สปส.เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน เล็งเป็นองค์การมหาชน

ซาเล้ง20120430-figure-3

สปส.เล็งเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน ปลูกถ่ายอวัยวะ-ช่วยผู้พิการ

มติชน / 2 ม.ค.57

สำนักงานประกันสังคมเตรียมปรับปรุงสิทธิประโยชน์ปี 2557 ให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาราคาแพง ทั้งปลูกถ่ายตับ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เพิ่มค่าอวัยวะเทียมกรณีทุพพลภาพ เร่งประชาสัมพันธ์ ม.40 กรณีชราภาพ สปส. เสนอแนวคิดน่าจะเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายในปี 2557 สปส.จะปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นต้น การเพิ่มสิทธิประโยชน์การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยเสพยาเสพติด ปรับปรุงรายการและอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทุพพลภาพและกรณีสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปส.โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ อีกทั้ง จะส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ให้มากขึ้น รวมทั้งจะส่งเสริมให้ผู้ประกันตนในต่างจังหวัดได้รับรู้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับกรณีชราภาพ โดยเฉพาะเงินออมชราภาพที่ถูกหักเงินสมทบไว้ในกองทุนชราภาพของกองทุนประกันสังคม โดย สปส.จะจัดรถโมบายลงไปตามชุมนุมในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้บริการตรวจสอบสิทธิกรณีชราภาพ และประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ รวมทั้งรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ด้วย

“ขณะนี้ผู้บริหาร สปส.หลายคนมีแนวคิดว่าในอนาคต สปส.น่าจะเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุนที่มีเงินสะสมกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ก็ทำได้ยากเพราะติดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และติดขัดในแง่กฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยพิจารณาไว้ว่าองค์การมหาชนส่วนมากเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ แต่ สปส.เป็นหน่วยงานให้บริการ และสิ่งที่ สปส.เคยทำ เช่น การยึดทรัพย์สินนายจ้างที่ค้างจ่ายเงินสมทบและนำออกจำหน่ายเพื่อนำมาใช้หนี้กองทุน จะไม่มีอำนาจทำเช่นนี้ได้อีก เพราะองค์การมหาชนไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้” นางอำมรกล่าว

นางอำมรกล่าวอีกว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) เห็นชอบแผนการลงทุนในปี 2557 โดยให้คงสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเท่าเดิมที่ร้อยละ 7-12 และทยอยลงทุนในหุ้นต่างประเทศสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 โดยลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น นอกจากนี้ จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางเลือกซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้และให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน สินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ จะกระจายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าในปี 2557 จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท