ผู้นำแรงงานหลายภาคส่วนร่วมถกประวัติศาสตร์ และสถานการณ์“ทำไมต้องจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก…”
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 ณ ที่ทำการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ศรีราชา ชลบุรี ได้มีการจัดเสวนา “ทำไมต้องจัดตั้งกลุ่มภาคสหภาพแรงงานภาคตะวันออก…” โดย กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สนับสนุนโดย สถาบันทิศทางไทย
นายไพฑูรย์ บางหรง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวเปิดโครงการสืบสานประวัติศาสตร์แรงงานภาคตะวันออก เรื่องทำไมต้องจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกว่า ประวัติศาสตร์หากกลับไปย้อนดูประวัติศาสตร์แรงงานไม่มีการบันทึกไว้ มีเพียงที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเท่านั้น และการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้มีการบันทึกประวัติศาสตร์แรงงานภาคตะวันออกไว้อีกมุมหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึงวันนี้เป็นการเริ่มนับหนึ่งในการบอกเล่าประวัติศาสตร์แรงงานภาคตะวันออก ในอนาคตต้องมีการเพิ่มเติมให้มากกว่านี้ ตั้งแต่ปี 2516 ปี2518 นั้นการบันทึกไว้ก็มีบ้างแล้ว การทำงานที่ยาวนานหลายคนยังไม่เข้าสู้ขบวนการแรงงาน และยังไม่เกิดด้วยช้ำไป วันนี้คนรุ่นเก่าอาจมาไม่ได้ทั้งหมด แต่ที่มานั่งอยู่ที่นี่ก็ถือว่าเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์แรงงานแรงงานไทย ของกลุ่มภาคตะวันออกว่าทำไมต้องตั้งกลุ่มภาคตะวันออกจะได้ทราบกัน
นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานมาจากรากเหง้าเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเกษตรกรรม แรงงานที่ทำงานในโรงงานก็ต่างเป็นผู้ใช้แรงงาน การมากล่าวถึงประวัติศาสตร์แรงงานภาคตะวันออกนั้นด้วยการทำงานด้านประวัติศาสตร์มีการรวบรวมไว้บ้าง การทำงานที่เข้มแข็งของกลุ่มแรงงานภาคตะวันออก มีบทบาทในการจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย มีการเข้าไปเคลื่อนไหวร่วมกันไม่ว่าจะเรื่องข้าวสาร ประกันสังคม สวัสดิการต่างๆ ซึ่งต้องผลักดันในทางการเมือง ซึ่งอ่านดูได้จากนิทรรศการที่จัดไว้ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์จะมอบให้ทางกลุ่มสหภาพฯเก็บไว้จัดการศึกษาในพื้นที่เลย
จากนั้นก็เป็นการแสดงดนตรีซึ่งเป็นบทเพลงแรงงาน โดยหนึ่งในนั้นมีบทเพลงกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกด้วย ต่อด้วยการฉายภาพยนตร์ “หยาดเหงื่อแรงงานประวัติศาสตร์แห่งการสรรค์สร้าง”
การเสวนา เรื่อง “ประวัติศาสตร์ และสถานการณ์แรงงานภาคตะวันออกกลุ่มต่างๆ” โดยสรุปได้ดังนี้
นายจำรัส สุขชัยศรี อดีตผู้นำแรงงานสหภาพแรงงานโรงกลั่นนำมันไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมเป็นตัวแทนสหภาพแรงงานฯประชุมกลุ่มสหภาพแรงงานตั้งแต่ที่ทำการตั้งอยู่ซอยโรงงานไม้ขีดไฟ ซึ่งปัจจุบันก็มาตั้งอยู่ที่นี่ สหภาพแรงงานที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มฯช่วงนั้นมีสหภาพแรงงานเอสโซ่ประเทศไทย สหภาพแรงงานโรงกลั่นน้ำไทย หรือไทยออย สหภาพโรงงานน้ำตาล และอีกหลายสหภาพแรงงานที่ร่วมกัน ด้วยสหภาพแรงงานเอสโซ่ กับไทยออยคิดว่าตนเองมีศักยภาพในการให้ความหนุนช่วยพี่น้องแรงงานสหภาพแรงงานขนาดเล็กที่เกิดขึ้นใหม่ไม่มีทุนและสำนักงาน และช่วยกันก่อตั้งสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ขึ้น รวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ มีแนวคิดตั้งสหพันธ์แรงงาน แต่ว่าก็ตกลงกันว่ารวมตัวกันแบบหลวมๆกลุ่มดีกว่า ซึ่งก็ทำงานจัดตั้งช่วยเหลือด้านการศึกษาประเด็นกฎมายต่างๆบ้าง เพื่อการทำงานต่อไปของสหภาพแรงงานรุ่นใหม่
นายเชี่ยวชาญ เกียรติณัฐกร อดีตประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า การทำงานของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกนั้นแต่ละช่วงเวลามีบริบทการทำงานที่ต่างกัน ช่วงเก่าสมัยก่อนก็จะเน้นช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่อยู่ห่างไกลและได้รับความเดือดร้อน ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ จัดตั้งสหภาพแรงงาน ทางบ้านบึง หรือโรงงานน้ำตาลหนองซาก ซึ่งตอนนั้นนิคมแหลมฉบังไม่เกิด จนยุคตนเองก็มีนิคมอุตสาหกรรมแล้วเป็นช่วงที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทำให้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบลดน้อยลง ด้วยมีกฎหมายเข้ามาดูแลยกระดับด้านการจ้างงาน และสวัสดิการดีขึ้น แต่ประเด็นคือผู้ใช้แรงงานมีความเข้าใจด้านกฎหมายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในส่วนของกลุ่มได้มีการพูดคุยกัน ช่วงนั้นจึงให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานช่วง 3-4 ปีที่เป็นผู้นำกลุ่ม และเข้าสู่ระบบไตรภาคี ร่วมเป็นกรรมการค่าจ้างจังหวัดชุดแรกๆ และหลายคนได้เข้าร่วมเป็นกรรมการไตรภาคีอีกหลายชุด
ช่วงนั้นถือว่ามีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีตอนนั้นเวลาประชุมกลุ่มจะมีการเชิญตัวแทนภาครัฐ และนายจ้างมาร่วมประชุมด้วย ซึ่งก็มีตัวแทนมาร่วม หากนายจ้างมีการประชุมประจำเดือนก็ชวนให้ทางกลุ่มเข้าร่วมประชุม บางแห่งไม่มีสหภาพแรงงาน ทางกลุ่มก็มีการอบรมกรรมการสวัสดิการในโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานเพื่อให้เขาดูแลเรื่องการจัดสวัสดิการให้บริษัทจัดการให้ตามกฎหมาย มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานบ้าง แต่ต้องให้ความรู้ก่อนมีการจัดตั้งเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ โดยไม่ถูกล้มไปก่อน ซึ่งมีหลายแห่งในช่วงนั้นที่มีการจัดตั้ง แต่ก็มีหลายแห่งที่ถอดใจเมื่อทราบบทบาทหน้าที่ การทำงาน วิธีการตั้งสหภาพ ทราบว่าข้างหน้าที่ต้องพบเจอคืออะไร การทำงานสมัยก่อนลำบาก เพราะไม่มีรถการเดินทางนั่งรถเมลย์กันไป ยุคที่สองถือว่าเป็นยุคให้ความรู้ และการทำงานไตรภาคี จากการที่มีที่ทำการไม่แน่นอนก็มีการลงขันกัน 2 สหภาพแรงงาน คือสหภาพแรงงานโรงกลั่นน้ำมันไทย กับสหภาพแรงงานเอสโซ่ประเทศไทย ซื้อที่ทำการให้กลุ่มได้มีสถานที่มั่นคงมากขึ้น
นายอิสระ มุกสิกอง อดีตประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า เดิมสหภาพแรงงานภาคตะวันออกเริ่มจาก 2 สหภาพแรงงาน คือไทยออย กับเอสโซ่ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกเกิดขึ้นโดยการร่วมกันของสหภาพแรงงานเอสโซ่ฯ สหภาพแรงงานโรงกลั่นน้ำมันฯสหภาพแรงงานไม้ขีดไฟ สหภาพแรงงานการบริหารการโรงแรมบางแสน สมัยก่อนต้องไปจัดตั้งกันในสวนกล้วย จังหวัดชลบุรี สมัยก่อนเป็นดินแดนของมาเฟียร์ ไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ ซึ่งตอนนั้นกลุ่มแรงงานต้องพึ่งกลุ่มนักการเมือง จึงมีการตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การรวมกลุ่มกันยุคแรกก็มีแนวคิดอยากตั้งสภาองค์การลูกจ้างของภาคตะวันออก แต่ว่าก็ตัดสินใจรวมกันเป็นกลุ่มฯซึ่งตอนนั้นการหาทุนก็ยาก มีการเก็บค่าบำรุงจากสมาชิกสหภาพแรงงานเอสโซ่ฯเพื่อเริ่มทุน มีการตั้งสหกรณ์ร้านค้าในศรีราชา ซึ่งตอนนี้ไม่ทราบว่าหายไปตอนไหน อุตสาหกรรมเริ่มเบ่งบานมีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ขึ้นจำนวนมาก ทั้งที่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม และไปเป็นสมาชิกบางสภาองค์การลูกจ้าง อุตสาหกรรมมีความเจริญเติบโต สหภาพแรงงานก็มีพิพาทแรงงานกันบ้างแต่กลุ่มฯก็ดำรงอยู่อย่างมีพัฒนาการที่ดีจนวันนี้มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ แล้ววันข้างหน้าพัฒนาการที่ตอนนี้ดูเหมือนตกลงไปบ้างจะทำอย่างไรให้มีความเข้มแข็งต่อไป มีสมาชิกสหภาพเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มแต่ทำไมถึงยังไม่สามารถยืนด้วยขาของตัวเอง ทำไมชาวสวนยาง ชาวนาเข้มแข็งกว่าแรงงาน สหภาพแรงงาน หรือคนงานที่อยู่ในโรงงานถือว่าเป็นผู้มีความรู้ มีอุปกรณ์การสื่อสารดีๆ
ตอนนี้มีสมาชิกกลุ่มถึง 115 สหภาพแรงงาน จากช่วงกลางมีเพียง 23 สหภาพแรงงาน เราคิดว่ากลุ่มมีความเข้มแข็งแล้วหรือไม่ ทำไมกลุ่มไม่ชนะการเลือกตั้งไตรภาคีทั้งที่มีสหภาพแรงงานมากกว่าองค์กรแรงงานอย่างสภาองค์การลูกจ้างหลายแห่งด้วยซ้ำ ก็เข้าใจอยู่ว่าองค์กรไตรภาคีไม่ได้มีความสำคัญตลอดไป และอยู่ในนโยบายของกลุ่ม แต่จะทำอย่างไรให้ตัวแทนของกลุ่มเข้าไปทุกคณะกรรมการที่มีอยู่เพื่อดูแลสมาชิก ดูแลผลประโยชน์ของพวกเรา ซึ่งวันนี้คนที่เข้ามาเป็นกรรมการไตรภาคีกลับเป็นตัวแทนของสภาองค์การลูกจ้าง เมื่อเขาเข้ามาได้เขาก็ออกแบบในการทำงานแบบเขา กลุ่มฯไม่ได้ชิงดีชิงเด่นแต่การเข้าไปก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในกลุ่ม และจะทำอย่างไรให้องค์กรใหญ่ขึ้นและพึงพาตนเองได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ การจัดการศึกษา พันธมิตรคือพันธมิตร คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยคือองค์กรแม่ แต่จะทำอย่างไรเดินได้ด้วยตัวเองทั้งเรื่องทุนทรัพย์ และบุคลากร สมัยที่ตนทำงานอาจเพิ่งเริ่มเข้มแข็ง แต่มีนักจัดตั้งอย่างคุณเสมา สืบตระกูล และคุณจรัญ ก่อมขุนทด ทำอย่างไรเมื่อสหภาพแรงงานเกิดมีคนเข้ามาดูแลหนุนช่วยยามเมื่อมีปัญหา ต้องมีคนทำงานพวกนี้สามารถอยู่ได้ด้วยเงินของคนงานแบบไม่ต้องกังวล และกลุ่มจะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร ในส่วนประวัติกลุ่มนั้นต้องมีการบันทึกอักษร การต่อสู้เพื่อบีบนายจ้างก็อีกแบบหนึ่ง ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างยอมมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มีการเจรจาต่อรองกันนอกรอบนำไปสู่การตกลงกัน การต่อสู้ต้องมีทุนทรัพย์ และสมาชิกต้องเข้าใจการจัดค่าบำรุงต้องเพียงพอในการบริหารจัดการนำไปสู่ความเข้มแข็งได้
นายเสมา สืบตระกูล ที่ปรึกษา และนักจัดตั้งสหภาพแรงงาน กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับกลุ่มมา 20 กว่าปี การที่เข้ามาทำงานในกลุ่มครั้งแรกเป็นความท้าทายภายใต้การทำงานของศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ หรือ SC ปัจจุบัน ภายใต้แนวคิดทุนตอนนั้นมีการกล่าวถึงว่านิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด ต้องปลอดสหภาพแรงงานอีกนานนับ 10 ปี หรืออาจมากถึง 20 ปีแน่นอนขอเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนได้ ยุคแรกที่เข้ามาทำงานคือการอบรมสัมมนาเพื่อหาความรู้ ก่อนที่จะรู้จักกับผู้นำแรงงานหลายท่านที่ถือว่าเป็นครูของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งเริ่มรู้จักกับคุณเปรม มาลีวัฒนา อดีตผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ตอนนั้นคุณเป็นเป็นประธานกลุ่มฯอยู่ และเริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่ เพื่อทำงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งสหภาพแรงงานคาวาซากิ ได้ถูกจัดตั้งสหภาพแรงงานก่อนที่จะย้ายมาปลวกแดง ระยอง ในช่วงปี 2540 จึงเป็นพื้นที่ให้เข้ามาทำงานสำรวจ ปี 2541 ได้ลงหลักปักฐานมาเช่าบ้านอยู่ ถามว่ากลัวอิทธิพลหรือไม่ก็กลัวแต่พื้นเพเป็นคนระยองอยู่แล้ว ซึ่งแรกๆก็อยู่กันแบบเงียบๆ เริ่มขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จากนั้นก็ได้คุณจรัญ ก่อมขุนทด หรือบัวลอยเข้ามาร่วมงานและได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มฯและเริ่มทำความรู้จักกันมีการทำงานร่วมมือกับทั้งรัฐ นายจ้าง มีการทำงานแบบใช้แรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป้าหมายของการจัดตั้งสหภาพแรงงานตอนนั้นคือคนงานฟอร์ด จีเอ็ม และบีเอ็มดับเบิ้ลยู แต่ก็มีการพยายามตั้งสหภาพแรงงานในพื้นที่ เริ่มจากสหภาพแรงงานทาคาโอะ ซัมมิทแหลมฉบับ ซึ่งตอนนั้นตั้งได้ 5 สหภาพแรงงาน และต้องรวมเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก และแยกตามประเภทกิจการ เช่นยานยนต์ก็อยู่กับสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอตามที่มีสหพันธ์อยู่แล้วถือเป็นนโยบาย ช่วงแรกตั้งสหภาพแรงงานไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อมาเริ่มมีปัญหาหากนาจ้างทราบว่ามีการรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานคนงานจะถูกเลิกจ้างทันที จึงต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องก่อนแล้วตั้งสหภาพแรงงานขึ้น เพื่อให้กฎหมายคุ้มครอง
การทำงานมาหลายยุคก็เริ่มเห็นยุทธศาสตร์ร่วมกับคุณปิยเชษฐ์ แคล้วคลาด ที่บอกว่าคนงานต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง เพื่อการต่อสู้ และพรรคการเมืองของตนเองเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาของแรงงาน เพราะว่าชนชั้นไหนก็เขียนกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น การทำงานมา 20 กว่าปี สหภาพแรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่ 115 แห่ง ที่มีชีวิต ที่ไม่มีชีวิตแล้ว30-40 สหภาพแรงงาน ที่จัดตั้งมาแล้วถูกเลิกจ้าง โรงงานปิดกิจการ จนถึงปัจจุบัน สหภาพแรงงานขนาดใหญ่ ก็มีการแยกตัวออกไปบ้าง มีการไปตั้งสภาองค์การลูกจ้าง ตั้งกลุ่มใหม่ๆเริ่มแยกตัว ซึ่งสามารถที่จะห้ามใครได้ แต่ว่า วัตถุประสงค์การรวมกลุ่มฯนั้นก็เพื่อรวมแรงงานให้เป็นหนึ่ง