สรุปสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับบูรณาการแรงงาน)

สรุปโดย บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ
 (1)  ขอบเขตการคุ้มครอง
1.1  ขยายคุ้มครองถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของราชการรวมถึงลูกจ้างผู้รับงานมาทำที่บ้านและลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย  
1.2 ห้ามมิให้ส่วนราชการใดออกกฎหมายเพื่อยกเลิกการใช้บังคับแก่กิจการและลูกจ้างที่กฎหมายนี้ใช้บังคับในภายหลัง  
1.3  การยกเว้นคุ้มครองกิจการหรือลูกจ้างกลุ่มใดในอนาคต  ต้องได้รับการเห็นชอบโดยคณะกรรมการประกันสังคม
 
(2)  ปรับปรุงคำนิยาม 4 คำ  ได้แก่
        2.1  “ลูกจ้าง”ให้หมายรวมถึง ลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน  
        2.2  “นายจ้าง” หมายรวมถึง นายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและผู้จ้างงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน  
        2.3  “ค่าจ้าง” หมายรวมถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันที่ลูกจ้างหยุดงานโดยมิได้เป็นความผิดของลูกจ้าง
        2.4   “ทุพพลภาพ” หมายรวมถึง ผู้ประกันตนที่สูญเสียอวัยวะส่วนใดหรือสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย โดยตัดคำว่า “จนไม่สามารถทำงานได้” เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนที่เป็นธรรมตามความเป็นจริง
 
(3)  ปรับปรุงองค์ประกอบ  คุณสมบัติ  อำนาจหน้าที่  ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม  ประกอบด้วยประธานและกรรมการอีก 4 ฝ่ายๆละ 8 คนรวมเป็น 33 คน ดังนี้
      1.  ประธานกรรมการ  มาจากการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงานประกันสังคม  โดยการสรรหาของกรรมการโดยตำแหน่ง,ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง,ฝ่ายผู้ประกันตนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      2.  กรรมการโดยตำแหน่ง  ประกอบด้วย  ผู้แทนกระทรวงแรงงาน,สำนักงบประมาณ  กระทรวงการคลัง  กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสปส.รวม 8 คน
     3.  กรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 8 คน
    4.  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  สรรหาโดยกรรมการข้อ 2 และ 3 เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ  ประสบการณ์ด้านต่างๆ  ด้านงานประกันสังคม,งานหลักประกันสุขภาพ, ด้านการแพทย์, ด้านเศรษฐศาสตร์การคลัง, บริหารการลงทุน, ด้านกฎหมาย, ด้านสวัสดิการสังคม  และด้านสิทธิมนุษยชนด้านละ 1 คน รวม 8 คน
 
3.1  กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้าง
    –  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.
    –  ผู้ประกันตนอาจลงสมัครรับเลือกตั้งโดยอิสระหรือองค์กรเอกชน  องค์กรด้านแรงงานที่ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่และดำเนินกิจกรรมด้านสวัสดิการแรงงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่งลงสมัครได้
    –  กำหนดคุณสมบัติผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างให้กว้างขวางชัดเจน  เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีส่วนได้เสียกับการดำรงตำแหน่ง  หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองและเป็นบุคคลสุจริตเชื่อถือได้ เช่น ไม่เคยต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก,ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการหรือหน่วยงานเอกชน, กรรมการรวมถึงคู่สมรส  บุตรและบุพการีต้องไม่ประกอบกิจการที่มีส่วนได้เสียกับสำนักงานไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม, ไม่เป็นผู้มีตำแหน่งทางการเมืองหรือรับผิดชอบบริหารพรรคการเมือง ฯลฯ
 
3.2  กำหนดให้กรรมการประกันสังคมถือเป็นตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมาย ปปช. ที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะชน  และถือเป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
 
3.3  คณะกรรมการประกันสังคม  มีอำนาจกำหนดนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลการบริหารงานประกันสังคมอย่างเต็มที่, รวมทั้งการเห็นชอบแผนงาน  แผนการเงินงบประมาณของสำนักงานแต่ละปี, การกำหนดกฎเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินประจำปี  การบริหารงานทั่วไปและบริหารบุคลากร, การกำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย, หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือไม่ได้รับค่าเสียหายในเวลาอันควร ฯลฯ
 
