ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์ยื่นค้านสภาผู้แทนราษฏรมีมติไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับภาคประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางตรง มติไม่รับหลักการดังกล่าวของประชาชนในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 163 ที่รับรองสิทธิ
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ อาคารรัฐสภา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และผู้ใช้แรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ ประมาณ 150 คน ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านกรณีสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ( ฉบับที่..) พ.ศ. ….ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คนเป็นผู้เสนอถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทางนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23 วันพุธที่ 23 มีนาคม 2556 และครั้งที่ 24 (สมัยสภานิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คน ซึ่งทำให้ร่างฉบับดังกล่าวของภาคประชาชนตกไป
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวถึงหลักการ พระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับภาคประชาชนเสนอนั้น เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิและสวัสดิการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อให้การบริหารกองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้น การที่สภาฯมีมติไม่รับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจึงทำให้ร่างตก และในฐานะตัวแทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เห็นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่ลงมติไม่รับหลักการดังกล่าวของประชาชนในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 163 ซึ่งรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในการเสนอกฎหมายโดยผู้แทนประชาชนเข้าชื่อเสนอ และมีสิทธิในการที่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด เพื่อการคงเจตนารมณ์ในการเสนอกฎหมายของประชาชนอย่างแท้จริง
แต่เมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชน ย่อมทำให้ผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งการไม่สนองตอบเจตนารมณ์ และความต้องการของประชาชนที่เสนอหลักการและเหตุผลสำคัญในการปฏิรูประบบบริหารกองทุนประกันสังคม อันทำให้ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย และผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมได้รับความเสียหาย ด้วยเหตุผลนี้ จึงขอคัดค้านมติที่ไม่รับหลักการร่าง ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ และต้องการให้ทบทวนหลักการร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ฉบับของรัฐบาล และขอให้ท่านได้ดำเนินการเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่เป็นหลักประกันต่อการพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2556
นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญให้โอกาสประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย ปี 2540 เข้าชื่อ 50,000 คน ปี 2550 มีการแก้ไขกฎหมายให้เข้าชื่อ 10,000 คน ถึงแม้สภาไม่รับร่าง แต่ภาคประชาชนก็มีสิทธิเสนอเข้ามาให้พิจารณาใหม่ได้อีก
นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่