สมัชชาแรงงานนอกระบบกทม.รวยกระจุกทุกข์กระจายVSสุขกระจาย

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานครได้มีการกำหนดจัด สมัชชาแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานคร: สุขภาวะแรงงานนอกระบบ: รวยกระจุก ทุกข์กระจาย vs  สุขกระจาย รายได้เพิ่มในวันอังคารที่ 11 กันยายน 2555 เวลา 08.30 – 13.00 น.ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หวังเสนอแนวทางการจัดการอาชีพและรายได้ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงานที่เอื้อต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม และในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายการจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมการจัดการอาชีพและรายได้ รวมถึงการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ในกรุงเทพ

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกทม. กล่าวว่า การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานครนั้น ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2550 โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ศูนย์วิชาการแรงงานนอกระบบ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย การจัดการอาชีพ และสวัสดิการ สำหรับแรงงานนอกระบบ ในรูปแบบของการพัฒนาควบคู่กับการจัดการองค์ความรู้เพื่อยกระดับการทำงานให้แรงงานนอกระบบเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานในระดับกลุ่ม ชุมชนและเครือข่ายที่จะส่งผลต่อการพัฒนานโยบายระดับพื้นที่ ระดับเขต จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงาน ยังพบว่า มีข้อจำกัดที่ต้องการความร่วมมือและสนับสนุนจากภาคีและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติดังกล่าว เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อแรงงานนอกระบบ ให้มี “สุขภาพ ความปลอดภัย รายได้และอาชีพที่มั่นคง” ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการพัฒนาการทำงานร่วมกันในรูปแบบสมัชชา เพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานและความร่วมมือร่วมกันในระหว่างผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเบื้องต้น

แรงงานนอกระบบ (Informal Sector) คือผู้ประกอบ “อาชีพอิสระ” หมายถึง กลุ่มคนที่ทำงานอิสระที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

1) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป เช่น กลุ่มผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กลุ่มเกษตรกรรายย่อยกลุ่มหาบเร่แผงลอย กลุ่มคนเก็บขยะและซาเล้ง กลุ่มคนขับรถบริการสาธารณะ (มอเตอร์ไซด์ และ รถแท๊กซี่)  ช่างเสริมสวย ช่างซ่อมอิสระ ร้านขายของชำฯ  และ

2) กลุ่มรับจ้างทั่วไป เช่น  ผู้รับจ้างทำของ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มแรงงานก่อสร้าง  กลุ่มเกษตรกรพันธะสัญญา กลุ่มแรงงานรับจ้างภาคเกษตรตามฤดูกาลกลุ่มแรงงานในกิจการประมง คนรับใช้ตามบ้าน กลุ่มพนักงานบริการทั่วไปฯ

จากผลการสำรวจของสานักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 [1]  พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.3 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเรียกว่าแรงงานนอกระบบ 24.6 ล้านคน หรือร้อยละ 62.6    และที่เหลือเป็นผู้ทำงานในระบบหรือแรงงานในระบบ 14.7 ล้านคน หรือร้อยละ 37.4 สำหรับแรงงานนอกระบบเมื่อพิจารณาตามเพศ พบว่า มีจำนวนไม่แตกต่างกันมากคือเพศชาย 13.2 ล้านคน หรือร้อยละ 53.8 และเพศหญิง 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 46.2 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด นอกจากนั้น แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดร้อยละ41.5 รองลงมาเป็นภาคเหนือร้อยละ 21.4 ภาคกลาง ร้อยละ18.7 ภาคใต้ ร้อยละ 13.3 และกรุงเทพมหานครมีแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 5.1 ปัญหาของแรงงานนอกระบบมีความคล้ายคลึงกับปัญหาแรงงานในภาพรวมของประเทศ ได้แก่ 

1) ปัญหาจากการทำงานคือ ปัญหาจากการจ้างงานที่มีค่าตอบแทนน้อย การทำงานที่มีรายได้ไม่ต่อเนื่อง

2) ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นได้แก่การเกิดอันตรายจากสารเคมี การทำงานกับเครื่องจักรและเครื่องมือที่เป็นอันตราย และพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม

3) ปัญหาจากสิ่งแวดล้อมการทำงานที่มีความเสี่ยงได้แก่ สิ่งแวดล้อมการทำงานที่เกิด ฝุ่น ควัน สารเคมี  เสียงดังและมีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น

นางสุจิน ยังกล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 50 เขต เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีขนาดใหญ่  กรุงเทพมหานคร  มีประชากรวัยแรงงาน 3.8 ล้านคน จำแนกเป็นแรงงานในระบบ 2.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 67.8 และแรงงานนอกระบบ 1.2 ล้านคน            คิดเป็นร้อยละ 32.2 จำแนกตามอาชีพ ประกอบด้วย

1) กลุ่มผู้บัญญัติกฎหมายและผู้จัดการ

2) ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ

3)  ผู้ประกอบวิชาชีพช่างเทคนิคสาขาต่างๆ

4) เสมียน

5) บริการ พนักงานในร้านค้าและตลาด

6) ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและประมง

7) ผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือ

8) ผู้ปฏิบัติการโรงงานและเครื่องจักร             

9) อาชีพพื้นฐานต่าง ๆ ในด้านการขาย การบริการ และ

10) คนงานซึ่งมิได้จำแนกไว้ในหมวดอื่น

ซึ่งเป้าหมาย การจัดสมัชชาครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างแรงงานนอกระบบ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ ในการดำเนินงานการจัดการอาชีพรวมถึงสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนและผลักดันให้เป็นนโยบายการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร เป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์และแนวทางการจัดการอาชีพและรายได้ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงานที่เอื้อต่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมของแรงงานนอกระบบ และในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายการจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมการจัดการอาชีพและรายได้ รวมถึงการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ในกรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรปาฐกถาเรื่อง “นโยบายส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานคร” เสวนาเรื่อง “สุขภาพและความปลอดภัย รายได้และอาชีพมั่นคง สำหรับแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานครพร้อมทั้งมีการประกาศเจตนารมย์และยื่นข้อเสนอนโยบายต่อผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน

หมายเหตุ : เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย : ศูนย์ประสานงานแรงงานอกระบบ ภาคกรุงเทพมหานคร ศูนย์วิชาการแรงงานนอกระบบ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบพื้นที่ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง ศูนย์ประสานงานแรงงานอกระบบพื้นที่ชุมชนน้อมเกล้า เขตวังทองหลาง ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบพื้นที่ชุมชนอมรทรัพย์ เขตหนองจอก ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบพื้นที่ชุมชนสามัคคีพัฒนา เขตบึงกุ่ม ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบพื้นที่ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบพื้นที่ชุมชนแฟลตเอื้ออาทร เขตมีนบุรี เครือข่ายแท็กซี่อาสาพัฒนาแรงงานอกระบบ เครือข่ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เขตวัฒนา เครือข่ายแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เขตป้อมปราบศรัตรูพ่าย กลุ่มอาชีพเก็บขยะและซาเล้ง เขตยานนาวา กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า เขตภาษีเจริญ


[1] สำนักงานสถิติแห่งชาติ