3.4  ปรับปรุงวาระดำรงตำแหน่งของกรรมการให้อยู่คราวละ 4 ปี  ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน  และพ้นจากตำแหน่งได้ถ้ากรรมการขาดประชุม 3 ครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร  หรือมีมติกรรมการ 2 ใน 3 ของเท่าที่มีอยู่ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะบกพร่องต่อหน้าที่, มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ  และเปิดให้ผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 1,000 คนเข้าชื่อร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาถอดถอนกรรมการคนใดออกได้ด้วย
 
3.5  ปรับปรุงให้คณะกรรมการประกันสังคม (รวมทั้งคณะกรรมการอื่นๆตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการอุทธรณ์  คณะกรรมการตรวจสอบ  คณะกรรมการกองทุน) ที่มิใช่เป็นกรรมการมาโดยตำแหน่ง การแต่งตั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของหญิงและชาย  กรรมการจะดำรงตำแหน่งอื่นตามกฎหมายนี้ไม่ได้  และกรรมการทุกชุดจะเป็นอนุกรรมการได้ไม่เกิน 2 คณะ
 
(4)  สำนักงานประกันสังคมและเลขาธิการ สปส.
       4.1  กำหนดให้สำนักงาน  มีฐานะนิติบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ  สังกัดกระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี  
       4.2  เลขาธิการต้องเป็นผู้ทำงานเต็มเวลาและมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมเกี่ยวกับการบริหารงานประกันสังคม  และมีคุณสมบัติอีกหลายอย่างที่ต้องเป็นบุคคลมีวุฒิภาวะและตรวจสอบได้ว่าเป็นคนสุจริต  เชื่อถือยอมรับได้ชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด  ให้ดำรงตำแหน่งโดยมีสัญญาว่าจ้างกับสำนักงาน  วาระ 4 ปีมีอำนาจบริหารควบคุมงานและบุคลากรตามนโยบายคณะกรรมการและกฎหมายโดยไมขึ้นกับรัฐมนตรีสั่งการ
(5)  โครงสร้างการบริหารกองทุนประกันสังคม
นอกจากมีคณะกรรมการประกันสังคม  คระกรรมการอุทธรณ์และคณะกรรมการแพทย์  ตามรูปแบบกฎหมายเดิมแล้ว  จะมีคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมออกระเบียบสรรหาขึ้นมา  เพื่อเป็นหลักประกันในการตรวจสอบการบริการกองทุนและจัดหาผลประโยชน์การลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส  ติดตามควบคุมได้โดยผู้มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์
 
(6)  อัตราเงินสมทบ  และประโยชน์ทดแทน
      6.1  ผู้ประกันตนมีโอกาสสามารถตรวจสอบนายจ้างได้ว่านำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนแก่ สปส. หรือไม่ ? เท่าไร ?ทุกครั้ง หรือไม่ ? โดยให้นายจ้างต้องเปิดเผยให้ทราบโดยปิดประกาศในสถานประกอบการโดยเปิดเผยตามระยะเวลาที่กำหนด
      6.2  กำหนดให้ฐานค่าจ้างคำนวณเงินสมทบ  ขึ้นกับค่าจ้างผู้ประกันตนแต่ละราย  ไม่กำหนดอัตราสูงสุดไว้และผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ  เช่น จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 120 เดือน  มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้างหากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไปมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 80 ของค่าจ้าง
     6.3 ผู้ประกันตนที่ออกจากงาน  จะขยายให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยาวนานขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ  กล่าวคือถ้าจ่ายเงินสมทบไม่เกิน 10 ปีมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนต่อเนื่องอีก 8 เดือน  ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อไปได้อีก 12 เดือน
     6.4  กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน  มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์  ตั้งแต่วันแรกที่เป็นลูกจ้าง  แม้ภายหลังออกจากงาน และรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพจนกระทั่งตาย  เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่  
     ประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยให้เพิ่มเติมค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  และตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตนด้วย
     6.5  กำหนดให้ผู้ประกันตนเลือกไปใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่งได้ตามที่มีข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคม  ไม่ว่ากรณีปกติหรือกรณีฉุกเฉิน  โดยเป็นหน้าที่ของ สปส.กับ สถานพยาบาลจะตกลงจ่ายค่าบริการ  ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด  โดยไม่กำหนดให้ลูกจ้างต้องเลือกใช้สถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานไว้ล่วงหน้าเหมือนเดิม
    6.6  กำหนดให้ผู้ประกันตนหรือผู้อุปการะมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์
    6.7  กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิระบุเป็นหนังสือให้บุคคลใดรับประโยชน์ทดแทนกรณีค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตายรวมทั้งรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพได้
   6.8  ผู้ประกันตนตามมาตรา 39
           –  กำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 7 เดือน (เดิม 12 เดือน) ต่อมาความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง  มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนยาวขึ้นคือภายใน 12 เดือน (เดิม 6 เดือน) นับแต่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
           –  ผู้ประกันตนม.39  ออกเงินสมทบ 1 เท่าและรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า (เดิมรัฐจ่าย 1 เท่าผู้ประกันตนจ่าย 2 เท่า) 
           –  ความเป็นผู้ประกันตน ม.39  สิ้นสุดลงเมื่อ
           –  ไม่ส่งเงินสมทบ 6 เดือนติดต่อกัน (เดิม 3 เดือน)
           –  ภายในระยะ 12 เดือนส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน (เดิม 9 เดือน)
   6.9  ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนมิใช่ลูกจ้าง (เดิมรัฐบาลไม่จ่าย และคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเป็น ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย
 
   6.10  กรณีว่างงาน
            1.  ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงาน  นับแต่เดือนถัดจากเดือนที่มีอายุ 55 ปีบริบรูณ์
            2.  ผู้ประกันตนที่ว่างงาน  มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน
            3.  ตัดเงื่อนไขเหตุยกเว้นไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้เหลือเพียงไปขึ้นทะเบียนกับสำนักจัดหางาน  และเป็นผู้มีความสามารถทำงานได้  พร้อมทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้หรือไม่ปฏิเสธการฝีกงาน  และได้ไปรายงานตัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
 
(7)  ยกเลิก 2 มาตรา คือ
       7.1  มาตรา 55  ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้นายจ้างขอลดส่วนเงินสมทบได้เนื่องจากไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป  กฎหมายใช้บังคับมานานแล้ว
       7.2  มาตรา 61  ยกเลิกเหตุที่ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเพราะจงใจก่อให้เกิดขึ้น  หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น  เพราะเป็นการนำหลักการประกันธุรกิจเอกชนมาใช้บังคับ  โดยไม่สอดคล้องกับประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนจะได้รับจำนวนน้อยอยู่แล้ว
 
(8)  เพิ่มบทลงโทษ
       8.1  กรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ  เป็นเงินเพิ่มร้อยละ 4 (เดิมร้อยละ 2)
       8.2  หากนายจ้างเคยถูกลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว  ยังทำผิดซ้ำความผิดเดียวกันอีก  ให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษแก่นายจ้างนั้นอีก 1 ใน 3 ของอัตราโทษจำคุก  หรือเพิ่มอีกกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับสำหรับความรับผิดนั้น
 

ข้อสังเกตส่งท้าย

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน  2553  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 3  ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)  ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ  ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย   อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ตามมาตรา 147 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแล้ว  นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างกฎหมายนี้ขึ้นทูลเกล้าฯถวายใน 20 วันเพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
นอกจากนี้  ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เลื่อนวาระ เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอขึ้นมาพิจารณาก่อน  โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่างพระราชพระราชบัญญัติทำนองเดียวกันอีก 3 ฉบับขึ้นมาพิจารณารวมกันไป คือ
         1.  ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายสถาพร  มณีรัตน์กับคณะเป็นผู้เสนอ
         2.  ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนางสาวผ่องศรี  ธาราภูมิกับคณะเป็นผู้เสนอ
         3.  ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายนคร  มาฉิมกับคณะเป็นผู้เสนอ
ภายหลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติได้แถลงหลักการและเหตุผลทีละฉบับตามลำดับ  และมีสมาชิกฯอภิปรายแล้ว  ประธานของที่ประชุมได้สั่งเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมทุกฉบับดังกล่าวไปในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป (ซึ่งจะเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในปลายเดือนมกราคม 2554)
 
หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับที่เสนอโดย สส.สถาพร  มณีรัตน์กับคณะและเสนอโดย สส.นคร  มาฉิมกับคณะมีสาระสำคัญเหมือนกับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับบูรณาการแรงงานที่จัดทำแล้วเสร็จโดยความร่วมมือของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกับเครือข่ายองค์กรด้านแรงงาน  และแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. เมื่อเดือนตุลาคม 2553
///////////////////////////////////////////////////////////////////

 

สังคมสวัสดิการ ไร้การกีดกัน ลดช่องว่าง สร้างความเป็นธรรม ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส

 ขอเชิญร่วมงานสมัชชาแรงงาน “ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน”  ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ.2554

ณ.ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดี หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ประสานงานสมัชชาแรงงาน ลงทะเบียนได้ที่นี่ voicelabour.org