และมีการทำงานเชิงสังคมด้วย ไม่ได้มีกลุ่มไว้เพียงยื่นข้อเรียกร้องเท่านั้น อยากให้ผู้นำรุ่นแรกภาคภูมิใจด้วยกับกลุ่มฯที่ได้มีการร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า การต่อสู่ของขบวนแรงงานในแต่ละยุค ซึ่งช่วงที่เข้ามาสัมพันธ์กับกลุ่มสหภาพฯนั้นเป็นช่วงที่นักจัดตั้งสหภาพเข้ามาทำงานในพื้นที่ภาคตะวันออก คือคุณจรัญ ก่อมขุนทดไม่ใช่ยุคเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนของพื้นที่ภาคกลางมีการขับเคลื่อนเรื่องค่าจ้างขึ้นต่ำ ปี 2536 และ 2538 การปรับฐานด้านเศรษฐกิจ เริ่มเข้าสู่วิกฤติก่อนจะเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจเต็มตัวปี 2540 มีการชุมนุมมีการเดินขบวน รัฐวิสาหกิจหลายแห่งกำลังจะโดนยุบ แรงงานเอกชนหลายแห่งเริ่มมีปัญหา โรงงานปิดตัว โครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศ ต่างประเทศก็มีปัญหา โรงงานผ้าห่มไทยชุมนุมกันอยู่ ทางการเมืองมีสมัชชาคนจนชุมนุมอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล คนงานเสรีปาลโก ที่บัวลอยเป็นผู้นำก็ชุมนุมอยู่ และในที่สุดโรงงานเสรีปาลโก ก็ปิดกิจการบัวลอยก็ตกงาน แล้วก็ได้มาทำงานร่วมกับทางคุณเสมา หรือเหมา ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมจัดตั้ง และให้ความรู้กับผู้ใช้แรงงานหลายครั้ง หนุนช่วยเมื่อมีการชุมนุม หรือนัดหยุดงานในพื้นที่ เป็นสถานการณ์ที่มีความประทับใจ ได้พบมิตรสหาย มากมาย เพราะยุคนั้นอิทธิพลท้องถิ่นค้อนข้างรุนแรง การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้ง่าย เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงทั้งชีวิตและความมั่นคงในการทำงาน
มีการทำงานตั้งวงสนทนาร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ เช่น กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานย่านพระประแดง สุขสวัสดิ์ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ปรึกษาหารือที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากเรื่องจัดตั้งสหภาพแรงงาน ยังคุยเรื่องทิศทางของบ้านเมืองทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งปัจจุบันอาจมีการพูดคุยกันน้อยลง เพราะว่าบางส่วนคิดว่ากรรมกรไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อีกสายก็คิดและเชื่อเรื่องการเมือง ทางรัฐวิสาหกิจก็มีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง เนื่องจากต้องปฏิสัมพันธ์ ต่อสู้กับนโยบายของรัฐมาโดยตลอด แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง จึงมีแนวคิดว่าผู้ใช้แรงงานต้องมีพรรคการเมือง ส่วนภาคเอกชนก็มีบางส่วนที่คิดเรื่องพรรคการเมืองเช่นกัน เช่นคุณปิยเชษฐ์ แคล้วคลาด ด้วยทำงานคุรุสภา มีลักษณะความเป็นทั้งเอกชน และรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสภาองค์การลูกจ้างด้วย ซึ่งแกมีแนวคิดของพรรคการเมืองเช่นกัน อีกแนวคิด คือลัทธิสหภาพ สร้างอำนาจต่อรองด้านสวัสดิการ เรียกร้องผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว
เหตุการณ์ที่นำมาสู่ความแตกแยกหนักคือ หลังเหตุการณ์รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) มีการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ยุคแรกมีการชุมนุมเรียกร้อง แต่ตอนหลังมีความเห็นแตกแยกมากขึ้น มีการแยกรัฐวิสาหกิจกับเอกชนออกจากกันในทางกฎหมาย แต่เรายังเชื่อว่ากรรมกรทั้งผองพี่น้องกัน จึงพยายามเชื่อมร้อยกันทุกกลุ่มทุกองค์กร ตั้งศูนย์ประสานงานกรรมกรขึ้น เพื่อรวมแนวคิดและการทำงานในกลุ่มพื้นที่ต่างๆ ตอนนั้นกลุ่มภาคตะวันออกไม่ค่อยได้เข้าร่วม ตอนนั้น ต่อมาการรวมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เป็นการรวมกันแบบหลวมๆเป็นการแบ่งงานกันทำไม่ได้มีโครงสร้างอะไร และก็ได้เข้าเป็นเลขานุการคสรท. การทำงานมาโดยตลอดทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนแม้ว่าจะมีอุปสรรค์เล็กๆน้อยๆบ้าง แต่การทำงานภายใต้การนำของคสรท.ยังคงทำหน้าที่อยู่ แม้วันแรกๆสมาชิกจะมีจำนวนมากถึง 29 องค์กร และปัจจุบันเหลือเพียง 17 องค์กร มีบางองค์กรหายไปบ้างก็ตาม แต่ความยึดโยงกับสหภาพแรงงานในการทำงาน มีความห่างหาย ห่างเหินกับองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยการเจรจาต่อรองเพียงภายในองค์กรไม่ได้เพราะว่าทุนมีความเชื่อมโยงระดับชาติ และทั่วโลก แรงงานจึงไม่สามารถต่อสู้ได้เพียงลำพัง ฉะนั้นภายใต้วิถีการต่อสู้ที่เรียกร้องเพียงในสหภาพแรงงานขอยืนยันว่าไม่สำเร็จในอนาคตข้างหน้า วันนี้หากเรียนรู้อดีต และเข้าใจปัจจุบันจะรู้ว่าอนาคตจะไปอย่างไร
ตามที่รัฐบาลบอกว่าจะนำพาประเทศเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เกิดระบบAI ปัญญาประดิษฐ์ มีการใช้หุ่นยนต์ทดแทนกำลังคนในกระบวนการผลิต เกิดขึ้นแน่นอนและเปลี่ยนแปลงไวมากดูจากเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไปไวมากในปัจจุบัน ระบบการจ้างงานก็จะเปลี่ยนไป เดิมการลงทุนเชิญชวนคนมาลงทุนภายใต้ มีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก แต่ปัจจุบันจะเป็นระบบการส่งเสริมเทคโนโลยี แน่นอนรายย่อยอาจมีปัญหาบ้าง ต้องปรับตัว แต่การจ้างแรงงานเปลี่ยนแน่ การลงทุนอาจขยับกลับไปลงทุนประเทศต้นทางเพราะว่าไม่ต้องการกำลังคนในการผลิตแล้ว เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาทดแทนกำลังคนได้ แล้วแรงงานที่อยู่จะเป็นอย่างไร มีการประเมินกันว่าจะมีคนตกงานกว่า 12 ล้านคน ตอนนี้ภาคธนาคารเริ่มมีการทยอยปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีมาใช้แทนคน ภาคบริการมีความเติมโต คนที่ทำงานจะกลายเป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันอย่างการจ้างงานฟรีแลนด์ ภาคพลังงานฟอสซิลในอนาคตจะเลิกใช้ จะหันมาใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด นี่คือทิศทางของโลกที่ปรับตัว ซึ่งหากเรียนรู้อดีต เพื่อการหลอมรวมคนในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม แต่ก่อนแม้ไม่มีเทคโนโลยีอย่างปัจจุบันการต่อสู้มีการทำงานเป็นระบบสั่งการกันได้ วันนี้มีเทคโนโลยีทันสมัยแต่ไม่สามารถจัดตั้งคนได้ ไม่สามารรถบอกข้อมูลข่าวสารกับคนได้ ภาพจากอดีตที่มีอุปสรรค์มากมายทั้งการเมือง อิทธิพล แต่ก็สามารถทำงานจัดตั้งกันได้ ปัจจุบันสามารถเปิดพื้นที่สื่อสารกันได้อย่างเสรี มีการจัดการศึกษากันในโรงแรม คุยได้ทุกเรื่อง ต่างกับอดีตที่ต้องหลบไปหาที่คุยในป่า การศึกษาประวัติศาสตร์มีความสำคัญต้องมีการขยายแนวคิดออกไปให้คนมาร่วมกันมากขึ้นไม่ใช่แต่คนเดิมๆเท่านั้น
วันนี้ค่าจ้างที่ได้มันถูกจนคนต้องทำงานเกินเวลาผู้ใช้แรงงานอยู่กันได้อย่างไรภายใต้รายได้ไม่พอกับการจ่าย นายยกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดถึงรายได้ต่อหัวประชากรว่าต้อง 2 หมื่นบาทขึ้นไปถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องมีรายได้ปีละ 3 แสนกว่าบาท ถามว่าตอนนี้คสรท.มีการทำแบบสอบถามเรื่องค่าจ้างเพื่อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี คิดว่าผู้ใช้แรงงานจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างให้มากขึ้นหรือไม่ แล้วผู้ใช้แรงงานจะมีส่วนร่วมผลักดันอย่างไรให้ได้ค่าจ้างเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาทตามที่นายกรัฐมนตรีหยิบยกมานำเสนอ ประเทศไทยปกครองโดยทหารมาหลายยุคหลายสมัย ปกครองโดยพลเรือนก็ไม่ได้แก้ปัญหาคนจน ผู้ใช้แรงงาน เกิดการทุจริตคอรับชั่น ตั้งแต่ยุคศักดินา ยุคทหาร ยุคพลเรือน และยุคทหารปัจจุบัน นายทุนก็เป็นใหญ่ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจทุกฉบับจะมีสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย ล่าสุดร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ที่สรส.ไม่เห็นด้วย องค์กรนี้ถือว่าเป็นองค์กรที่ไม่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวกันของนายทุน การเงิน การธนาคาร ประกอบด้วยสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย กลุ่มนี้เข้าไปอยู่แม้แต่พระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้เชื่อมั่นกับประชาชน กรรมกร แรงงาน หรือเกษตรกรเลยแม้ว่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายรัฐ ต่อจากนี้สถานการณ์วันนี้ และวันหน้าหนีไม่พ้นเรื่องอำนาจ เรื่องการจัดตั้ง อำนาจทางการเมืองหากผู้ใช้แรงงาน คนจนไม่มีอำนาจทางการเมืองการจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ คนรวยมีน้อยลง แต่ทรัพย์สินมีมากขึ้น คนจนมีมากขึ้นทรัพย์สินมีน้อยลง ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างกัน 35 เท่า เรื่องที่ดินคน 10เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินทั้งประเทศ 61 เปอร์เซ็นต์ ทำอย่างไรจะสถาปนาอำนาจประชาชนขึ้นมา ผู้ใช้แรงงานผู้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก อยู่มา 42 ปีแล้ว
หลัง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการกรรมกรยังมีการรวมตัวกันอย่างยาวนานที่สุด ภายใต้สหพันธ์ชาวนา ชาวไร่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาที่ร่วมต่อสู้แบบสามประสานล่มสลายไปแล้ว แม้ว่าจะมีการรวมตัวกันในรูปแบบอื่นๆขึ้นมาใหม่ก็ตาม สภาองค์กรนิสิต นักศึกษาก็ต่อสู้กันทางความคิดกันอยู่ขณะนี้เรื่องแนวอนุรักษ์ กับแนวก้าวหน้า แต่องค์กรที่ล้มลุกคุกคานเข้มแข็งบ้างล้มลุกคุกคานกันบ้างแต่อยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน คือสหภาพแรงงาน แม้ว่าจะมีการถ่ายผู้นำเก่าไปใหม่มาแต่ทุกกลุ่มยังอยู่ แต่ว่าจะรวมกันอย่างไร หากรวมกันได้ในฐานะคนรุ่นใหม่จะเชื่อมกันอย่างไร ให้เห็นภาพอดีต เพื่อเคลื่อนปัจจุบัน หากอีก 15 ปี สหภาพไม่รวมตัวกันได้ก็จะล่มสลายแน่ เพราะการจ้างงานมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว รูปแบบการจัดตั้งต้องเปลี่ยนคนมีความกระจัดกระจายกันมากขึ้น รูปแบบการรวมตัวต้องรวมความหลากหลายนั้นเข้ามาด้วย หากรวมกันไม่ได้เราก็คงต้องรอวันล่มสลายเช่นกัน ซึ่งเป็นความท้าทายผู้นำยุคปัจจุบัน และในอนาคตด้วย
นายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนกลุ่มภาคตะวันออก พื้นที่ฉะเชิงเทราชื่อเดิมกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลโกร์ว นั้น ช่วงที่มีการส่งตัวแทนเข้าร่วมทำงานกับกลุ่มภาค ซึ่งในส่วนของสหภาพแรงงานNHKสปริงค์ ตอนนั้นได้ส่งคุณสมชาย เซนน้อย เข้ามาร่วมทำงานและได้รับเลือกเป็นเลขาธิการกลุ่มฯด้วย ต่อมาได้เชื่อมระหว่างกลุ่มเวลโกร์ว กับกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่นิคมอมตะนคร ร่วมกันทำงานเป็นกลุ่มพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่เวลโกร์วมีสหภาพแรงงานราว 8 แห่ง แต่ว่ามาทำงานร่วมกลุ่มภาคเพียงสหภาพแรงงานเดียว คือสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAM)เมื่อขึ้นเป็นประธานกลุ่มเวลโกร์วจึงได้รับนโยบาย และมีมติร่วมกันว่าทุกสหภาพแรงงานต้องเป็นสมาชิกกลุ่มภาคทั้งหมด ด้วยเราเห็นความเป็นพี่เป็นน้องของคนในกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เวลามีปัญหาที่ไหน มีการชุมนุมเรียกร้อง เดินขบวน จะเห็นคำว่า กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งต้องยอมรับกลุ่มที่บทบาทมากที่สุดคือกลุ่มภาคตะวันออก หากอยู่แต่ในพื้นที่การหนุนช่วยก็แคบ ตอนนั้นที่คนงานสแตนเล่ย์มีการชุมนุมอยู่หน้าโรงงานก็ได้รับการหนุนช่วยจากกลุ่มภาคตะวันออก ปัจจุยสำคัยในการชุมนุมคือส้วม สุขาเคลื่อนที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่บ่อวิน ทั้งเงิน ทั้งอาหารแห้งมีการหนุนช่วยกัน จึงชัดเจนว่าอยู่เพียงในพื้นที่ไม่ได้ จากการพูดคุยกันในกลุ่มเวลโกร์ว จึงสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันแต่ว่าค่าบำรุงสมาชิกก็ยังไม่สามารถจัดเก็บส่งให้เป็นค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนได้ สภาพปัญหาเดียวกันกับทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์กรแม่คือไม่มีเงินในการบริหารจัดการ แต่ก็ใช้วิธีให้พื้นที่เวลโกร์วดำเนินการรับผิดชอบตามจำนวนสมาชิกจ่ายค่าบำรุงให้กลุ่มภาคทั้งหมด แล้วตามเก็บกับสมาชิก ตอนนี้ก็มีการปรับกันในพื้นที่จนตอนนี้แก้ปัญหาเรื่องเก็บค่าบำรุงได้แล้ว แต่ก็ยังเห็นว่า กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลโกร์ว เริ่มคับแคบ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มภาคตะวันออกพื้นที่ฉะเชิงเทรา เพื่อการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่ก็มาคิดว่าสหภาพแรงงานที่ปราจีนก็มีทั้งนิคม 304 และนิคมกบินบุรี ซึ่งในกลุ่มปราจีนบุรีมีการรวมตัวกันแบบหลวมๆไม่มีการจัดเก็บค่าบำรุง ซึ่งตอนนี้ก็พยายามพูดคุยกันอยู่ อนาคตคงจะมีการขยายพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกไปถึงพื้นที่ปราจีนด้วย
สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ โลหะแห่งประเทศไทย หรือทีมก็มีพื้นที่ทำงานอยู่ทุกพื้นที่เช่นกัน จึงได้ทำงานเชื่อมกับกลุ่มภาคฯไปด้วย แต่เวลาขับเคลื่อน จะทำในนามสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ หรือขับเคลื่อนในนามทีม พลังที่จะขับเคลื่อนกำลังคนก็ต้องมีการหาคนที่มีจำนวนมาก และคุยได้รู้เรื่องที่สุด คือต้องแบ่งตามพื้นที่ตามโครงสร้างที่มี ในกลุ่มภาคฯ พื้นที่ระยอง แหลมฉบัง อมตะ ฉะเชิงเทรา กิจกรรมที่ทำด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางสังคมอย่างปันน้ำใจเพื่อน้อง หรือการขับเคลื่อนที่มีธงที่ชัดเจน ภาคฯจะร่วมเป็นหัวขบวนทำงานในยุทธศาสตร์คสรท. มีการจัดทำนโยบายให้สอดรับกันทั้งในพื้นที่และระดับประเทศ การขับเคลื่อนทางการเมืองด้วย ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้มีการวางแผนงานประจำปีว่าจะขยายฐานสมาชิก ต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง จะทำอย่างไรให้มีตัวแทนแรงงานเข้าไปนั่งบริหารประเทศ มีธงที่ชัดแต่ยังขาดวิธีการ ขั้นตอนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งตนได้มีโอกาสไปดูงานที่ต่างประเทศทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า ขบวนแรงงานในต่างประเทศจะมีการรวมตัวกัน มีเจตนาในการเลือกตัวแทนของแรงงานเข้าไปบริหารประเทศ จึงมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อส่งตัวแทน แล้วเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ซึ่งหลายประเทศมีการทำความสำเร็จแล้ว ฉะนั้นภาคตะวันออกต้องมาร่วมกันคิดร่วมกันทำให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเกี่ยวพันกับผู้ใช้แรงงานทุกคน เป็นเรื่องความละเอียดอ่อนที่ต้องทลายความคิดของความแตกแยกที่ยังมีอยู่ในขบวนการแรงงาน ไม่ว่าจะสีไหนเขาทำเพื่อผู้ใช้แรงงานหรือไม่ เมื่อรู้แล้ว จะทำอย่างไรให้ตัวแทนของแรงงานได้เข้าไปทำเพื่อผู้ใช้แรงงานทุกคน ในฐานะคนส่วนใหญ่ในสังคมที่มีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจมากที่สุด แต่กลุ่มไม่เคยใช้อำนาจนั้น ไม่ใช้สิทธินั้น เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงขบวนการแรงงานให้มีความเข้มแข็ง
นายไพฑรูย์ บางหรง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า การทำงานในฐานะผู้นำแรงงานนั้นรู้ว่าใครเอาเปรียบเราคงไม่ยอม จะนั่งนิ่งๆคงไม่ได้ทำให้ลุกขึ้นมาทำงานสหภาพแรงงาน และกลุ่มสหภาพแรงงานฯตั้งแต่วันนั้น ปี 2547-48 เกิดแนวคิดแบ่งพื้นที่ทำงานในกลุ่มฯเนื่องจากพื้นที่ใหญ่สมาชิกเพิ่มมากขึ้น และมีปัญหาเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งการทำงานของกลุ่มอมตะตอนนั้นคืออยากตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหลังจากได้เข้าไปดูเรื่องศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนมา สำเร็จในสมัยนายมาลัย ลมออน เป็นประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก มีการตั้งคณะทำงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่.. ตามที่โซนต่างๆ เช่น อมตะ ได้คุณสุเทพ รักธรรม สหภาพแรงงานเด็นโซ่ประเทศไทย เป็นประธานกลุ่มฯ ประชุมครั้งแรกในที่ทำการของสหภาพแรงงานเด็นโซ่ฯ ซึ่งแนวคิดตนตอนนั้นคือต้องการจัดตั้งมวลชน เทคนิคการคุมคนในที่ชุมนุมเรื่องกฎหมายไม่ได้สนใจ ซึ่งตอนหลังก็ปรับเพื่อทำให้ได้ทุกอย่างในฐานะผู้นำ ทำได้หรือไม่ก็ว่ากันอีกที กลุ่มภาคฯอยู่มา 40 กว่าปีแล้ว หลายคนมองว่าเราเป็นองค์กรเถื่อนไม่ได้จดทะเบียน แต่เรามองเรื่องความเป็นสากล มีการทำงานรณรงค์ให้ทุกสหภาพแรงงานเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม ไม่ว่าเดิมจะเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างไหนก็ตาม มีการปรับการบริหารตามพื้นที่ โดยใช้ชื่อกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่ระยอง พื้นที่ฉะเชิงเทรา พื้นที่อมตะ พื้นที่บ่อวิน พื้นที่แหลมฉบัง และแนวคิดขยายไปปราจีน ซึ่งตอนนี้พื้นที่สระแก้วเริ่มมีโรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคงต้องดูแผนงานว่าจะขยายได้อย่างไร
ยุคใหม่ระบบการสื่อสารรวดเร็วขึ้นผ่านระบบโซเซียลมีเดีย แต่ทุกคนกลับไม่ว่าง มีปัญหาหมดไม่ร่วมกิจกรรม มีการสะท้อนสภาพปัญหาว่ากลุ่มฯมีความทับซ้อนกัน ทำให้การจ่ายค่าบำรุงทับซ้อน การเข้าเป็นสมาชิกหลายองค์กร อย่างทีมการต่อสู้ระหว่างประเทศ สหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ ต่อสู้ระดับประเภทกิจการ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกทำงานจัดตั้งมวลชน และต่อสู้ทางการเมือง ขบวนการแรงงานเป็นนโยบาย ต้องมีการจัดตั้งขบวนการแรงงาน เพื่อการรวมเป็นหนึ่ง รวมคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพเข้าด้วยกันไม่เพียงการจัดตั้งสหภาพแรงงานเท่านั้น ยุคนี้ถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรม ยุค 4.0 ถือเป็นความท้าทาย อย่ากลัวความผิดหวัง อย่ากลัวความขัดแย้ง หากกลัวจะไม่เข้มแข็ง
อัตลักษณ์ของกลุ่มฯที่เดินมามีการต่อสู้เรื่องข้าวยากหมากแพง ต่อสู้ขนาดหยุดเครื่องบินได้ รุ่นเราก็มีนโยบายชัดเจนว่าจะต่อสู้ทางการเมือง เพราะคำดูถูกว่าสหภาพแรงงาน ขบวนการแรงงานอ่อนแอ แต่ต้องภูมิใจว่ากลุ่มภาคฯในความอ่อนแอของขบวนกลุ่มภาคฯเข้มแข็งที่สุด ยังดีที่ยังเข้มแข็งสุด ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในการจัดงานประวัติศาสตร์แรงงานในกลุ่มภาคตะวันออกอีก ต้องปรึกษาคุณวิชัย นราไพบูลย์ และคุณอิสระ มุสิกอง เพื่อทำให้ประวัติศาสตร์แรงงานให้เป็นที่ประจักรให้สังคมได้รับรู้ว่าแรงงานมีประวัติศาสตร์ มีการต่อสู้ที่ยาวนาน
นายสมพร ขวัญเนตร เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก อดีตประธานกลุ่มฯอีกคนหนึ่ง กล่าวว่าทำงานในกลุ่มมานานหลังจากที่ถูกจัดตั้งสหภาพแรงงานเมื่อปี 2545 ซึ่งได้มีการเรียนรู้การทำงานกับผู้นำแรงงาน และนักจัดตั้งหลายท่าน มีแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายมีการระดมทุน จัดคอนเสิร์ต การทำงานของกลุ่มฯได้แบ่งพื้นที่ทำงานก็จริงแต่กรรมการจะดูเรื่องนโยบายและแผนงานหลัก พื้นที่ขับเคลื่อน มีการเข้าเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงานกลางมีการทำงานเชื่อมกับโอลุค ในการจัดตั้ง เชื่อมกับคสรท.ในการขับเคลื่อนนโยบาย มีการทำกิจกรรมด้านให้การศึกษาด้านสิทธิ และสวัสดิการด้านต่างๆ มีตัวแทนเข้าไปทำงานร่วม
มีการเข้าร่วมกับพันธมิตรเพื่อเคลื่อนไหวเรื่องต่อต้านการแปรรูป ซึ่งเป็นมติกลุ่มฯ ซึ่งมีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นแกนนำ และต่อมาประกาศไม่สนับสนุนพันธมิตร เนื่องจากสรส.ในฐานะแกนนำมีความเห็นไม่สอดคล้องทางการเมือง มาสมัยของ นายสมศักดิ์ สุขยอด เป็นประธาน กิจกรรมหลักยังมีการทำงานเชื่อมกับทั้งโอลุค และคสรท.มาปี 2553 มีการแยกของกลุ่มไป 20 สหภาพ เพื่อตั้งสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทยขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มภาคฯมีความอ่อนแอลง เพราะมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเกิดขึ้นใหม่ ช่วงที่ตนเข้ามาทำงาน ปี 2554-58 มีการเข้าร่วมชุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กปปส.) ช่วงปี 2557 ซึ่งเป้นมติของคสรท.ในฐานะองค์กรแม่ ทางกลุ่มภาคจึงเข้าร่วม ในประเด็นเคลื่อนไหว คือให้ยกเลิกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมองว่าเป็นการยกโทษให้กับกลุ่มการเมือง ซึ่งได้ส่งตัวแทนไปร่วมทำงานในหลายกลุ่ม ซึ่งในคสรท.มีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายด้วย มีการปรับโครงสร้างของกลุ่มฯกระจายออกไป 5 พื้นที่ มีมติสนับสนุนพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ช่วงปีที่ผ่านมาก็มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าจังหวัดชลบุรี มีการตั้งคณะทำงานในพื้นที่ขึ้นมา คือมีตัวแทนฝ่ายนายจ้าง รัฐ และลูกจ้างมานั่งคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่
ในฐานะตัวแทนพื้นที่แหลมฉบัง ซึ่งได้มีการปรับโครงสร้างของกลุ่มฯ มีสมาชิกในกลุ่มแหลมฉบัง 29 องค์กร กิจกรรมก็มีประชุมหารือกัน และจัดอบรมให้ความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และได้มีการทำงานร่วมกับหลายเครือข่าย ซึ่งข้อพิพาทเดิมมีการปิดงานจากนายจ้างหลายบริษัท การต่อสู้ของแรงงาน มีผู้นำถูกดำเนินคดี จำคุกทีเดียว มีประเด็นเรื่องความไม่ปลอดภัยในการทำงานส่งผลให้คนงานต้องเสียชีวิต และนายจ้างก็ปิดกิจการไม่จ่ายค่าชดเชย การต่อสู้ต้องเคลื่อนไหวเดินทางร่วมกันหลายสหภาพแรงงานเข้ากรุงเทพ เพื่อให้กระทรวงแรงงานแก้ไขปัญหา ความรุนแรงทางอิทธิพลท้องถิ่นมีการยิงข่มขู่ผู้นำที่บ้าน และในที่ชุมนุม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
จากนั้นคุณวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้มีการมอบนิทรรศการให้กับทางกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกไว้เพื่อจัดให้การศึกษากับแรงงานในพื้นที่ต่อไป โดยมีคุณไพฑรูย์ บางหรง ประธานกลุ่มฯ และคุณสมพร ขวัญเนตร เลขาธิการกลุ่มฯ เป็นผู้รับมอบ