สภาแรงงานยานยนต์ เสนอตั้งงบช่วยแรงงาน หวั่นนายจ้างปิดงานยาว ถึงเลิกจ้าง

 

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ เสนอ ตั้งงบแก้ปัญหาลูกจ้างผลกระทบจากไวรัส Covid 19 หวั่นนายจ้างปิดงานยาว ถึงเลิกจ้าง

วันที่ 2 เมษายน 2563 สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย(ส.อ.ย.ท.) ได้ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีวาการกระทรวงแรงงาน,และยื่นต่อ นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการ การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 เรื่อง ให้รัฐบาลตั้งงบประมาณช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัส Covid 19

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย(ส.อ.ย.ท.) กล่าวว่า สภาพปัญหาผลกระทบจากไวรัส โคโรนา (Covid-19) สร้างผลกระทบกับแรงงานจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรม หรือแรงงานนอกระบบอุตสาหกรรม ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และยังมีประเด็นแรงงานข้ามชาติด้วย นายจ้างมีการปิดงานจำนวนมาก บางส่วนกระทบจากการประกาศปิดงานของภาครัฐ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลมีการออกมาตรการมาดูเยียวยา แต่แน่นอนว่า ยังไม่มีการดูแลแบบครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม และมีความตกหล่นอีกมากมาย ทางสภาฯจึงได้มีการยื่นหนังสือถึงรัฐบาล โดยส่งถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฏร ซึ่งมีข้อเรียกร้องจำนวน 4 ข้อ โดยมีเนื้อหา ดังนี้

จากปัญหาสถานการณ์โรคไวรัส Covid- 19 ที่เกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมทั่งประเทศไทย ยังไม่มีทีท่า ว่าจะจบลงได้เมื่อไหร่จากปัญหาดังกล่าวได้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ สถานประกอบการ ภาคการผลิต การบริการ ท่องเที่ยว และอื่นๆอีกมากมายมีหลายสถานประกอบการต้องลดกำลังการผลิตลงหรือแม้กระทั่งปิดกิจการเป็นการชั่วคราวและถาวรทำให้ลูกจ้างหลายๆ คนไม่มีงานทำไม่ได้รับค่าแรงยิงเป็นการซ้ำเติมลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือนเป็นอย่างมากเพื่อบรรเทาความ เดือดร้อนของลูกจ้างที่โดนปิดงาน เลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ต่อไป

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือลูกจ้างดังต่อไปนี้

  1. ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือจา นวน 100% ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายก่อนที่บริษัทจะมีคำสั่งปิดงานเป็นเวลา 6 เดือน (180วัน)
  2. ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่โดนเลิกจ้างจำนวน 100% ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายโดยคำนวณเหมือนกับพรบ. คุ้มครองแรงงานมาตรา 118
  3. ให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ลาออกจากงานจำนวน 100 % ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายโดยให้คำนวณ เหมือนกับพรบ. คุ้มครองแรงงานมาตรา 118
  4. ให้รัฐบาลส่งเสริมอาชีพพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ลูกจ้างสามารถที่จะกลับเข้าไปทำงานใหม่ได้ตามความ ต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมต่างๆ

ทั้งนี้ หากสวัสดิการอื่นๆที่บริษัท มีอยู่และจ่ายให้ที่ดีอยู่แล้วให้คงไว้เหมือนเดิมไม่นับรวมกับข้อเรียกร้องนี้

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ยังกล่าวอีกว่า ช่วงนี้แรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มได้รับผลกระทบอย่างที่มีสื่อมวลชนรายงาน คือมีการใช้มาตรการปิดงานชั่วคราวซึ่งบางบริษัทปิดถึงเดือนเมษายน 2563 แต่ละบริษัทรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง อย่างบริษัทฮอนด้าประเทศไทยจ่ายค่าจ้างให้100 เปอร์เซ็นต์เต็มอยู่ และหากปัญหาการระบาดของไวรัสCovid-19 ยังไม่จบ ก็จะใช้มาตรการเบาไปหาหนัก อย่างบริษัท AutoAlliance (Thailand)ที่ผลิตรถยนต์ฟอร์ด และมาสด้า ที่ประกาศหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราวในเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 จ่ายค่าจ้างร้อยละ 90 และมีมาตรการแบบเบาไปหาหนักเช่นกัน เช่นเดียวกับทางบริษัทโตโยต้าประเทศไทย บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัทอีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) และยังมีอีกหลายบริษัท อย่างเช่น บริษัทนิสสัน ที่กำลังมีการพูดคุยปรึกษาหารือกับทางสหภาพแรงงาน โดยใช้มาตรการเบาไปหาหนัก ตั้งแต่จ่ายค่าจ้างเต็ม จากนั้นก็จ่ายค่าจ้างร้อยละ 90 ร้อยละ 85 จนถึงร้อยละ 75 ของรายได้ และในส่วนของบริษัทซัพพายเออร์หรือบริษัทผลิตชิ้นส่วนกระทบหนักนายจ้างใช้มาตรา 75 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน จ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ซึ่งผลกระทบจากCovid-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก และทำให้ชิ้นส่วนในการผลิตยานยนต์ จากทั้งประเทศญี่ปุ่น จีน อินโดนีเชีย ฯลฯ ไม่สามารถส่งเข้ามาสู่กระบวนการผลิตได้ แม้ว่าแต่ละบริษัทจะมีการสำรองชิ้นส่วนไว้บ้างในกระบวนการผลิต แต่วันนี้ด้วยเศรษฐกิจที่กระทบถึงแม้จะผลิตได้ก็ขายไม่ได้ เพราะคนไม่มีกำลังซื้ออีก

จึงคิดว่า “รัฐบาลควรมีมาตรการในการดูแลแรงงานทุกคนเท่าเทียมกัน และเป็นระบบมากกว่านี้  ข่าวการประเมินถึงการตกงานจำนวนมากของแรงงานในอนาคต หากไม่มีมาตรการดูแลอย่างเป็นระบบจะส่งผลกระทบยาวด้านเศรษฐกิจแน่นอน ซึ่งรัฐควรมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างเนื่องจากรายได้ที่หายไปด้วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพราะแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ และแรงงานในระบบยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านนโยบายของภาครัฐเลย ด้วยงบประมาณประกันสังคมที่มีมาตรการออกมารองรับก็เป็นเงินของผู้ประกันตนเอง และอย่างกรณีที่นายจ้างใช้มาตรา 75 กฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปใช้มาตรการเหล่านั้นได้เลย รัฐควรมีมาตรการกระต้อนเศรษฐกิจฐานรากด้วย ไม่ใช่อุดแต่ข้างบน อย่างกรณีแจก 5,000 บาท ใครบ้างที่ได้ และเมื่อมีการคัดกรองแล้วคงตกหล่นจำนวนมากแน่นอนด้วยความหลากหลายของการจ้างงาน รัฐต้องมองให้กว้างว่าตรงไหนแน่ที่กระทบ” นายมานิตย์ กล่าว

หมายเหตุ จากรายงานสถานการการประกาศปิดโรงงานชั่วคราว

1. บริษัทAuto Alliance Thailand (AAT) เปิดเผยว่า บริษัทแม่สั่งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ ชั่วคราว 2 แห่งได้แก่ ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (FTM) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (AAT) ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. -20 เม.ย. 2563 โดย เบื้องต้นจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานทุกคนเต็ม 100 % สำหรับการหยุดในสัปดาห์แรก ส่วนสัปดาห์ที่ 2 วันที่ 6 -10 เม.ย. พนักงานบางส่วนที่ทำงานที่บ้าน ยังได้รับเงินเดือน 100 % ขณะที่พนักงานที่หยุดงานและไม่ได้ทำงานที่บ้านจะได้รับเงินเดือน 90 % แต่ทั้งนี้หากพนักงานส่วนนี้ต้องการรับเงินเดือน 100% ก็สามารถใช้สิทธิวันลาได้ และสัปดาห์ที่ 3 วันที่ 13 -17 เม.ย. ซึ่งรัฐประกาศให้เป็นวันทำงาน บริษัทพร้อมจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน100 % รวมถึงค่ายมาสด้าที่ตัดสินใจ หยุดสายการผลิตชั่วคราวที่โรงงาน Auto Alliance Thailand (AAT) ในจังหวัดระยองเป็นเวลา 10 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมเป็นต้นไป

2. บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศหยุดไลน์ประกอบรถยนต์ชั่วคราวในประเทศไทย ของทั้ง 2 โรงงาน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยาและ จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. – 30 เม.ย. นี้เ หรือจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม โดยบริษัทได้ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งคงมาตรการเข้มงวดให้พนักงานอยู่ในที่พักอาศัย งดเว้นการเดินทาง รวมถึงไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด พร้อมระบุว่าวันนี้ต้องจับตาดูสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อไปแค่ไหน ฮอนด้าไม่ต้องการทำอะไรฝืนสภาพตลาด ต้องแผนงานให้สอดคล้องอย่างตรงไปตรงมา

3. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดไลน์ผลิตชั่วคราวสำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ที่นิคมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทจะยังคงจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานอยู่ที่ 85% ของค่าจ้าง อาทิ โรงงานที่ 1 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-26 เม.ย. โรงงานที่ 2 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย. โรงงานที่ 3 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-22 เม.ย. โรงงาน MCC -Engine4N/4D/4M/4G หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย. โรงงาน MCC -Engine 3Ag หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-22 เม.ย. โรงงาน MCC-Press/Plastic หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย. และ โรงงาน MEC-KD หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 6-19 เม.ย.

(ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/motoring/news)) ได้รายงานถึงสถานการการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)

4. บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป แถลงการณ์ของโตโยต้าจะปิดโรงงานในรัสเซียเป็นเวลา 5 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนโรงงานผลิตรถยนต์และอะไหล่ใน 6 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอังกฤษและตุรกีที่ปิดไปก่อนหน้านี้ จะขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 19 เม.ย.2563 นอกจากนี้ โตโยต้ายังได้สั่งปิดโรงงานในสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดาจนถึงวันที่ 17 เม.ย. และจะหยุดการผลิตบางส่วนในญี่ปุ่นตั้งแต่วันศุกร์นี้ เนื่องจากยอดสั่งซื้อลดลง ส่วนบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประกาศว่า ทางบริษัทฯ จะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า สำโรง จ. สมุทรปราการ โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์ และโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าเกตเวย์ จ. ฉะเชิงเทรา ในช่วงระหว่างวันที่ 7-17 เม.ย. อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (ข้อมูลจากhttps://www.kaohoon.com/content/351542)

5. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ได้รับแจ้งจากบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถอีซูซุในประเทศไทยว่า บริษัทตัดสินใจระงับการผลิตรถอีซูซุที่โรงงาน 2 แห่งชั่วคราว คือที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 13-30 เม.ย. นี้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ขาดแคลนทั่วโลก รวมทั้งความต้องการของตลาดในประเทศและส่งออกหดตัวลง โดยการระงับการผลิตชั่วคราวนี้ อาจส่งผลต่อการส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่จองรถอีซูซุไว้บ้าง แต่บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ขอให้ลูกค้ามั่นใจว่า บริษัทในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถอีซูซุจะพยายามอย่างดีที่สุดในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว (ข้อมูลจากข่าวสด)

 

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน