สนช.ให้ของขวัญปีใหม่ แก้กฎหมายประกันสังคม เพิ่มสิทธิผู้ประกันตนเพียบ

สนช.

สนช.ให้ของขวัญปีใหม่ แก้กฎหมายประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนเพียบ เบิกคลอดบุตรได้ไม่จำกัดครั้ง คาดผ่านวาระ 3 กลางเดือน ม.ค.58

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. นำโดย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการฯ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และนายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกันตน และผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ โดย นพ.เจตน์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนหลายประการ โดยเพิ่มประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพในการป้องกันโรคเพื่อฟื้นฟูร่างกายไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยก่อน การยื่นขอรับเงินผลประโยชน์ทดแทน 7 ประการ แก้ไขจากเดิมต้องยื่นภายใน 1 ปี เพิ่มเป็น 2 ปี การคำนวณค่าจ้างรายวันเมื่อผู้ประกันตนขาดรายได้ โดยใช้อัตราค่าจ้างที่สูงสุดมาคำนวณ การเหมาจ่ายคลอดบุตรจากเดิมเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นเบิกได้ไม่จำกัดครั้งในการคลอดบุตร และขยายเงินทดแทนการสงเคราะห์บุตรจากเดิม 2 คน เป็น 3 คน รวมถึงเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์ ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งกรรมาธิการฯได้พิจารณาให้บัญญัติในร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ทัดเทียมกับบัตรทอง

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า กรรมาธิการฯ ยังแก้ไขเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ประกันตนเป็นบุคคลที่สูญเสียความสามารถในการทำงานเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะได้รับเงินชดเชย โดยได้มีการขยายให้ครอบคลุมแม้สูญเสียเพียงเล็กน้อย ก็จะได้รับเงินชดเชย รวมถึงกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม ที่ครอบคลุมระยะเวลาเพียง 15 ปี นับจากที่กฎหมายกองทุนประกันสังคมมีผลบังคับใช้ใน 2553 ซึ่งปัจจุบันระยะเวลาเกินกำหนดแล้ว ดังนั้นกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขให้ได้รับผลประโยชน์ทดแทนตลอดชีวิต โดยให้ย้อนหลังกับผู้ประกันที่ทุพพลภาพจะได้รับสิทธิ์ทั้งหมด

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้ขยายคำนิยมคำว่า “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ส่วนการจ้างเหมาบริการ สัญญาปีต่อปี กรรมาธิการฯ จะพิจารณาว่าถ้าเป็นการทำงานตอบแทนเป็นนายจ้าง ลูกจ้างกันจริง จะถือว่าครอบคลุมด้วย ที่ประชุมยังได้เสนอผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จะต้องมาจากผู้แทนลูกจ้าง นายจ้าง จากเดิมฝ่ายละ 5 คน เป็น 7 คน โดยจะต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตน และจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน รวมทั้งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียผลประโยชน์ทับซ้อนกับสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ เป็นการพิจารณาเบื้องต้น ซึ่งจะต้องได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ในวาระ 2 และ 3 กลางเดือน ม.ค.นี้.

(ข่าว-ภาพจากhttp://www.dailynews.co.th)