน เพื่อความสำเร็จของนโยบายลดโลกร้อน ได้มีผลการศึกษา เสนอนโยบายการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าจะสร้างงาน หรือว่ามีการจ้างงานที่ลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายตลาดแรงงาน การส่งเสริมด้านทักษะที่จะลองรับการปรับเปลี่ยนงาน หรือว่ามาตรการที่จะเยียวยาผลกระทบต่อผู้เสียผลประโยชน์ที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยนโยบายที่ถูกเสนอไว้เป็นแนวทางคือ นโยบายตลาดแรงงาน

เชิงรับ คือ การให้เงินชดเชยในช่วงที่ว่างงานหรือกำลังหางานใหม่

เชิงรุก คือ การฝึกอาชีพให้แก่คนงานที่ตกงาน การอุดหนุนเอกชนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน โครงการจ้างงานของภาครัฐ โครงการสร้างผู้ประกอบการด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้แล ให้สินเชื่อ รวมถึงการช่วยเหลือในการหางาน ออกแบบหลักสูตรและการฝึกงานให้สอดคล้อง

ทั้งการอบรมพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อไม่ให้ตลาดแรงงานขาดแคลน ครอบคลุมแรงงานใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน และแรงงานเก่าที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้ว การคุ้มครองแรงงานและความมั่นคงทางสังคม ก็ต้องครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบซึ่งมีจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบในมาตรการการถ่ายโอนจากผู้ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจสีเขียวเป็นการชดเชยผู้เสียผลประโยชน์ ซึ่งต้องมีการปรึกษาหารือ และการเจรจาทางสังคม โดยใช้เรื่องแรงงานสัมพันธ์เข้ามามีบทบาทในการกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งต้องไม่ลดการจ้างงาน หรือว่าควรมีระบบสวัสดิการทางสังคมมารองรับการเปลี่ยนผ่าน

นโยบายและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อแรงงาน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีแผนงาน หรือนโยบายด้านแรงงานสีเขียวเป็นการเฉพาะ คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีหัวข้อเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และสร้างสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน แต่ก็ไม่มีรายละเอียดของนโยบายที่เชื่อมกับแรงงานแต่อย่างใด

สำหรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 มียุทธศาสตร์หนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ไม่ได้มีข้อใดกล่าวถึงแรงงานโดยตรง ซึ่งปล่อยให้การพัฒนาทักษะแรงงานสีเขียวเป็นบทบาทของเอกชนเป็นหลัก เพื่อให้มีการปรับทักษะให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหม่ของบริษัท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น และอุตสาหกรรมทดแทนต่างๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนกระทรวงแรงงานแม้มีมาตรการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยี และสภาพภูมิอากาศ โดยร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ไม่มีนโยบายในการรับมือแรงงานที่ต้องตกงานจากการเปลี่ยนแปลงระบบงานดังกล่าว มีเพียงกลไกกฎหมายประกันสังคมเท่านั้น ซึ่งฝ่ายแรงงานมองว่า การเลิกจ้างจะมีความรุนแรงกว่ากรณีปกติทำให้เงินค่าชดเชยที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ด้วยอาจต้องตกงานยาวนาน หากยังปรับทักษะให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้ และสังคมไทยก็เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วอาจปรับตัวยากขึ้น

Just Transition หรือ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม การขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานในต่างประเทศ ได้มีการผลักดันไว้คือ ภาระการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต้องไม่โยนให้กับคนกลุ่มเดียว นโยบายเพื่อลดภาวะโลกร้อนต้องมีความเป็นธรรมต่อคนงาน นั่นคือ ช่วยสร้างงานที่ดี เป็นงานที่มีคุณค่า และการคุ้มครองทางสังคม โดยยุคแรกที่มีการรณรงค์เรื่อง Just Transition นั้นอยู่สหรัฐอเมริกา เป็นการรณรงค์หลังสงครามโลก เมื่อมีการลดกำลังทหาร ซึ่งทำให้ทหารต้องตกงาน ว่างงาน จากการรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมจึงเกิดกองทุน เพื่อคนงาน ใช้ในการอบรมฝึกอาชีพ และช่วยเรื่องค่าครองชีพด้วย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อกองทุนใหม่เป็นกองทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม หรือ Just Transition Fund และถูกใช้กันกว้างขวาง นำมาช่วยเหลือแรงงานพลัดถิ่นจากนโยบายสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุคแรกช่วงพิธีสารเกียวโตมีการกล่าวถึงสังคมน้อยมาก ด้วยกลัวจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยุคที่สอง สหภาพแรงงานได้เข้าไปมีส่วนร่วม และมีการทำวิจัยพบว่ามีการจ้างงานใหม่ๆที่เป็นงานสีเขียว และยุคที่สามจนถึงปัจจุบันสหภาพแรงงานได้รณรงค์อย่างเข้มแข็งจนได้รับการยอมรับในข้อตกลงปารีส รวมถึงมีการยอมรับแนวปฏิบัติเรื่องนี้ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ในข้อตกลงปารีสกำหนดว่า ขบวนการแรงงานสากลเป็นผู้รณรงค์เรียกร้องจนได้รับการยอมรับ ในข้อความข้อตกลงว่า ต้องคำนึงถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน และการสร้างงานที่มีคุณค่า มีอาชีพที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาซึ่งกำหนดโดยแต่ละประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายในปัจจุบันในการนำไปปฏิบัติจริง โดยองค์กรแรงงานสากลอย่างสมาพันธ์แรงงานสากล (ITUC) ได้รณรงค์เรื่องข้อตกลงปารีส สร้างแนวปฏิบัติให้นำไปใช้ได้จริง และILO ได้กำหนดเรื่องบทบาทไตรภาคียอมรับแนวปฏิบัติดังกล่าว ส่วนสหภาพแรงงานในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก แคนาดา เยอรมัน ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ นำหลักการไปปฏิบัติจริงในประเทศ

โดยแนวปฏิบัติ ข้อเสนอของITUC กำหนดว่าการลงทุนของภาครัฐ เอกชนต้องเน้นที่การสร้างงาน สถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการประเมินล่วงหน้าถึงผลกระทบของนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อมต่อการจ้างงาน วางแผนล่วงหน้า เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวาง มีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพใหม่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ให้การคุ้มครองทางสังคม มีการกำหนดแผนปรับตัวสำหรับผู้ได้รับผลกระทบต้องหลากหลายสำหรับแต่ละพื้นที่ และคุ้มครองเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งตรงนี้หากดูกรณีการออกมาชุมนุมของชาวเทพา สงขลา และกระบี่ ที่ต้องการปกป้องชุมชนของเขาไม่ให้รัฐสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะจะกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชน แม้รัฐบาลไทยจะรับพิธีสารเกียวโต หรือว่าข้อตกลงปารีสแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมที่จะปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นเพราะขบวนการแรงงานไทยยังไม่ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อต่อรองเรื่องการพัฒนาที่ต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่มีข้อเสนอแนะต้อการปิดเหมืองถ่านหินของคนงาน ว่าต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนที่ได้รับผลกระทบ มีการอบรมอาชีพใหม่ หางานใหม่ให้คนงาน ถ้าต้องการ มีระบบบำนาญที่เป็นธรรม และการดูแลสุขภาพแก่คนงานที่ไม่มีงานใหม่ และเลือกที่จะไม่อบรมฝึกอาชีพใหม่ มีการสร้างงานที่ฟื้นฟูพื้นที่ ให้ทุนส่งเสริมการสร้างอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างงานที่ดี และเลี้ยงดูครอบครัวได้มากกว่าการอบรม

กรณีเดนมาร์ก นโยบายเศรษฐกิจ มีนโยบายด้านการเปลี่ยนการผลิตพลังงานจากถ่านหินเป็นพลังงานลม  โดยหากลดพลังงานถ่านหินลงครั้งหนึ่ง เพิ่มพลังงานลมร้อยละ 40 ซึ่งจ้างคนงานได้ 30,000 คน และยังเป็นผู้ผลิตกังหันลมเพื่อการค้ารายใหญ่ของโลก ในกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อปรับโครงสร้าง คนงานมีส่วนร่วม จึงกระตือรือร้นในการสนับสนุนนโยบายนี้

