สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ ร่วมกับ 2 สหภาพยื่นหนังสือถึงรมต.ศักดิ์สยาม เร่งแก้ปัญหาข้อพิพาทกรณีทางด่วน พร้อมหนุนสู้คดีค่าโง่โฮปเวลล์ฯ
วันที่ 12 กันยายน 2562 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ร่วมกับสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(สร.กทพ.)และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)เข้ายื่นหนังสือต่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการคมนาคม(รมต) เพื่อเร่งแก้ไขปัญหากรณีข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)กับบริษัทในเครือของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กระทรวงคมนาคม แต่เนื่องจาก รมต.ติดภารกิจเร่งด่วนจึงมอบเลขานุการมารับฟังข้อมูลและรับหนังสือโดย สรส.
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมดำเนินการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐวิสาหกิจกับบริษัทเอกชนที่รับสัมปทาน ซึ่งในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐมีนโยบายเพิ่มบทบาทภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการกับรัฐและหน่วยงานของรัฐมากขึ้นที่เรียกว่า PPP : Public Private Partnership แต่จากนโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายจนนำไปสู่การเกิดความขัดแย้ง เกิดข้อพิพาท และเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกันระหว่างหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ กับบริษัทที่ได้รับงาน ได้รับสัมปทาน ผลจากความขัดแย้ง ข้อพิพาท การฟ้องร้องคดีมีการเรียกร้องค่าเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เกิดข้อพิพาท 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ
1. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ซึ่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลปกครองถึง 17 คดี โดยทั้ง 2 บริษัทฟ้อง กทพ. 15 คดี อีก 2 คดี กทพ. ฟ้องบริษัท ซึ่งมี 1 คดี ที่ว่าด้วยการแข่งขันที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ กทพ. แพ้คดีและจ่ายค่าเสียหายตามคำฟ้องให้แก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เป็นมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท ส่วนอีก 16 คดี อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ บางคดียังไม่ดำเนินการฟ้องร้องดังที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทางสื่อสาธารณะ สื่อออนไลน์ และประชาชนทั่วไป ซึ่งการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทเอกชนในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด โดยแลกกับการยุติกับข้อพิพาทที่ศาลยังไม่ได้พิพากษามาเป็นข้ออ้างหรือเหตุในการพิจารณาขยายสัมปทาน และไม่เป็นธรรมต่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพราะจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ และที่สำคัญ “ผลประโยชน์แห่งรัฐมิควรอย่างยิ่งที่จะนำมาแลกหรือตอบแทนกัน” เพราะจะทำให้รัฐ และ กทพ. เสียประโยชน์ จากรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรเป็นขาดทุนทันทีและจะมีปัญหาเรื่องเงินนำส่งรัฐ และควรดำเนินการให้ถึงที่สุดตามกระบวนการ และต้องพิจารณาว่าเมื่อหมดสัญญาแล้วระหว่างที่รัฐดำเนินการเอง กับ ให้สัมปทานแก่เอกชนทำอย่างไหนมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชนมากกว่ากัน
2. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2534 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 แต่โครงการมีความคืบหน้าเพียง 13.77% หลังดำเนินการก่อสร้างมาเป็นเวลา 7 ปี ขณะที่แผนงานกำหนดว่าจะต้องมีความคืบหน้า 89.75% ซึ่งเป็นเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต่อมารัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541 จนเป็นเหตุให้ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ฟ้อง รฟท. ในการบอกเลิกสัญญาโดยมิชอบต่อศาลปกครอง ต่อมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ รฟท. จ่ายค่าเสียหายให้ บริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นจำนวนเงินสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระภายใน 180 วัน หลังคำพิพากษาการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งคณะทำงานและยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่และล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีใหม่เนื่องจากผู้ร้องไม่มีประเด็นใหม่ แต่จากข้อเสนอของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ (สร.รฟท.) เห็นว่ายังมีประเด็นใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ที่การรถไฟฯ กับกระทรวงคมนาคมยังไม่หยิบยกขึ้นมา คือ ความเสียหายและสูญเสียโอกาสอันเนื่องมาจากโครงการดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่ตามสัญญาโครงการอันเนื่องมาจากข้อพิพาท ซึ่ง สร.รฟท. เห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายและการสูญเสียโอกาสเหล่านี้ด้วย
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้อง รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนเสมอมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง คือ สร.กทพ. และ สร.รฟท.ได้ยึดถือ จุดยืน แนวทาง ของ สรส. มาปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้อง รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนและองค์การของรัฐ จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งดำเนินการตามข้อเสนอ
ของทั้ง 2 สหภาพ และในอนาคตควรพิจารณาทบทวนนโยบายในโครงการต่าง ๆ ของราชการ หน่วยงานของรัฐที่ให้เอกชนร่วมลงทุนหรือให้สัมปทานว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนเทียบเคียงผลประโยชน์และปัญหาที่จะตามมากับการที่รัฐมาดำเนินโครงการเองในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณประโยชน์ของประเทศ และ สรส. ขอเป็นกำลังใจให้การดำเนินการเหล่านี้สำเร็จเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน