สมาพันธ์แรงงานเกาหลี มอบรางวัลย์ Jeon Tae-il ให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ภาพFacebookDmitry Prokop 15078524_1172414639501188_3793896671684650378_n

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายงานว่า สมาพันธ์แรงงานกลางเกาหลีใต้ระบุว่า กลุ่มนักกิจกรรมด้านแรงงานของเกาหลีใต้เตรียมประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลพิเศษในปีนี้ คือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักสหภาพแรงงานและนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาถือเป็นผู้ได้รับรางวัลคนแรกที่ไม่ใช่คนเกาหลี

โดยมี นางสาวประกายดาว พฤกษาเกษมสุข บุตรสาวของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้แทนรับรางวัล Jeon Tae-il แทนพ่อ(สมยศ พฤษาเกษมสุข) ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งมอบโดย สมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ (The Korean Confederation Of Trade Unions -KCTU) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้

ที่มาของรางวัล Jeon Tae-il ที่สมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ (KCTU) มอบให้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นั้น “ชุน แต อิล (Jeon Tae-il)เป็นคนงาน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานชาวเกาหลีใต้ เขากระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) โดยการจุดไฟเผาตัวเอง ในวัยแค่ 22 ปี เพื่อประท้วงสภาพการทำงานที่เลวร้ายของหลายๆโรงงาน ในประเทศเกาหลีใต้ ความตายของเขาช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจสภาพการทำงานของแรงงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานและช่วยสร้างขบวนการเคลื่อนไหวในรูปแบบของสหภาพแรงงานในเกาหลีใต้ รูปปั้นของเขาตั้งอยู่บนสะพาน ชุน แต-อิล ซึ่งเป็นชื่อที่ 2 ของสะพานแห่งหนึ่งในกรุงโซล เป็นการเปลี่ยนชื่อสะพานเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา จนถึงปัจจุบัน”

ryu3667-620x412

กัง ยอนเบ หัวหน้าส่วนการศึกษาและข้อมูลข่าวสาร สหภาพแรงงานสาธารณสุขเกาหลีใต้ กล่าวว่า รางวัล ชุน แต อิล เป็นรางวัลเพื่อเป็นเกียรติแก่นักกิจกรรมด้านแรงงานในเกาหลีมาตลอด 23 ปี ครั้งนี้จะมอบให้กับสมยศผู้ร่วมทำงานกับสหภาพแรงงานเกาหลีมาอย่างยาวนาน โดยตั้งใจจะให้มันช่วยเน้นย้ำความสำคัญของแคมเปญระดับโลกที่เรียกร้องให้ปล่อยนักกิจกรรมด้านแรงงานคนนี้จากเรือนจำ

“ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สมยศและผมทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดในสหภาพแรงงานนานาชาติกิจการเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ และแรงงานทั่วไป (ปัจจุบันคือ สหภาพแรงงานอินดัลเตรียลออล) สมยศเคยพาสมาชิกสหภาพจากไทยมาร่วมอบรมในเกาหลีหลายต่อหลายครั้ง เราพิจารณาแล้วเห็นว่าเขาเป็นมิตรที่ดีกับการเคลื่อนไหวขบวนการแรงงานในภูมิภาค” นายกังกล่าว

เขากล่าวอีกว่า สมยศไม่เพียงแต่เป็นตัวหลักในการสนับสนุนสิทธิของแรงงานในโรงงานไทย แต่เขายังพยายามขับเคลื่อนในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยของประทศด้วย ดังนั้น นักสหภาพเกาหลีจึงตัดสินใจร่วมกับการณรงค์ระดับโลกที่เรียกร้องให้ปล่อยสมยศและนักโทษทางการเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2554 หรือ 5 วันหลังจากรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภายกเลิกกฎหมายมาตรา 112  หลังจากถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวและต่อสู้คดี ในวันที่ 23 ม.ค.2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปีฐานเป็นบก.นิตยสารและอนุญาตให้มีการตีความบทความ 2 ชิ้นที่มีลักษณะเสียดสีและเข้าข่ายผิดกฎหมาย ต่อมาวันที่ 19 ก.ย.2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ขณะคณะข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหรือ OHCHR แสดงความผิดหวังในคำพิพากษาดังกล่าวในทันที