สมานฉันท์ซัดนายจ้างไร้จริยธรรม อ้าง 300 เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

P1230506คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลง “ข้ออ้าง 300 บาท กับ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”: ข้อเท็จจริงจากพื้นที่” วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ.2556 ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. แถลงว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัด (นอกเหนือจากจังหวัดที่มีการปรับมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม พบว่ามีผู้มาร้องเรียนหลายกรณีโดยเฉพาะการเลิกจ้างในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานต่อสาธารณชนอย่างเร่งด่วน  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้  เป็นประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย จึงได้มีการรวบรวมบางสถานการณ์จากกรณีศึกษาในพื้นที่ที่มีการใช้ข้ออ้าง 300 บาท มาเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างสหภาพแรงงาน

P1230511P1230509

ด้วยบางสถานประกอบการ จะยังไม่มีการเลิกจ้างแรงงานภายหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่แรงงานกลับมีชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่อาจเป็นปัญหาตามมา คือ เรื่องความปลอดภัยและการเจ็บป่วยจากการทำงาน เพราะนายจ้างมีแรงกดดันจากต้นทุนค่าจ้างเพิ่มทำให้มุ่งเพิ่มผลผลิตเพิ่มยอดขาย แรงงานต้องทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น แต่การให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างกลับน้อยลง เพราะการทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น หมายถึง แรงงานมีเวลาพักผ่อนน้อยลง โอกาสเสี่ยงอุบัติเหตุก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

สำหรับในกลุ่มแรงงานหญิงมีข้อมูลที่ยืนยันชัดเจนว่าผู้หญิงมักจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคสิ่งทอ กลุ่มการ์เมนท์ตัดเย็บเสื้อผ้า ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานหญิงที่อพยพย้ายถิ่นมาจากภาคชนบท เป็นกลุ่มที่หลุดออกจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแรงงานหญิงทำงานมากกว่า 80 % ผลกระทบสำคัญของแรงงานหญิงที่เดือดร้อนหลังถูกเลิกจ้าง คือ ภาระที่ต้องดูแลสมาชิกที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ในครอบครัว ทั้งในเรื่องการบริโภคประจำวัน การศึกษาของบุตร (ค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน) ค่าที่พัก (แรงงานที่มาจากต่างจังหวัด) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ และส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ คือ ค่าใช้จ่ายหลักของแรงงานที่จำเป็นต้องจ่าย ถ้าตัดทอนลงไปจะส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะบุตร เพราะที่ผ่านมาพบว่ารายได้ของแรงงานหญิงก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว รายได้เดิมก่อนถูกเลิกจ้าง พอแค่ใช้จ่ายประจำเดือนเท่านั้น ไม่มีเงินเก็บสำรองในยามจำเป็น รวมถึงเงินชดเชยที่ได้จากการถูกเลิกจ้างและประกันการว่างงานมีจำนวนน้อย เนื่องจากคิดจากฐานรายได้เดิมซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำ

มีแรงงานบางส่วนที่หางานใหม่ทำได้แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะได้งานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และมีรายได้ลดน้อยลง ในขณะที่ต้องใช้จ่ายเพื่อรักษาสิทธิประกันสังคมมากขึ้นเป็น 2 เท่า (มาตรา 39) และถ้าไม่รักษาสิทธิดังกล่าวก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่สำคัญในระยะยาว เช่น การประกันชราภาพ หรือมีแรงงานหญิงบางคนที่ตกงาน พบว่าบางครอบครัวมีการหย่าร้างเกิดขึ้น และต้องรับภาระดูแลลูกด้วยตนเองเพียงลำพัง นี้ไม่นับว่ามีข้อสังเกตว่า มีผู้หญิงหลายคนที่ตั้งครรภ์ท้องและอาจจะต้องไปทำแท้ง เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัวในระยะยาวหรือไม่

P1230501P1230493

มีบางกรณีที่เมื่อลูกจ้างได้ใช้สิทธิทางกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลแรงงาน กลับพบว่า มีหลายกรณีที่ลูกจ้างได้ยื่นแบบคำร้องทุกข์ (คร.7) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย แต่นายจ้างก็ไม่ปฏิบัติตาม เช่น ไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามสิทธิ เมื่อลูกจ้างได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายจ้างเพื่อดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย แต่พบว่ากระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและกลไกศาลแรงงานขาดประสิทธิภาพ กรอบคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานหรือคดีแรงงานขาดหลักประกันในสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ไม่แสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายหรือแก้ไขปัญหา ไกล่เกลี่ยโดยไม่คำนึงข้อเท็จจริง และประนีประนอมเพื่อลดภาระคดีในทางศาลบ่อยครั้ง อีกทั้งเมื่อเกิดข้อพิพาทด้านแรงงานขึ้น กระบวนการทางศาลกลับมีความยืดเยื้อยาวนานหลายปี จนผู้ใช้แรงงานไม่สามารถแบกรับต้นทุนของเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างแน่นอน

จากสภาพปัญหาดังที่กล่าวมา จึงเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญถึงการใช้ข้ออ้าง 300 บาท มาเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม บทเรียนจากกรณีดังกล่าวก็ย้ำชัดเจนให้ผู้ใช้แรงงานตระหนักเสมอว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายสถานประกอบการก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง อีกทั้งยังมีการถ่วงปัญหาให้ยืดเยื้อออกไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและฝ่ายนายจ้างเอง การแก้ปัญหากลับกลายเป็นเพียงการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งๆไป แต่ไม่ใช่บทสรุปที่จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาจากการถูกเลิกจ้างได้จริง รวมถึงภาพสะท้อนจากการมีมาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำออกมาเยียวยาและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม 2556  นี้จึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงตัวบทกฎหมายที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ว่าเอื้อประโยชน์ต่อนายจ้างมากกว่าผู้ใช้แรงงาน

P1230481P1230486

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในความไม่เท่าเทียมจากการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง โดยในสถานการปัจจุบันจะเห็นว่ามีการฉวยโอกาสจากการปรับอัตราขั้นต่ำ 300 บาทในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นโอกาสในการลดต้นทุนด้านแรงงาน อีกทั้งการเลิกจ้างจำนวนมากไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1)        กระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกผลกระทบในการเลิกจ้าง ปิดกิจการไม่ว่าเหตุกรณีใด โดยการตั้งกองทุนค่าชดเชยตามกฎหมายเพื่อจ่ายให้ลูกจ้างทันทีที่ถูกเลิกจ้าง โดยให้กระทรวงแรงงานต้องจัดสรรงบประมาณในการตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการ โดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป

(2)        ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บริษัทหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย โดยมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จะต้องมีมาตรการในการดำเนินคดีอาญากับนายจ้างด้วย มิใช่มุ่งหมายไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างรับเงินตามที่นายจ้างเสนอเท่านั้น

(3)        รัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบในการให้ลูกจ้างต้องมาต่อรองสิทธิกับนายจ้างเพียงลำพัง โดยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและยั่งยืนในการช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้ และเปลี่ยนทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า แรงงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่อความผูกพันกับชุมชนและประเพณีในพื้นที่

(4)        ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหางานหรืออาชีพให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยทันที ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสภาพการดำรงชีพที่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันครอบครัว

(5)        ให้กระทรวงแรงงานตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างคนงานและปิดกิจการ หลังจากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และค้นหาข้อเท็จจริงของบริษัทแต่ละแห่งที่เลิกจ้างเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร เพียงใด ขาดทุนจริงหรือไม่ เพียงใด มีเหตุจำเป็นถึงขนาดจะต้องเลิกจ้างหรือไม่ โดยคณะกรรมการฯ มีองค์ประกอบคือ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง นักวิชาการด้านแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

เพื่อให้ชีวิตผู้ใช้แรงงานทุกคนได้รับการปกป้องและคุ้มครอง และไม่เปิดโอกาสให้นายจ้างฉวยโอกาสใช้ข้ออ้างจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ละเมิดสิทธิแรงงานได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหาสถานการณ์การเลิกจ้างวันนี้ คือ ทำอย่างไรให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองและไม่ถูกเลิกจ้าง สิ่งที่รัฐและกระทรวงแรงงานควรจะต้องทำ คือ การสร้างความมั่นคงในการมีงานทำ และกลไกการรองรับการถูกเลิกจ้างของแรงงานที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของแรงงานอย่างแท้จริง

กรณีอื่นๆที่คนงานร้องเรียนมายัง คสรท. เช่น บริษัท แอร์โร่เวิร์ค เอเชีย จำกัด

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 แรงงานจำนวน 270 คน จากบริษัท แอร์โร่เวิร์ค เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งภายในเครื่องบิน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้มีการรวมตัวเพื่อร้องขอความเป็นธรรมหลังจากถูกนายจ้างปิดงานมาตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2555 โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และเจรจาหารือกับคนงาน โดยบริษัทให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาจากงบดุลประจำปีพบว่าบริษัทได้กำไรมาโดยตลอด เช่น ในปีนี้ได้กำไรรวมประมาณ 300 ล้านบาท รวมทั้งบริษัทยังมีการขยายโรงงานแห่งที่ 3 และสร้างโรงงานใหม่ขึ้นมาที่ประเทศลาว รวมทั้งมีแผนดำเนินงานที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 4 ด้วยเช่นกัน

นายบุญยืน สุขใหม่  ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและที่ปรึกษาสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ กล่าวถึงปัญหา บริษัทอีเลคโทรลักซ์ ระยอง ซึ่งมีพนักงานรวมทั้งหมดกว่า 650 คน และเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าฝาหน้า เครื่องซักผ้าฝาบน เครื่องซักและอบผ้า และเครื่องอบผ้า มีกำลังการผลิตเครื่องซักผ้ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 1 ล้านเครื่องต่อปีและเป็นหนึ่งของศูนย์กลางการผลิตเครื่องซักผ้าอีเลคโทรลักซ์ในระดับโลก มีสำนักงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม IRL (เหมราช) ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ประธานสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้เข้าเจรจากับผู้บริหารเรื่องนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามที่รัฐบาลประกาศ โดยขอให้บริษัทพิจารณาปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่ปรับให้เฉพาะคนที่ยังมีค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทหรือเกินกว่านั้นเพียงบางส่วนเท่านั้นโดยไม่คำนึงอายุงานว่าใครจะทำงานมานานเท่าใด ในเบื้องต้นทางบริษัทได้รับว่าจะพิจารณาและจะให้คำตอบในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในวันที่ 11 มกราคม 2556 บริษัทได้ชี้แจงว่าไม่สามารถปรับเพิ่มได้โดยปราศจากการชี้แจงเหตุผล ซึ่งประธานสหภาพแรงงานจึงได้โต้แย้งว่าทำไมจึงไม่ปรับเพิ่มให้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ต่อมาในบ่ายวันเดียวกันบริษัทได้ออกมาแจ้งกับพนักงานทุกคนว่า “บริษัทเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนแล้ว”

ทั้งนี้ขณะนี้คนงานอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐประสานกับนายจ้างให้เกิดการเจรจาโดยใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์หาทางออกร่วมกัน ในการกลับเข้าไปทำงาน

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคสรท. กล่าวว่า กรณีกิจการ “มาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์แอนด์เท็กไทล์”

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556  ภายหลังการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเพียง 2 วัน บริษัทมาสเตอร์พีซ  การ์เม้นท์ แอนด์เท็กซ์ไทล์  จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชุดกีฬาเด็ก ตั้งอยู่ที่ ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน  จ.นครปฐม  ได้มีการปิดประตูโรงงาน ทำให้ลูกจ้างจำนวน 98 คน ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ทั้งนี้นายจ้างไม่มีการชี้แจงเหตุผลใดๆและไม่มีการปิดประกาศเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเลื่อนการจ่ายค่าจ้างมาตั้งแต่เดือนเมษายน  2555  บางเดือนก็มีการค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนด  รวมทั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  2555  เป็นต้นมา ทางบริษัทก็ได้มีการหักเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างมาโดยตลอดแต่ก็ไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมแต่อย่างใด ทำให้เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยจึงต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลเอง  และเมื่อวันที่  28  ธันวาคม  2555 บริษัทก็ถูกตัดน้ำตัดไฟ เนื่องจากไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้า ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ และทำให้คนงานที่อยู่หอพักได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ต่อมาในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 4  มกราคม 2556  ทางบริษัทได้ติดประกาศและแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าทางบริษัทไม่ได้เลิกจ้างแต่อย่างใด เป็นเพียงการจะย้ายลูกจ้างไปอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่สาขาแสมดำ กรุงเทพ แทน ซึ่งถ้าคนงานไม่ประสงค์ให้แจ้งชื่อกับทางบริษัท ทั้งนี้มีข้อเสนอจากบริษัทว่าทางบริษัทเสนอจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง 50%  โดยไม่มีการกล่าวถึงค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือในกรณีที่แรงงานหญิงตั้งครรภ์และใกล้คลอด ที่ทางสำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรให้ตามกฎหมาย

P1230500P1230478

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า กรณีกิจการ “วีณาการ์เม้นต์”

30 ธันวาคม 2555 ที่บริษัทวีณาการ์เมนต์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชุดชั้นในสตรีเพื่อส่งออกทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตั้งโรงงานอยู่ที่ ต.วิหารแดง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ได้มีการประกาศปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างจำนวน 285 คน ต้องถูกเลิกจ้างโดยทันที (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และจำนวนหนึ่งอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์และป่วยเป็นโรคมะเร็ง) และบริษัทก็ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนถึงการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งค่าจ้างที่ค้างจ้าง ทั้งนี้บริษัทได้ให้เหตุผลว่า “ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากไม่มีการสั่งซื้อสินค้าของโรงงานเข้ามาสะสมเป็นเวลานาน ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัวเป็นสำคัญ ทำให้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา บริษัทขาดทุนรวมประมาณ 140 ล้าน” นอกจากนั้นแล้วยังมีการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนหลายสำนักว่าเป็นผลมาจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2556 ทางสหภาพแรงงานวีณาการ์เมนต์ได้มีการรวมตัวหน้าโรงงาน เพื่อกดดันให้มีการจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างที่สถานประกอบการค้างจ่าย รวมทั้งมีการเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดสระบุรีเพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีการดำเนินการเจรจากับนายจ้าง ทั้งนี้ได้ข้อสรุปเรื่องการนัดหมายรับค่าจ้างค้างจ่าย และการหารือเรื่องความชัดเจนในการรับค่าชดเชยในวันที่ 5 มกราคม 2556 ซึ่งในวันดังกล่าวนายจ้างได้มีการจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายที่บริเวณประตูหน้าโรงงาน ส่วนการจ่ายค่าชดเชยให้มีการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 9 มกราคม 2556 ณ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรีแทน ในขณะเดียวกันนายจ้างก็ไม่ยอมให้ลูกจ้างเข้าไปที่หอพักเพื่อนำทรัพย์สินส่วนตัวออกมา จนทำให้ทางสหภาพแรงงานต้องเดินทางไปแจ้งความที่ สภ.อ.วิหารแดง เพื่อให้เจ้าพนักงานลงบันทึก จนในที่สุดนายจ้างจึงอนุญาตให้เข้าไปในหอพักเพื่อนำทรัพย์สินออกมาได้ โดยให้เข้าไปครั้งละ 4 คน เท่านั้น

วันที่ 9 มกราคม 2556 มีการเจรจาเรื่องค่าชดเชยตามนัดหมาย ผลการหารือตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 จ่ายค่าชดเชยงวดที่ 1 รวม 30% และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 จ่ายค่าชดเชยงวดที่ 2 รวม 30%  วันที่ 15 มิถุนายน 2556 จ่ายค่าชดเชยงวดที่ 3 รวม 30% โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 สหภาพแรงงานได้มีการนัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อหารือดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับอนาคตสหภาพแรงงาน

ในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อมูลประจักษ์ชัดถึงความไม่มีมาตรฐานและจริยธรรมในการจ้างงานของนายจ้าง เนื่องจากที่ผ่านมานายจ้างได้มีมาตรการเสนอต่อลูกจ้างที่สมัครใจจะลาออก โดยเสนอจ่ายค่าชดเชย (เงินช่วยเหลือ) ให้ลูกจ้างร้อยละ 80 ของค่าจ้างที่ได้รับ ซึ่งก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจำนวน 5 ข้อโดยมีการเจรจาและสามารถตกลงกันได้และได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้างต่อกันเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 (ทั้งๆที่นายจ้างก็มีแนวโน้มที่จะปิดกิจการอยู่แล้ว) ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ยิ่งทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิในการที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งยังเสียสิทธิในฐานะที่เป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่จะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ชดเชยการว่างงานที่จำนวน 6 เดือนจากกองทุนประกันสังคม

นอกจากนั้นแล้วสหภาพแรงงานวีณาการ์เมนต์ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียงหนึ่งปีกว่าๆ นี้จึงเป็นอีกภาพสะท้อนของการไม่ยอมรับกระบวนการเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ดังนั้นเมื่อแรงงานถูกเลิกจ้างจึงยิ่งตกอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง และไร้ความมั่นคงอย่างสูง อำนาจต่อรองของแรงงานที่มีไม่มากอยู่แล้ว กลับลดลงและแทบสูญเสียความสามารถในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิไปอย่างสิ้นเชิง

“การที่นายจ้างให้คนงานที่ป่วยเป็นมะเร็งซึ่งนอนพักรักษาตัว แถมยังมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูแม่ที่อายุมากแล้วและป่วยเช่นกันเซ็นต์ใบลาออก แม้ว่าจะจ่ายค่าจ้างร้อยละ 80 ทั้งที่รู้ว่าต้องปิดโรงงานแน่นอนและต้องจ่ายค่าชดเชยเต็มร้อยอยู่แล้วการกระทำของนายจ้างแบบนี้เห็นว่าไร้จริยธรรม ไม่มีคุณธรรมต่อคนงานอย่างมาก เพราะการลาออกทำให้เขาเสียสิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน” นางสาวธนพรกล่าว

นางสาวธนพร ยังกล่าวอีกว่า กรณีคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์อยู่แล้วถูกเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมควรมีการปรับแก้ระเบียบให้สอดคล้องในทางปฏิบัติด้วย เพราะไม่ควรเท่าเทียมกับคนปกติ คนท้องคงไม่สามารถหางานทำได้อยู่แล้ว เดินทางก็ลำบาก ควรให้เขาได้รับสิทธิกรณีว่างงานโดยไม่ต้องรายงานตัว

////////////////////////////////////