คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ขู่ชุมนุมหากนำร่างพ.ร.บ.อัปลักษณ์ 2 ฉบับเข้าสภาฯ รุดยื่นหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีส.ส.คว่ำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน หลังจัดเสวนนาแถลงข่าว “กฎหมายประกันสังคมกับอนาคตผู้ประกันตน” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 เตรียมยื่นกรรมการสิทธิมนุษยชนอีกช่องทาง พร้อมนัดยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนเข้าสภาอีกครั้ง
วันนี้ (2 สิงหาคม 2556) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยนำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธานฯ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้มอบหมายให้นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้รับหนังสือ
นายชาลี ลอยสูงได้กล่าวว่า เนื่องจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 14,264 คน ได้เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน ต่อประธานรัฐสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 7 มาตรา 163 เมื่อวันที่ 24 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 และสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาวาระที่ 1 เมื่อ 21 มีนาคม 2556แต่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวว่า ตนเองและประชาชนผู้เสนอชื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเห็นว่าการลงมติไม่รับหลักการร่างระราชบัญญัติที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา163 ที่มุ่งหมายรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ทั้งสาระของสิทธิ และขั้นตอนการใช้สิทธิของประชาชนโดยชัดแจ้งเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญและกำหนดการขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาว่าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัตินั้นและคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องประกอบด้วยผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด
ด้วยเหตุดังกล่าวตน และประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายฯจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องปัญหาความไม่ชอบและขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมที่เข้าชื่อเสนอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน ต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ทั้งนี้ ด้าน นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กล่าวว่า การที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนมาร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประเด็นกฎหมายจึงต้องส่งให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานฯตรวจสอบก่อนซึ่งอาจล่าช้าเล็กน้อย
เวทีเสวนา และแถลงข่าว “กฎหมายประกันสังคมกับอนาคตผู้ประกันตน”ที่จัดโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยแกนนำสหภาพแรงงานกลุ่มสหภาพต่างๆ
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และกรรมาธิการวิสามัญร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการฯ ว่า หลังจากที่สภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.)ได้โหวตไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับล่าลายมือชื่อของภาคประชาชน 14.246 คน ซึ่งมีนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นผู้แทนในการเสนอร่างฯ และร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับนายนคร มาฉิม กับสมาชิกสภาฯ 20 คนเสนอตกไป โดยที่ประชุมได้รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม 2 ฉบับคือฉบับของคณะรัฐมนตรี กับนายเรวัตร อารีรอบ กับคณะ พร้อมทั้ง เสนอชื่อผู้แทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 2 ท่าน เข้าเป็นกรรมาธิการ มีนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และตนเองนายชาลี ลอยสูงที่ถูกเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งส่วนของนางสาววิไลวรรณ เห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะรับตำแหน่งเนื่องจากเป็นคนเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชน และพรรคเพื่อไทยซึ่งถือว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา ซึ่งถือว่าเป็นสส.กลุ่มที่ปฏิเสธร่างกฎหมายของภาคประชาชน การเสนอชื่อเข้าไปจึงเป็นเพียงเอาไปประกอบความชอบธรรม จึงลาออกจากกรรมาธิการ ส่วนตนเองนั้นทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นควรเข้ามาเพื่อเป็นเสียงหนึ่งในการค้าน และส่งเสียงความไม่ชอบมาพากลของร่างกำหมายที่เสนอเข้ามา ซึ่งก็ได้ทำหน้าที่ในการเสนอแนะต่อความไม่เป็นธรรมในร่างกฎหมาย พร้อมทั้งได้แปรญัตติ ร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่างฯ)ไว้ เพื่อการที่จะเข้าไปอภิปรายให้ความเห็นกับสภาช่วงร่างเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา ดังนี้
1. “มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการประกันสังคม” ประกอบด้วย รัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณาสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ7 คนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และคณะกรรมการจะแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้”
นายชาลี ลอยสูง กล่าวว่า ได้ขอสงวนความเห็น โดยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 8 เป็นดังนี้ “มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการประกันสังคม” จำนวน 30 คนประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมด้านงานประกันสังคม
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี
(3) กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จำนวน 8 คน
(4) กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 8 คน
(5) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านระบบประกันสังคม ด้านหลักประกันสุขภาพ ด้านการแพทย์ ด้านเศรษฐศาสตร์การเงินและคลัง ด้านบริหารการลงทุน ด้านกฎหมาย ด้านพัฒนาสวัสดิการสังคม และด้านสิทธิมนุษยชน ด้านละหนึ่งคน รวมจำนวนแปดคน
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
ประธานกรรมการมาจากการสรรหาโดยกรรมการตาม (2) (3) (4) (5) จำนวนฝ่ายละสองคน และให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการ คณะกรรมการสรรหารวมเก้าคน ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
กรรมการที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย”
2. มาตรา 30 ให้ยกเลิกความความใน (6) ของมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) ค่าตรวจวินิจฉัยโรค
(2) ค่าบำบัดทางการแพทย์
(3) ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล
(4) ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์
(5) ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย
(6) ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
(7) ค่าบริการอื่นที่จำเป็น”
นายชาลี ลอยสูง ได้ ขอสงวนความเห็น โดยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมความใน มาตรา 63 วรรคหนึ่ง เป็นดังนี้ “มาตรา 63 ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ได้แก่ (6) ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรครวมทั้งค่าตรวจสุขภาพประจำปี
3. มาตรา 31 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2537 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 65 ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร สำหรับตนเองหรือภริยาต่อเมื่อภายในระยะเวลาสิบห้าเดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน
ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่มีภริยา หากผู้ประกันตนอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงใดโดยเปิดเผยตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรสำหรับหญิงนั้นด้วย
ให้ผู้ประกันตนแต่ละคนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร สำหรับการคลอดบุตรไม่เกินสองครั้ง”
ตนได้ขอสงวนความเห็น โดยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 65 เป็นดังนี้ “มาตรา 65 ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือภริยาได้รับบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่เป็นผู้ประกันตน
ให้ผู้ประกันตนแต่ละคนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร”
4. มาตรา 35 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 75 ตรี แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่3) พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 75 ตรี ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรซึ่งมีอายุตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์จำนวนคราวละไม่เกินสองคน บุตรดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น”
ตนได้ขอสงวนความเห็น โดยขอให้แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 75 ตรี วรรคหนึ่ง เป็นดังนี้ “มาตรา 75 ตรี ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรซึ่งมีอายุตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินยี่สิบปีบริบูรณ์ บุตรดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น”
นายชาลี กล่าวอีกว่า ประเด็นที่จะให้รัฐมนตรีมานั่งบริหารเป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม เป็นการชงเองกินเอง เป็นการปฏิบัติงานซ้ำซ้อนอาจเป็นการประชุมที่แสวงหาผลประโยชน์ ตรงนี้รับได้และคัดค้านเต็มที่ กรณีการคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตรควรให้สิทธิตั้งแต่แรกเข้า รวมทั้งการรักษาพยาบาลด้วย เงินสงเคราะห์บุตรก็ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าควรขยายให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาอย่างน้อย 20 ปี การตรวจสุขภาพประจำปีก็มีความสำคัญมาก เพราะที่นายจ้างตรวจนั้นไม่คอบคลุม
เรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบที่ยังมีสิทธิที่ไม่เท่ากัน เช่นคนทำงานบ้าน ควรเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 ไม่ใช่มาตรา 40 เช่นปัจจุบัน ข้ามชาติก็ควรให้เขาเทียบเท่าแรงงานในระบบที่เป็นไทย ปัญหาที่ถกเถียงกันเรื่องการเข้าถึงต้องทำให้เขาสามารถเข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการที่เขามีให้ได้ ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติ ระเบียบต้องเอื้อประโยชน์กับผู้มีสิทธิไม่ใช่การตัดสิทธิ
กรณีที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลคว่ำร่างกฎหมายของประชาชนนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนเสนอหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่สส.ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของประชาชนแล้วยกมือคว่ำอย่างนี้ การลงมือลงแรง เสียเวลา และเงินไปเพราะต้องการกฎหมาย อย่างมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อร่างกฎหมาย มาถึงสภาฯกลับถูกพวกมากลากไปใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่เอาร่างกฎหมายที่ประชาชนร่าง และล่าลายมือชื่อมา ซึ่งปัญหาแบบนี้เป็นการทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้สภา 500 คนใช้อำนาจฝ่ายเดียวว่ารัฐไม่รับ ตามความพึงพอใจ แรงงานคงต้องมีมาตรการขับเคลื่อนให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติตามสิทธิรัฐธรรมนูญ
นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้นำผลข้อเสนอแนะจากผู้ประกันตน ดังนี้
1. รัฐบาลต้องจ่ายสมทบ เต็ม 5% เพราะทุกวันนี้ยังตีตั๋วเด็กจ่ายเพียง 2.5 % นั้น แต่ยังมาเป็นคนบริหารกองทุนอีก เสนอสำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต้องมากกว่าเดิม ทุกสิทธิประโยชน์ ต้องเกิดขึ้นเลยทันทีที่สมทบประกันสังคม ไม่ใช่อย่างปัจจุบันต้องจ่ายสมทบก่อนล่วงหน้า 3 เดือนจึงป่วยได้ ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามคลอดลูก ห้ามตาย หากจ่ายเงินไม่ครบตามกำหนดการเกิดสิทธิ ควรเพิ่มกลไกคุ้มครองสิทธิ มีกลไกการให้ความรู้แก่ผู้ประกันตน ที่ไม่ใช่การจัดอบรมแบบเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกันตนไม่เคยได้สิทธิการอบรมให้ความรู้ หรือรับสื่อต่างๆจากสำนักงานประกันสังคมโดยตรง การให้การอบรมเรื่องสิทธิมีเพียงสภาองค์การลูกจ้างเท่านั้นที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน และเป็นการให้ความรู้กับคนส่วนน้อยเท่านั้น ต้องมีการแจ้งสิทธิประโยชน์ ของเรา หลักการคำนวณชราภาพ เงินสะสมของเรา หรือดอกเบี้ยที่ประกาศแต่ละปี ซึ่งปี 2557 จะมีการให้สิทธิกรณีชราภาพ เกณฑ์การจ่าย1.ผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 2.จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน(15ปี)ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือน(15ปี)จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม และ3.ความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงแล้ว ต้องครบทั้งหมด3ข้อ
ประโยชน์ทดแทนที่จ่ายให้ในกรณีบำนาญชราภาพ มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นเงินที่น้อยมาก คิดว่าคงไม่พอใช้จ่ายทำให้ชราภาพแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ มีปัญหาเรื่องการทำงานต่อเรื่องการกลับมาจ่ายสมทบ กรณีรับเงินชราภาพไปแล้ว
กรณีพิเศษ เช่น กรณีพิพาท หรือหยุดงานกรณีวิกฤติ ให้คงสิทธิประกันสังคมไว้ วิธีการเก็บเงินสมทบในกรณีแรงงานข้ามชาติ ต้องมีแนวนโยบายเพื่อแก้ปัญหา มากกว่าที่จะปัดภาระ ต้องทำให้เกิด และใช้สิทธิได้ตามสิทธิกฎหมายประกันสังคม
2. สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ให้สปส.จ่ายเงินตามความจำเป็น คงเงินชดเชยการคลอดบุตรไว้ 13,000 บาท เพื่อจ่ายคืน
3. สิทธิประโยชน์ กรณีตาย เสนอเงินสงเคราะห์ ขอเพิ่มเป็น 100,000 และให้ยกเลิกเงื่อนไข ส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 ปี ถึงเกิดสิทธิ รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย
4. สิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ เพิ่มสิทธิประโยชน์ชราภาพ เสนอให้ไม่มีเพดานการจ่ายเงินสมทบ และเงื่อนไขการรับบำเหน็จหรือบำนาญ เป็นสิทธิของผู้ประกันตน การขยายหรือแก้ให้ผู้รับผลประโยชน์หรือเขียนพินัยกรรมให้ใครก็ได้
การคำนวณบำนาญ ให้ใช้เดือนสุดท้าย ไม่ต้องคำนวณจาก 60 เดือนสุดท้าย และแก้ไขสูตรคำนวณใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เพื่อการอยู่อย่ามีคุณภาพในวัยผู้สูงอายุ
5. สิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตร ให้เพิ่มวงเงินเป็น3,000บาท ต่อเดือน และขยายอายุบุตรเพิ่มเป็น 12-16-18 ปี ไม่ควรจำกัดจำนวนบุตรที่รับสิทธิ เพียง 2 คน ให้เกิดสิทธิตามจำนวนสิทธิพ่อแม่ต้องการ
6. สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ให้เปิดช่องทางการรายงานตัวแบบใหม่ ให้ผู้ประกันตนเลือกช่องทางได้ ไม่ต้องเอาตัวไปรายงานตัว การว่างงาน ไม่ต้องนำ ความผิดมีเป็นเงื่อนไขในการจ่ายสิทธิประโยชน์ ส่งเงินสมทบ 1เดือน เกิดสิทธิ
7. ด้านการรักษาพยาบาล กรณีการรักษาพยาบาล ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทุกระบบ ซึ่งเดิมมีหลายมาตรฐาน มีข้อเสนอให้ประกันสังคมไม่เก็บสมทบส่วนการรักษาพยาบาล ใช้เงินสมทบส่วนการรักษาพยาบาลไปสมทบและเพิ่มเป็นสิทธิอื่น การเกิดสิทธิ ให้ปิดช่องว่างรอยต่อการเกิดสิทธิ ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างการย้ายสิทธิ (ใครจะรับผิดชอบก็ได้) สามารถย้ายสิทธิระหว่างปี และการขึ้นสิทธิต้องง่าย เข้าถึงได้ สิทธิการทำฟันต้องไม่กำหนดเพดาน และเงื่อนไข ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ตอนนี้ต้องจ่ายเพิ่มเอง หากต้องการรักษาฟัน มีการเพิ่มเวลาการใช้บริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแรงงาน บัตรเดียว ใช้ได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญากับประกันสังคม และต้องไม่ใช้เพดานเงินเป็นตัวกำหนด ใช้ความจำเป็นในการรักษาเป็นตัวกำหนด มีกลไกการคุ้มครองสิทธิ และมีระบบเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล จ่ายเงินชดเชยการขาดรายได้ ต้องจ่าย 100% และตามจำนวนวันที่แพทย์ระบุ
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ประเด็นที่คิดว่า สส.ในสภาฯไม่เห็นด้วยคือเรื่องการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนนั้นจะทำให้ สัดส่วนตัวแทนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการจะมีมาก เสียงก็จะดัง ควบคุมไม่ได้ การให้ผู้แทนเข้าไปเพียง คน หรือสองคนการจะโต้ หรือแย้งทำได้น้อย ประเด็นต่อมาเรื่องของอำนาจการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมหากเป็นองค์กรอิสระก็จะเข้าไปแทรกแซงการบริหารจัดการกองทุนไม่ได้ เพราะยังมีระบบการตรวจสอบ การที่จะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปตอบสนองนโยบายรัฐบาล เช่นปัจจุบันที่มีการเข้ามานำเงินไปใช้แบบไม่
จากการที่มีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นของผู้ประกันตนในพื้นที่ ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่า การบริการ และการบริหารที่รวบอำนาจ ซึ่งไม่มีส่วนร่วม มีการใช้เงินแบบผิดวัตถุประสงค์ไม่ตอบสนองผู้ประกันตน ซึ่งก็มีความสอดคล้องต่อร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับล่าลายมือชื่อของภาคประชาชนแต่ถูกสส.ยกมือไม่รับร่างดังกล่าว
ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้นถือเป็นร่างที่อัปลักษณ์ ประเด็นที่ 1 ไม่ครอบคลุมพี่น้องแรงงานทุกกลุ่ม 2. การารักษาพยาบาลยังมีข้อจำกัด ในการใช้สิทธิ ภายใต้ผู้ประกันตนต้องการที่จะใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล 3. นายจ้างหรือสถานประกอบการไม่ยอมส่งเงินประกันสังคม และไม่แจ้งนำส่งผู้ประกันตนมีการเลี่ยงที่จะทำตามกฎหมาย 4. ผู้ประกันตน 10 กว่าล้านคนไม่มีสิทธิมีเสียงในการที่จะเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการประกันสังคม
ด้วยกฎระเบียบของกระทรวงแรงงานในการเลือกตั้งซึ่งเป็นเช่นนี้มากว่า 20 ปี ขบวนการมีส่วนร่วมไม่มีเลย การเลือกตั้งตัวแทนมาจากคนไม่กี่คน กฎหมายที่มีอยู่มีข้อจำกัดมากสิทธิประโยชน์ก็ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ตามความต้องการของผู้ประกันตน มีการแก้ไขเล็กๆน้อยเท่านั้น ร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนตอบสนองความต้องการของทุกส่วน เช่นเรื่องสิทธิประโยชน์ เรื่องโครงสร้าง การมีส่วนร่วม ประธานคณะกรรมการประกันสังคม เลขาธิการต้องมาจากการสรรหา ซึ่งต้องเป็นมืออาชีพ กองทุน 1ล้านล้านบาทเป็นจำนวนเงินที่มาก การที่ให้สิทธิคนจำนวนน้อยนิดเลือกตั้งตัวแทน จึงไม่สอดคล้องในการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการเลือกตัวแทน ร่างกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชนได้ตอบโจทย์ด้านสิทธิของผู้ประกันตนครบถ้วน แต่สส.กลับปฏิเสธไม่รับร่างดังกล่าว
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)กล่าวว่า ขบวนการแรงงานเคยได้มีการล่าลายมือชื่อ 5 หมื่นชื่อเสนอกฎหมาย แต่ตกไปเพราะมีการอกกฎหมายลูกว่าด้วยการลงลายมือชื่อปี 2542 ที่กำหนดเรื่องของเอกสารประกอบเพื่อลงชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน ซึ่งก็ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่นต้องมีสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เพราะต้องใช้เงินมหาศาลในการล่าลายมือชื่อ ภาคประชาชนคิดว่าแค่มีเลข 13 หลักก็พอแล้ว
การต่อสู้ผลักดันมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ดูเหมือนดี ที่ลงลายมือชื่อ 2 หมื่นชื่อเสนอกฎหมายได้ โดยยังคงตามกฎหมายลูกปี 2542 ซึ่งมีภาคประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้ามาจำนวนมาก ด้วยความหวังว่าเจตนารมณ์ในการเสนอกฎหมายว่าต้องการกฎหมายอะไร แบบไหน รัฐธรรมนูญทางตรงได้เขียนเอาไว้ ว่าคนร่างกฎหมายควรเดินมาฟังความเห็นของประชาชนด้วย แต่เมื่อคนเสนอกฎหมายไม่มาฟังความต้องการรัฐธรรมนูญก็ออกแบบซ้อนให้ประชาชนเสนอเจตนารมณ์กฎหมายเอง นำมาซึ่งการที่ประชาชนเสนอกฎหมายโดยการล่าลายมือชื่อ 1 คน และเร็วๆนี้มีการร่างกฎหมายการเข้าชื่อ เพื่อแก้กฎหมายเข้าชื่อปี 2542 ให้เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญดีขึ้นคือ ขอแค่บัตรประชาชนอย่างเดียว ไม่ต้องมีทะเบียนบ้าน แต่ก็สู้กันอยู่ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้างยังมีปัญหาอยู่ ขณะนี้ร่างกฎหมายเข้าชื่อมี 2 ฉบับวันนี้ยังไม่ผ่านรัฐสภา
รัฐธรรมนูญให้เสนอกฎหมาย 5 หมื่นชื่อ และให้สิทธิเป็นกรรมาธิการ 1ใน 3 เช่นการที่มีผู้แทนเข้าไปหนึ่งคนเป็นความกรุณาปราณีที่จะไปขอโควตาพรรคใดให้ การที่รัฐธรรมนูญเสนอให้ผู้เสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเป็นกรรมาธิการ 1 ใน 3 หากมีคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างกฎมายนี้ 30 คน ประชาชนจะมีผู้แทนเข้าไปเป็นกรรมาธิการ 10 คนนี้คือความหวังที่จะมีตัวแทนเข้าไปถกเถียงเพื่อให้มีกฎหมายตามเจตนารมณ์ของประชาชน การที่สภาไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่ล่าลายมือชื่อของประชาชนครั้งนี้สร้างความตกใจให้กับภาคประชาชนอื่นๆที่ล่าลายมือชื่อมา30-40 ฉบับ ถึงหลักการพิจารณาของสภาต่อร่างกฎหมายภาคประชาชน มีการกล่าวถึงร่างกฎหมายเข้าชื่อที่อยู่รอในสภาที่จะออกมาต้องมีหลักประกันในการเสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชนตรงนี้ การที่สภาไม่รัฐหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชาชน ทำให้เกิดการมาคุยกันของผู้ที่ล่าลายชื่อเสนอกฎหมายอีก 30-40 ฉบับ เพราะว่าอนาคตไม่ใช่แล้วแต่เวนแต่กรรมว่าใครจะรับไม่รับร่างกฎหมายภาคประชาชนเป็นความเลวร้ายของขบวนการ แต่ว่ามันมีช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญนิดหนึ่งว่า แม้ดูว่าขัดรัฐธรรมนูญแต่ทำไปประชาชนจะเดินตรงไปร้องศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ผ่านทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ซึ่งก็ยังมีการตีความอยู่ทำได้หรือไม่ เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ที่รับหลักการของภาคประชาชนยังร่างกฎหมายฯอยู่เลย
ต่อมาได้มีการแถลงข่าว โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวดังนี้ ตามที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อภาคประชาชน 14,264 รายชื่อ แต่ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของรัฐบาล และร่างของ ส.ส.เรวัติ อารีรอบ กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประกันสังคมแล้ว และอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร นั้น
โดยที่ร่างประกันสังคมที่ผ่านการการพิจารณาแล้วนั้น มีสาระสำคัญหลายประการที่ฝ่ายแรงงานและภาคประชาชนเห็นว่าไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูปปรับปรุงให้ระบบประกันสังคมดีขึ้น กับทั้งบางประเด็นกลับยิ่งก่อปัญหาเพิ่มขึ้น อาทิเช่น
1. ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตนราวอย่างน้อย 10 ล้านคน และยิ่งขยายเพิ่มขึ้น เพราะไม่กำหนดแนวทางให้มีการคัดเลือกผู้แทนผู้ประกันตนโดยตรงอย่างกว้างขวางและครอบคลุมทุกกลุ่ม ที่สำคัญคือร่างที่ผ่านการพิจารณากำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ประกันสังคม ซึ่งมีอำนาจในการออกระเบียบการเลือกตั้งคณะกรรมการฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง รวมทั้งการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการครอบงำสำนักงานกองทุนประกันสังคม(สปส.)จากนักการเมืองที่อาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้
2. ขาดกลไกในการตรวจสอบการบริหารงานของคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ประกันสังคม เพราะในร่างที่ผ่านการพิจารณาไม่มี “คณะกรรมการตรวจสอบ” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำให้กองทุนประกันสังคมจำนวนมหาศาล(กว่า 1ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) ไม่เกิดการทุจริต มีความโปร่งใส และบริหารเพื่อประโยชน์ผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
3. ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณา ไม่ครอบคลุมลูกจ้างทุกกลุ่ม เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน
ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน จึงกำหนดมาตรการในการผลักดันเพื่อไม่ให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ ออกมาบังคับใช้ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่อัปลักษณ์ โดยได้กำหนดมาตรการเคลื่อนไหว ดังนี้
1. จะยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เพื่อตรวจสอบที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชนเข้าพิจารณาในสภา
2. จะยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมืองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
3. จะนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากระหว่างนี้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาลและ ส.ส. เรวัต อารีรอบ กับคณะ เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน