สรส.แถลงการณ์ เสนอตั้งคณะทำงานฟื้นฟูการบินไทย มติเป็นเอกฉันท์ร่วมปกป้องให้เป็นสายการบินแห่งชาติ แจงไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการในการฟื้นฟูของรัฐบาล
วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง มติเอกฉันท์องค์กรสมาชิก สรส. แต่งตั้งคณะทำงานฟื้นฟูการบินไทย ณ ห้องประชุมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) โดยมีเนื้อหา ดังนี้
ตามที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย โดยผ่านกระบวนการล้มละลายอันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการฟื้นฟูการบินไทยตามแผนที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำขึ้น และได้เสนอผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สังกัดกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อนหน้านี้กว่า 2 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทุกฝ่ายมีการรับรู้ในการดำเนินการทำแผน มีการรายงานทุกครั้งในการประชุม คนร. ยกเว้น สหภาพแรงงานและพนักงานที่ไม่มีส่วนรับรู้แต่ประการใด จนในที่สุดกระบวนการฟื้นฟูตามแผนเดิมที่ผู้บริหาร สคร. คนร. และ ครม. รับรู้และมีส่วนร่วมนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ปราศจากผู้รับผิดชอบ จนในที่สุดต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและจะค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยฟื้นฟูอีกเป็นจำนวน 54,000 ล้านบาท จนสังคมต้องก่นด่าผ่านสื่อออนไลน์รวมทั้งสื่อมวลชนต่างพร้อมใจกันเสนอข่าว และเป็นช่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาประชาชน และยังไม่ทันเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ยังไม่ยื่นต่อศาลล้มละลาย ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานในการฟื้นฟู กระทรวงการคลังก็ได้ขายหุ้นบริษัทการบินไทยออกไปทันทีจำนวน 69 ล้านหุ้น ๆ ละ 4.03 บาท จำนวนเงิน 278 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.17 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่การบินไทยมีหนี้สินสูงถึง 246,000 ล้านบาท ซึ่งการขายหุ้นออกไปจำนวนดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้สถานะหนี้ของการบินไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแต่ประการใด แต่การขายหุ้นออกไปจากกระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยว่าร้อยละ 51 ทำให้บริษัทการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และทำให้การตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู จากพนักงานการบินไทยสิ้นสุดลงตามนัยของกฎหมายเพราะจะทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสภาพไปด้วย จากนี้ไปการดำเนินการก็ปราศจากการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากคนการบินไทย
จากที่กล่าวมาคงกล่าวได้ว่านี่คือ “ขบวนการปล้นการบินไทย สายการบินแห่งชาติ” คือ “ขบวนการล้มสหภาพแรงงาน” ซึ่งได้พยายามทำมาก่อนหน้านี้และมาบรรลุในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และที่สำคัญ “คนที่พยายามทำลายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ตั้งแต่ต้น นับแต่ปี พ.ศ.2544 ก็ยังเป็นเสนาบดีในรัฐบาลชุดนี้” ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อมีเหตุที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยผ่านกระบวนการโดยศาลล้มละลายทุกอย่างต้องหยุด เพื่อรอคำสั่งของศาลว่าให้ดำเนินการอย่างไร แต่กรณีนี้เร่งรีบในการขายหุ้น เร่งรีบแย่งชิงในการเสนอคนของตนเองเข้าไปเป็นคณะทำงาน และคณะกรรมการในการตรวจสอบของรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง…ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเงื่อนงำที่ไม่น่าไว้วางใจ
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีนโยบายที่แจ่มชัดในการต่อต้านการแปรูปรัฐวิสาหกิจ ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ มีองค์กรสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงานทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชนและลูกจ้างภาครัฐ จำนวน 44 แห่ง และมีสาขาภูมิภาค 9 สาขา และศูนย์ประสานงาน สรส. ประจำจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ได้สื่อสารและหารือกันเป็นระยะในสถานการณ์ที่ผ่านมา และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและรัฐวิสาหกิจเป็นกำลังอันสำคัญในการเป็นเครื่องมือของรัฐบาล
แต่สำหรับ เรื่องการบินไทยกับการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก สรส. จึงได้เชิญประธานสหภาพแรงงานองค์กรสมาชิกทุกแห่ง ที่ปรึกษา และ “คนการบินไทย” มาร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่เป็นทิศทางเดียวกันคือ “ไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการในการฟื้นฟูของรัฐบาล” เพราะการฟื้นฟูนั้น ไม่ได้เริ่มที่การค้นหาความจริงและการทำความจริงให้ปรากฏ เพราะทราบกันดีว่าปัญหาที่แท้จริงของการล้มละลายของบริษัทการบินไทย สายการบินแห่งชาติ คือการทุจริต ของนักการเมืองและผู้บริหาร ทั้งทุจริตเชิงนโยบายและการบริหารงานในการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นการจัดซื้อเครื่องบิน การเปลี่ยนเครื่องยนต์ การให้ผู้แทนจำหน่ายบัตรโดยสาร การตั้งบริษัทลูกเพื่อแข่งขันในสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นต้น แต่สุดท้ายมาจบลงที่การลดเงินเดือน ใส่ร้ายพนักงานที่ตั้งใจทำงานและยุบสหภาพแรงงาน คือเงื่อนงำที่ไม่อาจไว้วางใจและยอมรับได้
ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะต่อสู้ร่วมกันจนถึงที่สุด เพื่อให้บริษัทการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติต่อไป และได้มีการตั้ง “คณะทำงานฟื้นฟูการบินไทย” โดยคณะทำงานประกอบด้วย ประธานสหภาพแรงงานองค์กรสมาชิกของ สรส. และ “คนการบินไทย” ที่ยังมีจิตใจต่อสู้ โดยมีเลขาธิการ สรส. เป็นประธานคณะทำงาน และจะเชิญภาคี แนวร่วม พันธมิตร ทั้งที่เป็นองค์กรภาคประชาชน องค์การแรงงาน นักวิชาการ ที่ยังคงรัก หวงแหนการบินไทย สายการบินแห่งชาติ และวางจังหวะก้าวในการขับเคลื่อนคู่ขนานกับรัฐบาล และจะแถลงให้ทราบการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป ขอให้องค์กรสมาชิกติดตามและร่วมกันขับเคลื่อนตาม มติ สรส. และคณะทำงานต่อไป
“ร่วมปกป้องการบินไทยให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ”
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
27 พฤษภาคม 2563