โดย กอแก้ว วงศ์พันธุ์
คดีแรงงานพม่าเสียชีวิต 54 ศพเมื่อปี พ.ศ.2551 ศาลพิพากษาชั้นต้นตัดสินคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา ณ ศาลจังหวัดระนอง โดยตัดสินจำคุกจำเลยทั้งหมดแต่มีโทษลดหลั่นกันดังนี้ นายดำรง ผุสดีจำคุก 10 ปีฐานประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัส และฐานร่วมกันช่วยให้คนต่างด้าวพ้นจาการจับกุม นายเฉลิมชัย วิฤทธิ์จันทร์ปลั่งจำคุก 9 ปี ฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัส และฐานร่วมกันกระทำการให้การช่วยเหลือให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งร่วมด้วยช่วยกันให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม นายจิรวัฒน์ โสภาพันธ์วรากุล และนางปัญชลีย์ ชูสุข จำคุก 6 ปีและ 3 ปีตามลำดับ ฐานมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้ความช่วยเหลือและความสะดวกแก่คนต่างด้าว แต่นางปัญชลีย์ให้การสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี
นอกจากนี้ศาลยังตัดสินให้นายดำรง ผุสดี และนายเฉลิมชัย วิฤทธิ์จันทร์ปลั่งจ่ายเงินชดเชยและค่าไร้อุปการะแก่บุตรผู้เสียชีวิตจำนวน 10,000 และ 653,134 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จ่ายให้แก่โจทย์ คือ นายอู้ตัดล่วย ซึ่งเป็นสามีผู้เสียชีวิตและเป็นเหยื่อผู้เสียหายในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย
ท้ายที่สุดคดีแรงงานพม่าเสียชีวิต 54 ศพก็สิ้นสุดคงในศาลชั้นต้นที่จังหวัดระนอง เป็นเวลาร่วม 5 ปีกว่าคดีนี้จะสิ้นสุดลง ผู้เขียนจำได้ว่าเหตุการณ์เกิดก่อนวันรื่นเริงอันสำคัญของไทยคือ วันสงกรานต์ไม่กี่วัน เหตุเกิดเมื่อวันคืนวันที่ 9 เมษายน 2551 เป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วโลก คนตายจำนวน 54 ราย จากการขนย้ายคนด้วยรถห้องเย็นขนาดกว้าง 2.44 เมตร ยาว 6.25 เมตร สูง 2.50 เมตร มีการกวาดต้อนแรงงานพม่าจำนวนถึง 120 คนเข้าไปอยู่ในนั้น สภาพที่แออัดยัดเยียดเบียดเสียดกันยืนในห้องเย็น เพื่อเดินทางจากระนองไปภูเก็ต แต่รถเคลื่อนตัวออกไปได้เพียงครึ่งทาง เครื่องทำความเย็นกลับใช้การไม่ได้ ทำให้แรงงานพม่าขาดอากาศหายใจ ดิ้นทุรนทุรายภายในห้องเย็น กว่าคนขับจะทราบว่าเครื่องทำความเย็นใช้การไม่ได้ก็สายเกินไป เมื่อคนขับเปิดประตูห้องเย็น ได้พบร่างผู้คนนอนทับกันเรียงราย จากนั้นคนขับรถก็หลบหนีไป นับเป็นความตายและบาดเจ็บที่ทุกข์สาหัส หากไม่ใจแคบเกินไปที่จะรู้สึก
กรณีการเสียชีวิตหมู่ครั้งนั้น ส่งผลให้หลายฝ่ายให้ความสนใจแม้แต่รัฐบาลพม่า ซึ่งละเลยประชาชนของตนเองมานาน ได้เข้ามาดูแลคดีนี้อย่างใกล้ชิด เป็นประวัติศาสตร์ของการดูแลประชาชนที่อยู่นอกประเทศของพม่าเลยทีเดียว ด้านฝ่ายไทย มีองค์กรพัฒนาเอกชนและคณะกรรมการสิทธิเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และเป็นกรณีแรกที่มีการตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น แต่ในการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอดคือ นายธนู เอกโชติ นายนัสเซอร์ อาจวาริน จากสภาทนายความและนายกฤษดา สัญญาดี ทนายความจากโครงการประสานชาติพันธุ์ อันดามันภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ผู้เขียนเคยสรุปบทเรียนกรณี 54 ศพเมื่อปี 2552 ปัญหาอุปสรรคทางด้านกฎหมายต่อกรณีนี้คือ เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 กำลังจะประกาศใช้ แต่กรณีของ 54 ศพ ถูกมองว่าไม่เข้าข่ายข้อกฎหมายของการค้ามนุษย์ การต่อสู้ทางกฎหมายจึงใช้กฎหมายอื่นๆ ในการต่อสู้เอาผิดผู้กระทำผิดและเรียกร้องค่าเสียหาย เบื้องต้นศาลตัดสินยกฟ้อง แต่คณะทนายความได้ยื่นอุทร โดยให้นายอู้ตัดลวยเป็นโจทย์ยื่นฟ้องตามกฎหมายอาญา ต่อสู้คดีมาอีก 3 ปี จนกระทั่งศาลได้ตัดสินคดีในวันนี้
นายกฤษดา สัญญาดี ทนายความโครงการประสานชาติพันธุ์อันดามันภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป กล่าวว่า “คดีนี้ในระยะแรกมีองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจอย่างมาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปหลายองค์กรได้หายไปหมด แต่คดีนี้เป็นคดีที่ทางฝ่ายศาลส่วนกลางให้ความสำคัญมาก เป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสนใจเพราะครั้งหนึ่งเคยถูกยกฟ้องแล้วเรากลับมาต่อสู้อีกครั้ง โดยให้เหยื่อเป็นโจทย์ยื่นฟ้องเอง ในทางกฎหมายเป็นคดีที่สำคัญมากทีเดียว มีผลสะเทือนต่อทางสังคมในวงกว้าง”
ด้านนายอู้ตัดล่วย เมื่อทราบผลการตัดสิน เขาเพียงแต่ยิ้มบนใบหน้า การสื่อสารผ่านล่าม เค้าดีใจที่กฎหมายไทยศักดิ์สิทธิ์ การขึ้นศาลในฐานะแรงงานข้ามชาติไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียเวลา เสียขวัญ เสียกำลังใจ เสียเงินทอง เมื่อครั้งเกิดเหตุลูกชายคนโตอายุเพียง 13 ปี ปัจจุบันอายุ 18 ปี เป็นเวลา 5 ปีกับการสู้เพื่อความเป็นธรรม …ล่ามบอกจำนวนเงินชดเชยที่เขาจะได้รับ จำนวน 6 แสนกว่าบาท (หากไม่มีการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลย ต้องรอจนกว่าคดีจะสิ้นสุดอีกครั้ง) แม้จะเป็นเงินจำนวนมาก ผู้เขียนไม่เห็นอาการของความต้องการเงินให้เห็น เขานิ่งและยิ้มเพียงเท่านั้น เป็นยิ้มที่ได้รู้ว่ากฎหมายไทยมีความยุติธรรม เขาบอกผ่านล่ามว่าจะไปสุสานที่เก็บศพภรรยา ซึ่งอยู่ที่จังหวัดระนอง เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวของวันนี้กับภรรยา….