หยุดละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ
ที่บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) มีภารกิจในการช่วยเหลือคนงานโดยไม่เลือกว่าจะเป็นชนชาติ เชื้อชาติไหนถือเป็นเรื่องที่สำคัญได้กำหนดไว้ในธรรมนูญ นโยบายและแผนการทำงานของทั้งสององค์กร กรณีของบริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัดถือเป็นกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานที่น่ากังวลยิ่งสืบเนื่องจากกรณีพัฒนาซีฟูดส์ ที่จ.สงขลา แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามที่จะเข้าไปคลี่คลายปัญหา แต่ดูเหมือนสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งคำยืนยันนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้พบกับคนงานที่หลบหนีจากการทำงานที่เลวร้ายจากบริษัทไวต้า ฟู้ด
เวลาผ่านไปเกือบ 4 เดือนหลังจาก ที่มีการประท้วงของแรงงานข้ามชาติเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ที่ บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด แต่ทุกวันนี้ สภาพปัญหาการละเมิดแรงงานยังไม่ได้รับการแก้ไข แรงงานข้ามชาติยังคงตกอยู่ภายใต้การเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงาน
ด้วยการถูกดค่าจ้าง และสภาพการทำงานที่เลวร้ายคนงานไม่สามารถทนได้อีกต่อไป ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าจึงได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อขอให้นายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฏหมายกำหนด ทำให้สังคมภายนอกได้รับรู้ว่า ได้มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิแรงงานของนายจ้างต่อคนงานพม่าที่ทำงานอยู่ที่บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด
บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด เป็นโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ได้แก่ ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ และสับปะรด เพื่อการส่งออก จำนวน 3 โรง ตั้งอยู่ที่ ต.แสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี มีแรงงานไทยประมาณ 500 คน และแรงงานข้ามชาติ สัญชาติพม่ามากถึง 7,000 คน ซึ่งแรงงานพม่า ทั้งหมดจะถูกว่าจ้างผ่านนายหน้าชาวพม่าและบริษัทซับคอนแทร็ค (sub-contract)ของคนไทย ประมาณ 12 ราย
แรงงานพม่า ส่วนใหญ่ถูกนายหน้านำมาจากประเทศพม่า โดยจะต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าเป็นค่าเดินทางคนละ 15,000-20,000 บาท ต้องจ่ายค่าอาหารและที่พักงวดละ 1,200 บาท (2,400 บาท/เดือน) เมื่อทำงานได้รับค่าจ้าง นายหน้าก็จะยึดเงินไว้และแบ่งให้คนงานใช้ครั้งละ 100-200 บาท(200-400 บาท/เดือน) โดยระบบการค่าจ้างจะจ่ายผ่านนายจ้าง(sub-contract)ที่เป็นคนไทย แล้วนายจ้างที่เป็นคนไทยจะจ่ายให้นายหน้าชาวพม่า อีกทอดหนึ่ง แล้วนายหน้าชาวพม่าจึงจ่ายเงินให้แก่คนงาน และหากต้องการเปลี่ยนนายจ้างจะต้องแจ้งนายหน้าทราบและต้องได้รับอนุญาตจากนายหน้าโดยต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการเปลี่ยนนายจ้างคนละ 2,000-5,000 บาท และต้องจ่ายค่าทำบัตรอนุญาตการทำงานคนละ 5,500 บาท
คนงานต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มี 2 กะ คือเช้ากับกลางคืน ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกัคือวันละ 252 บาทและ ค่าโอทีชั่วโมงละ 32 บาท การทำงาน ไม่มีค่ากะหรือเบี้ยขยัน เมื่อทำงานในวันหยุด ได้รับค่าจ้างเหมือนวันปกติ แต่เมื่อถึงวันรับค่าจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนดตามที่ตกลงกัน ไม่มีการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี หากลาป่วย จะไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี เนื่องจากปริมาณงานของแต่ละโรงงานที่ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบตามฤดูกาล แรงงานสามารถทำงานสลับโรงงานกันได้ แต่ปัญหาที่ประสบคือแรงงานมักจะไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากโรงงานเดิม หรือกรณีที่ทำงานไม่ครบ 8 ชั่วโมง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอ ทางโรงงานจึงสั่งหยุดงาน โดยแรงงานจะได้รับค่าจ้างตามชั่วโมงทำงานเท่านั้น
ภายในโรงงานมีน้ำดื่มสะอาดไม่เพียงพอ แรงงานต้องถือกระติกน้ำดื่มมาเอง คนงานต้องซื้อ อุปกรณ์ เครื่องมือและชุดทำงานเอง ราคาชุดละ 500-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับแผนกที่ทำงาน การจ่ายค่าจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 9 และ 24 มีสลิปเงินเดือนของแต่ละคน (ในสลิปจะมีการระบุว่าเป็นแรงงานซับคอนแทร็คบริษัทใด) นายหน้าชาวพม่าจะหักเงินบางส่วนก่อนจ่ายเงินให้คนงาน จากการตรวจสอบพบว่านายหน้ามักอ้างเสมอว่า จะต้องเรียกเก็บเงินจากคนงานเพื่อจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับการอยู่และมีงานทำ โดยคนมีบัตรหักงวดละ 150 บาท (300บาท/เดือน) คนไม่มีบัตรหักงวดละ 300 บาท (600 บาท/เดือน) และจ่ายค่าทำบัตร งวดละ 500 บาท (1,000 บาท/เดือน) กรณีที่ลาออก มักจะไม่ได้รับเงินที่ถูกหักล่วงหน้าสำหรับค่าทำบัตรคืน
จากการตรวจสอบในกระบวนการผลิตและส่งออกสินค้า พบว่า บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด เป็นบริษัทคู่ค้าของบริษัท Walmart ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สัญชาติอเมริกัน ดังนั้นหากระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยมที่พยายามจะลดต้นทุนการผลิตโดยไม่คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนงาน ปัญหาการกดขี่แรงงานที่นับวันจะเพิ่มความรุนแรง และซับซ้อนขึ้น แรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มที่มี่ความเสี่ยงในการถุกเอาเปรียบสูงมีช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ไม่สามารถจะคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง
ดังนั้นเพื่อให้สิทธิของคนงานได้รับการคุ้มครอง อย่างไม่เลือกปฏิบัติในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องเคารพในศักดิ์ศรี จึงมีข้อเสนอดังนี้
1.ขอให้บริษัทไวต้าฟู้ด 1989 จำกัด เร่งดำเนินการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ และคนงานให้เป็นไปตามกฏหมาย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆสามารถเข้าไปตรวจสอบสภาพการทำงาน การจ้างงานในบริษัทได้เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ และต้องดำเนินการต่อบริษัทนายหน้าทั้งหลาย ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน อีกทั้ง ขอให้บริษัทเคารพสิทธิคนงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเจรจาต่อรองร่วม เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของพวก
2.ขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าประสานงานเพื่อวางมาตรการในการช่วยเหลือคนงาน และ ดำเนินการต่อบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรที่ละเมิดสิทธิแรงงานโดยเร่งด่วน
3.ขอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทWalmart ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสัญชาติอเมริกันในกรณีสั่งซื้อสินค้าจากต้นทางการผลิต จากสถานประกอบการที่ละเมิดสิทธิแรงงาน และต้องมีมาตรการโดย บริษัท Walmart ต้องปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานจรรยาบรรณทางการค้า(Code of conduct)
4.ขอให้บริษัท Walmart เร่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานในบริษัทไวต้าฟูดส์ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยเข้าร่วมขบวนการตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพื่อสิทธิประโยชน์และชื่อเสียงของบริษัท Walmart และ บริษัทไวต้าฟูดส์
อย่างไรก็ตามการออกแถลงการณ์และข้อเสนอข้างต้น สรส.และ คสรท.ไม่ได้มีเจตนาใดๆที่จะทำให้บุคคล หรือองค์กรใดได้รับความเสียหาย สรส.และคสรท.มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่มั่นคงในการคุ้มครองสิทธิของคนงานทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิและการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้มวลมนุษยชาติในโลกนี้อยู่กันอย่างสันติสุข และยั่งยืน จึงขอให้ บุคคล องค์กร และรัฐบาลที่กล่าวถึง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน หากยังคงได้รับการเพิกเฉย สรส.และ คสรท.จะประสานขบวนการแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้นต่อไป
ด้วยความสมานฉันท์
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)
9 สิงหาคม 2555