ศาลตัดสินให้การรถไฟเลิกจ้าง –เรียกค่าเสียหายจาก 7 แกนนำรถไฟ

สาวิทย์ พร้อมสู้ต่อ เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี เพื่อหาความเป็นธรรม ย้ำบริสุทธิ์ใจ ต้องการทำงานเพื่อประชาชน หลังศาลแรงงานพิจารณาคดี ให้อำนาจการรถไฟเลิกจ้าง และเรียกค่าเสียหายตนกับพวก 7 คน จำนวนเงิน 15 ล้านบาท  

วานนี้ (28 ก.ค. 54) ที่ศาลแรงงานกลาง กรุงเทพมหานคร ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษากรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นโจทย์ฟ้องคดีแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) 7 คน ประกอบด้วย  นายสาวิทย์  แก้วหวาน ประธานสหภาพฯ, นายภิญโญ  เรือนเพ็ชร รองประธานสหภาพฯ, นายบรรจง  บุญเนตร์ รองประธานสหภาพฯ, นายธารา  แสวงธรรม รองประธานสหภาพฯ, นายเหลี่ยม  โมกงาม รองประธานสหภาพฯ,  นายสุพิเชฐ  สุวรรณชาตรี เลขานุการสหภาพฯ และ นายอรุณ  ดีรักชาติ ฝ่ายการศึกษา  เพื่อขอเลิกจ้าง และ เรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมประมาณ  300  ล้านบาท  ภายหลังที่สหภาพแรงงานฯทำการรณรงค์เรียกร้องให้การรถไฟฯ  สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถ เนื่องจากขบวนรถด่วนของโจทก์ตกรางที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 สหภาพฯรถไฟฯ โดยกรรมการสหภาพฯ มีความเห็นว่า เหตุที่ขบวนรถด่วนดังกล่าวตกรางเนื่องจากอุปกรณ์ระบบเดดแมนและระบบวิจิแลนซ์ ในหัวรถจักรชำรุดใช้การไม่ได้ หากมีการเดินรถต่อไปอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยศาล และพนักงานขับรถได้ ซึ่งคดีนี้ศาลใช้เวลาในการไต่สวนคดีเกือบ 2 ปี 

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. ผู้พิพากษาศาลแรงงานได้ขึ้นนั่งบัลลังอ่านคำพิจารณาคดีโดยสรุปได้ดังนี้ คือ คำฟ้องโจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการหาทางปรองดอง และระงับข้อขัดแย้งในรัฐวิสาหกิจ และกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาในคดีหมายเลขดำที่ 926/2552 โดยจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกร่วมกันยุยงชักชวนให้พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่องทั่วประเทศ รวมทั้งโรงรถจักรหาดใหญ่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ขับขบวนรถไฟ เพื่อขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าอันเป็นการบริการของโจทก์ และไม่ยินยอมให้โจทก์นำหัวรถจักรออกใช้งาน โดยอ้างว่า หัวรถจักรของโจทก์ชำรุดไม่ปลอดภัยแก่พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่องที่จะใช้ลากจูงขบวนรถไฟ และบรรทุกสินค้าอันเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่องของโจทก์หลงเชื่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่มาใช้บริการ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

ทั้งนี้จำเลยทั้งเจ็ด กับพวก ยังร่วมกันปราศรัย ณ ที่ทำการสำนักงานใหญ่ตึงบัญชาการของโจทก์ เพื่อขับไล่ เรียกร้องให้รัฐบาลปลดผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย อันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ ถือเป็นความผิดชัดแจ้ง โจทก์สามารถลงโทษไล่จำเลยทั้งเจ็ดออกโดยไม่ต้องมีการสอบสวน และยังเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา จึงขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งเจ็ดโดยให้ไล่ออกจากงาน และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง

ซึ่งศาลฯ วินิจฉัยแล้วข้อเท็จจริง ที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับฟังได้ว่า กรณีสืบเนื่องจากขบวนรถด่วนของโจทก์ตกรางที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 สหภาพฯรถไฟฯ โดยกรรมการสหภาพฯ มีความเห็นว่า เหตุที่ขบวนรถด่วนดังกล่าวตกราง เนื่องจากอุปกรณ์ระบบเดดแมน และระบบวิจิแลนซ์ ในหัวรถจักรชำรุดใช้การไม่ได้ จำเลยทั้งเจ็ด จึงร่วมกันรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ของพนักงาน เพื่อให้ตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวว่า อยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ แต่จากการรณรงค์ดังกล่าว เป็นเหตุให้พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่องบางคนไม่ยอมนำหัวรถจักรไปนำขบวน ทำให้โจทก์ไม่มีรถไฟออกรับส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้า ซึ่งทางศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้สหภาพแรงงานฯกับพวกขัดขวาง มิให้มีการเดินขบวนรถไฟ โจทก์จึงสามารถนำหัวรถจักรไปนำขบวนได้ ซึ่งปรากฏว่า แม้หัวรถจักรที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดเสียหายก็สามารถนำไปทำขบวนได้ เพราะเป็นเพียงอุปกรณ์เสริม มิใช้อุปกรณ์หลัก ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินรถ และปรากฏว่าไม่เคยเกิดอุบัติเหตุตามที่จำเลยทั้งเจ็ดกล่าวอ้าง

ดังนั้นการที่จำเลยทั้งเจ็ดรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของพนักงานขับรถ และช่างเครื่องจนเป็นเหตุให้พนักงานของโจทก์บางคนหยุดปฏิบัติหน้าที่นำรถไฟออกให้บริการประชาชน โดยเฉพาะการเดินรถใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการยุยงชักชวนให้พนักงานขับรถ และช่างเครื่อง ของโจทก์หยุดการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจทำให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย และเป็นการละทิ้งหน้าที่ในขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ ตามข้อบังคับของโจทก์ กรณีมีเหตุที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งเจ็ดตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจฯ ม.24(2) ได้ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงาน กล่าวว่า จากการรับฟังคำตัดสินของศาลแรงงานกลางแล้ว คิดว่าในส่วนของแกนนำจะมีการประชุมร่วมกัน และคงต้องมีการยื่นอุทธรณ์คดี เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของพวกเราก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะการเดินรถไฟเป็นการบริการประชาชน ต้องคำนึงถึงชีวิตของประชาชนเป็นหลัก การเกิดอุบัติเหตุที่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งชีวิต และทรัพย์สินด้วย

(ดูข่าวย้อยหลังกรณีเขาเต่า http://hilight.kapook.com/view/42154)

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน