สปส.เตรียมชงรัฐบาลใหม่แก้กม.ประกันสังคม-เบี้ยยังชีพ

ดร.อำมร เลขา สปส

ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2557

เลขาธิการ สปส.เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ดันร่างแก้ไข กม.ประกันสังคมเข้าสภาฯ ชี้ข้อดีลงทุนอสังหาริมทรัพย์คล่องตัว รัฐจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 ทุกปี ชงขยายมาตรา 40 เป็นวาระแห่งชาติ แก้ระเบียบ มท.ให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่ผู้ประกันตนที่ได้เงินบำนาญ

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส.จะเสนอให้รัฐบาลใหม่ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งเป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยตนจะเสนอต่อนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) และ รมว.แรงงานคนใหม่ ขอให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เพื่อขอให้ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับที่ผ่านวาระที่ 1 สมัยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วและนำเสนอต่อสภาฯชุดใหม่พิจารณาในวาระที่ 1 ต่อไป

“ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขมีข้อดี เช่น การลงทุนของ สปส.จะมีคล่องตัวและเงินไหลเข้าสู่กองทุนมากขึ้น เนื่องจาก สปส.สามารถเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยอสังหาริมทรัพย์ตกเป็นทรัพย์สินของ สปส.จากเดิมที่ต้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่ สปส.จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคารต่างๆ ไว้เพื่อทำกำไรเท่านั้น ไม่ได้ครอบครองไว้ในระยะยาว การกำหนดให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 เป็นประจำทุกปีโดยไม่ต้องเสนอของบเป็นรายปี รวมทั้งการกำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีทายาท คู่สมรส หรือญาติรับสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพแทน โดยผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือให้ผู้ใดก็ได้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์นี้แทนหากเสียชีวิต แต่ถ้าไม่มีการทำหนังสือระบุไว้ก็ให้เป็นมรดกแก่ทายาท” เลขาธิการ สปส.กล่าว

นางอำมร กล่าวอีกว่า สปส.ยังจะขอให้รัฐบาลสนับสนุนการขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบเป็นวาระแห่งชาติโดยขอความร่วมมือเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รณรงค์การรับสมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40 รวมทั้งช่วยผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตน เช่น ระเบียบของ มท.ที่กำหนดเงื่อนไขไม่อนุญาตให้ผู้ประกันตนที่รับเงินบำนาญจาก สปส.ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขณะนี้ มท.ได้ส่งเรื่องนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่า มท.สามารถจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญหรือไม่ หากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่สามารถจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้ประกันตนได้ สปส.จะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขระเบียบ มท.ต่อไป

สปสช.เดินหน้าเคลียริ่งเฮาส์ – ยุบสภาไม่กระทบ

vinai

ข่าวสดรายวัน 3 มกราคม 2557 

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากยุบสภา ทำให้หลายคนกังวลว่า การทำงานในเรื่องการดำเนินการธุรกรรมเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขระดับชาติ หรือเรียกว่า เคลียริ่งเฮาส์ระดับชาติ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และข้อมูลบริการสาธารณสุขของประเทศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดย สปสช.มีการลงนามข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการข้อมูลในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และข้อมูลบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการดูแลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งหมดยังคงเดินหน้าต่อ

“การทำเคลียริ่งเฮาส์ ไม่ใช่แค่นโยบายบูรณาการเจ็บป่วยฉุกเฉินเท่านั้น แต่คือการทำข้อมูลธุรกรรมการเบิกจ่ายทางการเงินให้แก่กองทุนต่างๆ เพื่อจ่ายแก่ ร.พ.ในสิทธินั้นๆ อย่าง สปสช.ก็จะมีการทำข้อมูลนี้อยู่แล้ว และจ่ายเป็นเงินรายหัวให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ส่วนของกองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม ด้วยความที่ สปสช.ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงประสานให้หน่วยงานเดียวมาดูเรื่องนี้แทน โดยในปี 2557 จะชัดเจน คือ สปสช.จะทำข้อมูลการเบิกจ่ายแต่ละ ร.พ.ในแต่ละสิทธิรักษาพยาบาล ให้กับทั้ง 3 กองทุน แต่ขอย้ำว่าทั้งหมดไม่ได้รวมสามกองทุน” นพ.วินัยกล่าว