สมานฉันท์ฯปฏิบัติการลงพื้นที่ เร่งสร้างความเข้มแข็ง

วันที่ 8-9 สิงหาคม 55 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 เรื่อง ยุทธศาสร์สู่ทศวรรษใหม่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขึ้น ณ เดอะไพน์ รีสอร์ท จ.ปทุมธานี

นายชาลี  ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรแรงงานที่ทำงานขับเคลื่อนผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่อภาครัฐ และติดตามทำงานควบคู่กับนโยบายแรงงานของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ฉะนั้นขบวนการแรงงานจะต้องเร่งสร้างในด้านของความเข้มแข็งควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศชาติ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งริเริ่มโครงการจัดทำยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ โดยได้เปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555 และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์กรสมาชิก และเครือข่ายแรงงาน ที่เห็นพ้องกันกับแนวคิดในการจัดทำโครงการดังกล่าว รวมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และพร้อมอำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่เพื่อระดมความคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับทิศทางยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ของขบวนการแรงงาน รวมทั้งแนวทางในการดำเนินงาน โดยในการประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยในครั้งนี้นั้นเราจะปรับเปลี่ยนกลยุทธในการทำงานเพื่อให้คลอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และไร้รัฐ แรงงานไทยที่ไปทำงานยังต่างประเทศ ตลอดจนเกษตรกรพันธสัญญา  รวมไปถึงพี่น้องแรงงานรัฐวิสาหกิจ  และข้าราชการ พนักงานลูกจ้างภาครัฐ ซึ่งกำลังตื่นตัวในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งและการรวมตัว

เพื่อเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯให้กว้างขึ้น เพื่อให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มแรงงานทุกภาคส่วนว่า องค์กรสมานฉันท์แรงงานไทยนั้นเป็นใคร ทำงานเพื่อใคร เป็นองค์กรของใคร โดยในการทำงานในปีนี้จะมุ่งเน้นในการลงพื้นที่ไปทำงานกับกลุ่มแรงงาน สหภาพฯต่าง สหพันธ์ สมาพันธ์ ผู้นำแรงงาน และ คนงาน ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อ ประโยชน์ของพี่น้องแรงงานทุกกลุ่มสาขาอาชีพ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นเบื้องต้น จากแกนนำเกี่ยวกับทิศทางยุทธศาสตร์ สู่ทศวรรษใหม่ของขบวนการแรงงานรวมทั้งแนวทางในการดำเนินงานตามทิศทางดังกล่าวและรวมไปถึงการจัดทำหลักสูตรเนื้อหา และออกแบบวิธีการสำหรับการระดมความคิดเห็นจากพื้นที่เพื่อให้ทิศทางในการทำงานของกระบวนการแรงงานไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

อาจารย์ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ให้ความเห็นเกี่ยวกับขบวนการแรงงานว่า การที่องค์กรแรงงานจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยทั่วไปจะพิจารณากว้าง ๆ จากปัจจัยหลักจากสองด้านใหญ่ ๆ คือ  ปัจจัยที่เป็นสภาพแวดล้อม หรือบริบทที่เป็นสังคมที่เป็นปัจจัยภายนอกของขบวนการกับอีกด้านก็คือพิจารณาจากปัจจัยภายในขบวนการแรงงานเอง

1.ปัจจัยภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อม

ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อความเข้มแข็งและอ่อนแอของขบวนการแรงงานได้แก่มรดกจากการเมืองการปกครองแบบอำนาจนิยมและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบจารีต กระแสโลกาภิวัฒน์ อุดมการณ์ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  กลไก กฎหมายและมาตรการของรัฐบาล ทัศนคติและกลยุทธของนายจ้างโครงสร้างของตลาดแรงงานและรูปแบบการจ้าง ทัศนคติของสาธารณชนต่อขบวนการแรงงาน

2.ปัจจัยภายในของขบวนการแรงงาน

ปัจจัยภายในของขบวนการเองพิจารณาได้จากสองด้านคือ 1.ขนาดของฐานสมาชิก ซึ่งถือเป็นการพิจารณาเชิงปริมาณและ2 สมรรถภาพในการทำงานของขบวนการแรงงาน ซึ่งเป็นการพิจารณาเชิงคุณภาพ ได้แก่ เรื่องความไม่เป็นอิสระของสหภาพแรงงาน และการแทรกแซงคลอบงำจากฝ่ายการเมือง ความไม่เป็นประชาธิปไตยและการผูกขาดอำนาจของผู้นำแรงงานอาวุโส ความแตกแยกภายในขบวนการแรงงาน ปัญหาการขาดฐานสนับสนุนทางการเงินจากมวลสมาชิก การขาดบุคลากร และสมรรถภาพทางเทคนิค เป็นต้น

โดยเนื้อหาของการประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นที่จะให้แรงงานทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีการระดมความคิด ตลอดจนการเสนอแนะอุปสรรค และปัญหาที่ทำให้ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอ ไม่เป็นเอกภาพ และขาดอำนาจการต่อรองกับรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การหามาตรการและแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ขบวนการแรงงานไทยนั้น กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเพื่อความอยู่ดีกินดีของแรงงานไทยทุกภาคส่วนต่อไป.

กระมนต์  ทองออน นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวสมุทรปราการ รายงาน