สปส.ตีปี๊บดึงแรงงานนอกระบบ เข้าประกันสังคม-ตั้งเป้าปีนี้1.2ล้านคน

"ทีดีอาร์ไอ"เผยผลศึกษาค่าแรง 300 บาท กระทบการจ้างงานในกิจการ"เอสเอ็มอี"จะลดลงมาก จี้ รบ.อุ้ม" สปส."เปิดโอกาสแรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคนเข้าสู่ระบบ

ภายหลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ล่าสุด มีกระแสข่าวว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังมีนโยบายเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมด้วย 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายเผดิมชัยที่ต้องการให้แรงงานทั้งในและนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ล่าสุด สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบจำนวนกว่า 24.1 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการ เช่น กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มผู้ขับรถรับจ้าง แท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับจ้างทางการเกษตร หาบเร่แผงลอย คนทำงานบ้าน รับจ้างทั่วไป รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ สามารถสมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 ได้ โดยปี 2555 นี้ สปส.อยู่ระหว่างทำประชาสัมพันธ์ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่มาตรา 40 ตั้งเป้าราว 1.2 ล้านคน จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 600,000 คน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ใน 2 ทางเลือก

"ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี 1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อเป็นผู้ป่วยในและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป จำนวน 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี 2.กรณีทุพพลภาพได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 ปี 3.กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท ส่วนทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี โดย 3 กรณีแรกจะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกัน และเพิ่มกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนสำหรับวัยหลังเกษียณเรียกว่าบำเหน็จ ซึ่งจะคำนวณตามเงินที่ส่งสมทบเข้า สปส." ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว และว่า สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญคือ แรงงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ มีบัตรประจำตัวประชาชน สามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกัน สังคมทุกพื้นที่ หน่วยบริการเคลื่อนที่ หรือสมัครผ่านตัวแทนที่ได้รับการอบรมจาก สปส.

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะให้ดียิ่งขึ้นไม่ควรแยกว่าแรงงานนอกระบบ หรือในระบบ แต่ควรเป็นระบบเดียว เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะต้องได้รับเหมือนกัน หรือแตกต่างกันน้อยที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องไปแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เครือข่ายแรงงานได้รวมตัวกันล่ารายชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนขึ้น ซึ่งจะระบุถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแรงงานนอกระบบที่ควรได้รับเหมือนแรงงานในระบบด้วย เรื่องนี้ไม่ยาก เพียงแค่รัฐบาลให้ความสำคัญก็ย่อมตราออกมาใช้ได้อย่างแน่นอน

นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงผลการศึกษาเรื่องผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันว่า จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิต โดยเฉพาะการจ้างงานในกิจการเอกชนที่มีคนงาน 10-99 คน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) จะลดลงอย่างมาก และแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะหลุดออกไปอยู่นอกภาคการผลิต เช่น เข้าไปช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือการว่างงานแฝง และในกิจการเอกชนขนาดต่ำกว่า 10 คน ซึ่งส่วนมากอยู่ในภาคเกษตร ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยผู้ประกอบการในการปรับตัว และช่วยเหลือด้านแหล่งรองรับแรงงานที่จะได้รับผลกระทบ เพื่อไม่ต้องว่างงาน 

ด้านนายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่่่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มเป็น 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ได้ใช้นโยบายประหยัดต้นทุนด้านอื่นแทน เพื่อไม่ต้องผลักภาระราคาสินค้าไปให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ เชื่อว่าไม่มีผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค หรือซัพพลายเออร์รายใดที่จะปรับเพิ่มราคาสินค้าในขณะนี้ เพราะตลาดกำลังมีการแข่งกันสูง การปรับราคาเพิ่มจะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ 

ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวกรณีการแก้ปัญหาของแพงของรัฐบาลว่า แทนที่รัฐบาลจะมากล่าวหาว่าของแพงไม่เท่าในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ควรเอาเวลาไปแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ดีกว่า อย่างโครงการร้านขายของถูก ประชาชนต้องตามให้ทัน เพราะเอาเงินภาษีไปทำให้ของถูก เปรียบเหมือนกับเอาเงินจากกระเป๋าซ้ายไปใส่กระเป๋าขวา ซึ่งไม่ได้ช่วยจริง ถ้าต้องการจะแก้ไขต้องทำอย่างเป็นระบบ ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ทำได้ เหมือนครั้งที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เคยทำด้วยการระดมของถูกมาขาย ซึ่งไม่ได้ใช้เงินภาษีจากประชาชนมาทำให้ของถูกแต่อย่างใด 

"ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พรรคประชาธิปัตย์จะจัดโครงการขายสินค้าราคาถูก ภายใต้ชื่อว่า "ประชาธิปัตย์ของถูก สู้แพงทั้งแผ่นดิน" โดยจะมีการนำสินค้าจำเป็นราคาต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ ข้าว มาจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ กทม. ในราคาถูก ซึ่งสินค้าบางรายการอาจจะถูกกว่าโครงการธงฟ้าของรัฐบาล โดย ส.ส.กทม. ของพรรคจะนำไปขายในเขตของตนเอง" นายอภิสิทธิ์กล่าว

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333765915&grpid=00&catid=00วันที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:30:49 น.)