ประมวลภาพรวมสถานการณ์ปัญหา การละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน ช่องว่างทางกฎหมายและทางออกที่เป็นไปได้: กรณีศึกษา 10 สหภาพแรงงาน (กันยายน 2556-สิงหาคม 2557)
จัดทำโดย ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
26 สิงหาคม 2557
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 86-111 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงบทบาทของสหภาพแรงงาน ในฐานะที่เป็นองค์กรแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกใช้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557) ในมาตรา 64 ที่กำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่มีความล้าหลัง ไม่ทันต่อสถานการณ์ จึงไม่สามารถคุ้มครองผู้จัดตั้งสหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานได้สมเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายแรงงานอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แม้กระทั่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ก็เป็นกฎหมายที่ไม่ทันสมัย และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในหลายฉบับ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่ปกป้องคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิแรงงาน อันประกอบด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ รวมกว่า 30 องค์กร ที่มีสมาชิกกว่าสามแสนคน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่ทำงานในสหภาพแรงงาน รวมถึงการเข้าไม่ถึงสวัสดิการแรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพของคนงานมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยนำช่องว่างของกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการทำลายอำนาจการต่อรองหรือละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556-สิงหาคม 2557 รวม 10 สหภาพแรงงาน ได้แก่ สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย, สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทย, สหภาพแรงงานเอ็น ที เอ็น ประเทศไทย, สหภาพแรงงานซัมมิทแหลมฉบังโอโตบอดี้, สหภาพแรงงานฟูจิตสึเจเนอรัลประเทศไทย, สหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานไทยโซบิ, สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย, สหภาพแรงงานเอส เอส แอล (ประเทศไทย) และสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์
ทั้งนี้การละเมิดสิทธิในสหภาพแรงงานทั้ง 10 แห่ง สามารถจำแนกตามลักษณะกลุ่มปัญหา ได้ 4 ปัญหาหลัก คือ
(1) การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง รวม 1 สหภาพแรงงาน ได้แก่ สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย
กรณีดังกล่าวนี้เป็นภาพสะท้อนเรื่องกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายเชิงรุกของกระทรวงแรงงาน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงปัญหาหรือข้อขัดแย้งได้โดยเร็ว เนื่องจากต้องรอให้สหภาพแรงงานมีการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)ก่อน จึงจะดำเนินการเข้าไปตรวจสอบบริษัทหรือนายจ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง
(2) การหาเหตุเลิกจ้างประธาน กรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงาน รวม 7 สหภาพแรงงาน ได้แก่ สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทย, สหภาพแรงงานเอ็น ที เอ็น ประเทศไทย, สหภาพแรงงาน
ซัมมิทแหลมฉบังโอโตบอดี้, สหภาพแรงงานฟูจิตสึเจเนอรัลประเทศไทย, สหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย และสหภาพแรงงานเอส เอส แอล (ประเทศไทย)
ในกรณีนี้เป็นภาพสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้านเสรีภาพการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม เนื่องจากการเลิกจ้างประธาน กรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น ทำให้แรงงานในโรงงานที่เหลือได้สูญเสียอำนาจในการเจรจาต่อรองร่วมเพื่อช่วยเหลือปกป้องแรงงาน จากการวิเคราะห์ทั้ง 7 กรณี พบว่าการเลิกจ้างและการปิดงาน เหตุเพราะลดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานและยกเลิกสวัสดิการที่สหภาพแรงงานได้ร่วมต่อสู้กันมา
ในกรณีการปิดงานและไม่มีการจ่ายค่าจ้าง พบปัญหาทางกฎหมายเรื่องไม่มีเงินค่าจ้างนำส่งกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิในสุขภาพและการเข้าสิทธิประโยชน์ต่างๆในระบบประกันสังคมของลูกจ้างที่มีระยะเวลาปิดงานเกิน 6 เดือนขึ้นไป
(3) การข่มขู่และทำร้ายร่างกายประธาน กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงาน รวม 1 สหภาพแรงงาน ได้แก่ สหภาพแรงงานไทยโซบิ
ในกรณีนี้เป็นภาพสะท้อนสำคัญเรื่องสหภาพแรงงานถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ฉะนั้นนายจ้างจึงพยายามหากลยุทธเพื่อที่จะสกัดกั้นไม่ให้คนงานรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และหากสกัดไม่อยู่ก็หาทางที่จะทำลายหรือปั่นทอนอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะการข่มขู่ คุกคาม ใช้มาตรการกดดันต่างๆ เพื่อให้แรงงานคนอื่นๆเกิดความกลัวที่จะเข้าร่วมในการจัดตั้งหรือทำกิจกรรมร่วมกับสหภาพแรงงาน
(4) การเข้าไม่ถึงค่าจ้างที่เป็นธรรม รวม 1 สหภาพแรงงาน ได้แก่ สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์
ในกรณีนี้เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านรูปแบบการจ้างงาน ที่กระทรวงแรงงานไม่ได้สร้างกลไกเพื่อตรวจสอบหรือให้การคุ้มครองแรงงานกลุ่มเหมาค่าแรงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี แม้ว่าลูกจ้างเหมาค่าแรงจะทำงานได้ทัดเทียมกับลูกจ้างประจำของบริษัทผู้ว่าจ้างก็ตาม
นอกจากนั้นแล้วกิจการแรงงานกลุ่มเหมาค่าแรงยังไม่สามารถเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานของบริษัท
ผู้ว่าจ้างได้ เพราะมิใช่ลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันหรือกิจการประเภทเดียวกัน เนื่องจากมีการตีความของกระทรวงแรงงานว่า กิจการรับเหมาค่าแรงงานเป็นประเภทบริการมิใช่ประเภทอุตสาหกรรม จึงทำให้เป็นข้อจำกัดกรณีสหภาพแรงงานในบริษัทผู้ว่าจ้างหรือบริษัทแม่จึงไม่สามารถยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้ปรับปรุงสวัสดิการแก่พนักงานในบริษัทผู้รับเหมาได้
อีกทั้งหากแรงงานรับเหมาค่าแรงเรียกร้องสิทธิก็อาจจะถูกตอบโต้โดยบริษัทผู้ว่าจ้างสั่งให้บริษัทรับเหมาค่าแรงให้นำแรงงานคนนั้นออกไปจากกระบวนการผลิต ที่เรียกกันว่าส่งตัวคืนและทำให้แรงงานจะต้องรองานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งๆที่มีสิทธิตามกฎหมายแต่แรงงานก็ไม่กล้าดำเนินคดีเพราะต้องการมีงานทำแม้จะรู้แล้วว่านายจ้างของตนทำผิดกฎหมายก็ตาม อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีกลไกให้ความคุ้มครองแรงงานในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด
โดยมีรายละเอียดแต่ละกลุ่มปัญหา ดังนี้
กลุ่มปัญหาที่ 1: การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง ได้แก่
(1.1) สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย
สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บริษัทประกอบกิจการผลิตยางรถยนต์ยี่ห้อมิชลิน
สถานการณ์ปัญหา
สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 มีการเจรจาหลายครั้งจนได้ข้อยุติ สถานการณ์ปัญหามี 3 ส่วน คือ
(1) ในช่วงที่การเจรจาไม่ยุติและสหภาพแรงงานได้มีการนัดหยุดงานเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 ได้มีผู้ไม่หวังดียิงปืนเข้าใส่สมาชิกที่ชุมนุมและยิงบ้านพักแกนนำ
(2) ภายหลังการเจรจาได้ข้อยุติและมีบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ณ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานแล้ว พบว่า ในช่วงแรกบริษัทไม่ยอมรับกรรมการและสมาชิกบางส่วนประมาณ 60 คนกลับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตามภายหลังการเจรจาเหลือสมาชิก 2 คน ที่ยังไม่ถูกเรียกกลับเข้าทำงาน เนื่องจากมีคดีฟ้องร้องจากบริษัท
(3) สำหรับคนที่กลับเข้าทำงานแล้ว นายจ้างมีมาตรการกดดัน โดยหลายคนไม่ได้กลับไปทำงานจุดเดิม มีการโยกย้ายหน้าที่การปฏิบัติงานซึ่งไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง เช่น ทำงานในสภาพที่ร้อนและหนักกว่าเดิม บางคนให้ทำงานที่แตกต่างจากสภาพการจ้างเดิม เมื่อทำไม่ได้ตามเป้าหมายก็ให้เขียนรายงานและลงโทษให้ใบเตือน บางคนถูกพูดจาข่มขู่ กดดัน และทำให้บางคนทนความกดดันไม่ไหวจนต้องลาออกไป บางคนมีการนำประวัติย้อนหลังมาลงโทษและลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุถึงขั้นเลิกจ้าง เป็นต้น
ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการหารือกันในคณะกรรมการลูกจ้างแล้ว และมีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่าได้ดำเนินการส่งเรื่องให้จังหวัดชลบุรีดำเนินการแล้ว ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีจะได้ดำเนินการนัดทั้งสองฝ่ายมาพบเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
อย่างไรก็ตามนับแต่วันที่ 29 เมษายน เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างใด
กลุ่มปัญหาที่ 2: การหาเหตุเลิกจ้างประธาน กรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงาน ได้แก่
(2.1) สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทย
สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทย เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัททีเอ ออโตโมทีฟ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี บริษัทประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชนิดท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
สถานการณ์ปัญหา
สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทยได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการแรงงานจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 และวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทจำนวน 10 ข้อ
ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม 2557 มีการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัทแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ บริษัทได้ใช้สิทธิปิดงานลูกจ้างเฉพาะในส่วนพนักงานที่ลงรายมือชื่อหรือที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 104 คน มาตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2557 ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน 2557 นายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนจนนำมาสู่ข้อพิพาทแรงงาน และต่อมาในวันที่ 10 เมษายน 2557 บริษัทได้แจ้งปิดงานครอบคลุมสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคน
ทั้งนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัทได้ข้อยุติที่กระทรวงแรงงาน แต่พบปัญหาภายหลัง ดังนี้
(1) บริษัทได้ทยอยเรียกพนักงานเข้าทำงาน โดยพนักงานที่ได้รับการเรียกตัวให้ได้ถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกับลูกจ้างที่อยู่ในเต็นท์ พร้อมไม่ให้ทำงานล่วงเวลา
(2) ในส่วนที่พนักงานยังไม่ถูกเรียกตัวจำนวน 38 คน ทางบริษัทได้จัดเต็นท์ให้นั่งรออยู่บริเวณประตูด้านหลังของบริษัทและให้ลงเวลาเข้างาน 09.00 น. และลงเวลาเลิกงานเวลา 16.30 น. พักกลางวันเวลา 13.00 น. ซึ่งสามารถออกไปรับประทานอาหารข้างนอกได้ นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังได้ออกประกาศให้สมาชิกสหภาพแรงงานทำตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทเสมือนกับทำงานในสายการผลิต และจำกัดพื้นที่ให้อยู่เพียงในเต็นท์ ให้ใช้ห้องน้ำร่วมกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่อยู่บริเวณเต็นท์ และมีกล้องวงจรปิดคอยสอดส่องตลอดเวลา
(3) บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย รวม 4 กรณี คือ
– 29 พฤษภาคม 2557 บริษัทเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 1 คน เนื่องจากได้มีการโพสต์รูปถ่ายพนักงานที่นั่งรอบริษัทเรียกตัวเข้าไปทำงานในเฟสบุ๊ค เนื่องจากทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
– 28 มิถุนายน 2557 บริษัทได้ออกคำสั่งเลิกจ้างกรรมการสหภาพและสมาชิกจำนวน 7 คน โดยอ้างว่าไม่ทำงานล่วงเวลาระหว่างที่เจรจาข้อเรียกร้อง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
– 8 กรกฎาคม 2557 บริษัทออกคำสั่งพักงานสมาชิกสหภาพ 38 คน โดยอ้างว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นไม่ทำงานล่วงเวลาระหว่างที่มีการเจรจาข้อเรียกร้อง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
– 14 กรกฎาคม 2557 บริษัทเรียกพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ 38 คนเข้าพบ ผลจากการเข้าพบทำให้พนักงาน 34 คน ยินยอมเขียนใบลาออกโดยบริษัทได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้ประมาณ 30 % ขณะที่อีก 4 คน ไม่ยอมเขียนใบลาออก ทั้งนี้ในช่วงเย็นมีผู้ชายจำนวน 4 คน เข้ามาทำร้ายพนักงานคนหนึ่ง คือ เลขานุการสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่เซ็นใบลาออกรับค่าชดเชยที่บริเวณหน้าห้องพัก
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า ผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 7 คนได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่อย่างไรก็ตามพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจะได้ดำเนินการนัดทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อมาแก้ไขปัญหาร่วมกันภายในเดือนสิงหาคม 2557 ต่อไป
(2.2) สหภาพแรงงานเอ็น ที เอ็น ประเทศไทย
สหภาพแรงงานเอ็น ที เอ็น ประเทศไทย เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทเอ็น ที เอ็น แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด นิคมอีสเทิร์นซีบอร์ด ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
บริษัทประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานยนต์และสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
สถานการณ์ปัญหา
สืบเนื่องจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทและได้มีการเจรจาตามขั้นตอนของกฎหมายจนสามารถหาข้อยุติได้ในวันที่ 3 เมษายน 2557
ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2557 บริษัทได้นัดพูดคุยกับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับเงื่อนไขในการกลับเข้าทำงาน ทั้งนี้บริษัทได้ร่างหนังสือขอโทษเพื่อให้สหภาพแรงงานลงลายมือชื่อ แต่สหภาพแรงงานไม่สามารถยอมรับหนังสือขอโทษฉบับดังกล่าวที่บริษัทร่างได้ เนื่องด้วยมีเนื้อความเกินความเป็นจริงที่ตกลงกันไว้ในระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งนี้ในข้อตกลงได้ระบุว่าสหภาพแรงงานจะต้องเป็นผู้ทำหนังสือขอโทษ ขณะเดียวกันสหภาพแรงงานได้ร่างหนังสือขอโทษ เพื่อยื่นให้บริษัทพิจารณาเช่นกัน แต่บริษัทมีการท้วงติงหนังสือขอโทษของสหภาพแรงงาน ว่ามีเนื้อความไม่ครอบคลุมในเงื่อนไขที่ตกลงกัน
22 เมษายน 2557 สหภาพแรงงานได้ร่วมกับบริษัทร่างหนังสือฉบับใหม่เพื่อให้ครอบคลุมตามเงื่อนไขในการกลับเข้าทำงานฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2557 โดยร่างหนังสือออกมา 3 ฉบับดังนี้
– ฉบับที่ 1 เป็นหนังสือขอโทษต่อผู้บังคับบัญชากรณีเกี่ยวกับทัศนคติที่ไม่ดีการไม่เคารพ การเฉื่อยงานและการปลุกระดม
– ฉบับที่ 2 เป็นหนังสือขอโทษต่อบริษัทกรณีหยุดงานพร้อมกันเป็นจำนวนมาก
– ฉบับที่ 3 เป็นหนังสือสัตยาบัน กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง ประจำปี 2557 แต่ภายในวันเดียวกันทางฝ่ายบริษัทแจ้งกลับมาว่า ทางประธานบริษัทไม่รับหนังสือขอโทษที่ทางสหภาพแรงงานและบริษัทร่วมกันร่างขึ้นมา
29 เมษายน 2557 บริษัทได้นัดเจรจากับสหภาพแรงงานเป็นครั้งที่ 3 โดยให้สหภาพแรงงานยอมรับหนังสือขอโทษฉบับที่บริษัทเป็นผู้ร่างขึ้นมาเท่านั้น แต่สหภาพแรงงานได้ชี้แจงว่าไม่สามารถยอมรับหนังสือขอโทษฉบับดังกล่าวได้ เพราะเนื้อความในหนังสือที่บริษัทเป็นผู้ร่างขึ้นมานั้นมีเนื้อความเกินความเป็นจริง ทั้งนี้สหภาพแรงงานได้เสนอต่อบริษัทให้ไปหารือและร่วมกันร่างหนังสือขอโทษฉบับใหม่ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง แต่บริษัทไม่เห็นด้วย พร้อมกันนั้นทางบริษัทออกหนังสือปฏิเสธไม่รับหนังสือขอโทษฉบับที่สหภาพแรงงานได้ทำร่วมกันกับทางบริษัท
6 พฤษภาคม 2557 บริษัทได้เลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานจำนวน 8 คน อ้างว่าได้กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อบริษัท จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทเป็นกรณีร้ายแรง ตามความในมาตรา 119 (1), (2), (4) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ทั้งนี้กรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 8 คนไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้าง และภายในวันเดียวกันได้เลิกจ้างพนักงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 1 คน เนื่องจากใช้วาจาไม่สุภาพกับประธานบริษัท ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับอันเกี่ยวกับการทำงาน
17 พฤษภาคม 2557 กรรมการสหภาพแรงานที่เหลือซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้รับหมายศาล เรื่องการขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง
11 มิถุนายน 2557 กรรมการสหภาพแรงงาน 8 คน และสมาชิก 1 คน ที่ได้ถูกบริษัทเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ไปเขียนคำร้องกับเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระยอง และต่อมาในวันที่ 28 และ 30 กรกฎาคม 2557 ได้ขอถอนคำร้อง เนื่องจากประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลแทน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรรมการลูกจ้างอยู่ในระหว่างกระบวนการยุติธรรมที่นายจ้างได้ขออนุญาตศาลเลิกจ้าง แต่อย่างไรก็ตามพนักงานประนอมข้อพิพาทจะได้ดำเนินการนัดทั้ง 2 ฝ่าย มาเพื่อแก้ไขปัญหาภายในเดือนสิงหาคม 2557 ควบคู่กันไป
(2.3) สหภาพแรงงานซัมมิทแหลมฉบังโอโตบอดี้
สหภาพแรงงานซัมมิทแหลมฉบังโอโตบอดี้ เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทซัมมิท แหลมฉบัง โอโต บอดี้ เวิร์ค จำกัด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา ชลบุรี
บริษัทประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้านตัวถังรถยนต์
สถานการณ์ปัญหา
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 สหภาพได้ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างประจำปี 2556 แต่การเจรจาหาข้อยุติไม่ได้จนทำให้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 บริษัทได้แจ้งคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 17 ท่าน ให้ระงับการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในโรงงาน
อีกทั้งในขณะเดียวกันภายในบริษัทมีมาตรการเกิดขึ้นหลายอย่างกับพนักงาน คือ (1) มีการกดดันให้พนักงานยินยอมทำงานล่วงเวลา และลงโทษพนักงานที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานล่วงเวลา (2) ไม่จัดรถรับ-ส่งให้กับพนักงานกะ 2 ในช่วงเวลา 05.00 น.
ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน 2557 ทางบริษัทได้ออกคำสั่งให้กรรมการสหภาพ 4 ท่าน คือ ประธาน รองประธาน กรรมการพื้นที่แหลมฉบัง และกรรมการพื้นที่ระยอง หยุดปฏิบัติงานให้แก่บริษัทเป็นการชั่วคราว เนื่องจากบริษัทได้อยู่ในระหว่างขออนุญาตศาลเลิกจ้างเรื่องหย่อนสมรรถภาพและเป็นปรปักษ์กับองค์กร ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยในเดือนพฤษภาคม 2557 ศาลได้นัดไกล่เกลี่ยแต่ท้ายที่สุดนายจ้างยืนยันที่จะให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาล
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เชิญผู้แทนบริษัทมาพบและให้คำปรึกษาแนะนำให้บริษัทดำเนินการต่อลูกจ้างภายใต้ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและหลักสุจริตใจ ซึ่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน สำนักแรงงานสัมพันธ์ จะได้นัดหมายทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหาทางแนวทางแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยเร็วต่อไป
(2.4) สหภาพแรงงานฟูจิตสึเจเนอรัลประเทศไทย
สหภาพแรงงานฟูจิตสึเจเนอรัลประเทศไทย เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
บริษัทประกอบกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศ
สถานการณ์ปัญหา
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 บริษัทฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขออนุญาตศาลแรงงานภาค 2 เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้ในจดหมายที่ทางบริษัทแจ้ง คือ ได้ตรวจพบว่าฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประพฤติตนขัดวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงานฯมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 รวมถึงบกพร่องในหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง โดยกระทำการที่มุ่งยุยงส่งเสริมให้แตกความสามัคคี ทำให้เป็นผลเสียต่อการทำงานและการบริหารงานบุคคล โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำการดังต่อไปนี้
(1) เดือนมกราคม 2557 ได้เป็นตัวการให้ลูกจ้างของบริษัทนำสำเนาเอกสารลายมือเขียน ที่มีข้อความดูหมิ่นผู้บริหารไปแจกจ่ายในโรงงานฝ่ายผลิต และยังมีข้อความยุงยงต่อต้านการบริหารและปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างฝ่ายผลิตปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามแผนการผลิตและส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด
(2) เดือนมีนาคม 2557 เฟสบุ๊คในนาม fgtunion New ซึ่งลูกจ้างของบริษัทและบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงได้ มีการโพสต์ข้อความถึงผู้บริหารโดยมีข้อความดูหมิ่นใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ประธานสหภาพแรงงานได้ยอมรับในระหว่างการสอบสวนว่าเป็นเฟสบุ๊คของสหภาพแรงงานฟูจิตสึเจเนอรัล ประเทศไทย และขอรับผิดชอบต่อข้อความที่โพสต์เพียงผู้เดียว
ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแรงงานภาค 2 บริษัทได้ให้หยุดงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2557 โดยให้มาลงเวลาทำงานเข้า-ออกในวันทำงานเฉพาะทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ณ ป้อมยามด้านหน้า ประตู 2 (เวลาทำงานปกติ เวลา 08.00 – 17.00 น.) โดยบริษัทยินดีจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการตามปกติ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า จะประสานฝ่ายนายจ้างมาพบเพื่อหาแนวทางยุติข้อขัดแย้ง ภายในเดือนสิงหาคม 2557
(2.5) สหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทย
สหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด อุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
บริษัทประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์ทุกชนิดและประกอบรถยนต์
สถานการณ์ปัญหา
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2556 บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อขออนุญาตเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิประเทศไทย ต่อศาลแรงงานภาค 2 โดยในคำร้องขอเลิกจ้างได้ให้เหตุผล 3 ประการ คือ
(1) ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2557 ได้ละทิ้งหน้าที่การทำงานตามเวลาทำงานปกติ คือ 08.00 – 17.20 น. โดยเข้ามาลงเวลาทำงานตอนเช้าและออกไปด้านนอก และกลับเข้ามาลงเวลาอีกครั้งในตอนเย็น รวม 8 ครั้ง ทั้งนี้ไม่ได้มีการแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อขอลาหยุด หรือออกนอกโรงงานในระหว่างวันเวลาทำงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
(2) ประธานสหภาพแรงงานได้แจ้งบริษัทเรื่องคณะกรรมการสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยได้มีการประชุมและมีมติแต่งตั้งสมาชิกคนหนึ่งให้เป็นคณะกรรมการลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 อย่างไรก็ตามโดยข้อเท็จจริงในวันดังกล่าวสหภาพแรงงานไม่ได้มีการเรียกประชุมแต่อย่างใด
(3) การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะดูหมิ่นผู้บริหารบริษัทในที่ประชุม โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ระหว่างที่มีการประชุมวางแผนร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องวันทำงานของปี 2556 ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าร่วมประชุมด้วย ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชา ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากพนักงานซึ่งส่งผลเสียต่อการบริหารงาน
ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ศาลได้พิพากษาอนุญาตให้บริษัทเลิกจ้างได้ โดยเห็นว่าเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างที่กำลังมีคดีความกับบริษัทอยู่ ถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิด บริษัทจึงได้เลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา
(2.6) สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย
สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ประเทศไทย เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
บริษัทประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือช่าง เครื่องมือวัด
สถานการณ์ปัญหา
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 บริษัทสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาอีกสหภาพหนึ่งในบริษัท ชื่อว่าสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่ประมาณ 300 คน คือ สมาชิกที่ลาออกไปจากสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2547
ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน 2556 สหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เหลือสมาชิกเพียง 44 คน ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องประจำปีเพื่อขอปรับสภาพการจ้างกับบริษัท
ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 28 ตุลาคม 2556 มีการเจรจาระหว่างบริษัทฯกับสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทยเพียง 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ อีกทั้งบริษัทได้มีการยื่นข้อเรียกร้องสวนต่อสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย เพื่อขอยกเลิกข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมที่เคยปฏิบัติมาทั้งหมด รวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเรื่องการไม่ปรับขึ้นเงินโบนัสและจำนวนเงินขึ้นประจำปีเป็นเวลารวม 3 ปี
1 ตุลาคม 2556 บริษัทแจ้งว่าได้ทำข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับใหม่กับสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ เวิร์คส์ เรียบร้อยแล้ว และถ้าลูกจ้างคนใดไม่ยินยอมเซ็นรับข้อตกลงใหม่จะถือว่าไม่ใช่ลูกจ้างบริษัทอีกต่อไป และในวันที่ 29 ตุลาคม 2556 บริษัทได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทย รวม 44 คน ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้มีพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์คนหนึ่งเกิดความเครียดและแท้งบุตร
อีกทั้งในวันที่ 9 มกราคม 2557 บริษัทได้ยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมจำนวน 18 ข้อ สำหรับพนักงาน 44 คนเพียงเท่านั้น ถึงจะยอมรับการกลับเข้าทำงาน
สถานการณ์ขณะนี้ คือ ทั้ง 44 คน ยังไม่มีใครได้รับค่าจ้างและได้กลับเข้าไปทำงานในบริษัท พนักงานจำนวนหนึ่งที่ทนแรงกดดันและแบกรับภาระทางเศรษฐกิจไม่ไหว ได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทเพื่อเลือกรับค่าชดเชยแทน
(2.7) สหภาพแรงงานเอส เอส แอล (ประเทศไทย)
สหภาพแรงงานเอส เอส แอล (ประเทศไทย) เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทเอส เอส แอล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
บริษัทผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยยี่ห้อ DUREX
สถานการณ์ปัญหาแบ่งได้ 2 กรณี คือ
(1) นายจ้างละเมิดข้อตกลงฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2554
โดยข้อตกลงในข้อ 11 ได้ระบุเรื่องการที่บริษัทยินดีอนุญาตให้กรรมการหรือผู้แทนสหภาพสามารถออกไปร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ให้แสดงหนังสือเชิญที่มาจากหน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชนด้านแรงงานที่บริษัทสามารถตรวจสอบได้แก่ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งที่ผ่านมาสหภาพฯได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและนายจ้างอนุมัติในการลาทุกครั้ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 นายจ้างไม่อนุญาตให้ประธานสหภาพแรงงานลาไปร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสหภาพแรงงานสแตนเล่ย์ ประเทศไทยที่ถูกนายจ้างปิดงานอยู่
จากกรณีดังกล่าวทำให้บริษัทจึงได้มีการทบทวนการลาทำกิจกรรมของสหภาพตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยอนุมัติเฉพาะกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อบริษัทเท่านั้น และให้มีการจัดทำรายงานสรุปผลการเข้าร่วมกิจกรรมเสนอต่อบริษัทด้วย ทั้งนี้หากกิจกรรมใดที่นายจ้างไม่อนุมัติก็จะไม่ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
(2) การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 7 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ได้เกิดเหตุการณ์ความผิดพลาดของระบบไฟฟ้าในแผนกหนึ่งจนทำให้เครื่องจักรเสียหายและไม่สามารถทำงานต่อไปได้ โดยบริษัทได้ทำการสอบสวนและพบว่าอุปกรณ์ระบบตัดความร้อนหายไป ถือเป็นเหตุประมาทเลินเล่อ และมีคำสั่งเลิกจ้างคนงานในแผนกดังกล่าวจำนวน 9 คน โดยในที่นี้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 7 คน ทั้งนี้พนักงานได้แจ้งว่าระบบไฟฟ้าในแผนกดังกล่าวได้มีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้งและได้มีการแจ้งปัญหาดังกล่าวกับผู้บังคับบัญชามาโดยตลอด อีกทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่อุปกรณ์ระบบความปลอดภัยหายไป แต่นายจ้างกลับปฏิเสธที่จะพูดคุยและหาทางออกต่อกรณีปัญหาดังกล่าวร่วมกัน
กลุ่มปัญหาที่ 3: การข่มขู่และทำร้ายร่างกายประธาน กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงาน ได้แก่
(3.1) สหภาพแรงงานไทยโซบิ
สหภาพแรงงานไทยโซบิ เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัทไทยโซบิ โคเกอิ จำกัด ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
บริษัทประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนปั้มโลหะ ประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ และแม่พิมพ์โลหะ
สถานการณ์ปัญหา แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
(1) สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ทางผู้บริหารบริษัทไทยโซบิ โคเกอิ จำกัด ได้ติดประกาศปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากข้อบังคับสภาพการจ้างเดิมที่ทำงาน 2 กะ คือ กะเช้าเวลา 07.00-16.00 น. และกะบ่าย เวลา 16.00-24.00 น. โดยเปลี่ยนเวลาการทำงานใหม่เป็น กะเช้าเวลา 07.00-16.00 น. และกะกลางคืนเวลา 19.00 – 04.00 น. ทำให้ทางสหภาพแรงงานจึงได้ทำหนังสือขอประชุมร่วมระหว่างกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานและบริษัทเพื่อหาข้อยุติ แต่ทางบริษัทไม่ยอมเจรจาด้วย อ้างว่าเป็นอำนาจในการบริหารจัดการของนายจ้าง
สหภาพจึงได้มีการยื่นฟ้องศาลแรงงานภาค 2 ชลบุรี และศาลได้รับฟ้องแล้วในกรณีที่บริษัทฯเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานโดยไม่ชอบและไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง
ต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน 2557 มีผู้ไม่ประสงค์ดีจำนวน 2-3 คน ได้เข้ามาก่อกวนโดยขับรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาวนบริเวณหน้าบ้านพักของประธานสหภาพแรงงาน และมีการยิงปืนข่มขู่ ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชลบุรีได้เข้ามาตรวจสอบและพบปลอกกระสุนปืนตกอยู่ในบริเวณดังกล่าวจำนวน 4 ปลอก แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าในการติดตามผู้ก่อกวนแต่อย่างใด
(2) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ได้มีคำสั่งให้บริษัทรับนายสมบัติ มูลเพ็ญ กรรมการสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงาน เนื่องจากบริษัทกล่าวหาว่าทำผิดระเบียบข้อบังคับและมีคำสั่งเลิกจ้าง แต่บริษัทได้ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานจังหวัดชลบุรีให้เพิกถอนคำสั่งนั้น
ขณะเดียวกันได้มีหนังสือลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 และวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 เรื่องการให้หยุดงานชั่วคราวโดยได้รับค่าจ้างกับสวัสดิการอื่นๆ ทั้งนี้ให้มารายงานตัวที่บริษัทเวลา 10.00 น. และให้กลับบ้าน
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ได้มีชายฉกรรจ์จำนวน 4 คน ได้เข้าไปข่มขู่และทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บที่บริเวณหน้าห้องพัก โดยคำข่มขู่ระบุถึงการลาออกจากบริษัทและรับเงินค่าชดเชยแทน แม้กรณีนี้ได้มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนแต่อย่างใด
กลุ่มปัญหาที่ 4: การเข้าไม่ถึงค่าจ้างที่เป็นธรรม
ได้แก่
(4.1) สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์
สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ เป็นการรวมตัวของแรงงานบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่จัดส่งบุคลากรไปปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับผู้โดยสารภาคพื้นในบริษัทการบินไทยฯ
สถานการณ์ปัญหา
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น คือ ความแตกต่างของสภาพการจ้างงานของพนักงานบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นพนักงานเหมาค่าแรงกว่า 4,000 คน กับพนักงานประจำของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งพบว่าสภาพการจ้างงานเป็นลักษณะรายวัน ทั้งนี้พนักงานทุกคนไม่ว่าจะอายุการทำงานงานนานเท่าใดจะได้รับค่าจ้างเท่ากัน คือ 315 บาท/วัน พบว่าพนักงานหลายคนมีอายุการทำงานเฉลี่ย 20 ปี ถือได้ว่ามีความแตกต่างจากพนักงานประจำของบริษัทการบินไทย ที่อายุงานเฉลี่ยประมาณ 20 ปี จะได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 30,000-40,000 บาท พร้อมสวัสดิการ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ได้มีคำสั่งให้บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัทรวม 7 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี โดยอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ของค่าจ้าง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆในการดำเนินการ
โดยสรุปสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานทั้ง 10 สหภาพแรงงานนั้นแตกต่างกันออกไปในเชิงรายละเอียด อย่างไรก็ตามกล่าวได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นภาพสะท้อนสำคัญถึงช่องว่างของกฎหมายที่ไม่มีกลไกที่จะสามารถคุ้มครองผู้ดำเนินการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานได้อย่างชัดเจน แม้จะมีการห้ามการเลือกปฏิบัติในลักษณะที่ต่อต้านสหภาพแรงงานก็ตาม แต่นายจ้างก็มีอำนาจเด็ดขาดในการเลิกจ้างหรือลงโทษกรรมการสหภาพในข้อหาอื่นๆได้ตามมาเช่นเดียวกัน
หมายเหตุ: เอกสารรายงานฉบับนี้ใช้ในการจัดเวทีสาธารณะการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน : ช่องว่างทางกฎหมายและทางออกที่เป็นไปได้ วันที่ 26 ส.ค.57 แต่ได้ถูกยกเลิกการจัดเวทีไป จึงได้นำมาเผยแพร่ในเว็ปไซต์ voicelabour.org เพื่อเป็นข้อมูลสู่สาธารณะต่อไป / คณะจัดทำเอกสารประกอบด้วย นายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย ทนายความและหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และนางสาวชนญาดา จันทร์แก้ว คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ทั้ง 3 คน ยังเป็นผู้จัดทำคู่มือแนวทางการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ประสบวิกฤติอุทกภัย เพื่อการเข้าถึงและคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่ง คสรท.ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย เมื่อธันวาคม 2555
**************************