ด้านเยอรมันนี คนงานเหมืองถ่านหิน และเหล็ก การจัดทำนโยบาย โดยการปรึกษาหารือทุกภาคส่วนก่อนที่จะมีการตัดสินใจ ซึ่งกำหนดเป็นนโยบาย 4 ข้อ คือ

1. อุดหนุนค่าจ้างให้แก่การจ้างคนว่างงาน และคนที่เสี่ยงที่จะว่างงาน

2. นโยบายตลาดแรงงาน สนับสนุนการพัฒนาสถานประกอบการ

3. สนับสนุนการจ้างงานพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสวัสดิการ

4. การพัฒนาแบบบูรณาการของพื้นที่เมืองที่เป็นปัญหา ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ สวัสดิการสำหรับผู้เกษียณอายุ สนับสนุนการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยมีแผนคุ้มครองรายได้ สำหรับคนที่อายุน้อย มีแผนพัฒนาบุคลากรให้สามารถปรับตัวเข้ากับงานใหม่ได้ และใช้เวลา 40 ปี ลดจำนวนคนงานจาก 3.9 แสน เหลือ 3.9 หมืนคน

นี่คือมุมมองของขบวนการแรงงานสากล ว่าการต่อรองของขบวนการแรงงาน ที่ต้องมีการมองการต่อรองแบบเป็นระบบ การสร้างสวัสดิการ เป็นการต่อรองทั้งระบบ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการสร้างอำนาจต่อรองที่เป็นเอกภาพ หรือว่า สร้างระบบการทำงานที่เป็นข้อเรียกร้องเชิงระบบ การที่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านทำให้ยังไม่เห็นภาพรวม

การปรับเปลี่ยนเพื่อลดภาวะโลกร้อนในครอบครัว และอุตสาหกรรม ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน ลม พลังงานแสงอาทิตย์ ประชาชนต้องดิ้นในการที่จะเปลี่ยนแปลงกันเอง โดยรัฐไม่ได้ให้ความสนับสนุนเลย ซึ่งเดิมเคยมีแนวคิดรับซื้อหากว่ามีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด คืนต่อการไฟฟ้า แต่ต่อมาก็มาทำให้ไม่มีการส่งกลับ เมื่อกระแสไฟเกิน ทำให้ประชาชนต้องเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่เพื่อจัดเก็บกระแสไฟส่วนเกินไว้เอง ซึ่งส่วนของเอกชนก็ดิ้นรนในการที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังสะอาดเอง ซึ่งภาครัฐในยุโรปจะให้การส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด แต่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายแบบนั้น

เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะทำการรณรงค์ให้ความรู้กับสมาชิกของแต่ละองค์กร ซึ่งส่วนกลางได้เตรียมคู่มือให้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ หรือองค์กรสามารถนำไปใช้ได้ โดยจากนี้ให้ตัวแทนมานำเสนอรูปแบบในการนำเสนอ

                สรุปข้อเสนอ เนื้อหา ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม กฎระเบียบ ใช้จากคู่มือที่ส่วนกลางจัดทำแล้วนำไปย่อยให้เหมาะสมอีกครั้ง เสนอให้แต่ละกลุ่มจัดทำเพาเวอร์พ้อย ส่งเข้าไลน์กลุ่มเพื่อเสนอให้ช่วยกันดู หรือว่าประยุคในการใช้ แต่ละพื้นที่

               รูปแบบกิจกรรม และวิธีการ

1. พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม

2. จัดกระบวนการคุยกลุ่ม(จัดกลุ่มศึกษา) เพื่อระดมข้อมูล

3. มีการแลกเปลี่ยนดูงานในพื้นที่

4. มีแบบประเมินความเข้าใจ