สปส.ตอบผู้ใช้แรงงาน เล็งย่นเวลา-เพิ่มสิทธิประโยชน์เร่งรับสิทธิ

PA070460P4050632

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตอบเล็งปรับเวลา-เพิ่มสิทธิประโยชน์ หลังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แถลงเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้แรงงานราว 2,000 คนให้ปรับปรุงสิทธิ พร้อมร้องให้รับสิทธิทันที และรัฐควรร่วมจ่ายสมทบเท่ากันไม่ใช่ 2.75% เสนอการบริหารงานให้เป็นองค์กรอิสระ  

วันนี้ (14 ส.ค. 56) ทางสำนักงานประกันสังคม ได้ตอบต่อกรณีที่น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เปิดเผยว่าสำรวจความคิดเห็นของแรงงานที่ทำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่ได้มีการทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคม 6 กรณี โดยมีกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดสมุทรปราการ สระบุรี ชลบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และระยอง รวมทั้งหมด 2,100 คน ช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค.55 ซึ่งผลสำรวจสรุปว่า โดยภาพรวมผู้ประกันตนเสนอให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.75 เพิ่มเป็นร้อยละ 5 เท่ากับนายจ้างและลูกจ้าง อยากให้สิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ เกิดขึ้นทันทีเมื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ตาย นอกจากนี้ อยากให้เพิ่มสิทธิ์กลไกคุ้มครอง มีกลไกการให้ความรู้แก่ผู้ประกันตนที่ไม่ใช้การอบรมแบบเดิม รวมทั้งกรณีพิเศษ เช่น กรณีพิพาทหรือหยุดงานเพราะมีเหตุวิกฤติให้คงสิทธิ์ประกันสังคมไว้ และมีการแจ้งสิทธิประโยชน์ เช่น การคำนวณเงินชราภาพ เงินสะสมหรือดอกเบี้ยที่ประกาศแต่ละปี อยากให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระและให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการดูแลกองทุนประกันสังคมมากกว่าเดิม

โดยนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ได้ให้สัมภาษณ์ ถึงผลสำรวจของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีที่ขอเสนอให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบจากปัจจุบัน 2.75% เพิ่มเป็น 5% และอยากให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทันที เมื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมทั้งอยากให้ออกบัตรรับรองสิทธ์ใบเดียวสามารถใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลได้กับทุกโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมว่า ขณะนี้ สปส.ได้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีนางสุพัชรี มีครุฑ รองเลขาธิการ สปส. เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อศึกษาเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนในกรณีต่างๆ และระยะเวลาการเกิดสิทธิ์หลังเข้าเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายแก่ สปส.โดยต้องการให้ สปส.เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนและให้เกิดสิทธิ์หลังเข้าเป็นผู้ประกันตนโดยเร็วที่สุด

เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเท่าที่ดูความเป็นไปได้ อาจจะย่นระยะเวลาการเกิดสิทธิ์ได้ แต่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นกรณีสิทธิประโยชน์ไป เช่น กรณีเจ็บป่วยจากเดิมเมื่อเข้าเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสมทบต่อเนื่อง 3 เดือนแล้วจึงเกิดสิทธิประโยชน์ กรณีรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นต้องจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน แต่จะให้เร็วกว่านี้คงทำได้ยาก เนื่องจาก สปส.ต้องใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลลงระบบคอมพิวเตอร์ ส่งต่อข้อมูลผู้ประกันตนไปยังโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม และออกบัตรรับรองสิทธิ์ให้แก่ผู้ประกันตน หรือสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของแรงงานต่างด้าวควรจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จเมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง

“ก่อนที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องไหน สปส.จะต้องศึกษาผลกระทบให้ดีก่อนโดยคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวเป็นหลัก หากจ่ายเงินออกไปโดยไม่สมเหตุสมผล หรือจ่ายออกไปมากในตอนนี้แล้ว ส่งผลผูกพันต่อกองทุนระยะยาวทำให้เงินกองทุนร่อยหรอลงไปจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนที่จะรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพโดยเป็นเงินบำเหน็จและเงินบำนาญเดือดร้อนในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความจะไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรเลย” เลขาธิการ สปส. กล่าว (บ้านเมือง http://www.banmuang.co.th)

หลังจากวันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556, นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(สปส.) กล่าวถึงผลสำรวจอันนี้ด้วยเช่นกัน ว่า หากจะมีการเพิ่มสัดส่วนการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเป็นร้อยละ 5 นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาหารือกันและไปหารือกับรัฐบาลโดยดูถึงเหตุผลและความจำเป็นในสิทธิประโยชน์แต่ละกรณี ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจ่ายเงินสมทบ 2.75% นั้น แยกออกเป็นจ่ายสมทบในสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายและคลอดบุตรในสัดส่วน 1.5% เท่ากับนายจ้างและลูกจ้างแต่สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายฝ่ายละ 3% ขณะที่รัฐบาลจ่าย 1% และกรณีว่างงานนายจ้างและลูกจ้างจ่ายฝ่ายละ 0.5% และรัฐบาลจ่าย 0.25% แต่บางประเทศรัฐบาลไม่ได้ร่วมจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพและสงเคราะห์บุตรให้เลยเพราะถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

ส่วนการที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ นั้น ที่ผ่านมาสปส.ยึดหลักในสองเรื่องคือ ผู้ประกันตนต้องได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะด้านการเงินของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว ดังนั้น การเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละกรณีของสปส.จึงต้องดำเนินการอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป โดยพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของกองทุน ทั้งนี้ ขณะนี้สปส.กำลังศึกษาเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ อยู่ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในบางกรณีตนเห็นด้วย เช่น กรณีเจ็บป่วยเมื่อเข้าเป็นผู้ประกันตนและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนแล้ว ก็ควรสามารถใช้สิทธิ์ได้ทันทีเพราะเป็นเหตุจำเป็น หรือกรณีแรงงานต่างด้าวเมื่อครบกำหนดทำงานในไทย 4 ปีเมื่อกลับประเทศก็ควรจ่ายให้เป็นเงินบำเหน็จ

นอกจากนี้ในเรื่องการออกบัตรรับรองสิทธิ์ใบเดียวสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้กับทุกโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรดำเนินการเพราะระบบรักษาพยาบาลของสปส.ใช้วิธีจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายโดยให้ผู้ประกันตนแต่ละคนมีโรงพยาบาลประจำของตนเองที่สามารถรักษาพยาบาลได้เพื่อให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ หากให้ใช้บัตรใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลเกรงจะเกิดปัญหาผู้ประกันตนไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายแห่งและสปส.จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่ไหว ซึ่งมีบทเรียนจากกองทุนสุขภาพในหลายประเทศมาแล้ว

“ปัจจุบันสปส.เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่เคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภูมิลำเนา เช่น บ้านอยู่ต่างจังหวัดแต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯสามารถเลือกโรงพยาบาลได้ว่าจะเลือกโรงพยาบาลใกล้ที่ทำงานในกรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลในภูมิลำเนา รวมทั้งที่ผ่านมาสปส.พยายามสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลโดยยึดตามสังกัด เช่น โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โรงพยาบาลสังกัดกทม.เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ขณะนี้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพไม่ว่าจะเป็นกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้มีระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมกันโดยให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ใช้บริการได้” (เว็บไซต์แนวหน้า)

P7300207

ร่วมรวมโดยนักสื่อสารแรงงาน