สรส. ยื่นค้านขยายระยะเวลาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2


วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(สร.กทพ.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส.ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง.”ขอคัดค้านและขอให้ทบทวนการขยายระยะเวลาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด” โดยสรุปข้อเรียกร้องมี ดังนี้

ทางสรส.และสร.กทพ.ได้พยายามทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอันเป็นไปตามวัตถุประสงในการจัดตั้งสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 40(4) “ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ” ทั้งด้วยภารกิจและจิตสำนึกของ สร.กทพ.และพนักงานที่ได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่การทางพิเศษฯในการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทเอกชนในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด

โดยการแลกกับการยุติกับข้อพิพาทที่ศาลยังไม่ได้พิพากษามาเป็นข้ออ้างหรือเหตุในการพิจารณาขยายสัมปทาน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ และที่สำคัญ

“ผลประโยชน์แห่งรัฐมิควรอย่างยิ่งที่จะนำมาแลกหรือตอบแทนกัน” ซึ่งในทางที่ถูกต้องควรพิสูจน์ให้แน่ชัดตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาล และผู้บริหารการทางพิเศษฯต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อพิทักษ์ ปกป้องผลประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน มิใช่การณ์คาดเดาผลแห่งการดำเนินการทางกฎหมายแล้วเกรงว่าจะพ่ายแพ้แก่คู่พิพาทแล้วจำยอมเจรจาต่อรองแลกกันซึ่งผลประโยชน์ ซึ่งอาจมองได้ว่าจงใจเจตนาทำให้รัฐเสียหายซึ่งอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการยุติกับข้อพิพาทที่ศาลยังไม่ได้พิพากษามาเป็นข้ออ้างหรือเหตุในการพิจารณาขยายสัมปทาน เนื่องจากยังมีประเด็นที่มีนัยสำคัญ คือ

1. ที่มาของข้อมูลที่ใช้เป็นแนวทางในการเจรจาไม่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นข้อมูลของที่ปรึกษาที่ยังมิได้ผ่านการตรวจสอบ หรือตรวจการจ้างตามขั้นตอนของกฎหมาย

2.ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ผลการเจรจาเป็นการบรรเทาความเสียหายของรัฐอย่างไร ได้มีการศึกษาหรือวเคราะห์ความคุ้มค่าของการขยายสัมปทาน เพื่อใช้ประกอบการเจรจาต่อรองแล้วหรือไม่ เนื่องจากมีการนำข้อพิพาทรวมต้นเงินและดอกเบี้ย อีกทั้งมูลค่าที่เอกชนยังไม่เรียกร้องมาเป็นเหตุในการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งมูลค่าที่เอกชนยังไม่เรียกร้องยังมีประเด็นเรื่องของการตีความกฎหมายเรื่องของการขาดอายุความ

3. การต่อระยะเวลาของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานครให้เอกชน ทั้งที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั้งหมด

4. การให้สิทธิเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมในการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) และสิทธิการใช้พื้นที่ใต้เขตทาง บนเขตทาง และพื้นที่เชื่อมต่อโครงสร้างทางด่วน มีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไหร่

มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวแล้วหรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายเดิมหรือไม่ เหตุใดจึงไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ชัดเจน หรือเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของนักลงทุนต่างๆ ได้เข้าร่วมพัฒนาประเทศ ตามวัตถุประสงค์การขอเวนคืนพื้นที่มาจากประชาชน

5. ร่างสัญญาสัมปทานดังกล่าวมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ได้มีการเร่งรีบนำเสนอคณะกรรมการกำกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และ โครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ซึ่งใครเป็นผู้ร่างสัญญา การทางพิเศษฯ ได้ตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดข้อพิพาทที่จะนำไปสู่การที่รัฐต้องสูญเสียเงินมหาศาลจากการแพ้คดี(ค่าโง่)นับแสนล้านบาท ดังเช่นปัจจุบัน

6. ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งเป็นตัวแปรที่จะแสดงผลให้เห็นเด่นชัดว่า การทางพิเศษฯ จะเสียหาย หรือได้ประโยชน์อย่างไรจากการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ แต่หากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว และสภาวิชาชีพบัญชีพิจารณาภายหลังให้การทางพิเศษฯ ต้องบันทึกบัญชีเพื่อรับสภาพหนี้ การทางพิเศษฯ จะต้องไปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลกำไรขาดทุนเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันประมาณ 6-7 ปี ซึ่งจะทำให้เป็นภาระของรัฐบาล อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศชาติ ประชาชน และพนักงานอย่างรุนแรงอีกด้วย

ดังนั้นสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)จึงขอสนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(สร.กทพ.)ที่ได้ดำเนินการให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ ประกอบกับภารกิจและสำนึกในหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทั้งระดับ กำหนด กำกับ นโยบาย และผู้บริหารในระดับปฏิบัติการควรที่รับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนควรรับฟัง สรส.จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาลทบทวนการขยายระยะเวลาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ดำเนินการสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดเพื่อปกป้อง รักษา ผลประโยชน์แห่งรัฐ องค์การของรัฐ และประชาชน และขอให้ประชาชนผู้รักความเป็นธรรม และสื่อมวลชน ร่วมกันตรวจสอบติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนเอง