สมานฉันท์ จับมือกลุ่มผู้ป่วย ค้านประชาพิจารณ์ร่างกม.นัด 10 กพ. พบรมว.แรงงาน

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม ได้ร่วมกันจัดเวทีเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชนรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ……. (องค์การมหาชน) โดยได้รับการสนับสนุนจาก แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพมหานคร วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้สรุป ปัญหาและอุปสรรค ข้อจำกัด และสาระสำคัญกระบวนการยกร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานว่า ตามที่พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 มีทั้งหมด 74 มาตรา โดยมาตราที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 52 ให้สถาบันฯมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และภาพแวดล้อมในการทำงาน
2. พัฒนา และสนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
3. ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐ และเอกชน
4. จัดให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านวิชาการ
5. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎหมาย
ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันฯ โดยอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรี ทั้งนี้ภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้
กระทรวงแรงงานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯซึ่งมีตัวแทนคือ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และนางสมบุญ สีคำดอกแค เข้าไปร่วมยกร่างฯ โดยสรุปโครงการสร้างร่างกฎหมายฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ (คปอ.) โดย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างตัวแทนฝ่ายเครือข่ายแรงงาน ภาคประชาชน กับตัวแทนฝ่ายข้าราชการ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่มาจากสภาองค์การลูกจ้าง มี 3 ประเด็นหลัก คือ วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ โดยทางเครือข่ายฯมีข้อเสนอเพิ่มเติม ดังนี้

ให้สถาบันมีอำนาจหน้าที่กระทำการร่วมดำเนินการกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นของรัฐ หรือเอกชนเกี่ยวกับการส่งเสริมการแก้ไขปัญหา
การวิจัย การบริการ การรับเรื่องร้องเรียน เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพราะสถาบันฯ จำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลทั้งทางตรง และทางอ้อม จำเป็นต้องมีภารกิจที่ชัดเจน การที่จะมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ก็เพื่อการเข้าถึงข้อมูลสด แท้จริง ไม่ใช่จากการรายงาน ทำหน้าที่ช่วยติดตามประสานงานแก้ไขปัญหา และให้แรงงานสามารถเข้าถึงการร้องทุกข์ได้ง่ายขึ้น
ทำให้สถาบันฯพัฒนา ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง ระเบียบ กฎหมาย รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย และสามารถทำวิจัยเชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ สามารถให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาแก่นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ในการส่งเสริม และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ
แต่กระทรวงแรงงานมองว่า เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับงานของสำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่แนวคิดของรัฐขัดแย้งกับกฎหมายมาตรา 40 ที่เมื่อกฎหมายจัดตั้งสถาบันฯบังคับใช้ ให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการโอนย้ายอำนาจ หน้าที่ กิจการ ทรัพย์สินฯลฯเข้ามาอยู่ในสถาบันใหม่

ความขัดแย้งต่อมา เรื่องการบริหาร และการดำเนินการในมาตรา 13 ให้มีคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กรณี สัดส่วนของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯจำนวน 11 คน ประกอบด้วยประธานกรรมการบริหาร ต้องไม่ใช่ข้าราชการ 1 คน กรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากข้าราชการ 2 คน กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 2 คน รวมเป็น 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ผู้อำนวยการสถาบัน 1 คน เพราะต้องการที่จะได้คนที่มีความสามารถ และเป็นอิสระจากทางราชการ

แต่ในส่วนของราชการ และตัวแทนลูกจ้าง ที่มาจากสภาองค์การลูกจ้าง เสนอสัดส่วนคณะกรรมการบริหาร คือประธานกรรมการฯข้าราชการก็เป็นได้ 1 คน กรรมการโดยตำแหน่งจากราชการอีก 3 คน กรรมการตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 2 คน รวม 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ผู้อำนวยการ 1 คน

เรื่องการได้ของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯทางเครือข่ายฯเสนอให้มาจากการสรรหา โดยกรรมการสรรหาที่เป็นกลางสำหรับตำแหน่งประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง อาจใช้วิธีสรรหา เช่นเดียวกัน หรือเลือกตั้งทางตรง คือ หนึ่งคน หนึ่งเสียงจากผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ระบบการเลือกตั้งไตรภาคีรูปแบบเดิม ที่ทางกระทรวงแรงงาน เสนอ ซึ่งร่างฉบับนี้กระทรวงแรงงาน จะนำมาจัดทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 โดยไม่สนใจข้อขัดแย้งที่ทางเครือข่ายฯมีข้อเสนอ

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในฐานะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมทำงาน เรื่องการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เกิดขึ้นหลังโศกนฏถกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตจำนวนมาก มีการรณรงค์เคลื่อนไหว โดยขบวนการแรงงานให้มีการชดเชยความสูญเสียของคนงาน และนำมาสู่การเคลื่อนไหวแก้ไขกฎหมายด้านการคุ้มครองเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเชิงโครงสร้าง จนมาถึงการผลักดันร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. และร่วมกันกับขบวนการแรงงานผลักดันอีกครั้ง จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีผลประกาศบังคับใช้ และร่างกฎหมายเพื่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

ประเด็นแรก ต้องการเห็นมิติใหม่ในการที่จะใช้งานวิชาการมาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน โดยเป็นสถาบันที่มีองค์ความรู้ ทำงานด้านข้อมูล เป็นศูนย์ข้อมูล มีการรับเรื่องราวข้อร้องเรียนจากคนงานในพื้นที่ และหากเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น กรณีไฟไหม้ สถาบันนี้ ควรมีส่วนในการเข้าไปตรวจสอบด้วย หากไม่มีเนื้องานเหล่านี้ คนงานก็จะได้สถานบันฯ ที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือคนงานได้
การต่อสู้ครั้งนี้มีความสำคัญในการที่จะทำให้สถานบันทำงานในการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน ให้เกิดขึ้นจริง

เรื่องคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ความต้องการ คือ ให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานกลับต้องการที่จะดำรงอำนาจเดิมไว้ คือ ระบบไตรภาคี ที่มาจากการเลือกตั้ง โดย ระบบตัวแทน ไม่ต้องถามว่าไตรภาคีมีปัญหาตรงไหน เพราะการทำงานของระบบไตรภาคี เป็นการส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในขบวนการแรงงาน ซึ่งจะเห็นการสอยการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อให้ได้ชัยชนะเข้าเป็นกรรมการไตรภาคี และไม่ใช่การได้ในระบบตัวแทนคนงานอย่างแท้จริง จึงไม่เห็นด้วยกับระบบไตรภาคี

 สถาบันต้องการคนที่มีความรู้ด้านความปลอดภัยทั้ง ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง จึงต้องมาจากการสรรหา และให้นายจ้าง ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการสรรหาตัวแทนของตัวเองเข้ามา แต่กระทรวงแรงงานยังใช้ระบบไตรภาคีที่มีสัดส่วนของข้าราชการเข้ามาเป็นผู้จัดการบริหาร กระทรวงแรงงานยังไม่ได้ควบคุมแค่เรื่องของการบริหารโดยกรรมการ แต่ยังมาควบคุมเรื่องเงินที่ต้องมาบริหารด้วย มีการจัดสรรจากกองทุนเงินทดแทน โดยมีคณะกรรมการความปลอดภัยเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ ทำไมถึงไม่มีการจัดสรรโดยการหักเป็นเปอร์เซนต์ในการมาบริหารจัดการ ฉะนั้นสถาบันฯที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

การที่กระทรวงจะมีการทำประชาพิจารณ์ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯฉบับดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อต้องการที่รับฟังความต้องการจากคนงานอย่างแท้จริง และอยากให้การเมืองเป็นผู้ที่จะตัดสินใจในความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายประชาชนกับกระทรวงแรงงาน ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิต และการเมืองถือเป็นตัวแทนของประชาชนที่เลือกมาในระบบประชาธิปไตย หากตัดสินผิดก็มีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า จึงอยากให้การเมืองเข้ามาผลักดันข้อเสนอที่ยังมีความขัดแย้งนี้

นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า สถาบันความปลอดภัยฯ ไม่ใช่สถาบันที่จะสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในชีวิตคนทำงาน ในระบบทุนนิยม รัฐจะไม่เปิดโอกาสที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ และเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ อำนาจของรัฐ ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศไม่มีการพัฒนา เพราะรัฐยังไม่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนแบ่งทางอำนาจ ภายใต้การมีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตย หากปล่อยให้สถาบันความปลอดภัยเกิดขึ้น และเป็นองค์กรอิสระตามที่คนงานเรียกร้อง ก็จะเกิดกระแสการเรียกร้องความเป็นองค์อิสระในรูปแบบการบริหารแบบสถาบันนี้มากขึ้น

รัฐมีการมุ่งขยายตัวไปในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ มากกว่าการที่จะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการบริหารประชาธิปไตย
รัฐไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เพราะหากให้สถาบันฯนี้มีอำนาจ รัฐก็จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น และรัฐไม่คิดว่า คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นคนที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ หากมีคนใดลุกขึ้นมาเรียกหาการมีส่วนร่วมรัฐก็จะจัดการ และหากรัฐถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง รัฐรู้อยู่แล้วว่า การทำงานของตัวเองมีจุดอ่อนอยู่จำนวนมาก ทำให้รัฐต้องพยายามที่จะปิดจุดอ่อนของตนเอง โดยการที่ไม่ให้ประชาชนมีอำนาจความเข้มแข็งลุกมาตรวจสอบได้

ความขัดแย้ง กรณีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กับคณะกรรมการบริหาร ที่รัฐกลัวคือ การเปิดโปงการทำงานที่มีจุดอ่อนในการสร้างระบบความปลอดภัย ศูนย์ฮอตไลน์ของภาครัฐ คือ การรับเรื่อง และตรวจสอบ แต่ศูนย์ของแรงงานไม่ได้ตรวจสอบ แต่จะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล รณรงค์ให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงว่า การประชาพิจารณ์สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ผู้แทนสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ฝ่ายลูกจ้าง ต้องมาจากการเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียง

 ด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมทุกกลุ่มย่านได้ดำเนินการขับเคลื่อนขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายและ

นโยบายสาธารณะการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน นับตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเคเดอร์ ที่กำลังจะครบรอบปีที่ 19 ในวันที่ 10 พฤษภาคม นี้

การขับเคลื่อนผลักดันขององค์กรแรงงาน ได้ทำให้พระราชบัญญัติความปลอดภัย

อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า กระทรวงแรงงานไม่พึงตระหนักว่า พระราชบัญญัติความปลอดภัย ฯ จะเป็นกฎหมายอันจะนำไปสู่การส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง และนายจ้าง จะต้องดำเนินการให้ ดังนั้นกระบวนการร่างกฎหมายหลัก กฎหมายประกอบ ระเบียบกระทรวง อันสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ จึงต้องมีส่วนร่วมในระดับนโยบายนับตั้งแต่การร่างกฎหมาย ไปจนถึงระดับปฏิบัติการในสถานประกอบการ

คสรท. ได้ส่งความห่วงใยและท้วงติงในเรื่องนี้ในหลายวาระโอกาส อาทิ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีสัดส่วนไม่สะท้อนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยเฉพาะตัวแทนเครือข่ายแรงงานและประชาชนที่ร่วมกันผลักดัน การเร่งรีบ เร่งรัดพิจารณายกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยขาดการรับฟังความคิดเห็น การจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

คสรท. มีความเห็นว่า การจัดประชาพิจารณ์สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 จะต้องรับฟังความคิดเห็นผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน การที่กระทรวงแรงงานกล่าวอ้างถึงการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานผ่านคณะกรรมการไตรภาคีนั้น

คสรท. ไม่เคยปฏิเสธบทบาทคณะกรรมการเหล่านั้น แต่ในวิถีสังคมประชาธิปไตยย่อมมีข้อเสนอที่หลากหลาย กระทรวงแรงงาน จึงไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นขององค์กรแรงงาน และควรยุติความพยายามในการสร้างความแตกแยกภายในขบวนการแรงงาน
คสรท. มีความเห็นว่า ประเด็นที่มาโครงสร้างคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จะต้องมีองค์ประกอบที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงสัดส่วนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เนื่องจากสถาบันฯ จะต้องมีบทบาทในการร่วมดำเนินการส่งเสริมการแก้ไขปัญหา การวิจัย การให้บริการ การรับเรื่องร้องเรียน เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนั้นแล้ว คณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมาจากคณะกรรมการสรรหา ประธานต้องไม่เป็นข้าราชการประจำที่มาโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการฝ่ายลูกจ้าง จะต้องมาจากการเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียง เพื่อการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง และสะท้อนถึงวิถีประชาธิปไตย

ทั้งนี้คสรท. มีมติในการที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวที่กระทรวงแรงงานจะมีการนำมาจัดการประชาพิจารณ์ และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 09.00 น.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) นำโดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และผู้นำแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน