สถานะทางกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

20160218_131928

นางสาวคอรีเยาะ มานุแช เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศหลักๆได้แก่ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพที่ใช้กำลังเป็นสำคัญ เช่น กรรมกร เกษตรกรรมและปศุสัตว์ งานภาคบริการ ประมงและอุตสาหกรรมรมต่อเนื่องประมง และแม่บ้าน แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แรงงานข้ามชาติมีสถานะตามกฎหมายแตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งประเภทแรงงานข้ามชาติตามสถานะทางกฎหมายได้ดังนี้

ประเภทแรก คือ แรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมาย คือแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัวใดๆที่ทางการไทยออกให้  ซึ่งผู้เขียนก็ไม่สามารถประเมินตัวเลขแรงงานกลุ่มนี้ได้  แต่ในพื้นที่ชายแดน เช่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตากคงจะมีแรงงานกลุ่มนี้อยู่จำนวนมากเนื่องจากมีช่องทางตามกฎหมายที่สามารถเข้าออกได้เพียงแห่งเดียวคือด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตากแต่มีพรมแดนธรรมชาติที่ทำให้แรงงานสามารถลักลอบเข้ามาในประเทศไทยได้โดยง่ายอยู่จำนวนมากกินพื้นที่ถึง 5 อำเภอ ของจังหวัดตากและแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอดมักจะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามายังเมืองชั้นในทำให้ยากต่อการประมาณการจำนวนตัวเลขที่แน่นอนได้

สถานะของแรงงานกลุ่มนี้มีความเปราะบางเป็นอย่างมาก หลายคนจึงต้องจำยอมรับสภาพได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่กล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิหรือเข้าสู่กลไกการร้องเรียนตามกฎหมาย และแรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้แม้ว่าจะมีโนบายจากกระทรวงสาธารณสุขให้ขายประกันสุขภาพให้แรงงานกลุ่มนี้ก็ตามแต่กลับพบว่าหลายโรงพยาบาลก็ไม่ให้ความร่วมมือ แรงงานฯถูกปฏิเสธสิทธิในการซื้อประกันสุขภาพให้ เป็นต้น ประเทศไทยจึงมีนโยบายให้แรงงานกลุ่มนี้ได้ปรับสถานะเพื่ออำนวยให้เข้าถึงกลไกการคุ้มครองให้มากขึ้น

ประเภทที่สอง แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันชั่วคราวคือ แรงงานที่มาขึ้นทะเบียนถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรสีชมพู) มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นตันด้วยเลข 00 การขึ้นทะเบียนทำให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายถูกปรับสถานะให้เป็นแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันมีแรงงาน (ถือบัตรสีชมพู) กลุ่มนี้ประมาณ 1,500,000 คน

ประเภทที่สาม แรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย คือ แรงงานที่มีหนังสือเดินทาง  แรงงานกลุ่มนี้เกิดจากการที่ประเทศไทยได้เจรจากับประเทศต้นทางเพื่อให้แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันชั่วคราวในประเทศไทยได้รับการปรับสถานะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย โดยสามารถแบ่งแรงงานกลุ่มนี้ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1. แรงงานที่ถือหนังสือเดินทางจากการพิสูจน์สัญชาติ เป็นหนังสือเดินทางชั่วคราวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวไม่เกิน 6 ปี
  2. แรงงานที่ถือหนังสือเดินทางมาจากประเทศต้นทาง โดยนำเข้าประเทศไทยจากบันทึกข้อตกลง (MoU) ซึ่งปัจจุบันแรงงาน 2 กลุ่มนี้มีจำนวน 1,274,241   คน (สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว,มกราคม 2559)
  3. แรงงานชายแดน แรงงานกลุ่มนี้เป็นการจ้างงานในพื้นที่เฉพาะจังหวัดชายแดนเท่านั้น เป็นลักษณะการจ้างงานตามฤดูกาลหรือลักษณะไปเช้าเย็นกลับ แรงงานกลุ่มนี้พึ่งเปิดดำเนินการไม่นานจึงมีจำนวนเพียง 2,101 คน เท่านั้น(สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว,มกราคม 2559)

20160127_161159

แรงงานข้ามชาติประเภทที่สองและสามนี้แม้จะมีสถานะตามกฎหมายดีกว่าประเภทแรก แต่ก็มีความเปราะบางต่อการถูกละเมิดสิทธิได้เช่นกัน เช่น เมื่อได้รับอันตรายจากการทำงานแต่กลับไม่ได้รับเงินค่าชดเชยจากกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน  หรือนายจ้างยึดหน่วงเอกสารประจำตัว เช่น หนังสือเดินทาง ใบอนุญาตทำงาน ไม่ยอมให้แรงงานฯได้ถือเอกสารด้วยตนเองทำให้มีเจ้าหน้าที่บางหน่วยใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามไม่ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะลักลอบเข้าเมือง หรือได้รับการผ่อนผันชั่วคราวหรือเข้าเมืองถูกกฎหมายสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือ สิทธิในการเป็น “ลูกจ้าง”  ซึ่งกฎหมายได้วางหลักไว้ว่า “ ลูกจ้าง คือ ผู้ที่ตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง”  จะเห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงสถานะตามกฎหมาย หากผู้ประกอบการจ้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย (แน่นอนว่าการจ้างแรงานข้ามชาติโดยผิดกฎหมายนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามและมีโทษตามกฎหมาย) แต่นายจ้างจะยกข้อเท็จจริงเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือสิทธิอื่นๆตามกฎหมายไม่ได้  หรือจะยกข้อต่อสู้โดยการปฏิเสธความเป็นนายจ้างเนื่องจากไม่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรก็ไม่ได้เช่นกันเนื่องจากกฎหมายได้วางหลักเรื่องสัญญาจ้างงานไว้ว่าสัญญาจ้างแรงงานไม่จำเป็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อาจจะเป็นสัญญาตามพฤตินัยก็ได้ เช่น นาย ก. เป็นลูกจ้างนาย ข. โดยไม่มีสัญญาจ้าง แต่นาย ก. ไปทำงานทุกวัน จะลากิจลาป่วยก็ต้องก็ทำตามกฎที่นาย ข.กำหนดไว้สิ้นเดือนนาย ข. ก็จ่ายเงินเดือนให้ เช่นนี้ก็ถือว่านาย ก. เป็นลูกจ้างของนาย ข. แล้ว เป็นต้น  ดังนั้นแม้ไม่มีสัญญาจ้างเป็นหนังสือแต่ถ้ามีพฤติกรรมการจ้างงาน ลูกจ้างก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

“ลูกจ้าง”ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายก็อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเช่นกันและต้องตระหนักว่าสถานะภาพทางกฎหมายคนเข้าเมืองและสิทธิในฐานะเป็นลูกจ้างที่ถูกรับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานนั้นเป็นคนละส่วนกัน  ดังนั้นแม้ว่าแรงงานจะถูกจับดำเนินคดีฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายและถูกส่งกลับประเทศต้นทางก็ไม่ตัดสิทธิในสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน