สงกรานต์ กับ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์

สงกรานต์ในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา  สำหรับลูกจ้างทุกคนของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยแล้ว  หากไม่ตรงกับวันจันทร์และอังคาร นั่นก็ไม่ใช่วันหยุด  แต่เป็นหลายวันที่การเดินทางไปทำงานเป็นเรื่องน่ารื่นรมย์จนอยากจะให้มีสงกรานต์ทุกวัน  ถนนในกรุงเทพว่างโล่ง  รถราผู้คนเบาบางลงไป  เห็นใครๆไล่สาดน้ำกันตลอดรายทาง  รู้สึกสนุกไปด้วย  (ทุกปีก็ต้องโดนปะแป้งที่แก้มด้วย…แก้มรถน่ะ)

วันใดวันหนึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของหลายปีที่ผ่านมา  เมื่อพวกเราทุกคนหรือส่วนใหญ่ว่าง  ตอนเช้าๆก่อนเข้าไปทำงาน  ก็จะนัดหมายมุ่งตรงไปที่บ้านเลขที่ 62 ซอยวัดบัวขวัญ  เตรียมมาลัยดอกไม้และน้ำอบไทย  รวมทั้งอาหารการกินต่างๆติดไม้ติดมือไปด้วย  พวกเราไปรดน้ำดำหัวและรับพรจาก น.ส.ภิรมย์ ภูมิศักดิ์  ซึ่งน้องๆที่ไปด้วยคือ นก  น้อย และ หน่อย เรียกแกว่าป้า  แต่สำหรับผมต้องเรียกว่า พี่ภิรมย์ ตามความต้องการของแก  ซึ่งก็รวมถึง อ.ศักดินา ที่ไปพร้อมภรรยาและลูกเสมอ ก็ต้องเรียกว่า “พี่ภิรมย์” เช่นกัน

 

พี่ภิรมย์  รู้จักพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ก็เมื่อครั้งมีการปิดบูรณะซ่อมแซม  โดยก่อนเปิดดำเนินการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยใหม่ในวันที่ 7 ธันวาคม 2546 ราวปีกว่าๆ  พวกเราที่กำลังทำงานบูรณะพิพิธภัณฑ์ฯ นำโดย อ.ศักดินา  ฉัตรกุล ณ อยุธยา ได้ไปอ้อนวอนขอ “จะเข้” ของ จิตร ภูมิศักดิ์  เพื่อนำมาจัดแสดงในห้อง “ศิลปวัฒนธรรมกรรมกร จิตร ภูมิศักดิ์“  โดยชี้แจงว่า “จะเข้” นั้นเป็นเครื่องดนตรีที่  “จิตร ภูมิศักดิ์  หอบเข้าคุกลาดยาวไปตั้งวงดนตรี  และได้เขียนเพลงเกี่ยวกับแรงงานไว้หลายเพลง  เพราะเป็นผู้ที่เชิดชูการใช้แรงงาน” (ทองใบ ทองเปาด์ เล่าไว้ในหนังสือ คอมมิวนิสต์ลาดยาว) จึงสรุปว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้ใช้แรงงานทั้งมวล   พากเพียรไปกันหลายครั้งจนพี่ภิรมย์ต้องยอมลำบากลำบนนั่งรถกระบะ (คันที่โดนปะแป้งบ่อยๆนั่นแหละ) มาดูให้เห็นกับตาว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยนั้นเป็นอย่างไร   ที่สุด “จะเข้” เครื่องดนตรีชิ้นนั้นก็ได้เข้ามาอยู่บอกเล่าเรื่องราวของ “เพลงเพื่อชีวิต” อันมี จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้บุกเบิกสำคัญ  สืบไป

 

จากนั้นมา  พวกเราก็มักแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนดูแล พี่ภิรมย์ เสมอๆ  อายุที่หลักแปดทำให้มีการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นระยะ  แต่ก็ยังดูกระฉับกระเฉงกว่าคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน  ยังเดินจ่ายตลาดเมืองนนท์ตัวปลิวจนผู้ติดตามไปบ่อยๆ อย่าง “น้อย” ตามแทบไม่ทัน  หลายครั้งที่ไปหา “นก” จะเป็นคนนวด แขน ขา มือ และ ฝ่าเท้าให้  ดูท่าทางพี่ภิรมย์ชอบใจเหมือนกันจนเกือบมีโปรเจ็คใหญ่พาไปหาหมอนวดแผนโบราณ  ส่วน “หน่อย” ถนัดพูดคุยดูแลคนแก่  เมื่อมีโอกาสค้างคืนด้วยพี่ภิรมย์ก็จะเข้านอนดึกกว่าปกติที่ 2 ทุ่มก็หลับแล้ว  ทีวีไม่มีดู  ฟังแต่วิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อ “ธานินทร์”  แต่ถ้าเป็นเรื่องของแอร์เสีย ก๊อกน้ำพัง ต้นไม้รก หรือปลวกขึ้น ฯลฯ  ก็เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องทำเองหรือตามช่างเจ้าประจำ “จำรัส” มาช่วยจัดการให้

แม้จะดูแข็งแรงอยู่  แต่หลายครั้งก็มีอาการให้เห็นเป็นระยะว่าไม่ปกติ  และเมื่ออยู่ในช่วงที่สบายดี  การได้นั่งรถออกไปเที่ยวไกลๆก็เป็นสิ่งที่พี่ภิรมย์รอคอยเสมอ  ทั้งการเช่ารถตู้ไปกัน  หรือถ้าใกล้ๆก็ไปรถกระบะของผม  ไปชายทะเลหลายแห่ง  ไปวัดไหว้พระทำบุญหลายวัด  สังเกตุว่าทำให้พี่ภิรมย์ดูสดชื่นขึ้นมาก “เราต้องสู้  ต้องเอาชนะมันให้ได้ “  พวกเราได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ 

แต่วันปีใหม่ฝรั่งและโดยเฉพาะวันสงกรานต์  ดูจะเป็นวาระที่พิเศษกว่าวันอื่นๆ  พี่ภิรมย์นั่งบนแคร่ไม้ไผ่เล็กๆหน้าประตูเข้าบ้าน  พวกเราเรียงลำดับตามประสบการณ์(อายุ)เข้าไปรดน้ำที่ละคน  ซึ่งบางปีอาจจะรวมทั้งรดน้ำให้ พี่(หรือป้า)จุก พี่ศรี พี่นิด  ซึ่งเป็นแม่บ้านเก่าแก่ที่ผลัดกันมาดูแลถูบ้านกวาดบ้าน  ซักผ้าให้ (แต่หุงข้าว ทำกับข้าว  พี่ภิรมย์ทำเองตลอด)  พอหลังจากรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว  ก็จะมานั่งรวมกันพนมมือรับพรจากพี่ภิรมย์  ต่อจากนั้นก็เป็นงานเลี้ยงฉลองด้วยอาหารซึ่งซื้อหิ้วติดมือมา  ของโปรดของพี่ภิรมย์คือ บะหมี่เป็ดย่าง  และขนมลอดช่องแตงไทยน้ำกะทิ  ผมต้องแวะซื้อมาจากตลาดรังสิตทุกปี  สังเกตุว่าถ้าชอบอะไร นอกจากกินเดี๋ยวนั้นแล้วก็จะเอาใส่ตู้เย็นทันที  ส่วนอะไรที่ไม่ชอบก็จะไล่ให้คนอื่นขนกลับบ้านไป (พวกเราก็ชอบ) คนอิ่มกันแล้วก็นั่ง(แอบๆ)พักผ่อนดูฝูงนกหลากหลายชนิดที่จะลงมากินข้าวที่โปรยไว้เหมือนกับทุกๆวันที่มันเคยมา  บางครั้งก็จะมีเจ้ากระรอกกระแตหางเป็นพวงวิ่งลงมาด้วย  ดูเพลินดี

 

สงกรานต์ปีนี้  ถนนในกรุงเทพว่างโล่งหลายวัน  การเดินทางแม้ราบรื่นสะดวก  แต่จิตใจของพวกเรากลับรู้สึกไม่โปร่งโล่งนัก  ปีนี้พวกเราไม่ได้ไปที่บ้านเลขที่ 62 ซอยวัดบัวขวัญ  เจ้าของบ้านไม่อยู่แล้ว  พ้นจากสงกรานต์ไป 4-5 วันก็จะครบ 1 เดือนที่ พี่ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ จากพวกเรา จากทุกคน จากโลกนี้ไป  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยยังคงเปิดเป็นปกติ  แม้จะไม่มีคนมาดูในช่วงนี้  แต่ “จะเข้” ของจิตร ภูมิศักดิ์  ก็ยังคงเตรียมพร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราวสู่ชนรุ่นหลังต่อๆไป

   

ด้วยความเคารพรักและอาลัย

วิชัย นราไพบูลย์

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