เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 เวลา 10.00 น. คณะกรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย (PCFT.) ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียงและ (กสค.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จำนวน 15 คนได้เข้าพบอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายอาทิตย์ อิสโม ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสนับตำแหน่งใหม่และติดตามความคืบหน้าตามข้อเสนอของสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมฯในการขอให้มีการแก้ไขประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนลูกจ้างในคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ซึ่งอธิบดีได้มอบหมายให้รองอธิบดี นายสมชาย วงษ์ทอง มาต้อนรับและรับเรื่องเพื่อดำเนินการต่อไป
ด้านนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย เลขาธิการ สพ.ปิโตรเลียมฯกล่าวว่า ในวันนี้นอกจากจะมาแสดงความยินดีกับท่านอธิบดีเนื่องในโอกาสรับตำแหน่งใหม่แล้ว ก็ยังมาติดตามความคืบหน้าที่ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีคนเก่า นางอัมพร นิติศิริ เพื่อขอพบตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแต่ยังไม่ความคืบหน้า วันนี้จึงได้ขอเข้าพบท่านอธิบดีคนใหม่ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ในข้อเสนอของสหพันธ์แรงงานฯที่ให้แก้ไขที่มาของ คปอ.ฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งการได้มาของ คปอ.ในปัจจุบันนั้นมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและไม่ส่งเสริมการรวมตัวของคนงานในการใช้สิทธิผ่านองค์กรสหภาพแรงงานเนื่องจากหากกำหนดให้ทุกสถานประกอบการใช้วิธีเลือกตั้งโดยไม่คำนึกถึงว่าในสถานประกอบการนั้นจะมีองค์กรสหภาพแรงงานหรือไม่นั้น เห็นได้ชัดเจนว่ามีเจตนาที่จะตัดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน ไม่ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในระบบทวิภาคี รวมไปถึงการผลักดันด้านการดูแลส่งเสริมความปลอดภัยฯด้อยประสิทธิภาพ คนงานไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน อันเนื่องมาจากหากได้ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นกรรมการหรือสมาชิกของสหภาพแรงงานเข้าไปเป็นคณะกรรมการ คปอ. จะไม่มีอำนาจการต่อรองและสนับสนุนในข้อเสนอในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลไม่มีคุณภาพเป็นต้น
นายพรนารายณ์ ยังกล่าวต่อไปว่า จะพบเสมอๆว่าเมื่อเสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมแล้วจะไม่ได้รับการแก้ไขและก็จะไม่กล้าที่จะเสนออีกซึ่งเกรงว่าจะกระทบต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การทำงานหรือหากได้ผู้แทนที่ฝ่ายบริหารส่งมาเป็น คปอ.ฝ่ายลูกจ้างด้วยแล้วยิ่งจะทำให้คนงานไม่ได้รับการดูแลด้านความปลอดภัย ซึ่งนั้นก็จะส่งผลให้สภาพความปลอดภัยในสถานประกอบการโดยรวมเลวร้ายลงไปอีก คนงานไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้างอีก
ด้วย ดังนั้น ควรจะต้องมีการทบทวนและแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อให้สหภาพแรงงานได้มีสิทธิเสนอผู้แทนของตนเข้าไปเป็นคณะกรรมการ คปอ. เช่นเดียวกับการได้มาของคณะกรรมการลูกจ้าง ตามสัดส่วนของสมาชิกสหภาพแรงงาน ดังที่เคยปฎิบัติมาตามประกาศกรมสวัสดิการฯในปี 2538
ด้านนายสุพจน์ จารุวรรณบำรุง ที่ปรึกษา สพ.ปิโตรเลียมฯ กล่าวว่า ได้เสนอต่อรองอธิบดีในการออกระเบียบกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า ในการประชุมของคณะกรรมการความปลอดภัยฯนั้น ให้ถือว่าเป็นการทำงานให้นายจ้างเต็มวัน ซึ่งหากพิจารณาจากกฎหมายความปลอดภัยฯฉบับใหม่แล้วจะต้องให้มีการตรวจความปลอดภัยตามพื้นที่ต่างๆเพื่อนำมาแก้ไขในที่ประชุมด้วยซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร
“วันนี้ท่านอธิบดีติดการประชุมกับท่านรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ผมมาเป็นผู้แทน ในส่วนของการขอแก้ไขประกาศที่มาของ คปอ.นั้น ก็คงจะรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการส่งความเห็นของท่านให้กับคณะกรรมการความปลอดภัยฯซึ่งเป็นไตรภาคีในการพิจารณา ในส่วนของกรมฯเองก็จะมอบให้ฝ่ายที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป แต่อย่างไรก็ดี กรมฯก็เคยเสนอไปว่า หากจะเป็นการง่ายและเกิดประโยชน์โดยไม่ขัดต่อกฎหมายก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำ และจะนำข้อเสนอของท่านนำเรียนท่านอธิบดีต่อไป” นายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว
นักสื่อสารแรงงาน สพ.ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ฯ รายงาน