วันที่ 7 ธันวาคม 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานฯ นายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย พร้อมสมาชิกได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการลดเงินสมทบประกันสังคม ในมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 โดยมีนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับหนังสือแทน
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาของนายจ้างที่เสนอต่อรัฐ เพราะการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมจะส่งผลกระทบกับลูกจ้างโดยตรง ซึ่งที่กระทบแน่คือกรณีสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเงินบำนาญชราภาพของลูกจ้างที่จะต้องมีการจ่ายทดแทนให้กับลูกจ้างโดยเริ่มในปี2557 “รัฐมักจะมีการนำมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในยามวิกฤติต่างๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตอุทกภัย ซึ่งการทำดังกล่าวนั้นกระทบกับลูกจ้างผู้ที่รับประโยชน์จากกองทุนโดยตรงตลอด การที่ส่งเงินสมทบลดลงทำให้เงินในกองทุนหายไปหลายหมื่นล้าน ครั้งนี้หากมีการนำมาตรการมาใช้เงินกองทุนประกันสังคมซึ่งถือเป็นเงินของลูกจ้างจะหายไปจำนวนกว่า 4 หมื่นล้าน หมายถึงผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่จะได้เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย รัฐบาลควรหามาตรการอื่นๆ ไม่ควรต้องให้ลูกจ้างเป็นผู้แบกรับภาระเพียงฝ่ายเดียว”นายชาลี กล่าว
นายชาลี ลอยสูง ยังกล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลทำตามนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเพิ่มอีก 70 จังหวัดนั้น ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นการสร้างอำนาจการซื้อให้กับตลาด ซึ่งนายจ้างก็จะได้รับผลนั้นด้วย สิ่งที่นายจ้างได้อีกคือ การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท แล้วรัฐบาลยังมีมาตรการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2 ปี อันนี้ก็กลายเป็นภาระลูกจ้างทั้งที่เดิมแม้ปรับขึ้นแล้วก็ยังอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในชีวิตและครอบครัวด้วย ฉะนั้นหากมีมาตรการลดการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคม เห็นว่าจะทำให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบระยะยาวในอนาคต
ด้านนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรับมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการประชุมยังไม่มีการเสนอมาตรการในการลดการจัดเก็บเงินสมทบ และรับบาลยังคงการจ่ายเงินสมทบเท่าเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการหรือมีมาตรการเพิ่มด้านประกันสังคม
ในส่วนข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมเรื่องการลดเงินสมทบนั้น คงไม่มีการนำมาพิจารณา ภาครับได้มีมาตรการในการสนับสนุนช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว โดยจะมีการนัดกรมสวัสดการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมจัดหางาน และส่วนที่เกี่ยวข้องมาดูข้อมูลสถานประกอบการว่าหลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในอีก 70 จังหวัดมีกลุ่มธุรกิจใดได้รับผลกระทบบ้าง เพื่อการเข้าไปดูแล ซึ่งคิดว่าสถานประกอบที่จะมีปัญหาคือสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก เพราะจะเป็นการเพิ่มรายจ่ายด้านค่าจ้าง ซึ่งต้องดูข้อมูลก่อน
ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท)ได้ยื่นข้อเสนอจากผลการประชุมคณะทำงานพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอต่อมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หนึ่งในมาตรการดังกล่าว คือ การเสนอให้ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเหลือฝ่ายละ 2.5 % เป็นเวลา 3 ปีโดยไม่ลดสิทธิของลูกจ้าง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนและผลักดันการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมเพื่อคุ้มครองประชาชนทุกคนในประเทศไทยอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง ขอคัดค้านการลดเงินสมทบประกันสังคม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ
1. เป็นการผิดหลักการของระบบประกันสังคมในประเทศไทย ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อจัดการกับความเสี่ยงในชีวิตการทำงานให้กับผู้ประกันตน ความเสี่ยงที่ว่านี้ประกอบด้วย ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต ว่างงาน สงเคราะห์บุตร และชราภาพ เงินที่นำมาใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการดังกล่าวนี้มาจาก 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ในปัจจุบันลูกจ้างและนายจ้างสมทบเงินฝ่ายละ 5 % ของเงินเดือนที่ไม่เกิน 15,000 บาท และรัฐบาลสมทบ 2.75 % ของฐานเงินเดือนเดียวกัน ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยถูกแบ่งออกเป็น 3 กองทุน คือ สิทธิประโยชน์เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิต 1 กองทุน , สิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรและชราภาพ 1 กองทุน , สิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน 1 กองทุน ซึ่งมีสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน (เงินจำนวน 9 แสนล้านบาทนี้ส่วนใหญ่คือเงินในส่วนกองทุนชราภาพ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 826,752 ล้านบาท) ในปัจจุบันนี้สำนักงานประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินสมทบหลักประกันสุขภาพให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการในอัตราเหมาจ่ายรายหัวเป็นจำนวนเงินสูงขึ้นทุกปีตามสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งในขณะเดียวกันเงินสมทบในส่วนสิทธิประโยชน์ประกันว่างงานก็เป็นเงินที่ต้องสำรองไว้จ่ายให้กับผู้ว่างงาน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจำนวนคนว่างงานมากขึ้น ดังนั้นการลดประกันสังคมยิ่งส่งผลต่อจำนวนเงินที่ลดลงในกองทุนประกันสุขภาพและประกันว่างงานอย่างแน่นอนที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี
2. เป็นการกระทบต่อสิทธิประโยชน์ชราภาพในอนาคต กล่าวคือ จากจุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2542 ที่สำนักงานประกันสังคมได้มีการเริ่มเก็บเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพพร้อมกัน สำนักงานประกันสังคมจึงรวมเงินไว้ด้วยกันแล้วเรียกว่าเป็นเงินสำหรับ 2 กรณี ทั้งนี้เงินในกองทุนนี้เมื่อพิจารณาระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่ผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี ขึ้นไป จะพบว่า ผู้ประกันตนจะได้รับเงินเฉพาะส่วนที่ตนและนายจ้างสมทบรวมกับผลตอบแทนการลงทุนเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่าเงินสมทบ 1 % ที่รัฐสมทบในกองนี้ แท้จริงแล้วใช้เพื่อการสงเคราะห์บุตรเท่านั้น
การยิ่งลดเงินประกันสังคมยิ่งเป็นความเสี่ยงต่อสิทธิประโยชน์ชราภาพ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ผู้ประกันตนจะได้รับสวัสดิการชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจะเหลือเงินไม่พอจ่ายให้กับผู้ประกันตนที่เป็นผู้เกษียณอายุ แน่นอนในปัจจุบันเงินที่ผู้ประกันตนและนายจ้างสมทบและออมร่วมกันมากว่า 10 ปี นั้นยังไม่ครบกำหนดการจ่ายบำนาญ แต่ในปี 2557 จะเป็นปีแรกที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับบำนาญ และจำนวนผู้ประกันตนจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นในปีต่อๆไป การลดเงินสมทบประกันสังคมจะยิ่งส่งผลให้รายได้จากเงินสมทบกับรายจ่ายบำนาญไม่สมดุลกัน ซึ่งสร้างความเสี่ยงแก่ผู้ประกันตนคนอื่นๆในอนาคตอย่างแน่นอน
กล่าวคือ อัตราเงินสมทบเพื่อสวัสดิการชราภาพในส่วนของผู้ประกันตนกับนายจ้างสมทบรวมกันเท่ากับ 6 % ของเงินเดือน ส่วนอัตราการจ่ายบำนาญขั้นต่ำเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเดือน แต่ถ้าผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเกิน 15 ปี ก็จะได้เพิ่มอีกปีละ 1.5% ต่อปีที่สมทบเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ส่งเงินสมทบ 16 ปี จะได้บำนาญในอัตรา 21.5% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ แปลว่า ถ้าเราจ่ายเงินสมทบ 6 % ต่อเดือนเป็นเวลา 15 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ 20 % ไปจนเสียชีวิตอย่างแน่นอน แต่ถ้าผู้ประกันตนทำงานมา 16 ปี สำนักงานประกันสังคมก็จะบวกเพิ่มเป็น 21.5 เปอร์เซ็นต์ คือ ยิ่งทำงานนานเท่าใด 1 ปีที่เกิน 15 ปี จะได้รับการบวกเพิ่มให้ปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นถ้าทำงานนานมีอายุยืนผู้ประกันตนก็จะได้บำนาญชราภาพจำนวนเงินที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามต้องตระหนักว่า เงินที่นำมาจ่ายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพนั้นไม่ใช่เงินออมของผู้ประกันตนเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เป็นเงินของผู้ประกันตนวัยทำงานที่กำลังส่งเงินสมทบอยู่และรอรับบำนาญในอนาคตด้วยเช่นกัน ดังนั้นการลดเงินสมทบยิ่งทำให้จำนวนเงินในกองทุนดังกล่าวยิ่งลดลงเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ชราภาพในอนาคตอย่างแน่นอน
แม้ว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 24 จะระบุว่า ในกรณีที่เงินกองทุนประกันสังคมไม่พอจ่าย ให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนหรือเงินทดรองราชการให้ตามความจำเป็น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อสังเกตว่า ผู้ประกันตนจะไว้วางใจรัฐบาลได้มากน้อยเพียงใด และรัฐบาลจะนำเงินงบประมาณจากแหล่งใดมาจ่ายในสิทธิประโยชน์ดังกล่าว เพราะ ณ วันที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากในอนาคต และเป็นวันที่กองทุนประกันสังคมติดลบ รวมทั้งยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลสร้างหนี้สาธารณะจำนวนมากดังเช่นนี้ ก็ยิ่งต้องตั้งคำถามว่า ในอีก 25 ปีข้างหน้ารัฐบาลไทยจะมีเงินพอช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เกษียณอายุจากการทำงานได้จริงหรือไม่ อย่างไร ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของแนวนโยบายในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมในปัจจุบัน
3. ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับประสิทธิผลของมาตรการในการชะลอการเลิกจ้างที่เป็นผลมาจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แม้การลดเงินสมทบประกันสังคมจะทำให้นายจ้างหรือสถานประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้น โดยมีสมมติฐานว่าจะทำให้สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้และไม่ต้องเลิกจ้างแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันได้ชัดเจนแม้แต่น้อยว่า มาตรการนี้จะชะลอการเลิกจ้างได้อย่างแท้จริง เพราะนายจ้างที่ขาดสภาพคล่องอาจจะนำเงินที่ต้องส่งสมทบประกันสังคมไปเป็นทุนหมุนเวียนที่ใช้ในด้านอื่น ไม่จำเป็นต้องนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานเสมอไป และไม่ใช่ว่านายจ้างทุกรายขาดสภาพคล่อง การลดเงินสมทบหรือไม่จึงอาจไม่มีผลต่อการเลิกจ้างในสถานประกอบการบางส่วนอย่างที่รัฐบาลระบุ
จากเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมด คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน การมีความมั่นคงทางสังคม และหลักประกันทางสังคม ดังนั้นทุกคนจึงมีความชอบธรรมในการเข้าถึงประกันสังคมอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกันตนทุกคนได้รับความคุ้มครองภายหลังจากเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว สำนักงานประกันสังคมต้องยกเลิกแนวคิดลดเงินสมทบประกันสังคม และมีความจำเป็นต้องคำนวณอัตราเงินสมทบใหม่ ให้เกิดความสมดุลของรายได้และรายจ่ายที่จะเกิดในอนาคต
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน