สรส.พร้อมเครือข่ายแถลงทางออกประเทศไทย กรณีสหรัฐอเมริการะงับสิทธิGSP เหตุละเมิดสิทธิแรงงาน

วันที่ 8 มกราคม 2563 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยการสนับสนุนของขบวนการแรงงานในระดับสากล ประกอบด้วย ITUC, ETUC, IndustriALL Global Union, และ ITF ได้ร่วมกัน แถลงการณ์ “ทางออกสำหรับประเทศไทย: การระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย ที่มีเหตุจากการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย” ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ถ.เพลินจิต ลุมพินี กรุงเทพฯ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) แถลงว่า ประเทศไทยมีปัญหาแรงงานที่สะสมมานาน ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุจากการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล สิทธิแรงงานถูกจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม สิทธิในการนัดหยุดงานอันเป็นเครื่องมือสำหรับคนงานในการเจรจาต่อรองร่วม ตัวอย่างเช่นผู้นำ 7 คน จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รถไฟแห่งประเทศไทย ยังคงต้องถูกหักเงินเดือน เพื่อจ่ายค่าปรับจำนวน 24 ล้านบาท และผู้นำจำนวน 13 คนถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาเรื่องการทุจริตและการประพฤติมิชอบ อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ด้านแรงงาน เรียกร้องมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2552 ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 คน ถูกตัดสินโดยศาลฎีกาคดีอาญาว่ามีความผิด และมีคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหายจำนวนเงิน 3,479,793 บาท อันเกิดจากการชุมนุมที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี พ.ศ.2556 สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเลคทริค (ประเทศไทย) ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์จนเกือบจะหมดหายไปจากสถานประกอบการ หลังจากที่คนงานต้องยอมจำนนต่อกลยุทธ์ทำลายสหภาพแรงงานที่รุนแรง (รวมทั้งการบังคับให้กรรมการสหภาพแรงงานที่เหลืออยู่เข้าร่วมฝึกแบบทหารและให้คนงานลงนามเอกสารข้อตกลงแต่ละคนไม่ให้มีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานอีกต่อไป แนวปฏิบัตินี้กำลังจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับใช้ในการกำจัดสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่อื่นๆ ต่อไป และการฟ้องร้องเป็นคดีหมิ่นประมาทที่บริษัทฟาร์มไก่ธรรมเกษตร ฟ้องนักเคลื่อนไหว คนงาน ผู้สื่อข่าว และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น

ไม่เพียงแต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น การละเมิดสิทธิของแรงงานและการเลือกปฏิบัติ ต่อต้านสหภาพแรงงาน ยังคงเกิดมากขึ้นทุกวัน ตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 สมาชิกสหภาพแรงงานจากบริษัท มิซูโน พลาสติก จำกัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากว่า 30 คน ถูกปลดออกจากงานเพียง 1 วัน หลังจากการประชุมสหภาพแรงงานครั้งแรกและสมาชิกสหภาพแรงงาน 700 คน (ในจำนวนพนักงานทั้งหมด 1,000 คน) ที่ บริษัท พงศ์พารา โคดันรับเบอร์ ย่านอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร ต้องตกงานหลังจากที่บริษัทปิดกิจการ เพียงเพื่อเปิดใหม่ภายใต้ชื่อใหม่ในสถานที่เดียวกันและมีความเป็นเจ้าของเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ให้คนงานที่ถูกปลดออก มาสมัครงานใหม่ เพื่อรับเงินเดือนและสวัสดิการเสมือนพนักงานใหม่

การละเมิดสิทธิของแรงงานนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนจำนวน 9 ฉบับ ต่อคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (ILO CFA) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งได้เคยให้ความเห็นในรายงานฉบับที่ 389 (22 มิถุนายน 2562) ว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 และการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 นั้นล่าช้ามาเป็นระยะเวลานาน แม้จะมีการตรวจสอบครั้งแรกของคณะกรรมการILO CFA และให้คำแนะนำในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ก็ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในเรื่องเสรีภาพในการสมาคมสิทธิในการจัดตั้งองค์กรของแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม และสิทธิในการนัดหยุดงาน ในร่างแก้ไขของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 แม้ว่ารัฐบาลจะรายงานผลการแก้ไข ตามรายงานฉบับที่ 389 ว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีสิทธิที่จะนัดหยุดงานได้ แต่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 นั้น ยังคงกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดต่อความสามารถของแรงงาน และสหภาพแรงงาน รวมทั้งผู้นำของพวกเขาที่จะรวมตัวนัดหยุดงาน และยังกำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจอย่างมากที่จะสั่งยุติการนัดหยุดงาน เพื่อประโยชน์ของ “เศรษฐกิจ” หรือ “ความสงบเรียบร้อย”

ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ เมื่อวันที่26 ตุลาคม 2562 สหรัฐอเมริกาได้อ้างเป็นเหตุผลที่จะประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP: Generalized System of Preferences) กับสินค้าไทย จำนวน 573 รายการเป็นการชั่วคราว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่จะสร้างความเสียหายกับการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อมูลส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 2561 พบว่า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากไทยในรายการที่กำลังจะถูกระงับสิทธิคิดเป็นมูลค่า 1,919 ล้านเหรียญ และในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าภายใต้สิทธิพิเศษ GSP คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 39,000 ล้านบาท

ในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานดังที่กล่าว เพื่อทำให้การจ้างแรงงานในประเทศไทยเป็นไปตามาตรฐานสากล อีกทั้งทำให้ปัญหาการระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP กับสินค้าไทยจำนวน 573 รายการเป็นการชั่วคราวหมดไป ITUC (International Trade Union Confederation) ได้ลงนามในหนังสือร้องเรียนรัฐบาลไทย ร่วมกับองค์กรด้านแรงงานอีก 3 แห่ง ได้แก่ สมาพันธ์สหภาพแรงงานยุโรป (ETUC: European Trade Union Confederation), IndustriALL Global Union และสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF: International Transportation Federation) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิแรงงานให้ดีขึ้นในประเทศไทย เพื่อจะนำไปสู่ในการแก้ไขการระงับการให้สิทธิพิเศษ GSP ต่อไป

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมด้วยการสนับสนุนของขบวนการแรงงานในระดับสากล ประกอบด้วย ITUC, ETUC, IndustriALL Global Union, และ ITF ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งแก้ไขปัญหาด้านแรงงานดังกล่าว โดยยึดหลักการมาตรฐานแรงงานระดับสากล เพื่อให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีสภาพการจ้างงานที่ดี อันจะส่งผลให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาทบทวนการระงับการให้สิทธิพิเศษ GPS คืนให้กับประเทศไทย พร้อมทั้งให้รัฐบาลไทยทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่า (Decent Work) อันเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้มีความยั่งยืนต่อไป ซึ่ง สรส. พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปด้วยดี เฉกเช่นหลายกรณีก่อนหน้านี้